เปิดโลกของเอไอกับการจัดการด้านอาชญากรรม ทำความรู้จักบทบาทต่างๆ ของเอไอในการสืบสวนคดี ตรวจจับ และการป้องกันอาชญากรรม
กระบวนการสืบสวนคดีความและอาชญากรรมเป็นกระบวนการที่ซับซ้อนซ่อนเงื่อน การมองข้ามแม้เพียงรายละเอียดเล็ก ๆ ระหว่างกระบวนการอาจนำไปสู่สมมุติฐานที่ผิดพลาด ทำให้ไม่สามารถคลี่คลายคดีความหรือหาต้นตอและอาชญากรตัวจริงได้
ในภาพยนตร์สืบสวนเราต่างเคยเห็นนักสืบอัจฉริยะมากมาย แต่ในความเป็นจริง เราคงไม่สามารถสืบสวนอาชญากรรมอย่างละเอียดและเฉียบขาดได้ตลอดเวลา ด้วยพลังที่มีขีดจำกัดของมนุษย์ แต่ถ้าหากเรามีผู้ช่วยอย่างเอไอแล้ว สิ่งที่เคยทำไม่ได้อาจกลายเป็นเรื่องง่าย
บทความนี้ผมจะพาทุกคนไปเปิดโลกของเอไอกับการจัดการด้านอาชญากรรม ทำความรู้จักบทบาทต่างๆ ของเอไอในการสืบสวนคดี ตรวจจับ และการป้องกันอาชญากรรม เทคโนโลยีที่ก้าวหน้าในปัจจุบันส่งผลให้เอไอมีความสามารถใกล้เคียงนักสืบมือฉมัง และเป็นผู้ช่วยชั้นเยี่ยมของตำรวจเลยทีเดียวครับ
ในกระบวนการพิสูจน์หลักฐาน เอไอก็ได้เข้าไปมีบทบาทไม่น้อยเลย งานวิจัยจากมหาวิทยาลัยลีออน ประเทศสเปน ได้ทำการเทรนโมเดลโครงข่ายประสาทเทียม (Neural Network) ในการตรวจจับร่องรอยของอาชญากรในสถานที่เกิดเหตุ
โดยใช้ข้อมูลภาพสถานที่เกิดเหตุจำนวนหลายพันภาพเทรนอัลกอริธึมให้ตรวจจับรูปแบบของร่องรอยและหลักฐานในที่เกิดเหตุ อาทิ รอยเท้า กระสุน อาวุธปืน เป็นต้น รวมถึงยังสามารถตรวจจับรูปแบบร่องรอยที่สื่อถึงอาชญากรคนเดียวกันจากหลาย ๆ คดีได้อีกด้วย
สารคัดหลั่งในจุดเกิดเหตุเป็นอีกหลักฐานน่าเชื่อถือและมีประโยชน์ต่อรูปคดีมาก แต่การตรวจสอบอย่างละเอียดนั้น โดยปกติต้องอาศัยกระบวนการทางนิติเวชที่ต้องใช้เวลายาวนาน รวมถึงยังต้องแยกระหว่างสารคัดหลั่งจากผู้ต้องหากับสารคัดหลั่งของตำรวจที่เข้าไปในจุดเกิดเหตุอีกด้วย
หากเราทำการเทรนเอไอให้เข้ามาทำหน้าที่นี้ โดยใช้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญมาร่วมสร้างโมเดลที่ประมวลผลได้อย่างถูกต้องแม่นยำตามหลักการแพทย์ ก็จะช่วยลดเวลาในการทำงานและนำไปสู่การสรุปผลคดีที่ถูกต้องและโปร่งใส
ในกระบวนการสืบสวน การตรวจหาผู้ต้องสงสัยตามสถานที่สาธารณะที่มีคนพลุกพล่านตลอดทั้งวันเป็นเรื่องที่ตำรวจต้องเสียเวลาและต้นทุนมาก
การนำเอาเทคโนโลยีตรวจจับใบหน้า (Facial Recognition) มาช่วยค้นหาผู้ต้องสงสัยจากภาพของกล้องวงจรปิดจึงเป็นทางออกที่ช่วยลดต้นทุนและเพิ่มความแม่นยำ และทำให้หลักฐานเหล่านี้มีน้ำหนักในชั้นศาลมากยิ่งขึ้น
จากเดิมที่อาจไม่ค่อยมีน้ำหนักมากนัก เพราะมักมีความผิดพลาดสูง บริษัทเทคโนโลยีในสหรัฐฯ ก็มีการออกมาประกาศจัดทำดัชนีใบหน้ากว่าแสนล้านภาพเพื่อป้องกันอาชญากรรมและยังพยายามพัฒนาเทคโนโลยีไปสู่การระบุตัวบุคคลจากรูปแบบการเดิน หรือสแกนนิ้วจากระยะไกล แต่ก็ยังคงมีข้อโต้แย้งเรื่องความเป็นส่วนตัวที่เราต้องคำนึงถึง
ในส่วนของการตรวจจับและป้องกันอาชญากรรม เอไอก็ทำหน้าที่ได้อย่างไม่ขาดตกบกพร่อง
เช่น การใช้เอไอและเซนเซอร์ในการตรวจจับเสียงปืนเพื่อให้ตำรวจสามารถเดินทางไปที่เกิดเหตุได้อย่างรวดเร็วแม้ไม่ได้รับแจ้งมาก่อน หรือตรวจจับระเบิดด้วยการใช้หุ่นยนต์ตรวจจับสารทำระเบิด อาทิ ไนโตรกลีเซอรีน ผงอลูมิเนียม หรือเตตระไนเตรตได้
หรือการป้องกันการเกิดอาชญากรรมล่วงหน้าก็สามารถทำได้เช่นกัน เช่น การใช้เอไอตรวจจับพฤติกรรมที่น่าสงสัย ผ่านการติดตามร่องรอยดิจิทัลของบุคคลที่น่าสงสัย ตรวจจับข้อความที่อาจสื่อถึงการเกิดอาชญากรรม รวมถึงวิเคราะห์ประวัติเพื่อตรวจจับคนที่มีแนวโน้มเป็นอาชญากร
รวมถึงการใช้เอไอในการวิเคราะห์เชื่อมโยงรูปแบบ เวลา และสถานที่เกิดเหตุในคดีก่อนหน้า เพื่อคาดการณ์สถานที่ก่อเหตุในครั้งต่อไปและส่งเจ้าหน้าที่ไปป้องกันก่อนที่จะเกิดเหตุ และคาดการณ์พื้นที่ที่เสี่ยงต่อการเกิดอาชญากรรมเพื่อปรับปรุงพื้นที่และเพิ่มระบบรักษาความปลอดภัย
เทคโนโลยีทุกชนิดมีเป้าหมายเพื่อนำไปสร้างโลกที่น่าอยู่ ปลอดภัย และสะดวกสบายแก่มนุษย์เรามากขึ้น เอไอก็เช่นกัน ผมหวังว่าต่อไปเราจะได้เห็นการนำเทคโนโลยีที่มีศักยภาพเช่นนี้มาประยุกต์ใช้ในกระบวนการยุติธรรมมากขึ้นนะครับ
บทความโดย ธัชกรณ์ วชิรมน
———————————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 27 เม.ย.65
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/columnist/1001319