โลกกำลังอยู่ในช่วง สงครามการค้าครั้งใหญ่ ที่เริ่มโดย ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ของสหรัฐที่ประกาศเก็บภาษีศุลกากรต่างตอบแทนแก่หลายประเทศทั่วโลก โดยเฉพาะประเทศจีนที่ตอบโต้กลับการคิดภาษีของสหรัฐ จนทรัมป์อัดภาษีศุลกากรแก่สินค้าจีนด้วยอัตราสูงถึง 145% ส่วนจีนก็ไม่ยอมลงให้ ซ้ำยังตอบโต้กลับทันทีด้วยการเรียกเก็บภาษีสินค้านำเข้าจากสหรัฐสูง 125% ถือเป็นการเปิดฉากสงครามการค้าระหว่างประเทศเขตเศรษฐกิจใหญ่ที่สุดอันดับ 1 และ 2 ของโลก ท่ามกลางความวุ่นวายนานหลายสัปดาห์ตั้งแต่เดือนเมษายนที่ผ่านมา
อย่างไรก็ตาม เมื่อเจ้าหน้าที่ระดับสูงของสหรัฐและจีนได้มีการหารือที่นครเจนีวา ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 10-11 พฤษภาคม ภาพยนตร์บู้ล้างผลาญกลับกลายเป็นภาพยนตร์สะท้อนมิตรภาพไปทันที ทั้งสองมหาอำนาจโลกประกาศสงบศึกชั่วคราวด้วยการตกลงกันว่าต่างฝ่ายจะต่างลดภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าของอีกฝ่ายลง ทำให้โลกเริ่มมีความหวังขึ้นมาบ้างเพราะสัญญาณของการคลี่คลายสงครามการค้าได้เกิดขึ้นแล้วในที่สุด
นายสก็อตต์ เบสเซนต์ รัฐมนตรีคลังสหรัฐ และ นายเจมิสัน เกรียร์ ผู้แทนการค้าสหรัฐ ได้หารือกับ นายเหอ ลี่เฟิง รองนายกรัฐมนตรีจีนที่ดูแลด้านเศรษฐกิจ ที่นครเจนีวา ท่ามกลางการจับตามองของทั่วโลกว่าสองชาติมหาอำนาจจะลดอุณหภูมิของสงครามการค้าได้อย่างไร จนท้ายที่สุด จีนและสหรัฐได้ตกลงที่จะลดอัตราภาษีศุลกากรสินค้านำเข้าของอีกฝ่ายลง 115% เป็นเวลา 90 วัน หมายความว่าอัตราภาษีศุลกากรของสหรัฐที่คิดแก่สินค้านำเข้าจากจีนจะลดลงเหลือ 30% ส่วนอัตราภาษีศุลกากรที่จีนคิดต่อสินค้านำเข้าจากสหรัฐจะลดเหลือ 10% นอกจากนั้น จีนยังยกเลิกมาตรการอื่นๆ อาทิ คำสั่งห้ามส่งออกแร่ธาตุสำคัญไปยังสหรัฐ และยกเลิกมาตรการสั่งห้ามไม่ให้สายการบินจีนรับมอบเครื่องบินของโบอิ้ง ขณะที่สหรัฐก็ลดการเก็บภาษีกับพัสดุที่ส่งจากจีนมายังสหรัฐจาก 120% เหลือ 30% ด้วยเช่นกัน
นายเบสเซนต์เน้นย้ำว่า จีนและสหรัฐต้องการทำการค้ากัน โดยกล่าวถึงเรื่องนี้ในการประชุมด้านการลงทุนในกรุงริยาด ประเทศซาอุดีอาระเบีย ภายหลังเสร็จสิ้นการหารือการค้ากับจีน ว่าก่อนหน้านี้การที่ทั้งจีนและสหรัฐมีการคิดภาษีศุลกากรต่อกันสูงถึงประมาณ 125% – 145% ตามลำดับนั้นเป็นเหมือนการคว่ำบาตรโดยไม่ได้ตั้งใจ ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อทั้งสองประเทศและต่อโลก เมื่อครั้งที่ประธานาธิบดีทรัมป์เริ่มโครงการเรื่องภาษีนั้น รัฐบาลสหรัฐมีแผนการและขั้นตอนแต่ไม่มีกลไกการทำงานกับจีน ดังนั้นการหารือที่เจนีวาจึงเป็นเหมือนสิ่งที่ทั้งเขาและนายเหอเรียกว่า “Geneva Mechanism” เพื่อป้องกันไม่ให้ทั้งสองฝ่ายเกิดความเข้าใจผิดและป้องกันไม่ให้สงครามการค้าลุกลามบานปลายเหมือนที่เคยเป็น
