พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล (PDPA) หากไม่มีอะไรผิดพลาด จะประกาศบังคับใช้วันที่ 27 พฤษภาคมนี้ โดยพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล หรือชื่อย่อ PDPA (Personal Data Protection Act) ฉบับ 2560 นี้เป็นพ.ร.บ.ที่ออกแบบมาเพื่อคุ้มครองประชาชน ปกป้องข้อมูลส่วนตัวทั้งทางตรงและทางอ้อม ซึ่งในบทความ ‘PDPA พ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล บรรทัดฐานใหม่ของชีวิตดิจิทัล’ ในเว็บไซต์ Brandinside กล่าวสรุปอย่างง่ายไว้ว่า “หนึ่งความเข้าใจผิดต่อเรื่องหลักการเรื่องการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลคือ คิดว่าจะเป็นมาตรการที่ห้ามใช้ ห้ามบันทึก ข้อมูลของคน ซึ่งผิดไปจากข้อเท็จจริง เพราะที่จริงแล้ว เนื้อหาหลักคือ ให้นำไปใช้เท่าที่จำเป็น ปลอดภัย และโปร่งใส”
ดังนั้นทีมงานวิจัยโครงการของศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนา คณะนิติศาสตร์ จุฬาฯ ได้แก่ ปิยะบุตร บุญอร่ามเรือง, ชวิน อุ่นภัทร, ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล และ พีรพัฒ โชคสุวัฒนสกุล จึงจัดเสวนาให้ความรู้เรื่องพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลฉบับประชาชน ในมุมมองประชาชนว่าเราควรรู้อะไรบ้าง เช่น การบันทึกภาพ หรือแชร์ภาพถ่ายคนอื่น จะโดนปรับสามแสนบาทไหม? ทางแฟนเพจ Law Chula โดยมีรายละเอียดที่น่าสนใจดังนี้
อยากถ่ายรูปเพื่อน แต่กลัวโดนจับ
หนึ่งในความเข้าใจผิดยอดฮิตของ PDPA คือหากถ่ายรูปเพื่อน ครอบครัว แล้วอัปโหลดลงโซเชียล อาจถูกจับหรือปรับได้ ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล หนึ่งในทีมงานวิจัยโครงการของศูนย์วิจัยกฎหมายและการพัฒนาให้ความรู้เรื่องนี้ไว้ว่า
“มาตรา 4(1) ไม่บังคับเพื่อใช้ในประโยชน์ส่วนตน หรือกิจกรรมในครอบครัว ถือเป็นใช้เพื่อครอบครัว และไม่ได้อยู่ภายใต้พ.ร.บ.นี้ แต่ถ้ารูปภาพดังกล่าวสร้างความเดือดร้อน สร้างความเข้าใจผิด หรือพาดพิงผู้อยู่ในภาพ หรือผู้อื่น ก็ยังมีกฎหมายอื่นคาบเกี่ยวกันอยู่ อาจถูกฟ้องร้องได้ กล่าวได้ว่ายังถ่ายภาพได้ และต้องอย่าทำให้ผู้อยู่ในภาพเดือดร้อน”
