รัฐบาลอิสราเอลได้อนุมัติแผนเพื่อการขยายปฏบัติการรุกทางทหารในเขตฉนวนกาซา รวมทั้งยึดครองดินแดนเพิ่มเติม
นายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู ของอิสราเอลกล่าวว่า คณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอิสราเอลได้ตัดสินใจใช้ “ปฏิบัติการอันทรงพลัง” เพื่อทำลายกลุ่มฮามาสและช่วยเหลือตัวประกันที่เหลือ ในเวลาเดียวกันกับที่มีการเคลื่อนย้ายผู้คนในกาซาราว 2.1 ล้านคนออกไปเพื่อปกป้องพวกเขา
อย่างไรก็ตาม ความเคลื่อนไหวดังกล่าวกลับจุดประเด็นความกังวลและการถกเถียงในระดับนานาชาติเกี่ยวกับผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
อิสราเอลมีแผนการอะไรเกี่ยวกับกาซา ?
สำหรับแผนที่เพิ่งได้รับการอนุมัติโดยคณะรัฐมนตรีด้านความมั่นคงของอิสราเอลเมื่อวันอาทิตย์ที่แล้ว ประกอบด้วย การ “ยึดครอง” ฉนวนกาซา การถือครองดินแดนกาซา การ “โจมตีอย่างรุนแรง” ต่อกลุ่มฮามาส ในขณะเดียวกันก็ปฏิเสธไม่ให้กลุ่มดังกล่าวสามารถแจกจ่ายเสบียงด้านมนุษยธรรมได้
ปฏิบัติการที่ขยายวงกว้างจะย้ายชาวปาเลสไตน์ส่วนใหญ่ไปทางตอนใต้ของฉนวนกาซา ขณะที่การโจมตีทางอากาศและปฏิบัติการทางทหารอื่น ๆ ยังคงดำเนินต่อไป
ตามรายงานในสื่ออิสราเอล แผนระยะแรกจะประกอบด้วย การยึดพื้นที่เพิ่มเติมในฉนวนกาซา และการขยาย “เขตกันชน” ที่อิสราเอลกำหนดไว้ตามแนวชายแดนของกาซา
แผนดังกล่าวนี้ยังรวมถึงแผนการส่งสิ่งของและความช่วยเหลือผ่านบริษัทเอกชน ซึ่งจะยุติการปิดล้อมกาซานานสองเดือนที่สหประชาชาติ (UN) ระบุว่าทำให้เกิดการขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
นักวิเคราะห์ระบุว่า ปฏิบัติการทางทหารล้มเหลวในการนำตัวประกันที่เหลือ 59 คนกลับคืนมา โดยในจำนวนนี้เชื่อว่ามีถึง 24 คนที่ยังมีชีวิตอยู่ นอกจากนี้ พวกเขายังเรียกร้องให้รัฐบาลอิสราเอลบรรลุข้อตกลงกับกลุ่มฮามาส
นายกรัฐมนตรีเนทันยาฮูไม่ได้ระบุว่า กองกำลังทหารจะยึดดินแดนได้เท่าใด แต่เขาย้ำว่า “พวกเขาจะไม่แค่เข้าไปและออกมาเฉย ๆ “
ทั้งนี้ เป็นที่เข้าใจกันว่าแผนดังกล่าวจะไม่ได้รับการนำไปปฏิบัติจนกว่าประธานาธิบดีทรัมป์แห่งสหรัฐฯ จะได้เดินทางเยือนภูมิภาคแห่งนี้ ซึ่งคาดว่าจะมีขึ้นระหว่างวันที่ 13-16 พ.ค. นี้ ซึ่งถือเป็น “โอกาส” ที่กลุ่มฮามาสจะบรรลุข้อตกลงหยุดยิงและปล่อยตัวประกันครั้งใหม่ได้
เหตุใดจึงมีความกลัวว่าจะเกิดการอดอยาก ?
