หน่วยงานความมั่นคง เตรียมแผนรองรับการประชุมรัฐสภา ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้
ตลอดเดือนกรกฎาคม “ผบ.เหล่าทัพ-ตำรวจ” งดภารกิจเดินทางต่างประเทศ ในช่วงรอยต่อเปลี่ยนผ่านรัฐบาล ที่ต้องเกาะติดสถานการณ์ด้านการเมืองในฐานะหน่วยงานความมั่นคง และสมาชิกวุฒิสภา (ส.ว.) โดยตำแหน่ง ที่ต้อง โหวตเลือกนายกฯ หลังจากคณะกรรมการการเลือกตั้ง ประกาศรับรอง ส.ส.ครบ 500 คน และอยู่ระหว่างการรายงานตัวต่อสภาฯ ตั้งแต่ 20-28 มิ.ย.2566
หากเป็นไปตามไทม์ไลน์ ที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกรัฐมนตรี รายงานที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธาน เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.ที่ผ่านมา
ขั้นตอนถัดจากการประกอบรัฐพิธีเปิดประชุมรัฐสภา จะต่อด้วยการเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกประธานสภาผู้แทนราษฎร ในวันที่ 6 ก.ค.2566 จากนั้นประธานสภาฯ ในฐานะประธานรัฐสภา จะเรียกประชุม 2 สภาฯ เพื่อโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ในวันที่ 13 ก.ค.2566
หากไม่มีเหตุพลิกผัน คาดว่าการแต่งตั้ง ครม.ใหม่ จะมีขึ้นในวันที่ 21 ก.ค. และเข้าถวายสัตย์ปฏิญาณตนในช่วงปลายเดือน ก.ค.
ส่วน ครม.ชุดปัจจุบัน จะทำหน้าที่ไปรับเสด็จในพระราชพิธีเปิดประชุมรัฐสภา และทำงานจนกว่า ครม.ชุดใหม่ จะถวายสัตย์ปฏิญาณเสร็จสิ้น จึงจะสิ้นสุดการทำงาน
ระหว่างนี้ หน่วยงานด้านความมั่นคง ทั้งทหาร-ตำรวจ เห็นพ้องกันว่า วันเปิดประชุมรัฐสภา เพื่อเลือกประธานสภาฯ และวันโหวตเลือกนายกฯ จะมีกองเชียร์ทั้งฝ่าย “ด้อมส้ม-เสื้อแดง” ออกมาเคลื่อนไหว แต่ยังไม่ปรากฏความชัดเจนว่า จะออกมารวมตัวหน้ารัฐสภาหรือไม่ อย่างไร ต้องรอประเมินสถานการณ์หน้างานอีกครั้ง
สำหรับ ความเคลื่อนไหวในโซเชียลมีเดีย คาดว่า มีอย่างแน่นอน เพราะมีพลังแรง และเร็วกว่า แต่เชื่อว่ายังไม่มีอะไรรุนแรง
โดยเบื้องต้นการดูแลรักษาความสงบเรียบร้อยเป็นหน้าที่ของตำรวจ เน้นบังคับใช้กฎหมายปกติ และหากมีการรวมตัวกันหน้ารัฐสภาของบรรดากองเชียร์ ต้องขออนุญาตเจ้าหน้าที่ ตาม พ.ร.บ.การชุมนุมสาธารณะ หากเป็นการรวมตัวกันเกิน 5 คนขึ้นไป และต้องแยกมวลชนออกจากกัน หลีกเลี่ยงการเผชิญหน้า
สำหรับการปฏิบัติหน้าที่ของ “ตำรวจ” จะไม่มีการใช้อาวุธ และต้องปฏิบัติตามนโยบายผู้บังคับบัญชาอย่างเคร่งครัด ห้ามปะทะโดยเด็ดขาด ส่วนการทำผิดกฎหมายซึ่งหน้า ใช้วิธีบันทึกภาพเก็บไว้ รวมทั้งเช็คกล้องวงจรปิดทุกตัวให้ใช้งานได้ เพื่อเป็นหลักฐาน ดำเนินการภายหลัง
ทว่า ประเด็นหนึ่งที่หน่วยงานความมั่นคงกังวลถึงปฏิกิริยาของคนในสังคม หาก“นายกฯ” ไม่ได้ชื่อ “พิธา ลิ้มเจริญรัตน์” หัวหน้าพรรคก้าวไกล ไม่ว่าจะด้วยเหตุผลใดก็ตาม สิ่งที่จะตามมาคือการชุมนุมในจังหวัดต่าง ๆ ทั่วประเทศ
ส่วนจะรุนแรง หรือยกระดับมากน้อยแค่ไหน เป็นเรื่องต้องประเมินสถานการณ์กันอีกครั้ง
“หลังโหวตเลือกนายกฯ ต้องดูปฏิกิริยาสังคมว่าจะออกมาในรูปแบบใด ส่วนแผนรับมือ เหมือนการดูแลการชุมนุมทั่วไป ทำเป็นปกติอยู่แล้ว ทั้งหน้ากระทรวง หน้าทำเนียบรัฐบาล ต้องดูว่าผู้ชุมนุมมากน้อยแค่ไหน ทำคนเดือดร้อนทำผิดกฎหมายหรือไม่ การแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ก้าวล่วงหรือไม่ เจ้าหน้าที่จะใช้วิธีออกหมายจับทีหลัง โดยได้ให้นโยบายว่าไม่ปะทะเด็ดขาด ไม่เบิกอาวุธ มีแต่โล่ห์ ใช้กล้องบันทึกการทำผิดกฎหมาย และปล่อยให้กลไกทางสภาฯ เดินหน้าไป” แหล่งข่าวจากหน่วยงานความมั่นคง ระบุ
ในขณะที่ “กองทัพบก” ซึ่งมีหน่วยทหารในพื้นที่ใกล้เคียงรัฐสภา เช่น กองพลทหารปืนใหญ่ต่อสู่อากาศยาน (ปตอ.) กรมทหารม้าที่ 1 รักษาพระองค์ (ม.พัน1 รอ.) กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน4 รอ.) และกรมการทหารสื่อสาร ให้อยู่ดูแลหน่วยที่ตั้งให้เป็นไปด้วยความเรียบร้อย
สำหรับ “กองทัพเรือ” ได้มีกองร้อยรักษาความปลอดภัยฐานทัพเรือกรุงเทพฯ หากมีการประสานร้องขอ หรือหากมีเหตุฉุกเฉิน
ได้เตรียมพร้อมเรือเล็กของกรมขนส่งทหารเรือ สำหรับวิ่งในแม่น้ำเจ้าพระยา ไว้อพยพประชาชน รวมถึง ส.ส.และ ส.ว.และข้าราชการประจำรัฐสภา
ทั้งหมดนี้ คือการประเมินสถานการณ์เบื้องต้น ของหน่วยงานความมั่นคง เพื่อเตรียมแผนรองรับการประชุมรัฐสภา ในวันโหวตเลือกนายกฯ ที่คาดว่าจะมีขึ้นในวันที่ 13 ก.ค.นี้
——————————————————————————————————————————————
ที่มา : bangkokbiz / วันที่เผยแพร่ 25 มิ.ย.2566
Link : https://www.bangkokbiznews.com/politics/1075198