นักวิจัยจาก Global Energy Monitor (GEM) ระบุว่าเหมืองถ่านหิน 312 แห่งทั่วโลกปิดตัวลงตั้งแต่ปี 2020 และมีแนวโน้มว่าจะปิดตัวเพิ่มขึ้นอีก 134 แห่งภายในสิ้นทศวรรษนี้ โดยครอบคลุมพื้นที่รวมกัน 5,820 ตร.กม. โดยนักวิจัยแนะนำว่าสามารถเปลี่ยนเหมืองถ่านหินร้างเหล่านี้ให้เป็น “โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์” อาจมีพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเกือบ 300 กิกะวัตต์ ภายในปี 2030
การทำเหมืองแบบเปิดหน้าดินทำให้พื้นที่กลายเป็นดินแดนรกร้างว่างเปล่า เนื่องจากมีมลพิษ และดินชั้นบนถูกถมจนไปใช้ประโยชน์ได้ยาก แต่รายงานระบุว่า หากพัฒนาเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ด้วยแผงโซลาร์เซลล์จำนวนมาก จะสามารถผลิตไฟฟ้าได้จำนวนมาก เพียงพอกับความต้องการพลังงานของเยอรมนีได้
เฉิง เฉิงอู่ ผู้จัดการโครงการติดตามการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของ GEM กล่าวว่า “เราสามารถสร้างการเปลี่ยนผ่านจากเหมืองถ่านหินไปเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ได้ โดยผู้ผลิตถ่านหินรายใหญ่ของโลก เช่น ออสเตรเลีย สหรัฐ อินโดนีเซีย และอินเดีย มีศักยภาพที่ทำให้การเปลี่ยนผ่านนี้เป็นจริง”
นอกจากนี้ การนำเหมืองมาใช้ใหม่เป็นฟาร์มโซลาร์เซลล์ ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะช่วยฟื้นฟูที่ดิน สร้างงานในท้องถิ่น และส่งเสริมการใช้พลังงานสะอาด เปลี่ยนผ่านจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลรวมกันเป็นกลยุทธ์เดียว แถมยังสร้างแรงจูงใจทางเศรษฐกิจในการฟื้นฟูและทำความสะอาด ร่องรอยที่เหลือหลังจากการทำเหมืองอีกด้วย
ในตอนนี้การเผาถ่านหินกำลังค่อย ๆ ลดน้อยลงทั่วโลก เนื่องจากการปล่อยคาร์บอนสูง ขณะเดียวกัน พลังงานแสงอาทิตย์ก็เข้าถึงได้ง่ายขึ้นและราคาถูกลง ปี 2024 มีการติดตั้งพลังงานแสงอาทิตย์กำลังการผลิต 599 กิกะวัตต์ทั่วโลก และมีโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ขนาดสาธารณูปโภคมากกว่า 2,000 กิกะวัตต์ที่อยู่ระหว่างการพัฒนา ตามข้อมูลของ Global Solar Council ระบุว่ากำลังการผลิตไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ที่ติดตั้งทั่วโลกทั้งหมดเกิน 2 เทระวัตต์
แต่ในตอนนี้เกิดปัญหาขาดแคลนพื้นที่สำหรับวางแผงโซลาร์เซลล์ ทำให้เกิดข้อขัดแย้งในการใช้ที่ดิน กลุ่มล็อบบี้ด้านการเกษตรและการอนุรักษ์ธรรมชาติ รวมถึงกลุ่มอื่น ๆ คัดค้านการพัฒนาพลังงานแสงอาทิตย์ ดังนั้นการใช้พื้นที่เหมืองร้างจึงอาจช่วยแก้ปัญหาความขัดแย้งได้บางส่วน โดย GEM กล่าวว่า พื้นที่เหมืองบางส่วนสามารถพัฒนาได้ทันที อีกทั้งเหมืองร้าง 96% อยู่ห่างจากโครงข่ายไฟฟ้าไม่เกิน 10 กม.
