เบื้องหลังโจมตีแคชเมียร์จุดชนวนขัดแย้ง “อินเดีย-ปากีสถาน”
ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียและปากีสถานดำดิ่งลงใกล้จุดต่ำสุดในรอบหลายปี หลังเกิดเหตุโจมตีนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์จนมีผู้เสียชีวิต 26 คน ซึ่งทั้งสองชาติแลกหมัดประกาศมาตรการตอบโต้ ท่ามกลางความกังวลว่าความขัดแย้งระลอกนี้อาจบานปลายไปสู่การจับอาวุธ เหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวที่พาฮาลแกม เมื่อวันที่ 22 เม.ย.2568 ถือเป็นเหตุโจมตีในแคชเมียร์ครั้งรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่ปี 2019 จุดชนวนความขัดแย้งระลอกใหม่กับปากีสถาน ที่อินเดียชี้นิ้วว่าคอยให้ท้ายกลุ่มติดอาวุธที่ก่อเหตุรุนแรง เหตุการณ์นี้ผิดแผกไปจากเหตุร้ายในอดีต เพราะครั้งนี้พุ่งเป้าไปที่การโจมตีนักท่องเที่ยว ต่างจากเหตุร้ายส่วนใหญ่ในแคชเมียร์ที่ก่อนหน้านี้เป้าหมายมักกระจุกตัวอยู่เฉพาะกลุ่มเจ้าหน้าที่ความมั่นคง ภาพผลพวงของเหตุร้ายที่เกิดขึ้นนำมาซึ่งคำถามว่าเหตุใตจึงต้องมาก่อเหตุตอนนี้ คำตอบอาจเป็นที่จังหวะเวลา นอกจากจะเป็นฤดูท่องเที่ยวกลางฤดูใบไม้ผลิที่มีคนจำนวนมากนิยมไปชมความสวยงามของดินแดน ซึ่งได้ชื่อว่าเป็นสวิตเซอร์แลนด์แห่งอินเดียแล้ว ยังเป็นจังหวะพอดีกับที่ เจดี แวนซ์ รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ เดินทางเยือนอินเดีย เหตุโจมตีที่เกิดขึ้นทำให้อินเดียต้องอับอายขายหน้าจากความหละหลวมที่ปล่อยให้เกิดเหตุร้าย เศรษฐกิจในแคชเมียร์พึ่งพารายได้จากการท่องเที่ยว คิดเป็นสัดส่วนถึงร้อยละ 7 ของ GDP จะเห็นว่าหลังเผชิญโควิด-19 ระบาด มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้าพื้นที่มากขึ้นเรื่อยๆ จากหลักแสน เพิ่มเป็นหลักล้านและหลายล้านคน อ่านข่าว : กลุ่มมือปืนโจมตีนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ เสียชีวิตกว่า 20 คน แต่หากมองไปมากกว่าเรื่องของเม็ดเงินแล้ว การที่คนหลั่งไหลไปท่องเที่ยวพื้นที่พิพาทซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นบริเวณที่มีการประจำการกำลังทหารมากที่สุดในโลก ตอกย้ำวาทกรรมของรัฐบาลอินเดียที่ว่าสามารถสร้างสันติให้พื้นที่นี้เป็นปกติสุขได้สำเร็จแล้ว เมื่อเกิดเหตุร้ายขึ้นจึงเป็นการส่งสัญญาณให้โลกรู้ว่า ที่นี่ไม่ได้สงบสุขเหมือนที่อินเดียพยายามสร้างภาพให้โลกเห็น สิ่งที่ตามมากับความเสียหน้าครั้งใหญ่ คือผลกระทบต่อความเชื่อมั่น รายได้จากการท่องเที่ยวช่วงที่กำลังคึกคักก่อนเข้าหน้าร้อนขณะนี้ได้หดหายไปหมดสิ้น รวมถึงเสถียรภาพในอินเดียและภาพลักษณ์ของอินเดียในเวทีโลก ส่วนประเด็นเหตุผลเบื้องหลัง The Resistance…