แม้เทคโนโลยี AI จะพัฒนาอย่างก้าวกระโดด และหลายบริษัทเริ่มลงทุนใช้ปัญญาประดิษฐ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพงาน และมันอาจเข้ามาทดแทนงานบางอย่างได้ แต่ยังมีหลายอาชีพที่ปลอดภัยจากการถูก AI เข้ามาแทนที่ เพราะต้องใช้ทักษะมนุษย์ที่หุ่นยนต์ไม่สามารถเรียนรู้ได้ง่ายๆ เช่น ทักษะความเห็นอกเห็นใจ การคิดเชิงวิเคราะห์ และความคิดสร้างสรรค์
กรุงเทพธุรกิจ ชวนย้อนดูรายงาน Top 65 Jobs Safest from AI & Robot Automation จาก US Career Institute อีกครั้งที่เคยเผยแพร่ออกมาให้ทราบเมื่อปี 2023 แต่อาชีพเหล่านี้ถูกวิเคราะห์จากแหล่งข้อมูลหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น สำนักงานสถิติแรงงานแห่งสหรัฐอเมริกา, Salary.com และ แพลตฟอร์มคำนวณจาก WillRobotsTakeMyJob จนในที่สุดพบกลุ่มอาชีพมีความเสี่ยง 0% ที่จะถูก Ai มาทำงานแทน หรือแปลว่าไม่มีความเสี่ยงเลย แถมยังคาดการณ์ว่าจะเติบโตสูงขึ้น (อัตราความต้องการเพิ่มขึ้น) ภายในปี 2032 อีกด้วย
ทั้งนี้ สายงานที่ต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์หรือไม่มีรูปแบบตายตัว ยังถือว่ามีความเสี่ยงต่ำจากการถูกแทนที่ด้วย AI ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ สายอาชีพด้านการแพทย์ ซึ่งต้องการความยืดหยุ่นสูงในการตัดสินใจ และรับมือกับสถานการณ์เฉพาะหน้าที่คาดเดาไม่ได้ หากจำแนกออกมาเป็นหมวดหมู่อาชีพในภาพกว้างๆ จะพบว่า กลุ่มอาชีพที่มีความเสี่ยงต่ำ 0% ต่อการถูก AI และระบบอัตโนมัติมาแทนที่ ได้แก่
– ด้านสุขภาพ : พยาบาล แพทย์ นักบำบัด และนักจิตวิทยา
– ด้านการศึกษา : ครู อาจารย์ และผู้บริหารสถานศึกษา
– สายสร้างสรรค์ : นักดนตรี ศิลปิน นักเขียน และนักข่าว
– งานบริการส่วนบุคคล : ช่างทำผม ช่างเสริมสวย เทรนเนอร์ส่วนตัว และโค้ช
10 อาชีพ ‘ไม่ถูก AI แย่งงาน’ แถมเติบโตสูงที่สุดภายในปี 2032
ตามรายงานของ U.S. Career Institute ชี้ว่า อาชีพต่อไปนี้มีความเสี่ยงในการถูกแทนที่ด้วย AI ต่ำมากถึง 0% เพราะต้องใช้ทักษะ ความรู้ ความสามารถ และประสบการณ์ในระดับที่ AI ยังเอื้อมไม่ถึง โดยในที่นี้ ขอยกเฉพาะ 10 อันดับแรกจาก 65 อาชีพที่ไม่เสี่ยงโดน AI เข้ามาทำงานแทนที่ รวมถึงจัดอันดับตามตัวเลขคาดการณ์อัตราการเติบโตของอาชีพเหล่านี้ ได้แก่
1. พยาบาลระดับเชี่ยวชาญ (Nurse Practitioners) อัตราเติบโต 45.7%
2. นักออกแบบท่าเต้น (Choreographers) อัตราเติบโต 29.7%
3. ผู้ช่วยแพทย์ (Physician Assistants) อัตราเติบโต 27.6%
4. นักจิตบำบัด/ที่ปรึกษาสุขภาพจิต (Mental Health Counselors) อัตราเติบโต 22.1%
5. อาจารย์พยาบาลในระดับอุดมศึกษา (Nursing Instructors and Teachers, Post-Secondary) อัตราเติบโต 21.5%
6. โค้ช และแมวมอง (Coaches and Scouts) อัตราเติบโต 20%
7. เทรนเนอร์ด้านกีฬา (Athletic Trainers) อัตราเติบโต 17.5%
8. นักกายภาพบำบัด (Physical Therapists) อัตราเติบโต 16.9%
9. นักออกแบบอุปกรณ์เทียม (Orthotists and Prosthetists) อัตราเติบโต 16.8%
10. นักกิจกรรมบำบัด (Occupational Therapists) อัตราเติบโต 13.9%
อาชีพใด ‘ปลอดภัยจาก AI’ และมีแนวโน้มเติบโตมากที่สุด?