“ทั่วโลกหาที่ดินมาใช้ผลิตพลังงานหมุนเวียนได้ยากมาก เกิดความขัดแย้งระหว่างผู้มีส่วนได้ส่วนเสียและผู้มีอำนาจตัดสินใจ ดังนั้น การนำที่ดินที่เสื่อมโทรมกลับมาใช้ใหม่จึงอาจสร้างประโยชน์ต่อชุมชนถ่านหินในอดีตทั่วโลก” เฮย์ลี เดเรส นักวิจัยของ Global Energy Monitor กล่าว
สำหรับในยุโรป รายงานระบุว่า “กรีซ” เป็นประเทศที่เหมาะสมอย่างยิ่งในการเปลี่ยนเหมืองถ่านหินเก่าเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ เนื่องจากมีเหมืองอยู่หลายแห่ง โดยในมาซิโดเนียตะวันตก ที่อยู่ทางตอนเหนือของกรีซ บริษัทต่าง ๆ ได้เริ่มดำเนินการสร้างฟาร์มโซลาร์เซลล์ภายในเหมืองลิกไนต์เก่าแล้ว อีกทั้งกรีซยังได้รับทุนจากสหภาพยุโรปได้จัดสรรเงิน 175 ล้านยูโร สำหรับสนับสนุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์เพิ่มเติมในมาซิโดเนียกลาง ซึ่งเป็นไปตามแผนฟื้นฟูแห่งชาติกรีซ 2.0
ส่วนจีนก็ได้ดำเนินโครงการเปลี่ยนถ่านหินเป็นพลังงานแสงอาทิตย์ โดยมีโครงการที่ดำเนินการแล้ว 90 โครงการ มีกำลังการผลิต 14 กิกะวัตต์ และโครงการอีก 46 โครงการที่อยู่ระหว่างดำเนินการ ซึ่งจะมีกำลังการผลิต 9 กิกะวัตต์
นอกจากนี้ ยังช่วยบรรเทาวิกฤติการว่างงานในชุมชนถ่านหินในอดีตได้ด้วย ตัวอย่างเช่น ในหลายพื้นที่ของสหราชอาณาจักรที่มีเหมืองถ่านหินถูกทิ้งร้างตั้งแต่ช่วงทศวรรษ 1980 โดย GEM ประมาณการว่าอาจมีการสร้างงานถาวร 259,700 ตำแหน่งในภาคการผลิต การค้าส่งและการจัดจำหน่าย และบริการระดับมืออาชีพที่ไซต์เปลี่ยนผ่านจากถ่านหินเป็นพลังงานแสงอาทิตย์
รวมถึงอาจมีการสร้างงานชั่วคราวและงานก่อสร้างเพิ่มเติมอีก 317,500 ตำแหน่ง ซึ่งรวมกันแล้วมากกว่าจำนวนคนงานที่อุตสาหกรรมถ่านหินจะปลดออกภายในปี 2035
ไรอัน ดริสเกลล์ เทต รองผู้อำนวยการของ GEM กล่าวว่า “เราได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นในชุมชนถ่านหินเมื่อบริษัทต่าง ๆ ล้มละลาย เลิกจ้างคนงาน และทิ้งความยุ่งเหยิงไว้เบื้องหลัง แต่แหล่งถ่านหินที่ถูกขุดจนหมดมีศักยภาพมหาศาลในการขับเคลื่อนอนาคตของพลังงานสะอาด ซึ่งตอนนี้มันเกิดขึ้นแล้ว เราเพียงแค่ต้องการแรงจูงใจที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้คนทำงานสร้างพลังงานแสงอาทิตย์รุ่นต่อไปในพื้นที่ถ่านหิน”
อย่างไรก็ตาม มีอุปสรรคหลายประการที่อาจทำให้การเปลี่ยนเหมืองถ่านหินกลายเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ ไม่ว่าจะเป็นการตามหาเจ้าของที่ดิน การดำเนินการตามระเบียบการอนุญาตและการฟื้นฟูที่ดิน ที่สำคัญที่สุดคือต้นทุนที่สูงขึ้น ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่เกิดจากการฟื้นฟูเหมืองที่อาจมีมลพิษ และการอัปเกรดโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับพลังงานแสงอาทิตย์
หากข้อเสนอในรายงานนี้ได้รับการดำเนินการ พื้นที่ที่ได้รับความเสียหายจากถ่านหินจำนวนมาก อาจเป็นเครื่องมือสำคัญในการทำให้พลังงานสะอาดเพิ่มขึ้นทั่วโลก ซึ่งเป็นสิ่งที่จำเป็นที่สุดในการเปลี่ยนการผ่านด้านพลังงาน
ที่มา: Ecowatch, Euro News, Interesting Engineering, The Guardian
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 30 มิถุนายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1186935