รหัสผ่านเดียวกลายเป็นสาเหตุที่เชื่อกันว่าทำให้บริษัทอายุ 158 ปีต้องล่มสลาย พนักงาน 700 คนต้องตกงานด้วยน้ำมือของมัลแวร์เรียกค่าไถ่ หรือ กลุ่มโจมตีเรียกค่าไถ่ (ransomware)
เหตุการณ์ดังกล่าวเกิดขึ้นกับบริษัทขนส่ง KNP ในมณฑลนอร์ทแธมป์ตันเชียร์ และนี่เป็นเพียงตัวอย่างหนึ่งในหลายหมื่นธุรกิจในสหราชอาณาจักรที่ตกเป็นเหยื่อของการโจมตีเช่นนั้น
ในช่วงไม่กี่เดือนที่ผ่านมา บริษัทชื่อดังอย่างมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ (Marks & Spencer-M&S) เครือร้านสะดวกซื้อโคออป (Co-op) และห้างสรรพสินค้าแฮร์รอดส์ (Harrods) ก็เผชิญกับการโจมตีในลักษณะเดียวกัน โดยผู้บริหารของโคออปยืนยันเมื่อสัปดาห์ที่แล้วว่า แฮกเกอร์ได้ขโมยข้อมูลของสมาชิกทั้งหมด 6.5 ล้านคนไป
ในกรณีของ KNP มีรายงานว่า แฮกเกอร์สามารถเจาะเข้าสู่ระบบของบริษัทได้จากการเดารหัสผ่านของพนักงานคนหนึ่ง หลังจากนั้น แฮกเกอร์ได้เข้ารหัสข้อมูลและล็อกระบบภายในของบริษัททั้งหมด
พอล แอบบอตต์ ผู้อำนวยการของ KNP เปิดเผยว่า เขายังไม่ได้แจ้งพนักงานคนนั้นว่า รหัสผ่านที่ถูกเจาะอาจเป็นต้นเหตุของการล่มสลายของบริษัท
“ถ้าเกิดเป็นคุณ คุณจะอยากรู้ไหมล่ะ?” เขาตั้งคำถาม
ริชาร์ด ฮอร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (National Cyber Security Centre-NCSC) กล่าวกับรายการพาโนรามาของบีบีซีซึ่งได้รับสิทธิ์เข้าถึงทีมที่รับมือกับขบวนการเรียกค่าไถ่ระดับนานาชาติว่า “เราต้องการให้ทุกองค์กรดำเนินการเพื่อปกป้องระบบของตนเอง และปกป้องธุรกิจของตนเอง”
ความผิดพลาดเล็ก ๆ ครั้งเดียว
ในปี 2023 บริษัท KNP เคยมีรถบรรทุกให้บริการจำนวน 500 คัน โดยส่วนใหญ่ใช้ชื่อแบรนด์ว่า Knights of Old (แปลว่า อัศวินโบราณ)
บริษัทระบุว่า ระบบไอทีของตนเป็นไปตามมาตรฐานอุตสาหกรรม และได้ทำประกันภัยไว้ในกรณีที่ถูกโจมตีทางไซเบอร์
อย่างไรก็ตาม แก๊งแฮกเกอร์ที่รู้จักกันในชื่ออาคิระ (Akira) สามารถเจาะเข้าสู่ระบบของบริษัทได้สำเร็จ การโจมตีครั้งนี้ส่งผลให้พนักงานไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลที่จำเป็นต่อการดำเนินธุรกิจได้เลย แฮกเกอร์ระบุว่า วิธีเดียวที่บริษัทจะสามารถกู้คืนข้อมูลได้ คือการจ่ายเงินค่าไถ่ตามที่พวกเขาเรียกร้อง

บริษัท KNP ของพอล แอบบอตต์ ถูกโจมตีโดยมัลแวร์เรียกค่าไถ่
แฮกเกอร์ที่โจมตีบริษัท KNP ได้ทิ้งข้อความเรียกค่าไถ่ไว้ว่า “ถ้าคุณกำลังอ่านข้อความนี้ แปลว่าโครงสร้างพื้นฐานภายในของบริษัทคุณได้ล่มไปแล้วบางส่วนหรือทั้งหมด… ขอให้เก็บน้ำตาและความคับแค้นไว้กับตัว แล้วพยายามเปิดบทสนทนาอย่างสร้างสรรค์”
แม้แฮกเกอร์จะไม่ได้ระบุจำนวนเงินที่ต้องการอย่างชัดเจน แต่บริษัทที่เชี่ยวชาญด้านการเจรจาเรียกค่าไถ่ประเมินว่า จำนวนเงินอาจสูงถึง 5 ล้านปอนด์ (ราว 217 ล้านบาท) บริษัท KNP ไม่มีเงินเพียงพอที่จะจ่ายตามข้อเรียกร้องดังกล่าว ท้ายที่สุด ข้อมูลทั้งหมดของบริษัทสูญหาย และบริษัทต้องปิดกิจการลง