นอกจากนี้ ชวิน อุ่นภัทร ยังกล่าวเสริมว่า “กฎหมายออกมาเพื่อคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลของเรา เช่น ข้อมูลที่เอาไว้ทำธุรกรรมใด กฎหมายต้องเขียนมาควบคุมองค์กรที่ใช้ข้อมูลเยอะๆ เขียนไว้เพื่อให้เป็นมาตรฐานของสังคม ถ้าจะเป็นประเด็นนี้ควรเป็นเรื่องการละเมิดความเป็นส่วนตัวมากกว่า หากเอาภาพคนอื่นมาลงโดยนไม่ยินยอมหรือสร้างความเสียหาย ถ้าผิดก็ต้องมาดูว่าละเมิดหรือไม่ อย่างไร เช่น สื่อเอาคลิปลง ระบุชื่อคนในคลิปตามแต่สถานการณ์ การระบุชื่อก็นำไปสู่การละเมิดข้อที่ 4893/58 แม้คนนั้นจะเป็นบุคคลสาธารณะก็ตาม หรือถ้าทำให้คนในภาพได้รับความอับอาย อย่างตัวรูปอาจจะไม่ได้ละเมิด แต่ถ้าวิธีการที่ทำนั้นผิด ก็ยังถือว่าผิด ยกตัวอย่างคือ คนถูกถ่ายอยู่ในที่ที่ไม่ควรถูกถ่ายก็นับว่าเป็นเรื่องละเมิด แต่ไม่ได้เข้าข่ายข้อมูลส่วนบุคคล”
หรือถ้าอาจจะยังไม่เห็นภาพชัดนัก ฐิติรัตน์ ทิพย์สัมฤทธิ์กุล ยังกล่าวถึงกรณีต่างประเทศ ความว่า “ที่ต่างประเทศ มีคนจะฆ่าตัวตายแล้วกล้องวงจรปิด (CCTV) จับภาพได้แล้วมีคนเอาภาพนี้ไปลงในนิตยสาร ไม่ได้เซ็นเซอร์หน้าผู้เสียหายไว้ ซึ่งเมื่อภาพออกไปทำให้เราทราบว่าคนๆ นั้นเป็นใคร ต่อมาคนในภาพจึงฟ้องนิตยสารเล่มดังกล่าว ข้อนี้เข้าข่ายว่าเป็นการละเมิดข้อมูลส่วนบุคคลแน่นอน เพราะภาพถูกนำไปใช้ในจุดประสงค์อย่างอื่น สิ่งสำคัญของการตีความกฎหมายคือขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ที่ใช้ กิจกรรมที่นำไปใช้ เช่น ถ่ายภาพในที่เดียวกัน แต่อาจจะคนละวัตถุประสงค์ ประเด็นคือเอารูปนั้นไปทำอะไร ซึ่งปกติกฎหมายฉบับนี้ไม่ได้ลงโทษโดยปรับ 3 ล้าน หรือจับอย่างเดียว แต่ถ้าเอามาภาพมาใส่ข้อความ ทำให้คนอื่นถูกเข้าใจผิด misreading ก็อาจจะมีความผิดตามกฎหมายอื่นด้วยเช่นกัน”
บันทึกภาพจากกล้องหน้ารถ และกล้องวงจรปิด CCTV หน้าบ้าน เอามาแชร์ลงโซเชียลฯ ได้ไหม?
ปัจจุบันกล้องวงจรปิดและกล้องติดหน้ารถยนต์เป็นสิ่งที่มีกันแทบทุกครัวเรือน ปฏิเสธไม่ได้ว่าข้อมูลที่ถูกบันทึกไว้ไม่ได้มีเพียงแค่เจ้าของเท่านั้น แต่อาจจะมีภาพที่ถ่ายติดคนอื่นมาด้วย ซึ่งฐิติรัตน์ตอบข้อสงสัยในเรื่องนี้ว่า
“การบันทึกภาพจากกล้องวงจรปิดและกล้องหน้ารถขึ้นอยู่กับว่าเป็นการใช้ส่วนตัว (personal use) หรือไม่ และต้องระวังด้วยว่าการใช้ส่วนตัวของเรามีโอกาสละเมิดสิทธิคนอื่นไหม ซึ่งการติดกล้องหน้ารถไม่ได้มีประเด็นอะไรที่จะไปละเมิดสิทธิคนอื่น มันมีไว้เพื่อบันทึกหลักฐานในกรณีที่เราเกิดอุบัติเหตุ หรือเหตุการณ์สุดวิสัย และเหตุการณ์ที่เสี่ยงต่อเรา เราสามารถนำภาพเหล่านั้นไปใช้เป็นหลักฐานในทางกฎหมายได้”
