“ชัยวุฒิ” สับแหลก เฟซบุ๊ก รับเงินเพจปลอมเป็นสปอนเซอร์ยิงแอดโฆษณาหลอกลวงประชาชนถือเป็นรายได้เข้าบริษัท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบและสกรีน แม้ที่ผ่านมา ดีอีเอส จะรวบรวมเสนอศาลขอคำสั่งปิด แต่เพจเหล่านี้ก็จะไปเปิดใหม่ เหมือนแมวไล่จับหนู ไม่จบสิ้น”
นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ดีอีเอส จะดำเนินการฟ้องต่อศาล เพื่อขอคำสั่งปิดกั้นแพลตฟอร์ม เฟซบุ๊ก ไม่ให้บริการในไทย หลังจากที่ผ่านมา เฟซบุ๊ก ได้มีการรับเงินโฆษณาจากเพจปลอมเพื่อเป็นสปอนเซอร์ที่หลอกชักชวนลงทุน จนเกิดความเสียหายต่อคนไทยจำนวนมาก โดยมีมูลค่ากว่า 1 แสนล้านบาท โดยจากสถิติการหลอกลวงลงทุนผ่านโซเซียลมีเดียกว่า 70% เป็นการหลอกลวงผ่าน เฟซบุ๊ก และจำนวน 90% เป็นการหลอกขายของออนไลน์ผ่านเฟซบุ๊ก
“ที่ผ่านมาเฟซบุ๊กมีการรับเงินจากเพจเหล่านี้ ซึ่งถือเป็นรายได้เข้าบริษัท แต่กลับไม่มีการตรวจสอบ และสกรีน ว่าเป็นเพจที่หลอกลวงหรือไม่ แต่กลับปล่อยให้เพจเหล่านี้มาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก แม้ที่ผ่านมา ดีอีเอส จะรวบรวมเสนอศาลขอคำสั่งปิดแต่เพจเหล่านี้ก็จะไปเปิดใหม่ เหมือนแมวไล่จับหนู ไม่จบสิ้น”
นายชัยวุฒิ กล่าวต่อว่า ทั้งนี้จะมีการแนะนำให้ผู้เสียหายแจ้งความดำเนินคดีกับแพลตฟอร์มด้วย ทั้งคดีแพ่งและคดีอาญาด้วย ขณะที่ทางดีอีเอสจะประสานกับทางตำรวจทำการรวบรวมหลักฐานเพื่อฟ้องต่อศาลเพื่อปิดกั้นแพลตฟอร์มเฟซบุ๊กไม่ให้บริการในไทย เนื่องจากผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ในการสมคบกับผู้กระทำผิด โดยการรับเงินโฆษณาจากมิจฉาชีพเหล่านี้ ซึ่งจะขออำนาจศาลปิดภายใน 1 เดือน
“เป็นการทำตามหน้าที่ ที่ต้องเสนอปิดกั้น ที่ผ่านมาพบการซื้อโฆษณามาหลอกลวงคนไทยจำนวนมาก โดยจะดำเนินการภายในเดือนนี้ แล้วก็มีดุลยพินิจของศาลว่าจะมีคำสั่งปิดกั้นหรือไม่ เป็นอำนาจของศาล และแพลตฟอร์มก็มีสิทธิร้องคัดค้าน ส่วนจะเป็นการกระทบสิทธิของผู้ใช้งานทั่วไปหรือไม่นั้น ก็คงต้องให้ศาลเป็นผู้พิจารณา และก็ไม่กลัวทัวร์ลง โดยตนจะขอทำหน้าที่เป็นรัฐมนตรีคนแรกที่ฟ้องเฟซบุ๊กเป็นผู้ร่วมกระทำความผิด ถือเป็นผลงานชิ้นสุดท้ายก่อนลงจากตำแหน่ง
ด้าน พล.อ.ต. อมร ชมเชย เลขาธิการคณะกรรมการ การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (สกมช.) เปิดเผยว่า สกมช.ได้ทำการสำรวจ เรื่อง เฟคแอด ในโซเชียลมีเดีย หรือสื่อสังคมออนไลน์ ที่เป็นการหลอกลวง พบว่า คนไทยกว่า 70% พบโฆษณาหลอกลวง บนโซเซียลมีเดีย มากกว่า 50% ของโฆษณาทั้งหมดในแต่ละวัน โดยโฆษณาหลอกลวง ที่พบมากที่สุดเป็นเรื่อง หลอกให้ลงทุนกว่า 52% รองลงมา ชักชวนเล่นพนัน 43% หลอกขายของถูกเกินจริง 40% หลอกทำงาน 24% และอื่นๆ 14%
ปัจจุบันมีโฆษณาหลอกลวงบน โซเซียล มีเดีย จำนวนมาก ทั้งที่ซื้อโฆษณา และที่โฆษณาแฝง เช่น ชักชวนเล่นพนัน และหลอกลวงลงทุน จึงอยากเตือนประชาชน ได้ตรวจสอบความน่าเชื่อถือ ของโฆษณาต่างๆ บนโซเซียล มีเดีย อย่าหลงเชื่อง่ายๆ และ หากพบเห็นขอให้ช่วยรายงาน ไปที่ เจ้าของแพลตฟอร์มโซเซียลมีเดียที่ให้บริการในไทย ซึ่งผู้ให้บริการเหล่านี้ก็พร้อมที่จะตรวจสอบ และทำการแก้ไข ระงับ เพื่อไม่ให้ผู้ใช้งานหลงเชื่อ หรือตกเป็นเหยื่อโฆษณาเหล่านี้
——————————————————————————————————————————————————–
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 21 ส.ค.66
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1084531