พนักงาน 700 คนต้องตกงาน เมื่อ KNP ปิดกิจการ
ศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติระบุว่า เป้าหมายขององค์กรคือ “ทำให้สหราชอาณาจักรเป็นสถานที่ที่ปลอดภัยที่สุดในการใช้ชีวิตและทำงานบนโลกออนไลน์” ทั้งเผยว่า เจ้าหน้าที่ต้องรับมือกับการโจมตีไซเบอร์ครั้งใหญ่ในทุกวัน
หน่วยงานนี้เป็นส่วนหนึ่งของกองบัญชาการข่าวกรองด้านการสื่อสารของรัฐบาลอังกฤษ (Government Communications Headquarters – GCHQ) ซึ่งเป็นหนึ่งในสามหน่วยงานด้านความมั่นคงหลักของสหราชอาณาจักร ร่วมกับสำนักข่าวกรองความมั่นคงภายในแห่งสหราชอาณาจักร (MI5) และสำนักข่าวกรองลับต่างประเทศแห่งสหราชอาณาจักร (MI6)
“แซม” (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่ของศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ซึ่งดูแลทีมที่รับมือกับการโจมตีในแต่ละวัน ให้สัมภาษณ์กับรายการพาโนรามาว่า แฮกเกอร์ไม่ได้ใช้เทคนิคใหม่ในการโจมตี แต่พวกเขาอาศัยการค้นหาจุดอ่อนของระบบ
“พวกเขาแค่คอยหาช่วงเวลาที่องค์กรไม่ทันตั้งตัว แล้วฉวยโอกาสจากจุดนั้น” เขากล่าว
เจ้าหน้าที่ของศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ฯ ใช้แหล่งข่าวกรองในการตรวจจับการโจมตี และพยายามขับไล่แฮกเกอร์ออกจากระบบคอมพิวเตอร์ ก่อนที่พวกเขาจะสามารถติดตั้งซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ได้
“เจค” (นามสมมติ) เจ้าหน้าที่เวรกลางคืนของศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติเป็นหนึ่งในผู้ที่สามารถหยุดยั้งการโจมตีของแฮกเกอร์ได้ในเหตุการณ์ล่าสุด
“เราเข้าใจถึงขนาดของสิ่งที่เกิดขึ้น และต้องการลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด” เขากล่าว “มันก็รู้สึกตื่นเต้น โดยเฉพาะเมื่อเราทำสำเร็จ”
อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ของศูนย์ความมั่นคงไซเบอร์ฯ เตือนว่า องค์กรสามารถให้การป้องกันได้เพียงชั้นเดียวเท่านั้น ขณะที่อาชญากรรมเรียกค่าไถ่ทางไซเบอร์ยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง และสร้างรายได้มหาศาลให้กับผู้ก่อเหตุ
“ปัญหาส่วนหนึ่งคือมีผู้โจมตีจำนวนมาก” แซมกล่าว “แต่พวกเราไม่ได้มีมากขนาดนั้น”
ข้อมูลสถิติการโจมตีที่แน่ชัดยังหาได้ยาก เนื่องจากบริษัทต่าง ๆ ไม่จำเป็นต้องรายงานว่าเคยถูกโจมตีหรือจ่ายค่าไถ่หรือไม่
อย่างไรก็ตาม จากการสำรวจด้านความมั่นคงไซเบอร์ของรัฐบาลสหราชอาณาจักร พบว่า ในปีที่ผ่านมา มีการโจมตีธุรกิจในประเทศเพื่อเรียกค่าไถ่ 19,000 ครั้ง
งานวิจัยในอุตสาหกรรมยังระบุว่า จำนวนเงินเรียกค่าไถ่โดยเฉลี่ยในสหราชอาณาจักรอยู่ที่ประมาณ 4 ล้านปอนด์ (หรือ 174 ล้านบาท) และประมาณหนึ่งในสามของบริษัทเลือกที่จะจ่ายเงิน

