สงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีนกำลังสร้างโอกาสใหม่ให้แก่ “อินเดียใต้” ในการก้าวขึ้นเป็นศูนย์กลางการผลิตสำคัญของโลก โดยเฉพาะในช่วงที่ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ประกาศใช้มาตรการภาษีนำเข้าอย่างดุเดือน ทำให้ผู้ผลิตทั่วโลกกำลังพิจารณาทางเลือกใหม่ในการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน ซึ่งอินเดียใต้โดยเฉพาะ “รัฐทมิฬนาฑู” อาจกลายเป็นฐานการผลิตใหม่ของโลก
ข้อได้เปรียบด้านแรงงานและต้นทุน
ข้อมูลจาก Morgan Stanley Research แสดงให้เห็นว่า อินเดียมีประชากรวัยแรงงาน (อายุ 15-64 ปี) ถึง 961 ล้านคนมากที่สุดเป็นอันดับที่สองของโลก ใกล้เคียงกับจีนที่มี 984 ล้านคน แต่มีค่าแรงการผลิตเพียงชั่วโมงละ 1.0 ดอลลาร์เทียบกับจีนที่ 5.6 ดอลลาร์ ความได้เปรียบนี้ทำให้บริษัทอย่าง Delta Electronics ที่ เบนจามิน หลิน นั่งเป็นประธานบริษัทในอินเดีย ให้สัมภาษณ์พิเศษกับบลูมเบิร์กว่า ซัพพลายเชนในอินเดียมีต้นทุนที่คุ้มค่ากว่าโรงงานใน “ไทย” แล้ว แม้ว่าจะยังแข่งขันด้านราคากับโรงงานในจีนไม่ได้ก็ตาม

การตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทาน
ความไม่แน่นอนจากนโยบายการค้าของสหรัฐกำลังผลักดันให้บริษัทต่างชาติหาทางเลือกใหม่ หลินจาก Delta Electronics อธิบายว่า “เราติดตามลูกค้า หากลูกค้าขอให้ย้ายออกจากจีน เราก็ย้ายออกจากจีน” บริษัทต่างๆ เช่น Apple ที่ประกาศแผนจัดหาสมาร์ตโฟนส่วนใหญ่ที่ผลิตในอินเดีย
เหตุการณ์นี้สร้างโอกาสให้ผู้ผลิตชิ้นส่วนและผู้รับจ้างผลิตในประเทศ ขณะที่โฮซูร์ เมืองอุตสาหกรรมที่ตั้งอยู่ใน รัฐทมิฬนาฑู ก็กลายเป็นศูนย์กลางของอุตสาหกรรมการผลิต มีโรงงาน Ola Electric ที่เป็นโรงงานสกู๊ตเตอร์ไฟฟ้าที่ใหญ่ที่สุดในโลก และ Tata Electronics ที่กำลังสร้างโรงงานผลิต iPhone
ความท้าทายและข้อจำกัด
แม้จะมีความก้าวหน้า แต่อินเดียใต้ยังเผชิญกับความท้าทายสำคัญ คือ การพึ่งพาชิ้นส่วนและวัตถุดิบนำเข้าจากจีน สวัปนิล เชน ผู้ร่วมก่อตั้งบริษัทรถยนต์มอเตอร์ไซต์ในอินเดีย Ather Energy ยอมรับว่า “ยังคงพึ่งพาห่วงโซ่อุปทานส่วนใหญ่ของจีนซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องลดทอนอย่างจริงจัง” โดยเฉพาะชิ้นส่วนสำคัญเช่น ไมโครคอนโทรลเลอร์และแม่เหล็กสำหรับแบตเตอรี่ที่กลายเป็นจุดขัดแย้งในสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน
อ้างอิง: Bloomberg
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 9 กรกฎาคม 2568
Link :https://www.bangkokbiznews.com/world/1188592