ในบรรดาอาชีพที่รอดพ้นจากการถูกแทนที่ด้วย AI หนึ่งในตำแหน่งที่มีแนวโน้มเติบโตมากที่สุดก็คือ “พยาบาลระดับผู้เชี่ยวชาญสูง” (Nurse Practitioner) ซึ่งคาดว่าจะเติบโตขึ้นถึง 45.7% ภายในปี 2032 ถือว่าเร็วที่สุดในบรรดา 64 อาชีพที่ถูกจัดอยู่ในกลุ่ม “AI-Proof Jobs” หรือเป็นสายอาชีพที่ปลอดภัยจาก AI นั่นเอง
แม้เส้นทางสู่อาชีพนี้จะต้องใช้เวลาเรียนยาวนาน และเรียนยาก โดยต้องเรียนต่อในระดับปริญญาโทหรือปริญญาเอกด้านพยาบาลศาสตร์ แต่ก็เป็นอาชีพที่มั่นคง และได้รับค่าตอบแทนสูง โดยมีรายได้เฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ประมาณ 120,680 ดอลลาร์ต่อปี (ราวๆ 3,990,000 บาทต่อปี) เหตุผลที่อาชีพนี้ยากต่อการถูกแทนที่ด้วย AI ก็เพราะว่า ต้องอาศัยทักษะการดูแลผู้ป่วย การเจรจาโน้มน้าวใจ และความสามารถในการเข้าใจความรู้สึกของผู้อื่น ซึ่งล้วนเป็นสิ่งที่หุ่นยนต์ยังทำไม่ได้
นอกจากพยาบาลผู้เชี่ยวชาญแล้ว ยังมีอีกหลายอาชีพที่คาดว่าจะเติบโตอย่างต่อเนื่องในอีก 10 ปีข้างหน้า เช่น “นักออกแบบท่าเต้น” (Choreographers) คาดว่าจะโตถึง 29.7% ภายในปี 2032 เพราะต้องใช้ความคิดสร้างสรรค์ และทักษะสังคม ซึ่ง AI ยังไม่สามารถทดแทนได้เช่นกัน ขณะที่ “ผู้ช่วยแพทย์” (Physician Assistants) คาดว่าจะเติบโต 27.6% โดยใช้ทักษะที่คล้ายกับพยาบาลผู้เชี่ยวชาญ ทำให้มีความเสี่ยงต่ำต่อการถูกแทนที่ด้วย AI
ขณะที่อาชีพ “นักจิตบำบัดและนักให้คำปรึกษาด้านสุขภาพจิต” เป็นอีกสายงานที่ระบบอัตโนมัติทดแทนไม่ได้ เพราะว่าจำเป็นต้องมีความเข้าใจในอารมณ์ และความรู้สึกของมนุษย์ รวมถึงการสร้างความไว้วางใจ และให้คำแนะนำที่เหมาะกับแต่ละคน ซึ่งเป็นทักษะที่ AI ไม่สามารถเรียนรู้ได้ลึกซึ้งพอ
เปิดอันดับอาชีพที่เหลือ 11 – 65 ความเสี่ยงต่ำต่อ AI
ทั้งนี้ หากอยากทราบอันดับอาชีพที่เหลือ ซึ่งความเสี่ยงต่ำ 0% ที่จะถูก AI แย่งงาน ได้แก่ 11.นักบำบัดชีวิตคู่ และครอบครัว 12.นักศิลปะบำบัด 13.นักดนตรีบำบัด 14.นักสังคมฯ ด้านดูแลสุขภาพ 15. นักสังคมฯ ด้านสุขภาพจิต 16. วิศวกรชีวภาพ 17. อาจารย์สอนจิตวิทยา 18. ฟิตเนสและสุขภาพ 19. นักวิทยาศาสตร์ดินและพืช 20. อาจารย์สังคมสงเคราะห์ศาสตร์ 21. ครูสอนศิลปะ/การละคร/ดนตรี 22. จิตแพทย์ 23. อาจารย์มานุษยวิทยา 24. นักฟิสิกส์ 25. อาจารย์สอนสถาปัตยกรรมศาสตร์ 26. พยาบาลผดุงครรภ์ 27. เวชกิจฉุกเฉิน 28. ผจก.ฝ่ายรักษาความปลอดภัย 29. วิศวกรโยธา 30. วิศวกรขนส่ง
31. พลศึกษาเพื่อผู้พิการ 32. หน่วยกู้ชีพ 33. พยาบาลคลินิก 34. พยาบาลผู้ป่วยหนัก 35. พยาบาลจิตเวชขั้นสูง 36. ทันตแพทย์ 37. นักออกแบบนิทรรศการ 38. ทันตแพทย์เฉพาะทาง 39. ผู้บริหารการศึกษา 40. ศัลยแพทย์ช่องปาก 41. นักดับเพลิง 42. หัวหน้างานดับเพลิง 43. นักผังเมือง 44. นักบำบัดด้วยกิจกรรม 45. ผู้นำทางศาสนา 46. แพทย์ผิวหนัง 47. นักประสาทวิทยา 48. หัวหน้าตำรวจและนักสืบ 49. นักประสาทจิตวิทยา 50. นักประสาทจิตวิทยาคลินิก
51. ศัลยแพทย์กระดูกและข้อ 52. สถาปนิก 53. ศัลยแพทย์อื่นๆ 54. ผู้นำจัดการภาวะฉุกเฉิน 55. แพทย์เวชศาสตร์ป้องกัน 56. แพทย์เวชศาสตร์ฟื้นฟู 57. แพทย์ประจำโรงพยาบาล 58. แพทย์เวชศาสตร์การกีฬา 59. ศัลยแพทย์เด็ก 60. สูตินรีแพทย์ 61. นักออกแบบภายใน 62. ภูมิสถาปนิก 63. พิทักษ์ป่าและสัตว์ป่า 64. ผู้บริหารระดับสูง 65. ผู้ติดตั้งอาคารสำเร็จรูป
ในภาพรวม AI จะเปลี่ยนแปลงตลาดแรงงานอย่างไร?
