60 ปี รถไฟหัวกระสุน ‘ชินคันเซ็น’
จาก Hard Power สู่ Soft Power
รถไฟหัวกระสุน (The Bullet Train) “ชินคันเซ็น” 新幹線 เปิดให้บริการเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม ปี ค.ศ.1964 นับถึงวันนี้ก็กว่า 60 ปี
กว่า 60 ปีที่สร้างแรงบันดาลใจให้กับวงการรถไฟทั่วโลก ไม่ว่าจะเป็น TGV รถไฟความเร็วสูงของฝรั่งเศส ที่เปิดตัวในปี ค.ศ.1981 ตามมาด้วย Inter-City Express (ICE) ของเยอรมนี ที่เปิดตัว ในปี ค.ศ.1991
รวมถึงในสหราชอาณาจักร คือ Intercity Express สร้างโดย HITACHI ที่ใช้องค์ประกอบซึ่งดัดแปลงมาจากรถไฟหัวกระสุนของญี่ปุ่น ตามมาด้วยรถไฟความเร็วสูงของ “ไต้หวัน” และ “จีน”
การได้รับการขนานนามว่า “รถไฟหัวกระสุน” ก็เนื่องมาจากการออกแบบที่เพรียวบาง และความเร็วสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่ง รูปร่างที่ทำให้จดจำได้ทันทีจากลักษณะหัวขบวนรถที่มีลักษณะคล้ายจมูกลาดเอียง และโค้ง ตามหลักอากาศพลศาสตร์
นับตั้งแต่เส้นทางแรกเปิดให้บริการในปี ค.ศ.1964 เครือข่ายรถไฟ “ชินคันเซ็น” ได้ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้นักเดินทางทั้งชาวญี่ปุ่น และนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกมุมโลก สามารถสำรวจภูมิประเทศอันน่าทึ่ง และเมืองที่ห่างไกลได้ง่ายขึ้น
ในปัจจุบันมีเครือข่ายรถไฟ “ชินคันเซ็น” มากถึง 9 สาย เป็นโครงข่ายโยงใยไปทั่วประเทศ ครอบคลุมไปถึงหมู่เกาะฮอกไกโด ฮอนซู และคิวชู
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เมื่อเดือนมีนาคม ปี ค.ศ.2024 ที่ผ่านมา ส่วนต่อขยายล่าสุดของสายโฮคุริกุชินคันเซ็นได้เปิดให้บริการ โดยเชื่อมต่อเส้นทางไปยังสึรุกะ
ปัจจุบัน “ชินคันเซ็น” สามารถวิ่งได้ด้วยความเร็วสูงสุด 285 ก.ม./ช.ม. และได้เติบโตจนกลายเป็นเครือข่ายที่กว้างขวาง เชื่อมต่อเมืองต่างๆ ทั่วญี่ปุ่น
“ชินคันเซ็น” มีชื่อเสียงในเรื่องความน่าเชื่อถือ ความปลอดภัย และความตรงต่อเวลา น่าเหลือเชื่อที่แม้จะมีผู้โดยสารและให้บริการเป็นจำนวนมาก แต่ความล่าช้าโดยเฉลี่ยของ “ชินคันเซ็น” กลับน้อยกว่า 1 นาที
นี่คือประสิทธิภาพที่กลายเป็นตำนานของญี่ปุ่น ตลอดประวัติศาสตร์ 60 ปีที่ผ่านมา “ชินคันเซ็น” ยังคงรักษาประวัติความปลอดภัยที่ไร้ที่ติ โดยยังไม่มีผู้เสียชีวิตหรือผู้บาดเจ็บจากอุบัติเหตุเลย
ประสิทธิภาพยังขยายไปถึงกระบวนการทำความสะอาดด้วย โดยเจ้าหน้าที่จะมีเวลาเพียง 7 นาทีในการทำความสะอาดขบวนรถทั้งหมดก่อนเริ่มให้บริการรอบใหม่ เพื่อให้แน่ใจว่าขบวนรถจะวิ่งได้อย่างราบรื่นโดยไม่กระทบต่อความสะดวกสบายของผู้โดยสาร