แผนการดังกล่าวที่เพิ่งประกาศไปเมื่อไม่นานนี้ได้ทำให้เกิดความกังวลอีกครั้งเกี่ยวกับความเสี่ยงของการขาดแคลนอาหารทั่วทั้งฉนวนกาซา
หลังจากเมื่อวันที่ 2 มี.ค. อิสราเอลได้สั่งปิดจุดผ่านแดนทั้งหมดไปยังฉนวนกาซา โดยห้ามไม่ให้สินค้าทุกชนิด ซึ่งรวมถึงอาหาร เชื้อเพลิง และยาเข้ามาได้ และได้กลับมาเปิดฉากโจมตีทางการทหารอีกครั้งในอีกสองสัปดาห์ต่อมา โดยนี่ถือเป็นการยุติข้อตกลงหยุดยิงเป็นระยะเวลาสองเดือนกับกลุ่มฮามาสด้วย
อิสราเอลระบุว่า ขั้นตอนเหล่านี้มีขึ้นเพื่อกดดันให้กลุ่มฮามาสปล่อยตัวประกันที่ยังถูกคุมขังอยู่
อย่างไรก็ตาม มีแรงกดดันจากนานาชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ ที่ต้องการให้อิสราเอลยกเลิกการปิดล้อมดังกล่าว โดยเตือนว่า ความอดอยากครั้งใหญ่จะเกิดขึ้นในไม่ช้านี้ และการปล่อยให้ประชาชนอดอาหารโดยเจตนาถือเป็นอาชญากรรมสงคราม
เมื่อไม่นานนี้ โครงการอาหารโลกของสหประชาชาติและ Unrwa ซึ่งเป็นหน่วยงานของสหประชาชาติเพื่อผู้ลี้ภัยชาวปาเลสไตน์ กล่าวว่า อาหารที่พวกเขาเก็บไว้ช่วยเหลือผู้คนได้หมดลงแล้ว
รายงานขององค์การสหประชาชาติระบุว่า ประชาชนกำลังเผชิญกับความเสี่ยงที่จะเผชิญความหิวโหยและขาดสารอาหารอีกครั้ง เนื่องจากคลังสินค้าเต็มไปด้วยความว่างเปล่า ร้านเบเกอรีปิดให้บริการ และโรงครัวชุมชนจะขาดแคลนเสบียงในอีกไม่กี่วันข้างหน้า
การปิดล้อมยังทำให้ยารักษาโรค วัคซีน และอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่จำเป็นสำหรับระบบการดูแลสุขภาพของกาซาที่โดยปกติก็มีงานล้นมือต้องหยุดชะงัก
แต่อิสราเอลยืนกรานซ้ำแล้วซ้ำเล่าว่า ไม่มีการขาดแคลนความช่วยเหลือในพื้นที่ โดยกล่าวหากลุ่มฮามาสว่าได้ขโมยและจัดเก็บความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเพื่อมอบให้กับนักรบของตนหรือไม่ก็ขายเพื่อหาเงิน
ขณะที่สหประชาชาติและหน่วยงานอื่น ๆ ปฏิเสธว่า ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมไม่ได้ถูกนำออกไปนอกเส้นทาง พร้อมกับระบุว่า มีกลไกตรวจสอบอย่างเข้มงวด
หลังจาก[อิสราเอล]ประกาศล่าสุดเกี่ยวกับแผนการส่งความช่วยเหลือผ่านบริษัทเอกชน สหประชาชาติ และหน่วยงานช่วยเหลืออื่น ๆ กล่าวว่า ข้อเสนอดังกล่าวอาจละเมิดหลักการมนุษยธรรมขั้นพื้นฐาน และพวกเขาจะไม่ให้ความร่วมมือ
กฎหมายระหว่างประเทศกล่าวถึงเรื่องความอดอยากไว้อย่างไรบ้าง ?