อีกทั้งปัจจุบันทางภาครัฐเองก็สนับสนุนให้ติดกล้องหน้ารถด้วย มีนโยบายสนับสนุนว่า ถ้าติดกล้องหน้ารถ จะมีการลดเบี้ยประกัน มันเป็นสิ่งที่รัฐเองก็สนับสนุนให้ทำด้วย แต่จะมีปัญหาก็ต่อเมื่อ ภาพที่ติดกล้องหน้ารถถูกนำไปเผยแพร่นอกเหนือไปจากการเอามาใช้เพื่อยืนยันว่าตนไม่ผิด หรือเอาไว้ยืนยันทางกฎหมาย ตอนเอาไปเผยแพร่อาจจะนำมาซึ่งปัญหาได้”
ขณะเดียวกันชวิน อุ่นภัทร กล่าวเสริมในประเด็นนี้ว่า “กล้องหน้ารถเองก็คล้ายๆ กับกล้องวงจรปิดเลย จริงๆถ่ายติดคนน้อยกว่ากล้องหน้ารถด้วย เพราะติดกล้องวงจรปิดที่หน้าบ้านตัวเอง ในบริเวณบ้านของตัวเองก็ทำได้ แต่ถ้าจะไปติดบนถนนสาธารณะตลอด 24 ชั่วโมง มันจะกลายเป็นการเก็บข้อมูลแล้ว อันนั้นมันทำไม่ได้ ถือเป็นการเก็บข้อมูล เพราะหน้าที่ตรงนี้ การดูแลความปลอดภัยต้องเป็นหน้าที่ของรัฐ จึงสรุปได้ว่าการติดกล้องวงจรปิดจึงควรติดแค่บริเวณบ้าน เกินออกนอกบ้านไม่มาก ดูว่าใครจะเข้าบ้านเรา”
และหากบริษัทหรือห้างร้าน ต้องการติดกล้องวงปิดเพื่อความปลอดภัยแล้ว ฐิติรัตน์ ให้คำแนะนำในมุมมองทางกฎหมายว่า “ถ้าเป็นบริษัท ห้างร้าน ไม่ได้ใช้ส่วนตัว ห้างร้านต้องมีวัตถุประสงค์ให้ชัดเจนว่าใช้เพื่ออะไร ซึ่งส่วนใหญ่มีไว้เพื่อรักษาความปลอดภัย ไม่ใช่การใช้เพื่อส่วนบุคคลแน่นอน ข้อแนะนำคือให้ติดป้ายบอกและชี้แจ้งไว้ว่ากล้องวงจรปิดกำลังทำงานอยู่ หรือกรณีของหมู่บ้านที่มีกล้องวงจรปิดก็ถือว่าทำเพื่อองค์กร ไม่ใช่ส่วนบุคคล เป็นประโยชน์โดยชอบเพื่อลูกบ้าน”
ถ่ายภาพติดคนอื่น อยากแชร์แต่กลัวผิด จะแชร์ดีไหม? หากร้านค้าอยากถ่ายภาพลูกค้าโปรโมทร้าน เจ้าของร้านมีความผิดไหม?
ฐิติรัตน์ยังคงยืนยันในคำตอบ และข้อกฎหมายดังเดิม หากภาพที่ถูกถ่ายมาใช้เพื่อส่วนตัว ไม่ได้นำภาพเหล่านั้นไปโปรโมท เพจ รีวิว ร้านค้า ถือว่าไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมาย และภาพที่ถ่ายมานั้นต้องไม่นำปัญหาไปสู่บุคคลภายในภาพ หากกล่าวให้เห็นภาพ ฐิติรัตน์ยกตัวอย่างว่า
“ถ้าในภาพติดคู่รักมาด้วยกันก็อาจนำไปสู่ข้อมูลของคู่รักสองคนนั้น คนที่ติดมาในรูปอาจจะนำมาซึ่งปัญหา แต่ก็ต้องดูบริบทในภาพด้วยว่าอยู่ในพื้นที่ที่ถ่ายได้หรือไม่ เช่น พื้นที่สาธารณะ อย่างไรก็ตาม คนอื่นๆ ก็ต้องคำนึงด้วยว่าถ้าไม่อยากให้คนอื่นเห็นตัวเอง จะเอาตัวมาเดินในสาธาณะทำไม เราไปบังคับให้คนอื่นหลับตาไม่ได้ ต้องดูวัตถุประสงค์เป็นหลักและเป็นเรื่องของสามัญสำนึก (Common sense) คือใช้สามัญสำนึกตีความกฎหมาย”
