
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ และทีมเศรษฐกิจของทำเนียบขาว กำลังเร่งสรุปข้อตกลงทางการค้าที่จะนำไปสู่การปรับขึ้นภาษีครั้งใหญ่ทั่วโลก ทรัมป์มองว่าภาษีคือ “ยาวิเศษ” ที่จะช่วยฟื้นฟูภาคการผลิต ชำระหนี้ ลดการขาดดุลการค้า และกดดันประเทศคู่ค้าให้ยอมจำนนในข้อพิพาทสำคัญ แม้มีการเปลี่ยนแปลงเชิงบวกในระยะแรก แต่ผู้เชี่ยวชาญคงตั้งคำถามถึงประสิทธิภาพ และความยั่งยืนของนโยบายนี้ในระยะยาว
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ และทีมเศรษฐกิจของทำเนียบขาว กำลังเร่งสรุปข้อตกลงทางการค้าก่อนถึงกำหนดเส้นตายที่ตั้งขึ้นเอง ซึ่งจะนำไปสู่การปรับขึ้นภาษีต่างตอบแทนครั้งใหญ่สำหรับหลายสิบประเทศทั่วโลก การเปลี่ยนแปลงภาษีเหล่านี้กลายเป็นส่วนสำคัญของการบริหารราชการประจำวัน ทรัมป์ให้เหตุผลมากมายว่าเพราะเหตุใดตัวเขาจึงเชื่อว่า การกำหนดภาษีศุลกากรเป็นส่วนสำคัญของนโยบาย
ทรัมป์มองว่า ภาษี “เป็นยาวิเศษ” ซึ่งเป็นเครื่องมือทางเศรษฐกิจที่สามารถ “รักษา” หรือแก้ไขปัญหาหลายอย่างได้พร้อมกัน ไม่ว่าจะเป็นการฟื้นฟูงานภาคการผลิต ชำระหนี้ขาดดุลงบประมาณของสหรัฐ การกดดันให้ประเทศต่าง ๆ ยอมตามข้อพิพาทสำคัญ และลดภาระภาษีของชาวอเมริกัน
ในช่วงเดือนแรกของการดำรงตำแหน่งสมัยที่สอง ทรัมป์ใช้มาตรการกดดันทางภาษีเพื่อสร้างความคืบหน้าตามเป้าหมายที่วางไว้ บางบริษัทประกาศลงทุนในโรงงานในสหรัฐ โดยอ้างถึงค่าภาษีที่สูง รายได้จากภาษีศุลกากรหลายหมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หลั่งไหลเข้าสู่อเมริกาในแต่ละเดือน นอกจากนี้ การขาดดุลการค้าของอเมริกาลดลงครึ่งหนึ่งเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา ซึ่งเป็นการลดลงที่เหนือความคาดหมาย ทรัมป์ยังสามารถนำหลายประเทศเข้าสู่โต๊ะเจรจาได้สำเร็จ หลังขู่ขึ้นภาษีศุลกากรอัตราสูง และยืนยันว่า มาตรการทั้งหมดนี้ไม่ได้ทำให้อัตราเงินเฟ้อในสหรัฐเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ตัวบ่งชี้ความสำเร็จในระยะแรกอาจเป็นเพียงสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงอย่างฉับพลันในระบบ เนื่องจากผู้ประกอบการ ผู้บริโภค และธุรกิจต่าง ๆ ต้องปรับตัวให้ได้อย่างรวดเร็วที่สุด เพื่อให้เข้ากับความเป็นจริงใหม่ของอัตราภาษีที่สูงขึ้น ตามการกำหนดโดยสหรัฐ

ป้ายบอกราคาสินค้า ที่แผนกผักและผลไม้ ในซูเปอร์มาร์เก็ตของวอลมาร์ต ที่เมืองฮิวสตัน ในรัฐเทกซัสของสหรัฐ 15 พ.ค. 2568
