-
ตลาดคาร์บอนเป็นกลไกสำคัญในการลดก๊าซเรือนกระจกในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก แบ่งออกเป็น 2 ประเภทหลักคือ ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ (VCM) และตลาดคาร์บอนภาคบังคับ (CCM)
-
ตลาดภาคสมัครใจ (VCM) ช่วยให้บริษัทเอกชนสามารถลงทุนในโครงการลดโลกร้อนเพื่อบรรลุเป้าหมาย Net Zero แต่ก็เผชิญกับความท้าทายด้านมาตรฐานและความน่าเชื่อถือของคาร์บอนเครดิต
-
ตลาดภาคบังคับ (CCM) ในเอเชียแปซิฟิกถูกกำกับดูแลโดยรัฐบาลและมีรูปแบบแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ เช่น ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (ETS) ในเกาหลีใต้และจีน และภาษีคาร์บอนในสิงคโปร์
-
อนาคตของตลาดคาร์บอนมีแนวโน้มที่จะรวมตลาดทั้งสองประเภทเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างตลาดเดียวที่ไร้รอยต่อ โดยมีปัจจัยขับเคลื่อนจากนโยบายที่ชัดเจน การส่งเสริมการลงทุน และกลไกการค้าโลกอย่าง CBAM
ในยุคที่ทั่วโลกกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ “ตลาดคาร์บอน” กลายเป็นเครื่องมือสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (GHG) และสร้างโอกาสในการลงทุนเพื่อความยั่งยืน แต่ต้องยอมรับว่าตลาดคาร์บอนเป็นกลไกที่ซับซ้อน เพื่อให้เข้าใจในเรื่องนี้ให้มากยิ่งขึ้นในงาน Asia Climate Summit 2025 จึงมีการเวิร์คชอปในประเด็น “By Invitation – Asia Climate Summit Media Workshop” โดยมี อเลสซานโดร วิเตลลี่ ที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ของ IETA เป็นผู้ดำเนินรายการ
พร้อมด้วยผู้เชี่ยวชาญมากมายมาเป็นสปีกเกอร์ อาทิ ซันดีป รอย ชาวด์ฮูรี ผู้ร่วมก่อตั้ง VNV, จูลส์ เมเตรปิแอร์ ผู้ร่วมก่อตั้ง Offset8 Capital, บียอร์น ฟอนเดน ผู้จัดการนโยบายระหว่างประเทศในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ของ IETA, นาเดีย แนร์ หัวหน้าฝ่ายกลยุทธ์และการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและตลาดคาร์บอนภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก จาก ACT, และนูโอมิน ฮาน หัวหน้าฝ่ายตลาดคาร์บอน จาก Wood Mackenzie โดยสามารถสกัดเนื้อหาออกมาได้ดังนี้

ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ
“ตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจ” หรือ “VCM” (Voluntary Carbon Market) มียาวนานกว่า 20 ปี โดยมาตรฐานคาร์บอนภาคสมัครใจชุดแรกเกิดขึ้นในปี 2545 เริ่มต้นมาจากบริษัทต่าง ๆ ที่ต้องการดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศให้มากกว่าสิ่งที่สหประชาชาติกำหนด โดยเฉพาะในช่วงที่ “กลไกการพัฒนาที่สะอาด” หรือ “CDM” (Clean Development Mechanism) ของพิธีสารเกียวโตกำลังดำเนินการอยู่
วัตถุประสงค์หลักของ VCM คือการส่งเสริมการลดก๊าซเรือนกระจกควบคู่ไปกับการบรรลุเป้าหมายการพัฒนา โดยเฉพาะในประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งกลับมาเป็นที่รู้จักและได้รับความยอมรับอย่างจริงจังอีกครั้งประมาณปี 2560 หรือสองปีหลังจากมีการลงนามในข้อตกลงปารีส หลังจากช่วงที่ซบเซาลงระหว่างปี 2555-2559
