ภัยคุกคามออนไลน์ ไม่ได้เกิดกับแต่วัยรุ่นเท่านั้น ผลสำรวจของ AsiaOne ในต้นปี 2025 ชี้ว่า 38 % ของคนสิงคโปร์ ทุกช่วงวัยเคยถูกคุกคามทางออนไลน์ (หรือเห็นคนใกล้ชิดถูกคุกคาม) ภายใน 2 ปีที่ผ่านมา และ “แทบทุกคน” ให้คะแนนผลกระทบทางอารมณ์ระดับ 4–5 จาก 5 คะแนนเต็ม ตัวเลขนี้ทำลายมายาคติที่ว่า วัยทำงาน มักเชื่อว่าตนโตพอจะรับมือ ก็ยังเป็นเหยื่อได้ง่ายพอ ๆ กับเยาวชน
ตัวเลขชี้ชัด วัยทำงานก็ตกเป็นเหยื่ออื้อ สิงคโปร์ทำอะไรไปแล้ว
- กลุ่มอายุ 18–34 ปี ยอมรับว่าโพสต์เรื่องส่วนตัวเป็นสาธารณะอย่างน้อย “หลายครั้งต่อเดือน” ถึง 3 ใน 4 ของกลุ่มตัวอย่าง
- รูปแบบภัยที่ผู้ตอบกังวลมากที่สุดคือ การนำข้อมูลส่วนตัวไปใช้ผิด / การคุกคาม / การปลอมแปลงตัวตน / สื่อปลอมแบบ deepfake
- ถึง 86 % บอกว่า “ยอมฟ้อง” ในบางกรณี หากขั้นตอนกฎหมายไม่ยุ่งยากและค่าใช้จ่ายไม่สูง
ปี 2024 กระทรวงกฎหมายและกระทรวงดิจิทัลฯ ของสิงคโปร์ เปิดประชาพิจารณ์มาตรการ “Online Safety & Harms” เตรียมออกกฎหมายลูกและตั้ง One-Stop Centre ภายในครึ่งแรกของ 2026 เพื่อช่วยเหยื่อกรณีไซเบอร์บูลลี่ deepfake และการเผยแพร่ภาพลับ
นอกจากช่องทางแจ้งลบที่รวดเร็ว รัฐยังเสนอให้
- ยกระดับกฎหมายข้อมูลส่วนบุคคล และเพิ่มบทลงโทษแพลตฟอร์มที่ไม่จัดการคอนเทนต์อันตราย
- ติดฉลากสื่อ deepfake และแบนผู้กระทำผิดซ้ำ
- เดินหน้า “ให้ความรู้สาธารณะ” ต่อเนื่อง เพื่อให้ผู้ใหญ่ตระหนักว่าตนก็เสี่ยงไม่แพ้เด็ก

ย้อนมองกลับมาประเทศไทย ออกกฎหมายอะไรไปแล้วบ้าง เพื่อปกป้องประชาชนจากภัยคุกคามออนไลน์ เจอปัญหาอะไร
พ.ร.บ. คอมพิวเตอร์
ไทยได้ออก พ.ร.บ.ว่าด้วยการกระทำผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550 (แก้ไข 2560) ครอบคลุมความผิดคุกคามออนไลน์ที่พบบ่อย เช่น การเผยแพร่ภาพลับโดยไม่ได้รับความยินยอม (มาตรา 16) การสร้างหรือแชร์ข้อมูลปลอมที่ทำให้ผู้อื่นเสียหาย (มาตรา 14 (1)) และการปลอมแปลงตัวตนบนโลกออนไลน์ (มาตรา 17) แต่ขั้นตอนเอาผิดและขอลบเนื้อหายังคงยึด “กระบวนการอาญาเต็มรูป” เป็นหลัก จึงกินเวลาหลายวัน หรือหลายสัปดาห์ กว่าผู้เสียหายจะเห็นผลลัพธ์ที่เป็นรูปธรรม
ผู้เสียหายต้องเดินทางไปแจ้งความกับพนักงานสอบสวนเพื่อให้เปิดคดีอาญา จากนั้นตำรวจจึงรวบรวมพยานหลักฐาน (เช่น ไฟล์ภาพ แชท ลิงก์) และส่งสำนวนให้อัยการพิจารณาฟ้อง กระบวนการนี้มักใช้เวลาอย่างน้อย 7–30 วัน ขึ้นอยู่กับภาระงานของพื้นที่นั้น
แม้จะมีช่องให้กระทรวงดิจิทัลฯ (DES) ร้องต่อศาลให้สั่งปิดกั้นหรือลบข้อมูลที่ “กระทบความมั่นคง ศีลธรรม หรือประชาชนในวงกว้าง” แต่การคุกคามรายบุคคล เช่น ไซเบอร์บูลลี่ หรือ โพสต์ภาพลามกแก้แค้น มักไม่เข้าเกณฑ์ “ภัยสาธารณะ” ทำให้เจ้าทุกข์ต้องพึ่งช่องทางอาญาปกติหรือยื่นฟ้องคดีแพ่งเอง
ไม่มี “ฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง” ต่างจากโมเดลสิงคโปร์ที่เตรียมเปิด One-Stop Centre ให้เหยื่อมายื่นคำร้องออนไลน์และรับคำสั่งศาลภายในไม่กี่ชั่วโมง ระบบไทยยังไม่มีกลไก “คำสั่งคุ้มครองชั่วคราวแบบ ex parte” (เฉพาะฝ่ายเดียว) ผ่านศาลอีเล็กทรอนิกส์ ผู้เสียหายจึงไม่สามารถหยุดการแพร่กระจายของข้อมูลอันตรายได้ทันที
เปิดโทษ พ.ร.บ.คอมฯ โพสต์เฟคนิวส์ 1 เม.ย. คุก 5 ปี ปรับ 1 แสน
ที่มา : thethaiger / วันที่เผยแพร่ 8 กรกฎาคม 2568
Link : https://thethaiger.com/th/news/1426362/