ทั้งนี้ทั้งนั้น บรรดาผู้เชี่ยวชาญจำนวนไม่น้อยยังคงยืนยันว่า การตั้งกำแพงภาษีลักษณะนี้ อาจไม่นำไปสู่การเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กับภาคอุตสาหกรรมในอเมริกา ด้วยเหตุผลว่า รายได้จากภาษีจะเป็นเพียงเศษเสี้ยวเมื่อเทียบกับการขาดดุลงบประมาณมหาศาล ที่เป็นผลจากกฎหมายลดภาษีฉบับใหม่ของทรัมป์ ซึ่งมีชื่อว่า “กฎหมายยิ่งใหญ่และสวยงาม” (One Big Beautiful Bill) ภาษีศุลกากรและข้อตกลงทางการค้าอาจไม่เพิ่มความต้องการสินค้าของสหรัฐในต่างประเทศอย่างมีนัยสำคัญ และคู่ค้าบางรายแสดงให้เห็นแล้วว่า การคุกคามด้วยการใช้ภาษีเป็นเครื่องมือกดดัน มีขีดจำกัดในการบรรลุผลสำเร็จเพียงใด
เพื่อบรรลุเป้าหมายนั้น ทรัมป์มักสนับสนุนการลดภาษีภายในประเทศและการเพิ่มภาษีสำหรับสินค้าที่ผลิตในต่างประเทศ ระหว่างการแถลงนโยบายต่อสภาคองเกรส เมื่อเดือนมี.ค.ที่ผ่านมา ทรัมป์ยังคงใช้วาทกรรมข่มขู่ที่โลกมักได้ยินซ้ำแล้วซ้ำเล่านับตั้งแต่นั้นว่า “หากคุณไม่ผลิตสินค้าของคุณในอเมริกา ภายใต้การบริหารของรัฐบาลทรัมป์ คุณจะต้องจ่ายภาษีศุลกากร และในบางกรณีอาจเป็นจำนวนที่ค่อนข้างสูง”

จดหมายซึ่งประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผู้นำสหรัฐ ส่งถึงรัฐบาลไทย แจ้งการเตรียมเก็บภาษี 36% ตั้งแต่วันที่ 1 ส.ค. นี้ หากไม่สามารถบรรลุข้อตกลงร่วมกันได้
แม้ทรัมป์ประสบความสำเร็จจากการขับเคลื่อนนโยบายนี้ในช่วงแรก เนื่องจากบริษัทขนาดใหญ่หลายแห่งประกาศแผนการลงทุนเพิ่ม หรือย้ายฐานการผลิตบางส่วนกลับเข้ามาในอเมริกา อย่างไรก็ตาม บริษัทเหล่านี้เน้นย้ำเป็นเสียงเดียวกันว่า การตัดสินใจดังกล่าว “เกิดขึ้นก่อนหรือเป็นอิสระ” จากมาตรการกดดันเรื่องภาษีของทรัมป์ เนื่องจากกระบวนการที่เกี่ยวข้องทั้งหมดใช้เวลานานหลายปีในการดำเนินการ
ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือ แรงงานภาคการผลิตที่มีทักษะหายากในสหรัฐ ข้อมูลจากกระทรวงแรงงานสหรัฐ ซึ่งเผยแพร่เมื่อเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา ระบุว่ามีตำแหน่งงานว่างในภาคการผลิต 414,000 ตำแหน่ง แต่ไม่มีคนเพียงพอที่จะทำงานให้สำเร็จ นอกจากนี้ ค่าแรงพื้นฐานของชาวอเมริกันแพงกว่าหลายประเทศ ซึ่งจะทำให้ต้นทุนการผลิตสูงขึ้นมาก อาทิ เคยมีการประเมินว่า ไอโฟนที่ผลิตในสหรัฐอาจมีราคาสูงถึงกว่า 3,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ราว 97,600.50 บาท)

เรือบรรทุกสินค้าเตรียมเทียบท่าที่เมืองเยียนไถ ในมณฑลซานตง ทางตะวันออกเฉียงเหนือของจีน 29 มิ.ย. 2568
ขณะเดียวกัน งานภาคการผลิตในสหรัฐกลับไม่เฟื่องฟูตามคาด แม้มาตรการกดดันด้านภาษีกับนานาประเทศอาจช่วยฟื้นฟูภาคการผลิตบางส่วนในอเมริกา อย่างไรก็ตาม การที่ทรัมป์กล่าวว่า หากบริษัทผลิตสินค้าในอเมริกา ก็ไม่ต้องเสียภาษีศุลกากร นั่นหมายความว่า เมื่อบริษัทต่าง ๆ ทำตามที่ทรัมป์ต้องการ อเมริกาก็จะไม่สามารถเก็บรายได้จากภาษีจากบริษัทเหล่านั้นได้