พื้นที่สาธารณะเหล่านี้ ยังหมายรวมไปถึง งานวันรับปริญญา งานคอนเสิร์ต งานฟุตบอล ซึ่งคำตอบยังคงใกล้เคียงกันคือ “เพราะถ้าเราไปในที่ที่คนเยอะ ก็เป็นไปได้ที่เราจะถูกถ่ายติดอยู่แล้ว หากไม่อยากให้ถ่ายติดก็อาจจะให้ใส่แมสก์ปิดหน้า เช่น ไปคอนเสิร์ต ไปงานมีตติ้ง ก็ใส่หน้ากากอนามัย หรือหากใครไม่อยากให้ถูกถ่ายติดจริงๆ ภายในงานอาจจะมีสติกเกอร์ติด เป็นการแสดงความประสงค์ไปเลย”
กล่าวได้ว่าหากภาพดังกล่าวถูกนำไปใช้เพื่อวัตถุประสงค์ส่วนตัว และไม่ได้นำปัญหามาสู่บุคคลอื่นก็ถือว่าใช้ได้ แต่หากใช้เพื่อการตลาด ฐิติรัตน์เสริมข้อมูลเพิ่มเติมไว้ว่า
“ยกตัวอย่าง หากลูกค้าโดนเซลล์แอบถ่ายรูปไปอัพลงเพจ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อโปรโมทร้านค้า ในกรณีนี้ต้องเป็นเรื่องของความยินยอม ในกรณีที่ภาพระบุตัวบุคคลได้ชัดๆ แนะนำให้ขออนุญาตและขอความยินยอมก่อนนำภาพไปลง ถ้าเราขออนุญาติก่อน แล้วเจ้าของข้อมูลอนุญาติใช้ และในกรณีที่ภาพดังกล่าวอาจระบุตัวตนได้ไม่ชัด ก็อาจจะเข้าสู่ประเด็นประโยชน์โดยชอบ ถ้าคนถูกถ่ายภาพรู้สึกว่าตนถูกคุกคาม หรือต่อให้ไม่อยู่ในลักษณะคุกคาม ก็อาจจะต้องชั่งน้ำหนักดู ถ้าลูกค้าเข้ามาเห็นแล้วไม่สบายใจกับรูปดังกล่าวหรือไม่ หากลูกค้าไม่สบายสามารถขอระงับได้ตามสิทธิ์”
ข้อแนะนำกับทั้งสองกรณียังเหมือนกันคือ ให้ขออนุญาตลูกค้าก่อนนำภาพมาลง เพื่อความสบายใจของทั้งสองฝ่ายและปฏิบัติตามข้อบังคับ
ภาพรับปริญญา ช่างภาพเอาภาพมาลงโปรโมทได้ไหม?
นอกจากประเด็นการแอบถ่าย หรือบังเอิญติดภาพคนอื่นมาแล้ว ฐิติรัตน์ยังมีข้อแนะนำถึงช่างภาพด้วย โดยเฉพาะเรื่องรูปถ่ายในวันรับปริญญา โดยฐิติรัตน์กล่าวว่า “หากช่างภาพ ต้องการภาพคนที่ถ่ายมาลง ก็ต้องมีสัญญาแต่แรกว่าจะเอาภาพลง เพราะถือว่าได้ทำสัญญาแล้ว แต่สัญญาเป็นลายลักษณ์อักษร หรือไม่เป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้ตาม ม.24(3) สัญญาเกิดขึ้นตั้งแต่ตกลงคุยไลน์ ไม่จำเป็นต้องร่างสัญญาก็ได้ แต่ถ้าหากอยากให้มันเคลียร์ หรือกระจ่างก็ทำเป็นสัญญาแผ่นๆไปเลยเพื่อให้เรามีหลักฐานชัดเจนขึ้น อย่างไรก็ตามการขอความยินยอมต้องขอแยกจากสัญญา ก็คือยังเป็นกรณีไป (Case by case)”
อัปรูปลูกอวดบนโซเชียล ภาพถ่ายเด็ก แชร์ลงเฟซบุ๊กได้ไหม?