“ความอดอยาก” เกิดขึ้นเมื่อประเทศหนึ่งประสบปัญหาขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง จนประชากรเกิดภาวะทุพโภชนาการ อดอาหาร หรือเสียชีวิต
โดยทั่วไป สถานะดังกล่าวจะได้รับการประกาศโดยสหประชาชาติ บางครั้งเป็นการประกาศร่วมกับรัฐบาลของประเทศนั้น ๆ และมักจะประกาศร่วมกับองค์กรช่วยเหลือระหว่างประเทศหรือหน่วยงานด้านมนุษยธรรมอื่นๆ
การประเมินว่าเข้าเกณฑ์ “ความอดอยาก” แล้วหรือไม่ จะใช้เกณฑ์ของสหประชาชาติที่เรียกว่า การจัดลำดับระยะความอดอยาก (Integrated Food Security Phase Classification – IPC)
การจัดระดับภาวะขาดแคลนอาหารของประเทศ – หรือความไม่มั่นคง – โดยแบ่งเป็น “ระยะ” ของความรุนแรง 5 ระยะ โดยระยะอดอยากเป็นระยะที่ 5 และรุนแรงที่สุด
การจะประกาศ “ภาวะอดอยาก” อย่างเป็นทางการ จะต้องเกิด 3 เรื่องนี้ก่อนในพื้นที่ทางภูมิศาสตร์ที่เฉพาะเจาะจง ประกอบด้วย
อย่างน้อย 20% ของครัวเรือนเผชิญกับภาวะขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง
อย่างน้อย 30% ของเด็กต้องประสบภาวะทุพโภชนาการเฉียบพลัน
ผู้ใหญ่ 2 คนหรือเด็ก 4 คนต่อประชากร 10,000 คนเสียชีวิตทุกวัน “เนื่องจากอดอาหารอย่างหนัก หรือจากภาวะทุพโภชนาการและโรคภัยร่วมกัน”

มีความกังวลเพิ่มขึ้นต่อความเสี่ยงที่จะเกิดภาวะอดอยากในกาซา
ภายใต้กฎหมายระหว่างประเทศที่กำหนดไว้ในอนุสัญญาเจนีวาระบุว่า ห้ามใช้ความอดอยากของประชาชนพลเรือนเป็นหนึ่งวิธีการทำสงคราม
สหประชาชาติกล่าวว่า อิสราเอลมีหน้าที่ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศในการจัดหาเสบียงให้แก่ประชาชนในฉนวนกาซา ซึ่งเกือบทั้งหมดต้องกลายเป็นผู้พลัดถิ่น ขณะที่อิสราเอลระบุว่า ได้ปฏิบัติตามกฎหมายระหว่างประเทศ และระบุด้วยว่าไม่มีการขาดแคลนด้านความช่วยเหลือ
อย่างไรก็ตาม แผนล่าสุด[ของอิสราเอล]ในการอนุญาตให้ส่งเสบียงบรรเทาทุกข์เข้าไปในฉนวนกาซาตอนใต้ผ่านศูนย์กลางที่กองทัพควบคุมนั้น ถูกประณามจากสำนักงานเพื่อการประสานงานด้านมนุษยธรรมแห่งสหประชาชาติ (Office for the Coordination of Humanitarian Affairs – OCHA) ซึ่งระบุว่าแผนดังกล่าวดูเหมือนเป็น “ความพยายามจงใจในการนำความช่วยเหลือไปเป็นอาวุธ”
เจ้าหน้าที่ระดับสูงของกลุ่มฮามาสกล่าวกับบีบีซีว่า กลุ่มฮามาสไม่สนใจการเจรจาหยุดยิงอีกต่อไป ในขณะที่อิสราเอลยังคงขัดขวางการส่งความช่วยเหลือทั้งหมดไปยังฉนวนกาซา
อย่างไรก็ตาม อิสราเอลเน้นย้ำว่า พวกเขากำลังเฝ้าติดตามสถานการณ์ในพื้นที่
อิสราเอลยังระบุอีกด้วยว่า มีรถบรรทุกมากกว่า 25,000 คัน บรรทุกสินค้าเกือบ 450,000 ตัน ได้เข้าสู่ฉนวนกาซาแล้วในช่วงการหยุดยิง
ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ กล่าวเมื่อไม่นานนี้ว่า เขาได้บอกกับเนทันยาฮูว่า “เราต้องใจดีกับฉนวนกาซา” และผลักดันให้เขาอนุญาตให้มีอาหารและยาเข้าไปในฉนวนกาซามากขึ้น
ที่ผ่านมาไม่มีการตอบสนองอย่างเป็นทางการต่อเรื่องนี้ แต่ก่อนหน้านี้ในสัปดาห์ก่อน กระทรวงการต่างประเทศของอิสราเอลได้ปฏิเสธคำวิจารณ์จากสหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งระบุในแถลงการณ์ร่วมว่า การปิดล้อมดังกล่าว “เป็นสิ่งที่ยอมรับไม่ได้” พร้อมทั้งยืนกรานว่า “สิ่งนี้ต้องยุติลง”
เรามาถึงจุดนี้ได้อย่างไร ?
