รายงานฉบับใหม่จากกลุ่มสถาบันวิจัยด้านพลังงาน Ember ระบุว่าในปี 2024 การผลิตไฟฟ้าของโลกมากกว่า 40% มาจาก “พลังงานหมุนเวียน” แต่การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ตัวการที่ทำให้ “โลกร้อน” กลับเพิ่มสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากปีที่ผ่านมาอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้น ยิ่งทำให้ความต้องการพลังงานโดยรวมมากขึ้น ส่งผลให้ต้องใช้ “เชื้อเพลิงฟอสซิล” เพิ่มมากขึ้น
“พลังงานแสงอาทิตย์” เป็นแหล่งพลังงานที่เติบโตเร็วที่สุด โดยปริมาณไฟฟ้าที่ผลิตได้จากโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในช่วงสามปีที่ผ่านมา ฟิล แมคโดนัลด์ กรรมการผู้จัดการของ Ember กล่าวว่า
“พลังงานแสงอาทิตย์กลายเป็นตัวขับเคลื่อนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของโลก เมื่อจับคู่กับระบบกักเก็บแบตเตอรี่แล้ว พลังงานแสงอาทิตย์จะกลายเป็นพลังที่ไม่อาจหยุดยั้งได้”
ก่อนหน้านี้ Ember คาดการณ์ว่าปี 2023 จะเป็นปีที่การปล่อยมลพิษจากไฟฟ้าถึงจุดสูงสุด หลังจากที่คงที่ในช่วงครึ่งแรกของปี และหลังจากนั้นการปล่อยมลพิษจะเริ่มลดลง แต่กลับผิดคาด เนื่องจากคลื่นความร้อนที่เกิดขึ้นทั่วโลก ทำให้ความต้องการไฟฟ้าเพิ่มขึ้น ส่งผลให้พลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงเพิ่มขึ้น 1.4% ในปีนั้น
ความต้องการไฟฟ้ายังคงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยมาก ข้อมูลจาก สถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S ระบุว่าเดือนมีนาคม 2025 เป็นช่วงที่ร้อนที่สุดเป็นอันดับสองในประวัติศาสตร์
-
- พลังงานหมุนเวียนเติบโตขึ้น
“โซลาร์เซลล์” เป็นแหล่งพลังงานที่ราคาถูกและติดตั้งง่าย ทำให้พลังงานแสงอาทิตย์เป็นแหล่งพลังงานไฟฟ้าที่เติบโตเร็วที่สุดติดต่อกันเป็นปีที่ 20 ตามข้อมูลของ Ember พบว่า ปริมาณการผลิตไฟฟ้าจากแผงโซลาร์เซลล์เพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าในทุก ๆ 3 ปี นับตั้งแต่ปี 2012
จีนยังคงครองส่วนแบ่งการเติบโตของพลังงานแสงอาทิตย์มากที่สุด ด้วยสัดส่วนถึง 53% ของทั้งโลก โดยตลอดปี 2024 จีนสามารถผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้ถึง 834 TWh
ส่วนกำลังการผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ของอินเดียเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าระหว่างปี 2023-2024
ขณะที่ ประเทศสมาชิกสหภาพยุโรป 7 ประเทศติดอันดับ 15 ประเทศที่ผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากสุดในโลก โดยในปี 2024 เยอรมนีผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้ 71 TWh ซึ่งอยู่อันดับที่ 6 ของโลก ส่วนฮังการีขึ้นแท่นเป็นประเทศที่ใช้พลังงานแสงอาทิตย์สูงสุดในโลกที่ 25%
แม้ว่าจะเติบโตอย่างรวดเร็ว แต่เมื่อดูในภาพรวมแล้ว พลังงานแสงอาทิตย์ยังคงเป็นส่วนเล็ก ๆ ของการผลิตพลังงานทั่วโลก เพราะคิดเป็นสัดส่วนไม่ถึง 7% ของกำลังการผลิตไฟฟ้าทั่วโลก ซึ่งเท่ากับการจ่ายไฟให้กับประเทศอินเดียทั้งประเทศ