อยากอัปรูปลูกสาวน่ารักๆ อวดเพื่อนๆ ในโซเชียลมีเดีย แต่กลัวจะมีปัญหา ภาพถ่ายเด็กน่ารักๆ จะละเมิดสิทธิใครไหม ฐิติรัตน์ตอบข้อสงสัยว่า “ภาพถ่ายเด็กมีความอ่อนไหวแน่นอนอยู่แล้ว แต่ถ้าใช้ส่วนบุคคล ก็ถือว่าไม่เป็นปัญหา แต่จะเป็นปัญหาก็ต่อเมื่อมีการนำภาพเด็กไปโปรโมท เพราะตัวเด็กไม่ได้มีความสามารถในการปฏิเสธด้วยตัวเอง ต้องระมัดระวังในเรื่องนี้”
ยกตัวอย่างถึงประเทศฝรั่งเศส ที่รัฐบาลออกมาเตือนผู้ปกครองที่โพสต์ภาพลูกของตนลงโซเชียลมีเดียโดยไม่ได้รับอนุญาต อาจถูกฟ้องร้องและมีโทษจำคุกได้ และนอกจากประเทศฝรั่งเศสแล้ว ในปี 2016 ที่ผ่านมา เด็กสาวชาวออสเตรียวัย 18 ปียื่นฟ้องพ่อแม่ หลังจากพ่อแม่อัพภาพวัยเด็กของเธอมากกว่า 500 ภาพลงในโซเชียลมีเดีย แม้เธอจะบอกให้พ่อแม่ลบภาพเหล่านั้นหลายครั้งแล้ว แต่พ่อแม่ก็ยังปฏิเสธและกล่าวว่าพ่อแม่มีสิทธิ์ในตัวเธอ จนกระทั่งศาลตัดสินให้พ่อแม่จ่ายค่าปรับแก่เธอจำนวน 1.7 ล้านบาท ถือเป็นกรณีตัวอย่างเรื่องการละเมิดสิทธิ์เด็ก
โดยฐิติรัตน์กล่าวว่า “เรื่องนี้อาจเป็นเรื่องใหม่ของสังคมไทย แม้ว่าเด็กจะเป็นลูกเรา แต่ภาพถ่ายเด็กมีเรื่องความปลอดภัยด้วย ไม่ใช่แค่เรื่องเจตจำนงค์ เพราะภาพที่ลงไปอาจทำให้เด็กไม่ปลอดภัย คนอื่นสามารถรู้ว่าเด็กคนนี้ไปโรงเรียนนี้ เวลานี้ ซึ่งคนจะลักพาตัวก็ตามโพสต์ไปเลย ไม่ได้ยากอะไร เด็กๆดูแลตัวเองไม่ได้เพราะฉะนั้นมันจึงไม่ใช่เรื่องเจตนงค์อย่างเดียว แต่เป็นเรื่องการคุ้มครองเด็กด้วย”
และนอกจากการอัพภาพอวดลงโซเชียลมีเดียแล้ว ปัจจุบันมีวัฒนธรรมแปลกๆอีกหนึ่งอย่าง คือ เมื่อถึงฤดูกาลสอบเข้ามหาวิทยาลัย หากเด็กคนใดมีผลงานโดดเด่น หรือสอบติดมหาวิทยาลัยด้วยคะแนนดี ก็มักจะมีภาพติดโปรโมทอยู่หน้าโรงเรียนที่เรียนอยู่ และติดที่สถาบันกวดวิชา ในกรณีฐิติรัตน์เสนอข้อแนะนำว่า
“โรงเรียนกวดวิชาถ่ายรูปนักเรียนที่เรียนไปแปะ หรือนำไปโปรโมท ก็ควรจะขออย่างเฉพาะเจาะจง เป็นกรณีไป ควรความยินยอมขอไปตั้งแต่ต้นเลย แต่เจ้าของข้อมูลสามารถถอนความยินยอมได้ทันทีเหมือนกันตามม.24 อาจกล่าวได้ว่าปัจเจกบุคคลมีความอ่อนไหว มีความกังวล หรือมีรสนิยมความเป็นส่วนตัวไม่เหมือนกัน กฎหมายนี้เหมือนเรียกร้องให้เราเคารพความแตกต่าง ความหลากหลาย และความเป็นส่วนตัวของคนอื่นให้มากขึ้น”
สรุปย่อยใน 3 นาที อะไรเข้าข่าย ไม่เข้าข่าย
ฐิติรัตน์ชี้ว่า การจะพิจารณาเรื่องข้อกฎหมายเหล่านี้ต้องดูวัตถุประสงค์ว่าทำไปเพื่ออะไร เอาข้อมูลไปทำอะไร โดยกล่าวว่า “ถ้าจะใช้หลักง่ายๆ กับเรื่องความเป็นส่วนตัว มีสองหลักที่อยากให้คิดคือ หนึ่ง ได้อะไรจากการทำสิ่งนั้น ได้ประโยชน์อะไร สอง เราทำให้เจ้าของข้อมูลเสียหายไหม ให้คิดถึงประโยชน์ของเราและคิดถึงความเสี่ยงของคนอื่นด้วย”
