
บรรดาผู้สันทัดกรณีกล่าวว่า การโจมตีด้วยโดรนของกองกำลังกึ่งทหารในซูดาน มีเป้าหมายเพื่อทำลายความรู้สึกปลอดภัยของกองทัพซูดาน และเปิดบทใหม่ที่อันตรายในสงคราม
นับตั้งแต่เดือน เม.ย. 2566 กองกำลังเคลื่อนที่เร็ว (อาร์เอสเอฟ) ทำสงครามกับกองทัพซูดาน ซึ่งยึดคืนดินแดนบางส่วน และขับไล่กองกำลังกึ่งทหารออกจากกรุงคาร์ทูมได้เมื่อไม่นานมานี้ แต่ดูเหมือนว่าอาร์เอสเอฟ เป็นฝ่ายได้เปรียบก่อน เมื่อการโจมตีด้วยโดรนครั้งใหญ่ เมื่อช่วงต้นเดือนนี้ เริ่มทำลายโครงสร้างพื้นฐานสำคัญในเมืองพอร์ตซูดาน บนชายฝั่งทะเลแดง
ผู้เชี่ยวชาญหลายคนเชื่อว่า อาร์เอสเอฟพยายามแสดงให้เห็นถึงความแข็งแกร่งของตนเอง ด้วยการโจมตีทุกวันตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา รวมถึงทำให้กองทัพซูดานเสื่อมเสียชื่อเสียง ขัดขวางเส้นทางส่งเสบียง และแสดงความชอบธรรม
“การกระทำดังกล่าวมีจุดประสงค์เพื่อบ่อนทำลายความสามารถของกองทัพซูดาน ในการให้ความปลอดภัยและความมั่นคงในพื้นที่ที่พวกเขาควบคุม ส่งผลให้อาร์เอสเอฟขยายขอบเขตของสงครามได้ โดยไม่ต้องอยู่ที่นั่นจริง ๆ” นางโคลูด คาอีร์ นักวิเคราะห์ชาวซูดาน กล่าว
ในช่วงสองปีที่ผ่านมา กองกำลังกึ่งทหารของซูดานอาศัยการจู่โจมสายฟ้าแลบภาคพื้นดินเป็นหลัก แต่หลังจากการสูญเสียพื้นที่เกือบทั้งหมดของกรุงคาร์ทูม เมื่อเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา อาร์เอสเอฟจึงหันไปใช้การโจมตีทางอากาศระยะไกลมากขึ้นโดยใช้อาวุธที่กองทัพซูดานระบุว่า “จัดหาโดยสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)” ถล่มจุดยุทธศาสตร์ที่อยู่ห่างจากตำแหน่งฐานที่มั่นของกองกำลังหลายร้อยกิโลเมตร ในเขตชานกรุงคาร์ทูม
ด้านนายไมเคิล โจนส์ นักวิจัยจากสถาบันรอยัล ยูไนเต็ด เซอร์วิเซส (อาร์ยูเอสไอ) ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า แกนหลักของอาร์เอสเอฟ เป็นเรื่องของ “การปรับตัวเชิงกลยุทธ์” ส่วนอีกอย่างหนึ่งคือ ภาวะหมดหวัง หรือไม่ก็ความจำเป็น
“การเสียกรุงคาร์ทูม ถือเป็นความพ่ายแพ้เชิงยุทธศาสตร์และสัญลักษณ์ ซึ่งอาร์เอสเอฟจำเป็นต้องตอบโต้ด้วยการประกาศข้อความให้รู้ว่า ‘สงครามยังไม่จบ’” นายฮามิด คาลาฟัลเลาะห์ นักวิเคราะห์ชาวซูดาน กล่าวเพิ่มเติมว่า อาร์เอสเอฟไม่น่าจะยึดคืนกรุงคาร์ทูม หรือเข้าถึงเมืองพอร์ตซูดานทางบกได้ แต่โดรนทำให้พวกเขาสามารถสร้างความกลัว และทำให้เมืองต่าง ๆ ที่เคยถือว่าปลอดภัย รู้สึกถึงความไม่มั่นคง
ในเดือนนี้ รัฐบาลซูดานตัดความสัมพันธ์ทางการทูตกับยูเออี โดยกล่าวหาว่า ยูเออีจัดหาระบบอาวุธขั้นสูงที่อาร์เอสเอฟใช้โจมตีเมืองพอร์ตซูดาน ซึ่งรัฐบาลอาบูดาบีปฏิเสธหลายครั้งหลายหนว่า ยูเออีไม่ได้ส่งอาวุธให้กับอาร์เอสเอฟ แม้จะมีรายงานจากผู้สันทัดกรณีของยูเอ็น นักการเมืองสหรัฐ และองค์กรระหว่างประเทศหลายแห่งก็ตาม
ทั้งนี้ นายโมฮาเหน็ด เอลนูร์ นักวิจัยจากสถาบันทาห์รีร์เพื่อนโยบายตะวันออกกลาง กล่าวว่า เป้าหมายหลักของอาร์เอสเอฟ คือ การเบี่ยงเบนความสนใจของกองทัพซูดาน และวางตำแหน่งตัวเองเป็นรัฐบาลที่มีศักยภาพ ซึ่งการโจมตีอย่างรวดเร็วและถอนกำลัง เป็นเรื่องที่ทำได้ง่ายกว่าการปกป้องดินแดน
เลนซ์ซูม
เครดิตภาพ : AFP
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 23 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4737183/