ทรัมป์ยังคงประมาณการรายได้ที่ภาษีศุลกากรสามารถสร้างได้สูงลิบลิ่ว และยังคงยืนกรานว่า การเก็บภาษีสามารถนำมาซึ่งรายได้ “หลายล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ” ต่อปี ทว่า “ต้องใช้เวลาอีกสักพัก” ซึ่งไม่สามารถเจาะจงได้ว่า “จะนานแค่ไหน”
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายนั้น การกำหนดภาษีจะต้องสูงมาก เพราะรัฐบาลกลางมีรายได้ประมาณ 3 ล้านล้านล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปีจากภาษีเงินได้ (ราว 97.5 ล้านล้านบาท) แต่สหรัฐนำเข้าสินค้ามูลค่าเท่านั้นเช่นกันภายในรอบปี นั่นหมายความว่า ภาษีศุลกากรจะต้องอยู่ที่อย่างน้อย 100% สำหรับสินค้านำเข้าทั้งหมดเพื่อให้ภาษีสามารถมาแทนที่ภาษีเงินได้ทั้งหมดได้ หรืออาจจะต้องสูงถึง 200% หากพิจารณาถึงการลดลงของอุปสงค์ เมื่อราคาสินค้าสูงขึ้น
ปัจจุบัน ภาษีของทรัมป์ยังไม่สามารถสร้างรายได้ใกล้เคียงกับจำนวนนั้น: กระทรวงการคลังสหรัฐกล่าวว่า รัฐบาลทรัมป์ได้เก็บรายได้จากภาษีน้อยกว่า 100,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ราว 3.25 ล้านล้านบาท) นับตั้งแต่เข้ารับตำแหน่ง โดยมีรายได้ประมาณ 20,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อเดือน (ราว 650,510 ล้านบาท) ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
ทรัมป์มักจะพูดถึงภาษีศุลกากรในแง่ของ “ความยุติธรรม” โดยกล่าวว่าประเทศอื่นกำลัง “เอาเปรียบ” ชาวอเมริกันด้วยอุปสรรคทางการค้าที่สูง ด้วยเหตุนี้ ทรัมป์จึงประกาศใช้ “ภาษีต่างตอบแทน” เป็นครั้งแรก เมื่อวันที่ 2 เม.ย.ที่ผ่านมา ซึ่งคำนวณโดยการวัดการขาดดุลการค้าสินค้าของอเมริกากับต่างประเทศและลดลงครึ่งหนึ่ง ดังนั้น ประเทศที่อเมริกานำเข้าสินค้าจำนวนมากแต่ส่งออกน้อย “ถูกลงโทษ” ด้วยภาษีต่างตอบแทนในอัตราสูงที่สุด
อย่างไรก็ตาม เมื่อเวลาผ่านไป มาตรการภาษีนั้นไม่น่าช่วยลดช่องว่างทางการค้าที่อเมริกามีกับประเทศอื่น ๆ ได้อย่างมีนัยสำคัญ นักเศรษฐศาสตร์โต้แย้งหลายประเทศผลิตสินค้าได้ถูกกว่าในประเทศอื่น และสินค้าหลายอย่างไม่สามารถปลูกหรือผลิตในอเมริกาได้ หากช่องว่างทางการค้ายังคงลดลง อาจเป็นสัญญาณว่าอำนาจการใช้จ่ายของอเมริกันชนกำลังลดลงด้วย
ยิ่งไปกว่านั้น การบรรลุผลลัพธ์ทั้งหมดเหล่านั้นพร้อมกันไม่น่าเป็นไปได้ นโยบายภาษีของทรัมป์แสดงให้เห็นถึงความซับซ้อนและผลลัพธ์ที่หลากหลาย ทั้งความสำเร็จในระยะสั้นและข้อจำกัดในระยะยาว ซึ่งยังคงเป็นที่ถกเถียงกันระหว่างกลุ่มผู้กำหนดนโยบายกับบรรดานักวิชาการ.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 13 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4909918/