งานวิจัย “State of IT” โดย “เซลส์ฟอร์ซ” เผยว่า ผู้นำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มองในแง่บวกต่อ “Agentic AI” และผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
เซลส์ฟอร์ซ (Salesforce) ผู้ให้บริการด้านระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า (CRM) ที่ขับเคลื่อนด้วย AI รายงานว่า ผู้เชี่ยวชาญล้วนมีความเห็นในทิศทางเดียวกันเกือบเป็นเอกฉันท์และแสดงความตื่นตัวต่อเทคโนโลยี AI เอเจนต์อัจฉริยะซึ่งทำงานได้ด้วยตัวเอง (Agentic AI)
โดย 69% ของผู้นำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์ในไทยเชื่อว่า AI Agent จะกลายเป็นเครื่องมือที่จำเป็นต่อการพัฒนาแอปพลิเคชันเทียบเท่ากับเครื่องมือแบบเดิมที่เคยใช้
อย่างไรก็ตาม นักพัฒนาบางส่วนมองว่าตนเองและองค์กรยังจำเป็นต้องได้รับการฝึกอบรมและทรัพยากรเพิ่มเติม เพื่อให้สามารถสร้างและใช้งานพนักงานดิจิทัลในแบบ AI Agent ให้กับองค์กรได้อย่างมีประสิทธิภาพ
•ก้าวสู่ยุค ‘AI Agent’
แม้ที่ผ่านมานักพัฒนามักถูกมองว่ายังไม่ไว้วางใจในเทคโนโลยี AI แต่ผลวิจัยล่าสุดกลับชี้ให้เห็นว่านักพัฒนารู้สึกตื่นตัวต่อการเปลี่ยนแปลงของอุตสาหกรรมทีกำลังก้าวสู่ยุค AI Agent
การมาถึงของ Agentic AI เปิดโอกาสให้นักพัฒนาสามารถลดเวลาทำงานด้านการเขียนโค้ดและแก้ไขจุดบกพร่อง และเพิ่มการทำงานเชิงกลยุทธ์รวมถึงงานที่สร้างผลกระทบได้มากขึ้น
นอกจากนี้ การใช้งาน AI Agent ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือแบบโค้ดต่ำหรือไม่ใช้การเขียนโค้ด (low-code และ no-code) ก็ยิ่งทำให้กระบวนการพัฒนาแอปพลิเคชันเป็นไปได้อย่างรวดเร็ว ง่ายขึ้น และมีประสิทธิภาพมากกว่าที่เคย โดยไม่จำเป็นต้องขึ้นอยู่กับทักษะการเขียนโค้ดของนักพัฒนาอีกต่อไป
เดวิด โมลด์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายเทคโนโลยี และผู้อำนวยการด้านโซลูชัน เซลส์ฟอร์ซ ประเทศไทย กล่าวว่า AI Agent กำลังเปลี่ยนรูปแบบการทำงานของนักพัฒนาทั้งในระดับโลกและในประเทศไทย
“เมื่อ AI Agent ได้เข้ามาช่วยจัดการงานที่ต้องทำซ้ำๆ จำเจ เช่น การจัดระเบียบข้อมูล การเชื่อมโยงระบบ และการทดสอบในระดับเบื้องต้น นักพัฒนาจะมีอิสระในการปรับเปลี่ยนจุดมุ่งเน้นในการทำงาน จากการทำงานเขียนโค้ดแบบแมนวล ไปสู่การตอบโจทย์ที่มีมูลค่าและความสำคัญสูงให้กับองค์กร รวมถึงการออกแบบสถาปัตยกรรมระบบ และการตัดสินใจเชิงกลยุทธ์”
•มิติใหม่ของการพัฒนา ‘แอป’
ที่น่าสนใจพบด้วยว่าเครื่องมือแบบ Low-code และ No-code ช่วยให้นักพัฒนาไทยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน ไม่ว่าจะมีทักษะการเขียนโค้ดในระดับใดก็ตามช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานให้นักพัฒนาไทย โดยไม่จำกัดว่าจะมีทักษะการเขียนโค้ดระดับใด
โดย AI Agent ที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องมือแบบ Low-code และ No-code ทำให้นักพัฒนาทุกระดับสามารถสร้างและใช้งาน Agent ได้
ทั้งนี้ ผู้ตอบแบบสอบถามที่เป็นนักพัฒนาในประเทศไทยเชื่อว่าเครื่องมือเหล่านี้จะช่วยให้การพัฒนา AI เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่าย และขยายการพัฒนา AI ให้เติบโตมากยิ่งขึ้นเพื่อการพัฒนาที่ส่งผลเชิงบวกในอนาคต
ข้อมูลระบุว่า 85% ของนักพัฒนาทั่วโลกที่ใช้ Agentic AI ในปัจจุบัน ใช้เครื่องมือแบบ Low-code และ No-code, 74% ของนักพัฒนาในไทยระบุว่าเครื่องมือแบบ Low-code และ No-code สามารถช่วยให้การพัฒนา AI เป็นสิ่งที่เข้าถึงได้ง่ายยิ่งขึ้น
ขณะที่ 79% ของนักพัฒนาในไทยเห็นว่าการใช้เครื่องมือ Low-code และ No-code ในการพัฒนาแอปพลิเคชันจะช่วยขยายการเติบโตของการพัฒนา AI ได้มากยิ่งขึ้น
•ต้องยกระดับไอทีอินฟราฯ
เซลส์ฟอร์ซ เผยว่า นักพัฒนาไทยต้องการทรัพยากรเพิ่มเติม ในการสร้าง AI Agent โดยนักพัฒนาซอฟต์แวร์ในการสำรวจครั้งนี้ระบุว่า โครงสร้างพื้นฐานที่ทันสมัย ระบบการทดสอบที่มีความสามารถครอบคลุมมากขึ้น และโอกาสในการพัฒนาทักษะ เป็นปัจจัยสำคัญต่อการเปลี่ยนแปลงไปสู่ระบบที่มีการสร้างและใช้งาน AI Agent ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
•ความต้องการด้านโครงสร้างพื้นฐาน: 82% ของนักพัฒนาในประเทศไทยเชื่อว่าองค์กรของตนจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานให้ทันสมัย เพื่อรองรับการสร้างและใช้งาน AI Agent
โดย นักพัฒนา 39% ระบุว่าคุณภาพและความถูกต้องแม่นยำของข้อมูลในองค์กร ยังไม่เพียงพอต่อการพัฒนาและใช้งาน Agentic AI ให้ประสบความสำเร็จ
•ความสามารถในการทดสอบ: นักพัฒนา 45% ระบุว่ากระบวนการทดสอบของพวกเขายังไม่มีความพร้อมอย่างเต็มที่สำหรับการสร้างและใช้งาน AI Agent
ทักษะและความรู้: 87% ของนักพัฒนาไทยเชื่อว่าในอนาคต ความรู้ด้าน AI จะกลายเป็นทักษะพื้นฐานในสายอาชีพของตนเอง อย่างไรก็ตาม เกือบครึ่งหนึ่ง (48%) รู้สึกว่าทักษะที่มีอยู่ยังไม่พร้อมอย่างเต็มที่สำหรับยุคของ Agentic AI
การสำรวจดังกล่าวมาจากความคิดเห็นของผู้นำด้านการพัฒนาซอฟต์แวร์มากกว่า 2,000 คนทั่วโลก รวมถึงนักพัฒนาในประเทศไทย พร้อมการสำรวจข้อมูลเพิ่มเติมจากนักพัฒนาระดับปฏิบัติการ (Frontline Developer) ในสหรัฐอีก 250 คน
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 7 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1179308