ริชาร์ด ฮอร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติ (NCSC) ระบุว่า บริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องยกระดับและปรับปรุงความมั่นคงทางไซเบอร์ของตนเอง
“ตลอดช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เราเห็นคลื่นของการโจมตีทางไซเบอร์โดยอาชญากร” ริชาร์ด ฮอร์น ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติระบุ โดยเขาปฏิเสธว่าอาชญากรเหล่านี้กำลังอยู่ในภาวะได้เปรียบ แต่ย้ำว่าบริษัทต่าง ๆ จำเป็นต้องปรับปรุงระบบความมั่นคงทางไซเบอร์ของตนเอง
หากการป้องกันไม่สามารถหยุดยั้งการโจมตีได้ หน่วยงานจากสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ สหราชอาณาจักร (National Crime Agency-NCA) จะเข้ามารับหน้าที่ติดตามและจับกุมผู้กระทำผิด
ซูซาน กริมเมอร์ หัวหน้าทีมของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ ระบุว่า การแฮกกำลังเพิ่มขึ้น เนื่องจากเป็นอาชญากรรมที่สร้างรายได้สูง ทั้งนี้หน่วยงานของเธอเป็นผู้ดำเนินการประเมินเบื้องต้นในกรณีการแฮกบริษัทมาร์กแอนด์สเปนเซอร์

ซูซาน กริมเมอร์ จากสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ (NCA) ระบุว่า การโจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นเกือบเท่าตัว
ซูซาน กริมเมอร์ หัวหน้าหน่วยของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติเปิดเผยว่า ตั้งแต่เธอเข้ารับตำแหน่งเมื่อสองปีก่อน จำนวนเหตุการณ์โจมตีทางไซเบอร์เพิ่มขึ้นเกือบสองเท่า คิดเป็นราว 35–40 ครั้งต่อสัปดาห์
“หากแนวโน้มนี้ยังคงดำเนินต่อไป ฉันคาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่เลวร้ายที่สุดในประวัติศาสตร์ของการโจมตีเรียกค่าไถ่ในสหราชอาณาจักร” เธอกล่าว
กริมเมอร์ระบุว่า การแฮกกำลังกลายเป็นเรื่องง่ายขึ้น และบางกลวิธีไม่จำเป็นต้องใช้คอมพิวเตอร์ด้วยซ้ำ เช่น การโทรไปยังฝ่ายช่วยเหลือด้านไอทีเพื่อหลอกขอสิทธิ์เข้าถึงระบบ
“อาชญากรเหล่านี้สามารถเข้าถึงเครื่องมือและบริการต่าง ๆ ได้ง่ายขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องมีทักษะทางเทคนิคเฉพาะทาง” เธอกล่าว
ในกรณีของบริษัทมาร์กแอนด์สเปนเซอร์ แฮกเกอร์สามารถเจาะเข้าสู่ระบบได้ด้วยการหลอกลวงหรือใช้เล่ห์กล ส่งผลให้การจัดส่งสินค้าล่าช้า ชั้นวางสินค้าบางชั้นถูกปล่อยให้ว่างเปล่า และขโมยข้อมูลของลูกค้าไป
เจมส์ แบ็บเบจ ผู้อำนวยการฝ่ายภัยคุกคามของสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติระบุว่า ลักษณะเช่นนี้เป็นสิ่งที่พบได้ในแฮกเกอร์รุ่นใหม่ ซึ่ง “ค่อยๆ เข้าสู่อาชญากรรมไซเบอร์โดยอาจจะเริ่มต้นผ่านการเล่นเกม”

เจมส์ แบ็บเบจ ผู้อำนวยการฝ่ายภัยคุกคามแห่งสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติ (NCA) ระบุว่า ขณะนี้มีแฮกเกอร์รุ่นใหม่เกิดขึ้นแล้ว