นักเศรษฐศาสตร์หลายคนยอมรับว่า ข้อตกลงที่มีการบรรลุในการหารือที่เจนีวานั้นถือว่าดีกว่าที่พวกเขาคาดคิดไว้ในตอนแรก ที่มีการคาดการณ์ว่าทั้งสองประเทศจะลดภาษีศุลกากรซึ่งกันและกันลงประมาณ 50% ส่วนทรัมป์แย้มว่าอาจลดภาษีศุลกากรแก่สินค้าจีนลงเหลือ 80% นายจือ เว่ยจาง หัวหน้านักเศรษฐศาสตร์ของ Pinpoint Asset Management ของฮ่องกงให้ความเห็นว่า การที่ทั้งสองประเทศลดกำแพงภาษีของตัวเองมากขนาดนั้นถือเป็นข่าวดีสำหรับเศรษฐกิจทั้งสองประเทศและของโลก ยิ่งทำให้นักลงทุนมีความกังวลน้อยลงเกี่ยวกับผลกระทบของสงครามการค้าต่อห่วงโซ่อุปทานโลกในระยะสั้น นั่นยังทำให้คะแนนนิยมของทรัมป์ในการสำรวจล่าสุดเพิ่มสูงขึ้นจากเดิม 42% เป็น 44% เพราะชาวอเมริกันกังวลน้อยลงกับเรื่องแนวทางการบริหารเศรษฐกิจของทรัมป์
แม้จะต้องจับตากันต่อไปว่าอะไรจะเกิดขึ้นหลังจากที่การลดภาษีศุลกากร 90 วันสิ้นสุดลง แต่ความคลี่คลายในสมรภูมิการค้าระหว่างสหรัฐและจีนอาจสะท้อนให้เห็นว่า ทรัมป์ก็พร้อมที่จะเจรจาเรื่องภาษีกับประเทศที่ถือเป็นคู่แข่งอันดับ 1 อย่างจีน จุดประกายความหวังให้กับประเทศต่างๆ ว่ามีโอกาสที่จะได้รับการลดภาษีจากสหรัฐ เพราะขนาดกับจีน สหรัฐยังลดภาษีศุลกากรจาก 145% เหลือเพียง 30% น้อยกว่าอัตราที่คิดกับหลายประเทศ รวมถึงไทยที่สหรัฐกำหนดภาษีศุลกากรไว้ที่ 36% อย่างไรก็ดีต้องไม่ลืมว่าแม้ทั้งจีนและสหรัฐมีการเจรจาที่ดีที่เจนีวา แต่ปัญหาที่ทรัมป์คาใจยังคงไม่ได้รับการแก้ไขเพราะสหรัฐยังคงขาดดุลการค้ากับจีนอยู่จำนวนมาก เบสเซนต์กล่าวถึงเรื่องนี้ว่า สิ่งที่สหรัฐต้องการคืออยากให้จีนซื้อสินค้าจากสหรัฐมากขึ้นเพื่อแก้ไขเรื่องการขาดดุลการค้า
ดังนั้น กุญแจสำคัญในการเจรจากับสหรัฐคือ “คุณมีอะไรมานำเสนอกับสหรัฐ” ซึ่งนายเบสเซนต์ยังได้กล่าวเสริมในเวทีดังกล่าวว่า หลายประเทศได้เข้ามาพูดคุยกับสหรัฐแล้ว อาทิ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ที่มาพร้อมข้อเสนอที่ดีเยี่ยม เช่นเดียวกับอินโดนีเซีย ไต้หวัน รวมถึงไทย
