
แม้อินเดียและปากีสถาน ประกาศหยุดยิงหลังเกือบเกิดความขัดแย้งเต็มรูปแบบ แต่บนสื่อสังคมออนไลน์ ประชาชนของทั้งสองฝ่ายกลับแข่งกันควบคุมการรับรู้ของสาธารณชน ด้วยการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นเท็จ
แพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น เฟซบุ๊ก และเอ็กซ์ ยังคงเต็มไปด้วยคลิปวิดีโอบิดเบือนความจริง เกี่ยวกับการโจมตีที่คร่าชีวิตผู้คนอย่างน้อย 60 ราย และทำให้ประชาชนหลายพันคนต้องอพยพ ซึ่งคลิปวิดีโอจำนวนมากแสดงให้เห็นถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับปาเลสไตน์ หรือสงครามในยูเครน ไม่ใช่การสู้รบระหว่างอินเดียกับปากีสถานแต่อย่างใด
ยิ่งไปกว่านั้น สื่อของอินเดียและปากีสถาน ก็มีส่วนช่วยขยายข้อมูลบิดเบือนให้แพร่หลาย รวมถึงคำกล่าวอ้างที่เป็นเท็จหรือไม่สามารถยืนยันได้ เกี่ยวกับชัยชนะทางทหาร ซึ่งบรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า ข้อมูลเท็จเหล่านี้ทำให้ความตึงเครียดรุนแรงขึ้น และก่อให้เกิดถ้อยคำสร้างความเกลียดชังมากมาย
“การพิสูจน์ข้อเท็จจริงทางทหารเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เพราะนอกจากความเป็นจริงของการโจมตีที่ระบุได้ยาก มันยังมีสงครามการสื่อสารเกิดขึ้นด้วย” พล.อ.โดมินิก แทร็งควงด์ นักวิเคราะห์ความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ และอดีตหัวหน้าคณะผู้แทนทหารฝรั่งเศส ประจำสหประชาชาติ (ยูเอ็น) กล่าว
อนึ่ง ข้อมูลเท็จปรากฏในระดับสูงสุด เมื่ออินเดียเปิดฉากโจมตีทางอากาศอย่างรุนแรง โดยมีเป้าหมายเป็น “ค่ายผู้ก่อการร้าย” ในปากีสถาน ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นสองสัปดาห์หลังมีการโจมตีในภูมิภาคแคชเมียร์ที่อยู่ภายใต้อธิปไตยของอินเดีย
นอกจากนี้ ภาพที่สร้างโดยปัญญาประดิษฐ์ (เอไอ) ยิ่งทำให้เกิดความสับสน รวมถึงคลิปวิดีโอหนึ่งที่เผยให้เห็นว่า นายพลของกองทัพปากีสถานกล่าวว่า ประเทศสูญเสียเครื่องบินรบ 2 ลำ ทั้งที่ในความเป็นจริง เจ้าหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของสำนักข่าวเอเอฟพี พบว่าคลิปวิดีโอข้างต้นถูกดัดแปลงมาจากการแถลงข่าวในปี 2567
“เราเห็นเนื้อหาที่สร้างโดยเอไอระลอกใหม่ ทั้งในรูปแบบคลิปวิดีโอและภาพนิ่ง เนื่องจากการเข้าถึงเครื่องมือดีปเฟคที่เพิ่มขึ้น” นายโจโยจีต ปาล รองศาสตราจารย์คณะสารสนเทศ จากมหาวิทยาลัยมิชิแกน กล่าว
ทั้งอินเดียและปากีสถาน ต่างใช้ประโยชน์จากช่องว่างของข้อมูล เพื่อส่งสัญญาณเตือน รวมถึงส่งเสริมคำกล่าวอ้างและการโต้แย้งของตนเอง ซึ่งนายอุซามะ คิลจี ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิดิจิทัล และนักเคลื่อนไหวในปากีสถาน กล่าวเสริมว่า ในช่วงเวลาวิกฤติ รัฐบาลต้องการให้เสียงของประชาชนได้ยินไปทั่วโลก และไม่ถูกปิดปากอีกต่อไปเหมือนในอดีต เพื่อวัตถุประสงค์ทางการเมืองภายในประเทศ
ยิ่งไปกว่านั้น ข้อมูลเท็จจำนวนมหาศาลบนโลกออนไลน์ มาพร้อมกับถ้อยคำแสดงความเกลียดชังในโลกความเป็นจริงที่เพิ่มขึ้นเช่นกัน โดยรายงานจาก “อินเดีย เฮต แล็บ” ในสหรัฐ บันทึกเหตุการณ์การใช้คำพูดสร้างความเกลียดชังต่อบุคคล 64 ครั้ง ระหว่างวันที่ 22 เม.ย. – 2 พ.ค. ซึ่งส่วนใหญ่ถูกถ่ายคลิปวิดีโอ และเผยแพร่บนสื่อสังคมออนไลน์ในภายหลัง
ทั้งนี้ นายราชิบ ฮามีด นาอิก ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์ศึกษาความเกลียดชังอย่างเป็นระบบ (ซีเอสโอเอช) กล่าวว่า ถ้อยคำแสดงความเกลียดชังในชีวิตจริง และการเพิ่มขึ้นของเนื้อหาออนไลน์ที่เป็นอันตราย มีความสัมพันธ์แบบเป็นวงจร
“แม้เครื่องจักรสงครามอาจหยุดทำงานชั่วคราว แต่เครื่องจักรความเกลียดชังไม่เคยหยุดทำงาน ซึ่งผมกังวลว่า มันอาจกลับมาด้วยพลังที่รุนแรงยิ่งกว่าเดิม และถ้อยคำแสดงความเกลียดชัง จะพุ่งเป้าที่ชนกลุ่มน้อยทางศาสนาอีกครั้ง” นาอิก กล่าวทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 19 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4720101/