และเพื่อไม่ให้เกิดความสับสนแก่ผู้อ่าน จึงขอสรุปย่อยเป็นข้อไว้ดังนี้
-
เพื่อประโยชน์ส่วนตน (Purely personal use) ไม่ก่อให้เกิดรายได้ เพื่อความสนุกส่วนตัว ไม่ได้ทำงานให้องค์กรใดองค์กรหนึ่ง จึงสรุปในข้อนี้ไว้ว่า การถ่ายภาพเพื่อโพสต์รูปลงเฟซบุ๊กส่วนตัว หรือเพื่อแบ่งปันกับเพื่อนฝูง อยู่ในลักษณะการใช้งานเพื่อประโยชน์ส่วนตน(ภายในครอบครัว) ไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ระวังการนำไปใช้เพื่อการค้าภายหลัง และระวังไม่ให้ภาพถูกนำไปใช้สร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น จนนำไปสู่การฟ้องละเมิดตามมาตรา 4(1)
-
งานสื่อมวลชนและงานศิลปกรรม (Jounalist and artist purpose) การถ่ายหนัง ถ่ายมิวสิควีดีโอ สื่อแต่ละประเภทก็มีลักษณะการนำเสนอข่าว และมีผลกระทบต่อบุคคลไม่เหมือนกันด้วย ลักษณะการแชร์ก็ไม่เหมือนกันอาจจะไปอยู่ฐานอื่นไม่เข้าข่าย แต่อย่าลืมจริยธรรมของสื่อ และหากนักข่าวมีข้อมูลแล้วไม่ได้เอาไปเผยแพร่ ก็ควรเก็บข้อมูลนั้นให้ปลอดภัยตามมาตรา 4(3) ข้อสรุปคือไม่ได้อยู่ภายใต้ข้อบังคับของพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล แต่ต้องทำตามจริยธรรมแห่งการประกอบวิชาชีพด้วย และต้องดูแลความปลอดภัยของข้อมูลที่ถืออยู่
-
ฐานประโยชน์อันชอบธรรม (Legitimate Interest) เจ้าของข้อมูลต้องป้องกันการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปแสวงหาประโยชน์หรือเปิดเผยโดยมิชอบ หรือโดยไม่ได้รับความยินยอมจากเจ้าของข้อมูล เพื่อประโยชน์ในทางการค้า หรือเพื่อประโยชน์ในการนำข้อมูลส่วนบุคคลไปใช้ในการกระทำความผิดต่าง ๆ เช่น การฉ้อโกง การหมิ่นประมาท เข้าข่ายพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ซึ่งการนำภาพถ่ายหรือข้อมูลไปใช้ต้องระบุให้ได้ว่าภาพถ่าย(หรือข้อมูล)ดังกล่าวมีประโยชน์อะไร และต้องคำนึงถึงสิทธิ เสรีภาพของเจ้าของข้อมูลด้วยตามมาตรา 24(5)
และหากกล่าวถึงเรื่องความผิด ชวิน อุ่นภัทร ให้ข้อมูลไว้ว่า “ถ้าจะมีคนโดนปรับสามล้านกับข้อมูลธรรมดาก็ขึ้นกับดุลพินิจน์ของศาล ต้องดูพพฤติการณ์ประกอบการกระทำ ดูสถานการณ์หรือผลกระทบที่เกิดขึ้นว่าร้ายแรงมากแค่ไหน ซึ่งคนธรรมดาก็ไม่ได้ร้ายแรงเท่าไหร่ และหากองค์กรทำผิดแล้วโดนปรับ ก็ต้องดูรูปแบบขององค์กรที่โดนปรับด้วย หรือดูเหตุที่เขาฝ่าฝืนด้วยว่าร้ายแรงหรือไม่ ซึ่งส่วนมากจะเป็นองค์กรมากกว่าที่มีข้อมูลส่วนบุคคล แต่คนธรรมดาก็คงไม่มีข้อมูลคนอื่นมากขนาดนั้น หากโดนก็อาจจะแค่ลหุโทษ”