อย่างไรก็ตาม สิ่งมหัศจรรย์ทางวิศวกรรมนี้ไม่ได้เกิดขึ้นโดยปราศจากความท้าทาย อันเนื่องมาจากโครงสร้างพื้นฐานของญี่ปุ่นหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ได้รับความเสียหายอย่างมาก และมีข้อสงสัยว่า ญี่ปุ่นจะสามารถใช้จ่ายเงินสำหรับโครงการอันทะเยอทะยานนี้ได้หรือไม่
อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจของญี่ปุ่นที่เฟื่องฟูในช่วงทศวรรษ 1950 เป็นต้นมา ได้ปูทางไปสู่การสร้างสรรค์สิ่งใหม่ๆ และ “ชินคันเซ็น” ก็กลายเป็นประเด็นสำคัญระดับชาติ
ด้วยภูมิประเทศที่เป็นเมืองภูเขาของญี่ปุ่น คืออุปสรรคทางวิศวกรรมอันหนักหนาสาหัส แต่ความสำเร็จด้าน Hard Power ของ “ชินคันเซ็น” ถือเป็นเครื่องพิสูจน์ถึงความเฉลียวฉลาดจากการออกแบบหัวรถไฟที่ยาวเป็นเอกลักษณ์ช่วยลดแรงต้านอากาศ ทำให้สามารถผ่านอุโมงค์ได้อย่างง่ายดาย
ระบบตรวจจับแผ่นดินไหวถูกนำมาใช้เพื่อหยุดรถไฟอย่างรวดเร็วในกรณีที่เกิดแผ่นดินไหว โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสร้างสรรค์กลไกการเอียง ทำให้รถไฟสามารถเลี้ยวโค้งได้ด้วยความเร็วสูง ในขณะที่ยังคงความสะดวกสบายของผู้โดยสาร
ประโยชน์ทางเศรษฐกิจนั้นชัดเจน “ชินคันเซ็น” กระตุ้นให้เกิดการพัฒนา และสร้างโอกาสใหม่ๆ ในอุตสาหกรรมต่างๆ เช่น การท่องเที่ยว อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จของ “ชินคันเซ็น” ยังส่งผลต่อการลดจำนวนประชากรในพื้นที่ชนบท เนื่องจากคนรุ่นใหม่จะย้ายเข้ามาในเขตเมืองใหญ่และใช้รถไฟเพื่อไปเยี่ยมครอบครัวในชนบท
ในส่วนของ Soft Power จะเห็นได้ว่า “ชินคันเซ็น” ไม่ได้เป็นแค่ปฏิวัติการขนส่งผู้คนเท่านั้น แต่ยังปรับเปลี่ยนสภาพแวดล้อมในเมืองของญี่ปุ่นด้วย เห็นได้จากเมืองต่างๆ ริมเส้นทาง “ชินคันเซ็น” เติบโตอย่างรวดเร็ว ประชาชนได้รับประโยชน์จากความสะดวก และความรวดเร็ว
ผู้คนสามารถเดินทางเพื่อทำงาน และพักผ่อนได้ ด้วยความสามารถในการเดินทางระยะไกลได้ภายในไม่กี่ชั่วโมง ทำให้ชาวญี่ปุ่นสามารถใช้ชีวิตอยู่ห่างจากศูนย์กลางเมืองใหญ่ๆ ได้ ขณะที่ยังคงรักษาความสมดุลระหว่างการทำงานในเมืองใหญ่ และการใช้ชีวิตในชนบทของญี่ปุ่นเอาไว้ได้
ตัวอย่างที่เป็นรูปธรรมก็คือ วาจิมะ เมืองในคาบสมุทรโนโตะ ซึ่งเป็นพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติเมื่อช่วงวันปีใหม่ของปี ค.ศ.2024 ที่เกิดแผ่นดินไหวขนาด 7.6 ทำลายล้างเมือง และพื้นที่โดยรอบ
ปัจจุบัน สถานีวาจิมะ ตกแต่งด้วย Pok?mon และเหล่าตัวละครสีสันสดใสจากการ์ตูนยอดนิยมของญี่ปุ่น เบื้องหลังความสนุกสนานเหล่านี้ ก็เพื่อนำความสุขมายังเด็กๆ ในท้องถิ่นที่ต้องทนทุกข์ทรมานจากผลพวงของแผ่นดินไหว