ในอนาคตอันใกล้นี้ AI จะเข้ามาเปลี่ยนแปลงฉากทัศน์การทำงานหลายๆ มิติ แม้มีบางสายงานอาจจะหายไป แต่ก็เกิดสายงานใหม่ขึ้นมาด้วย และเกิดการพัฒนาทักษะมนุษย์ที่จำเป็นท่ามกลางโลกแห่งระบบอัตโนมัติ โดยความเปลี่ยนแปลงแต่ละมิติที่วัยทำงานต้องรู้ มีดังนี้
1. งานบางประเภทจะถูกแทนที่ : งานซ้ำๆ อย่างการกรอกข้อมูล บริการลูกค้า หรือการผลิตในสายพาน มีแนวโน้มสูงที่จะถูก AI แทนที่ และอาจกระทบแรงงานถึง 400-800 ล้านคนภายในปี 2030
2. อีกด้านหนึ่ง งานใหม่ก็จะเกิดขึ้น : การเติบโตของ AI จะสร้างความต้องการใหม่ เช่น นักพัฒนา AI, นักวิเคราะห์ข้อมูล, ผู้เชี่ยวชาญด้านจริยธรรมของ AI และผู้ดูแลระบบอัตโนมัติ
3. ทักษะใหม่ๆ จะสำคัญมาก: คนทำงานยุคนี้ต้องเสริมทักษะด้านการคิดวิเคราะห์ ความคิดสร้างสรรค์ การปรับตัว และ EQ ซึ่งเป็นสิ่งที่ AI ยังทำไม่ได้ดีเท่ามนุษย์
4. ช่องว่างทางเศรษฐกิจอาจขยาย ถ้าไม่เตรียมตัว : หากไม่มีการสนับสนุนให้คนเข้าถึงการเรียนรู้ตลอดชีวิต และการปรับตัวกับเทคโนโลยี คนบางกลุ่มอาจถูกทิ้งไว้ข้างหลัง
โดยสรุปก็คือ แม้ AI และระบบอัตโนมัติ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานบางประเภท ซึ่งอาจทำงานบางอย่างแทนคนได้ด้วย จึงเป็นไปได้ที่จะเกิดความเสี่ยงกับแรงงานจำนวนมากที่มีโอกาสถูกแทนที่ในอนาคต ดังนั้น หากอยากสร้างความมั่นคงให้กับอาชีพในระยะยาว ทางเลือกหนึ่งที่ควรพิจารณาคือ เลือกงานที่ต้องใช้ทักษะเฉพาะตัวของมนุษย์ที่ยากต่อการทำซ้ำด้วยระบบอัตโนมัติ
อีกหนึ่งแนวทางสำคัญคือ การพัฒนาทักษะใหม่ๆ และเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สามารถแข่งขันและยืนหยัดในตลาดแรงงานได้ในระยะยาว ท่ามกลางการเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยี เช่น ทักษะด้านความเข้าใจคน, ความคิดสร้างสรรค์, การตัดสินใจในสถานการณ์ที่ซับซ้อน ฯลฯ เพราะทักษะเหล่านี้ย้ำเตือนว่า “มนุษย์” ก็ยังจำเป็นในโลกการทำงานที่ AI กำลังจะครองเมือง
อ้างอิง: U.S.CareerInstitute, AnalyticsVidhya
พิสูจน์อักษร….สุรีย์ ศิลาวงษ์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 19 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/lifestyle/1181002