ปัจจุบัน VCM ถือเป็นองค์ประกอบสำคัญที่จะช่วยให้หลายบริษัทสามารถบรรลุเน็ตซีโร่ (Net Zero) ได้ เพราะ VCM ช่วย จัดหาเงินทุนที่จำเป็น ให้กับผู้ดำเนินงานด้านสภาพภูมิอากาศในประเทศกำลังพัฒนา เช่น เกษตรกรรายย่อยในแอฟริกา ลาตินอเมริกา และเอเชีย เนื่องจากคาร์บอนที่ถูกลดได้ในวันนี้มีคุณค่ามากกว่าในอนาคต และยังสะท้อนถึงต้นทุนทางสังคมของคาร์บอนที่ไม่อาจมองข้ามได้ ซึ่งเน้นย้ำว่าบริษัทต่าง ๆ ต้องลงมือทำทันที
อย่างไรก็ตาม VCM เผชิญกับปัญหาด้านคุณภาพและความสมบูรณ์ของคาร์บอนเครดิต เพื่อแก้ไขปัญหานี้ จึงมีการจัดตั้งองค์กรสำคัญขึ้น ไม่ว่าจะเป็น สภาบูรณภาพเพื่อตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจ (Integrity Council for Voluntary Carbon Markets – ICVCM) ทำหน้าที่กำหนดมาตรฐานคุณภาพสำหรับโครงการต่าง ๆ โดยให้หลักการคาร์บอนหลัก (Core Carbon Principle – CCP) ของแต่ละระเบียบวิธี ซึ่งช่วยลดการตีความคุณภาพที่หลากหลายและเพิ่มความเข้มงวดในการติดตามและตรวจสอบ
นอกจากนี้ยังมี โครงการริเริ่มความซื่อสัตย์ของตลาดคาร์บอนโดยสมัครใจ (Voluntary Carbon Markets Integrity Initiative – VCMI) มุ่งเน้นไปที่ภาคองค์กร เพื่อกำหนดแนวทางว่าบริษัทควรใช้คาร์บอนเครดิตเมื่อใดและอย่างไร โดยเน้นย้ำว่าบริษัทต้องลดการปล่อยก๊าซให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะทำได้ก่อน จากนั้นจึงใช้คาร์บอนเครดิตเพื่อชดเชยส่วนที่ยังไม่สามารถลดได้ทั้งหมด ซึ่งไม่ได้หมายถึงการหลีกเลี่ยงความรับผิดชอบ
ในตอนนี้ ความต้องการคาร์บอนเครดิตใน VCM ส่วนใหญ่มาจากเป้าหมายเน็ตซีโร่ของแต่ละบริษัท ซึ่งคิดเป็นปริมาณคาร์บอนหลายพันล้านตัน แต่ในอนาคตความต้องการคาร์บอนเครดิตจะขยายไปยังทุกบริษัทที่มีวิสัยทัศน์เน็ตซีโร่
ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ
“ตลาดคาร์บอนภาคบังคับ” หรือ “CCM” (Compliance Carbon Markets) เป็นตลาดที่มีการกำกับดูแลโดยรัฐบาลหรือหน่วยงานกำกับดูแลของประเทศนั้น ๆ สำหรับในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกแล้ว CCM มีด้วยกันหลายประเภท แล้วแต่ในประเทศ ไม่ว่าจะเป็นโครงสร้างแบบ ระบบการซื้อขายสิทธิในการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emissions Trading Schemes – ETS): เช่น นิวซีแลนด์ (ตั้งแต่ปี 2554), เกาหลีใต้ (ตั้งแต่ปี 2558) และ ETS ระดับชาติของจีน (เริ่มปี 2564 สำหรับภาคพลังงาน)
นอจากนี้ยังมี โครงสร้างแบบภาษีคาร์บอน (Carbon Tax) ที่เริ่มใช้ในสิงคโปร์ ตั้งแต่ปี 2562 ส่วนระบบผสมผสาน มีอยู่ในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นการกำหนดเพดานแล้วเก็บภาษีภายหลัง และมาเลเซียจะมีการเก็บภาษีคาร์บอนก่อนจะเปลี่ยนบางภาคส่วนไปสู่ ETS ในปี 2569
ตลาดเหล่านี้แตกต่างจากสหภาพยุโรป และ ETS ตรงที่มักจะถูกจำกัดด้วยขอบเขตทางกฎหมายของประเทศ และการเติบโตของตลาดเหล่านี้มักถูกขับเคลื่อนด้วยนโยบาย เช่น CBAM โดยกลไกการลดคาร์บอนในตลาดภาคบังคับมีด้วยกันหลายแบบ เช่น
- ภาษีคาร์บอน: เป็นการเรียกเก็บเงินตามปริมาณก๊าซเรือนกระจกที่ปล่อยออกมาโดยตรง
- ETS: อาจใช้การกำหนดเพดานแล้วซื้อขาย (Cap-and-Trade) หรืออิงตามความเข้มข้นของการปล่อย (Intensity-based)