วาจิมะคือเมืองที่สงบเงียบ และอ่อนน้อมถ่อมตนต่อธรรมชาติ อาคารหลายหลังยังอยู่ในที่ที่มันพังถล่มลงมา ซึ่งมักอยู่ในสภาพพังทลายบางส่วน
งานฝีมือเก่าแก่ ที่มีชื่อเสียงที่สุดของวาจิมะก็คือ เครื่องเขินวาจิมะแบบดั้งเดิม หรือ 輪島塗 ซึ่งผู้คนที่นี่มองว่า การสร้างอุตสาหกรรมเครื่องเขินขึ้นมาใหม่ คือสิ่งสำคัญในการฟื้นฟูวัฒนธรรม และวิถีชีวิตของพวกเขาในวงกว้าง
อุนาซึกิ เมืองตากอากาศอันน่าทึ่ง และมีชื่อเสียงเรื่องบ่อน้ำพุร้อนดั้งเดิมของญี่ปุ่น เมืองแห่งนี้ตั้งอยู่ในสภาพแวดล้อมอันงดงามของหุบเขาคุโรเบะ
เนื่องจากญี่ปุ่นมีภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่มากมาย ดังนั้น จึงมีน้ำพุร้อนมากมายเช่นกัน ธรรมชาติมีความสำคัญกับชาวญี่ปุ่นมาก พวกเขามีทั้งเกาะ มีภูเขาไฟ และมีภัยพิบัติจำนวนมาก ดังนั้น ชาวญี่ปุ่นจึงเกรงกลัว และให้ความเคารพกับธรรมชาติมาก
คานาซาวะ คือเมืองที่ขึ้นชื่อเรื่องซามูไร และทองคำในยุคอดีต เพราะคานาซาวะมีชื่อเสียงด้านการผลิตทองคำเปลว ซึ่งคานาซาวะผลิตทองคำเปลวมากถึง 99% ของญี่ปุ่น
คานาซาวะ จึงเป็นเมืองที่มีทั้งความใหม่ และความเก่าผสมผสานกันอยู่ เป็นการหลอมรวมความรู้สึกที่พลุกพล่าน และมีชีวิตชีวา สอดแทรกอยู่กับความเงียบสงบอย่างน่าประหลาดใจ
นอกจาก Hard Power คือวิศวกรรม เทคโนโลยี และนวัตกรรม และ Soft Power ที่หมายถึงวัฒนธรรม และผู้คน
“ชินคันเซ็น” กำลังมองไปยังอนาคต ผ่านแผนขยายเส้นทางรถไฟสายฮอกไกโดไปยังซัปโปโรในปี ค.ศ.2030 ซึ่งคาดว่าจะเชื่อมต่อภูมิภาคต่างๆ เข้ากับเมืองที่เจริญรุ่งเรืองของญี่ปุ่นได้มากขึ้น
ในอนาคต Japan Rail (JR) East กำลังสำรวจความเป็นไปได้ในการนำรถไฟหัวกระสุนแบบไร้คนขับมาใช้ภายในกลางทศวรรษ 2030 เนื่องจากญี่ปุ่นกำลังเผชิญกับปัญหาประชากรสูงอายุ และการขาดแคลนแรงงาน
ระบบอัตโนมัติจึงกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบำรุงรักษาโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งของประเทศ
นอกเหนือจากระบบอัตโนมัติแล้ว ญี่ปุ่นยังกำลังพัฒนาเส้นทางรถไฟความเร็วสูงที่ขับเคลื่อนด้วยพลังแม่เหล็ก หรือ Maglev ซึ่งคาดว่าจะปฏิวัติการเดินทางด้วยรถไฟอีกครั้งในปี ค.ศ.2034 จากความเร็วที่มากถึง 500 ก.ม./ช.ม.
เป้าหมายคือการจัดทำ “ระบบคู่ขนาน” คือ “ชินคันเซ็น” กับ “รถไฟแม่เหล็ก” ซึ่งจะทำให้ญี่ปุ่นสามารถให้บริการรถไฟที่ทันสมัย และเชื่อถือได้ที่สุดในโลกได้ต่อไป
————————————————————————————————–
ที่มา : matichonweekly / วันที่เผยแพร่ 9 เมษายน 2568
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_835132