แบ็บเบจ เจ้าหน้าที่ของ NCA กล่าวเสริมว่า “พวกเขาเริ่มตระหนักว่าทักษะของตนสามารถนำมาใช้หลอกฝ่ายไอที เพื่อขอสิทธิ์เข้าถึงระบบของบริษัทได้”
เมื่อแฮกเกอร์สามารถเข้าถึงระบบได้แล้ว พวกเขาจะใช้ซอฟต์แวร์เรียกค่าไถ่ที่ซื้อจากเว็บมืดในการขโมยข้อมูลและล็อกระบบคอมพิวเตอร์
แบ็บเบจระบุว่า มัลแวร์เรียกค่าไถ่เป็นภัยคุกคามทางไซเบอร์ที่สำคัญที่สุดในปัจจุบัน
“นี่คือภัยคุกคามต่อความมั่นคงของชาติในตัวมันเอง ทั้งในสหราชอาณาจักรและทั่วโลก” เขากล่าว
หลายฝ่ายมีข้อสรุปในทิศทางเดียวกัน
ในเดือน ธ.ค. 2023 คณะกรรมาธิการร่วมด้านยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติของรัฐสภาเตือนว่า มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิด “การโจมตีเรียกค่าไถ่ที่รุนแรงในทุกขณะ”
เมื่อต้นปี 2025 สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินแห่งสหราชอาณาจักร (National Audit Office) เผยรายงานที่ระบุว่า ภัยคุกคามต่อสหราชอาณาจักรมีความรุนแรงและกำลังพัฒนาอย่างรวดเร็ว
ริชาร์ด ฮอร์น จากศูนย์ความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แห่งชาติระบุว่า บริษัทต่าง ๆ ควร “คำนึงถึงความมั่นคงทางไซเบอร์ในทุกการตัดสินใจ”
ด้านแบ็บเบจ จากสำนักงานอาชญากรรมแห่งชาติกล่าวเสริมว่า เขาไม่สนับสนุนให้เหยื่อจ่ายเงินค่าไถ่
“เหยื่อแต่ละรายต้องตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่การจ่ายเงินค่าไถ่คือสิ่งที่หล่อเลี้ยงอาชญากรรมนี้” เขากล่าว
รัฐบาลสหราชอาณาจักรเสนอให้มีการห้ามหน่วยงานสาธารณะจ่ายเงินค่าไถ่ ขณะที่บริษัทเอกชนอาจต้องรายงานการโจมตี และขออนุญาตจากรัฐบาลก่อนที่จะจ่ายเงิน
ย้อนกลับไปที่มณฑลนอร์ทแธมป์ตันเชียร์ พอล แอบบอตต์ จากบริษัท KNP ซึ่งเคยตกเป็นเหยื่อของการโจมตีทางไซเบอร์ ปัจจุบันออกเป็นวิทยากรให้ความรู้กับธุรกิจอื่น ๆ เกี่ยวกับภัยคุกคามในโลกออนไลน์
เขาเสนอว่า บริษัทควรต้องแสดงหลักฐานว่ามีระบบไอทีที่ทันสมัยอยู่เสมอ หรือ ที่เรียกว่า Cyber Maturity Of Technology (cyber-MOT) หรือการประเมินตำแหน่งของความมั่นคงทางไซเบอร์ขององค์กรในปัจจุบันเป็นอย่างไร มีจุดอ่อนจุดแข็งอย่างไร เพื่อนำไปสู่ข้อเสนอแนะในการปรับปรุงแก้ไข
“ควรมีข้อบังคับที่ทำให้คุณสามารถรับมือกับอาชญากรรมได้ดีขึ้น” เขากล่าว
อย่างไรก็ตาม พอล แคชมอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านไซเบอร์ที่บริษัทประกันของ KNP จ้างเข้ามา ระบุว่า หลายบริษัทเลือกที่จะไม่รายงานอาชญากรรม แต่กลับยอมจำนวนและจ่ายเงินให้กับอาชญากรแทน
“นี่คืออาชญากรรมที่มีลักษณะเป็นขบวนการ (Organised Crime)” เขากล่าว “ผมคิดว่าความคืบหน้าในการจับตัวผู้กระทำผิดยังมีน้อยมาก แต่กลับได้สร้างความเสียหายอย่างมหาศาลแล้ว”
ที่มา BBC / วันที่เผยแพร่ 21 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cn0z6y8wj92o