ขณะที่ พลังงานลมคิดเป็น 8% ของการผลิตพลังงานไฟฟ้าทั่วโลก ส่วนพลังงานนิวเคลียร์คิดเป็น 9% ด้านพลังงานน้ำมีส่วนสนับสนุน 14% ถือเป็นแหล่งพลังงานสะอาดที่ใหญ่ที่สุด แต่ทั้งพลังงานน้ำและพลังงานนิวเคลียร์เติบโตช้ากว่าพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์มาก
เมื่อรวมกันแล้ว แหล่งพลังงานสะอาดทุกประเภทสามารถผลิตพลังงานไฟฟ้าให้แก่โลกได้มากกว่า 40.9% ซึ่งเป็นครั้งแรกนับตั้งแต่ยุค 1940 ซึ่งเป็นช่วงที่ความต้องการไฟฟ้าน้อยกว่าปัจจุบันประมาณ 50 เท่า โดยพลังงานน้ำเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่เก่าแก่ที่สุดในโลก และคิดเป็นสัดส่วนขนาดใหญ่ของไฟฟ้าทั่วโลกในช่วงดังกล่าว
ในปี 2024 การผลิตพลังงานไฟฟ้าในสหภาพยุโรป 71% มาจากแหล่งพลังงานสะอาดทุกประเภท ซึ่งถือว่าสูงกว่าค่าเฉลี่ยทั่วโลกอย่างมาก และเป็นปีแรกที่การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แซงหน้าถ่านหิน ด้วยสัดส่วน 11% ซึ่งเป็นผลมาจากส่งเสริมให้ติดแผงโซลาร์เซลล์ตามบ้าน จนสามารถผลิตพลังงานแสงอาทิตย์ได้มากขึ้น
หลายประเทศในยุโรปทยอยปิดโรงไฟฟ้าถ่านหิน ใช้เชื้อเพลิงฟอสซิลให้น้อยที่สุด ขณะที่สหราชอาณาจักรเลิกใช้ถ่านหินอย่างถาวร ซึ่งการหันมาใช้พลังงานหมุนเวียนนี้จะช่วยให้ยุโรปมีความมั่นคงทางพลังงานมากยิ่งขึ้น และไม่จำเป็นต้องพึ่งพาถ่านหินจากรัสเซีย
แม้ว่า พลังงานสะอาดจะเพิ่มขึ้นเป็น แต่ปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมายังไม่เริ่มลดลง เพราะความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกที่เพิ่มขึ้นยังคงแซงหน้าการเติบโตของพลังงานหมุนเวียน
ตามรายงานพบว่าในปี 2024 ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 4% สาเหตุส่วนหนึ่งมาจากการใช้เครื่องปรับอากาศเพิ่มขึ้นในปีที่อากาศร้อนเป็นพิเศษ อีกทั้งในช่วงห้าปีที่ผ่านมา เศรษฐกิจเอเชียที่เติบโตอย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะอินเดียและจีน ทำให้ต้องเร่งผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงฟอสซิลต่อไป เพื่อตอบสนองความต้องการไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
ในปี 2024 การผลิตเชื้อเพลิงฟอสซิลเพิ่มขึ้น 1.4% โดยคิดเป็นถ่านหิน 34% และก๊าซอีก 22% ทำให้การปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ก่อให้เกิดภาวะโลกร้อนทั่วโลกเพิ่มขึ้นแตะระดับสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 14,600 ล้านตัน เพิ่มจากปีก่อน 1.6%
อย่างไรก็ตาม แมคโดนัลด์กล่าวว่า สำหรับปี 2025 คลื่นความร้อนไม่น่าจะเป็นปัจจัยหลักที่จะทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้น แต่ปัญญาประดิษฐ์ ศูนย์ข้อมูล ยานยนต์ไฟฟ้า และปั๊มความร้อน จะเข้ามามีบทบาทสำคัญที่ทำให้ความต้องการใช้ไฟฟ้าเพิ่มสูงขึ้น
รายงานระบุว่า เทคโนโลยีเหล่านี้รวมกันทำให้ความต้องการไฟฟ้าทั่วโลกเพิ่มขึ้น 0.7% ในปี 2024 ซึ่งเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าจากเมื่อ 5 ปีก่อน
ที่มา: BBC, Euro News, The Guardian
————————————————————————————————–
ที่มา : bangkokbiznews / วันที่เผยแพร่ 11 เมษายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1175374