- การสนับสนุนเทคโนโลยีคาร์บอนต่ำ: บางระบอบการค้าสิทธิปล่อยก๊าซฯ เช่น EU และอินเดีย มีการยกเว้นการปล่อยก๊าซที่ถูกดักจับและกักเก็บอย่างถาวร และยังรวมถึงการรับรองเชื้อเพลิงชีวภาพหรือเชื้อเพลิงยั่งยืน
- การเชื่อมโยงกับคาร์บอนออฟเซ็ต/VCM: ตลาดภาคบังคับหลายแห่งอนุญาตให้ใช้คาร์บอนออฟเซ็ตได้ในสัดส่วนหนึ่ง (เช่น จีน 5%) ซึ่งช่วยสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านพลังงานในกิจกรรมที่อยู่นอกเหนือขอบเขตของตลาดภาคบังคับ
อนาคตของตลาดคาร์บอน
ผู้เชี่ยวชาญต่างเห็นตรงกันว่า ตลาดคาร์บอนจะมีการพัฒนาและเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ตลาดคาร์บอนเติบโตและสร้างประโยชน์ได้สูงสุด จำเป็นต้องมีกลยุทธ์เพื่อกระตุ้นการลงทุนในหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนร่วม ซึ่งเป็นวิธีที่ง่ายที่สุดสำหรับนักลงทุนในการขยายขนาดโครงการ โดยการร่วมทุนกับนักลงทุนที่มีประสบการณ์จะช่วยลดความเสี่ยงและเร่งการเติบโตของโครงการได้
นอกจากนี้ยังต้องมีกรอบการกำกับดูแลที่ชัดเจน จำเป็นต้องมีนโยบายและข้อบังคับที่ชัดเจนในระดับประเทศสำหรับทั้งตลาดภาคบังคับและภาคสมัครใจ เพื่อสร้างความเข้าใจให้กับผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย ซี่งจะเป็นการเสริมสร้างศักยภาพจะช่วยกระตุ้นความต้องการ ซึ่งนำไปสู่การเพิ่มอุปทานในตลาด ความต้องการจากภาคองค์กรเป็นปัจจัยขับเคลื่อนที่สำคัญ
รวมถึงสร้างเสริมสร้างศักยภาพด้วยการจัดฝึกอบรมทักษะที่จำเป็นและสร้างความตระหนักรู้ เพื่อให้ผู้เข้าร่วมตลาดมีความเข้าใจตรงกันและใช้คำศัพท์เดียวกัน ซึ่งครอบคลุมถึงการบัญชีคาร์บอนระดับองค์กร การบัญชีการปล่อยก๊าซตลอดวงจรชีวิตผลิตภัณฑ์ (CBAM) และการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค
ปัจจุบันนี้ ความแตกต่างของตลาดคาร์บอนภาคสมัครใจและตลาดคาร์บอนภาคบังคับกำลังลดลงเรื่อย ๆ ดังนั้นผู้เชี่ยวชาญจึงมองว่าเป้าหมายต่อไปคือ การรวมเป็นตลาดคาร์บอนแบบเดียว เพื่อให้เงินถูกนำไปใช้ในจุดที่ต้องการสำหรับการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศ ขณะเดียวกัน นักลงทุนมองเห็นโอกาสในการทำกำไรจากการเปลี่ยนคาร์บอนเครดิตภาคสมัครใจ ที่มีราคาถูกกว่า ให้เป็นเครดิตภาคบังคับ
ตลาดคาร์บอน ทั้งภาคสมัครใจและภาคบังคับ รวมถึงกลไกภายใต้ข้อตกลงปารีส มาตรา 6 กำลังพัฒนาไปสู่การเป็นส่วนหนึ่งของตลาดคาร์บอน ที่ไร้รอยต่อมากขึ้น แม้จะมีความท้าทายด้านความซับซ้อนและมาตรฐานที่หลากหลาย แต่ศักยภาพในการดึงดูดการลงทุน เพื่อการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและสนับสนุนการพัฒนาอย่างยั่งยืนนั้นมีสูงมาก
การผลักดันให้เกิดกรอบการทำงานที่ชัดเจน การเสริมสร้างศักยภาพ และการส่งเสริมการลงทุนร่วม จะเป็นกุญแจสำคัญในการปลดล็อกศักยภาพของตลาดคาร์บอนเพื่อบรรลุเป้าหมายสภาพภูมิอากาศโลก กลไกอย่าง CBAM ยังตอกย้ำถึงการรวม “คาร์บอน” เข้าไปเป็นปัจจัยสำคัญในการค้าและเศรษฐกิจโลก ซึ่งจะยิ่งขับเคลื่อนให้เกิดการพิจารณาถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในทุกภาคส่วน
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 20 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1190054