แม้ว่ากลวิธีที่ทรัมป์ใช้ภาษีเป็นเครื่องมือในการทำให้แต่ละประเทศตบเท้าเข้ามาจับมือทำข้อตกลงกับสหรัฐอาจฟังดูหลุดโลก สร้างความโกลาหลให้กับตลาดการค้าโลก แต่ต้องยอมรับว่าแผนนี้ดูเหมือนจะได้ผลดีกับสหรัฐ เพราะในระหว่างที่ประธานาธิบดีทรัมป์เดินทางเยือนตะวันออกกลางในช่วงสัปดาห์นี้ รัฐบาลสหรัฐได้บรรลุข้อตกลงที่จะขายอาวุธให้กับประเทศซาอุดีอาระเบียเป็นมูลค่าเกือบ 142,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือเป็นเงินไทยกว่า 4.73 ล้านล้านบาท ถือเป็นข้อตกลงความร่วมมือด้านความมั่นคงที่ใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์สหรัฐ ทั้ง ทรัมป์ และ เจ้าชายมุฮัมมัด บิน ซัลมาน บิน อับดุลอะซีซ อาล ซะอูด มกุฎราชกุมารแห่งราชวงศ์ซาอุดีอาระเบีย ยังได้ลงนามความร่วมมือในด้านพลังงาน ความมั่นคง การทำเหมืองและในด้านอื่นๆ ซึ่งหากมีการบรรลุข้อตกลงเพิ่มเติมในอีกหลายเดือนข้างหน้า มูลค่าของข้อตกลงกับสหรัฐทั้งหมดอาจสูงถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์สหรัฐ
เท่านั้นไม่พอ ทรัมป์ยังได้เดินทางเยือนประเทศกาตาร์ โดยกาตาร์ แอร์เวย์ หนึ่งในสายการบินชั้นนำของโลกและสายการบินแห่งชาติของกาตาร์ ได้ประกาศซื้อเครื่องบินจากบริษัทโบอิ้งเป็นจำนวน 160 ลำ พร้อมออปชั่นที่จะสั่งซื้ออีก 50 ลำ เป็นเครื่องบินโบอิ้งรุ่น 787 ดรีมไลเนอร์และ 777X พร้อมเครื่องยนต์ของ General Electric ของสหรัฐ โดยคำสั่งซื้อนี้มีมูลค่า 9.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 3.2 ล้านล้านบาท ถือเป็นคำสั่งซื้อเครื่องบินล็อตใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของโบอิ้ง ขณะที่ในการเยือนสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ทรัมป์ยังบรรลุข้อตกลงทางการค้ากว่า 2 แสนล้านดอลลาร์ หรือกว่า 6.62 ล้านล้านบาท ซึ่งรวมถึงข้อตกลงมูลค่า 1.45 หมื่นล้านดอลลาร์ หรือกว่า 4.9 แสนล้านบาท ระหว่างโบอิ้งและจีอีกับเอทิฮัดแอร์เวย์อีกด้วย ทำให้อดคิดไม่ได้ว่าถ้าทรัมป์ไปตะวันออกกลางแบบตัวเปล่า ไม่มีเรื่องภาษีแล้ว ทรัมป์จะได้ดีลที่ดีแบบนี้กลับมาวอชิงตัน ดี.ซี.หรือไม่
หากยังจำกันได้ ทรัมป์เน้นย้ำว่านโยบายภาษีของเขามีจุดประสงค์เพื่อลดการขาดดุลการค้า กระตุ้นกำลังการผลิตในประเทศ ทำให้บริษัทต่างๆ มาเปิดโรงงานในสหรัฐมากขึ้น และกระตุ้นการจ้างงานในสหรัฐ วิธีการใช้ภาษีมาเป็นอาวุธของทรัมป์อาจไม่ถูกใจใครหลายคน แต่ต้องยอมรับว่ามันทำให้ทรัมป์ได้ในสิ่งที่เขาต้องการไม่มากก็น้อย
ที่มา : สำนักข่าวมติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.matichon.co.th/politics/news_5187949