กองทัพอิสราเอลได้เปิดฉากปฏิบัติการเพื่อทำลายล้างกลุ่มฮามาสเพื่อตอบโต้การโจมตีข้ามพรมแดนแบบที่คาดไม่ถึงเมื่อวันที่ 7 ต.ค. 2023 ซึ่งคร่าชีวิตผู้คนไปประมาณ 1,200 รายและอีก 251 รายถูกจับเป็นตัวประกัน (ในขณะนั้น)
มีรายงานว่า นับตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา มีผู้เสียชีวิตในฉนวนกาซาอย่างน้อย 52,567 ราย ตามข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุขที่ควบคุมโดยกลุ่มฮามาส
ข้อตกลงหยุดยิงระยะแรก (จากทั้งหมดที่กำหนดให้มีสามระยะ) มีผลบังคับใช้ในเดือน ม.ค. โดยฮามาสปล่อยตัวประกัน 33 คน เพื่อแลกกับการที่อิสราเอลปล่อยนักโทษชาวปาเลสไตน์ประมาณ 1,900 คน และอนุญาตให้ความช่วยเหลือและสินค้าอื่น ๆ เข้าสู่ฉนวนกาซาได้
เมื่อการสู้รบยุติลงและชาวกาซาที่พลัดถิ่นหลายพันคนกลับบ้าน ฮามาสและอิสราเอลมีกำหนดจะเริ่มการเจรจาเพื่อเริ่มข้อตกลงหยุดยิงระยะที่สอง ทั้งสองฝ่ายตกลงกันว่าการเจรจาระยะที่สองจะรวมถึงการปล่อยตัวตัวประกันที่เหลือทั้งหมด รวมถึงการถอนกำลังทหารอิสราเอลทั้งหมดออกจากฉนวนกาซา ซึ่งจะนำไปสู่การยุติสงครามอย่างถาวร
อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงระยะแรกสิ้นสุดลงในวันที่ 1 มี.ค. แต่การเจรจาในระยะต่อมากลับยังไม่มีความคืบหน้า
ฉนวนกาซาใหญ่แค่ไหน และใครควบคุมอยู่ในตอนนี้
นับตั้งแต่ปี 2007 กลุ่มฮามาสได้กลายเป็นองค์กรปกครองฉนวนกาซาโดยพฤตินัย
พื้นที่ดังกล่าวมีความยาว 41 กิโลเมตรและกว้าง 10 กิโลเมตร ล้อมรอบไปด้วยอิสราเอล อียิปต์ และทะเลเมดิเตอร์เรเนียน
กลุ่มฮามาส ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้งสมาชิกรัฐสภาในดินแดนที่ถูกยึดครองดังกล่าว[ฉนวนกาซา]ในปี 2006 และมีอำนาจมากขึ้นหลังจากขับไล่กลุ่มฟาตาห์ คู่แข่งทางการเมืองออกจากฉนวนกาซาได้
ในปีต่อมา กลุ่มฮามาสและอิสราเอลได้ต่อสู้ในความขัดแย้งครั้งใหญ่หลายครั้ง รวมถึงในปี 2008-09, 2012 และ 2014 ตามลำดับ
ทั้งนี้ กลุ่มฮามาส ถือเป็นองค์กรต้องห้ามในลักษณะเดียวกันกับองค์กรก่อการร้ายที่กำหนดโดยอิสราเอล สหรัฐอเมริกา และรัฐบาลชาติตะวันตกบางประเทศ
ที่มา : bbc / วันที่เผยแพร่ 11 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/c4g2qq89wxxo