ในส่วนของการเก็บข้อมูลนั้น ฐิตินันท์เสริมว่า “ยิ่งในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ที่มีแอปพลิเคชั่นเกิดขึ้นมากมายมาช่วยเหลือ ไม่ใช่ว่าคนธรรมดาเก็บข้อมูลคนอื่นไม่ได้ แต่หมายความหมายว่าหากมีคนคิดค้นแอปพลิเคชั่นขึ้นมา ก็ต้องรับผิดชอบกับข้อมูลที่มี เพราะมันมีข้อมูลของคนอื่นด้วย ไม่มีข้อยกเว้นว่าเป็นนิติบุคคล หรือว่าเป็นคนธรรมดา ต้องมีวัตถุประสงค์ชัดเจนว่าเก็บข้อมูลไปเพื่ออะไร”
PDPA เลื่อนแล้ว มีข้อสังเกตอะไรบ้าง
จริงๆ แล้วกฎหมายนี้จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปีก่อนที่จะประกาศแล้ว การประกาศบังคับในครั้งแรกซึ่งจะใช้ในวันที่ 27 พฤษภาคมนี้เป็นเหมือนการเคาะระฆัง เพื่อบอกว่าเริ่มอย่างเป็นทางการแล้วนะเท่านั้นเอง แต่ล่าสุด (19 พ.ค.) ครม.เห็นชอบเลื่อนบังคับใช้ พ.ร.บ.ข้อมูลส่วนบุคคล บางหมวดออกไป 1 ปี เหตุบางส่วนยังไม่ประกาศชัดเจน
ซึ่งก่อนหน้าที่จะมีประกาศครม. ให้เลื่อนนี้ ฐิติรัตน์เขียนข้อมูลไว้เพิ่มเติมประเด็นการเลื่อนไว้ด้วยว่า “PDPA เองมี options ของการกำกับดูแลหลายอย่างให้เลือกใช้ ตั้งแต่แนะนำ เรียกไปชี้แจง ตักเตือน การปรับ รวมไปถึงไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ดังนั้นเมื่อหน่วยงานต่างๆ ยังไม่พร้อม (เนื่องจากสถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม หรือสคส. เองก็ยังไม่ได้ active เต็มที่ในการช่วยเตรียมความพร้อมให้ภาครัฐและเอกชนด้วย) และกังวลจะถูกลงโทษ กรรมการก็ควรต้องใช้ดุลยพินิจกำกับดูแลด้วยวิธีการแนะนำ ชี้แจง ตักเตือน แต่ไม่ใช่ปรับ และช่วยไกล่เกลี่ยข้อพิพาทให้ได้ ถ้าเป็นแบบนี้ก็ไม่จำเป็นต้องเลื่อน”
กล่าวโดยสรุปแล้ว การประกาศใช้อย่างเป็นทางการต้องรอลุ้นต่อไป ส่วนเรื่องข้อกังวลเกี่ยวกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคลนั้น หากทำผิดจริงๆ ไม่ได้หมายความว่าจะต้องติดคุกเสมอไป เพราะมีบทลงโทษอื่นๆด้วย รวมไปถึงกรณีอื่นๆที่ไม่เกี่ยวข้องกับพ.ร.บ.คุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ก็ให้ใช้สามัญสำนึก และระมัดระวังการสร้างความเดือดร้อนให้ผู้อื่น เพื่อความสบายแก่ทั้งสองฝ่าย
——————————————————————-
ที่มา : The Momentum / 20 พฤษภาคม 2563
Link : https://themomentum.co/thailand-personal-data-protection-act/