เมื่อมีเสียงตะโกนดังขึ้นสั้น ๆ ว่า “ยิงโจมตี เยเมน!” ชายและหญิงในเครื่องแบบที่นั่งอยู่หน้าแผงคอมพิวเตอร์ต่างส่งเสียงตอบรับพร้อมกันว่า “รับทราบ ยิงโจมตีเยเมน”
ภายในฐานทัพของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ (US Space Force) ซึ่งพวกเราเรียกกันว่า “การ์เดียนส์” (Guardians) ซึ่งแปลว่า “ผู้พิทักษ์” แทนคำว่า “กองทัพ” เมื่อมองไปยังหน้าจอที่อยู่ภายในฐานทัพ ซึ่งตั้งอยู่ชานเมืองเดนเวอร์ ในรัฐโคโลราโด แล้ว พวกเขาจะสามารถติดตามขีปนาวุธลำหนึ่งที่ถูกส่งมาจากส่วนหนึ่งส่วนใดของโลก ตั้งแต่จุดปล่อยขีปนาวุธไปจนถึงเป้าหมายที่คาดว่าจะหวังผลการโจมตี
ทีมงานบีบีซีเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มผู้สื่อข่าวนานาชาติกลุ่มแรกที่ได้รับอนุญาตให้เข้าไปเยือนภายในห้องปฏิบัติการติดตามและเตือนภัยขีปนาวุธของฐานทัพอวกาศสหรัฐฯ บัคลีย์ ซึ่งถือว่าเป็นศูนย์กลางสำคัญที่กลุ่มการ์เดียนส์คอยเฝ้าระวังตลอด 24 ชั่วโมง ในทุก ๆ วัน
เจ้าหน้าที่ในห้องแห่งนี้ล้วนแต่ห้อมล้อมไปด้วยหน้าจอมอนิเตอร์ขนาดใหญ่ ที่ให้ข้อมูลและแผนที่จากกลุ่มดาวเทียมทหารที่ล่องลอยอยู่ในห้วงอวกาศ
การ์เดียนส์เหล่านี้ ถือเป็นกลุ่มแรกที่เป็นผู้ตรวจจับรังสีความร้อนอินฟราเรดอันมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวเมื่อขีปนาวุธลูกหนึ่งถูกยิงออกไป ไม่นานหลังจากนั้น ก็มีเสียงตะโกนขึ้นอีกว่า “ยิงโจมตี อิหร่าน” แล้วตามมาด้วยเสียงประสานตามมาว่า “รับทราบ ยิงโจมตีอิหร่าน”
ในครั้งนี้ คือการซ้อมรบ แต่ในเดือนที่แล้ว พวกเขาได้ปฏิบัติการจริง เมื่ออิหร่านเปิดฉากกระหน่ำยิงขีปนาวุธฐานทัพอากาศ อัล-อูเดด (Al-Udeid) ของสหรัฐฯ ในกาตาร์ เพื่อตอบโต้สหรัฐฯ และอิสราเอล ที่โจมตีอิหร่าน
พันเอกหญิง แอน ฮิวจ์ส อธิบายบรรยากาศในวันนั้นว่า “หนักอึ้ง” ไม่เหมือนกับการยิงขีปนาวุธส่วนใหญ่ พวกเขาได้รับการเตือนล่วงหน้าแล้ว พวกเขาจึงสามารถติดตามขีปนาวุธของอิหร่านเหล่านั้นได้ พร้อมกับป้อนข้อมูลดังกล่าวไปยังระบบป้องกันทางอากาศภาคพื้นดิน
“ในท้ายสุด พวกเราก็สามารถปกป้องฐานทัพทั้งหมด รวมทั้งบุคลากรที่ประจำการอยู่ที่นั่น” เธอกล่าวอย่างโล่งใจ

พันเอกหญิง แอน ฮิวจ์ส รู้สึกโล่งอกเมื่อหน่วยทหารของเธอสามารถป้องกันเหล่าทหารสหรัฐฯ ในกาตาร์ได้เมื่อเดือนที่แล้ว
เมื่อถามเธอว่า พวกเขาได้ส่งคำเตือนไปยังยูเครนหรือไม่ พันเอกหญิงฮิวจ์สตอบว่า “เราส่งคำเตือนขีปนาวุธเชิงยุทธศาสตร์และยุทธวิธีไปยังกองกำลังสหรัฐฯ และพันธมิตรทั้งหมด” สหรัฐฯ จะไม่ยืนยันเรื่องนี้ต่อสาธารณะ แต่ดูเหมือนว่าพวกเขาอาจแจ้งล่วงหน้าไปยังเคียฟเมื่อยูเครนกำลังจะถูกรัสเซียโจมตี
ฐานทัพอวกาศบัคลีย์จะเป็นส่วนสำคัญในแผนของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ในการสร้างระบบป้องกันขีปนาวุธของสหรัฐฯ หรือที่รู้จักกันในชื่อ “โกลเดน โดม” (Golden Dome)
ทรัมป์ได้จัดสรรงบประมาณราว 175,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (5.67 ล้านล้านบาท) สำหรับโครงการอันทะเยอทะยานนี้ ซึ่งได้รับแรงบันดาลใจจากระบบป้องกันภัยทางอากาศไอเอิร์นโดมของอิสราเอล อย่างไรก็ตาม หลายคนเชื่อว่าจะมีค่าใช้จ่ายมากกว่านี้มาก
ทว่ารากฐานดังกล่าวภายในฐานทัพอวกาศบัคลีย์ได้ถูกสร้างขึ้นเรียบร้อยแล้ว เส้นขอบฟ้าของฐานทัพเต็มไปด้วยโดมเรดาร์ขนาดใหญ่ ซึ่งมีลักษณะเป็นฝาครอบทรงกลมที่ปกป้องจานดาวเทียมทรงพลังภายใน พวกมันดูเหมือนลูกกอล์ฟขนาดยักษ์ที่ตั้งอยู่บนขอบฟ้า ดาวเทียมเหล่านี้ตรวจจับคลื่นความถี่วิทยุจากซูเปอร์โนวาที่อยู่ห่างออกไป 11,000 ปีแสง
พลโทเดวิด มิลเลอร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการปฏิบัติการอวกาศสหรัฐฯ (US Space Operations Command) กล่าวว่า การพัฒนาโกลเดน โดม ซึ่งยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น ถือเป็นการตระหนักถึงภัยคุกคามที่เพิ่มมากขึ้นต่อประเทศสหรัฐฯ
ในประเด็นนี้ เขากล่าวถึงจีนและรัสเซียโดยเฉพาะ
ทั้งจีนและสหรัฐฯ ได้พัฒนาขีปนาวุธความเร็วเหนือเสียงที่สามารถเดินทางได้เร็วกว่าเสียงถึงห้าเท่า ขณะเดียวกันทั้งสองประเทศได้ทดสอบระบบโจมตีแบบ FOB (Fractional Orbital Bombardment System) หรือระบบยิงขีปนาวุธโดยให้ขีปนาวุธโคจรรอบโลกช่วงหนึ่งก่อนจะยิงลงไปยังเป้าหมายจากมุมที่ฝ่ายตั้งรับไม่คาดคิด ซึ่งติดตามได้ยากกว่า
“ความเร็วและหลักฟิสิกส์ที่เกี่ยวข้องกับการสกัดกั้นนั้นจำเป็นต้องพิจารณาการใช้งานระบบสกัดกั้นในอวกาศ” พลเอกมิลเลอร์กล่าว ซึ่งนายพลผู้นี้ชอบที่กล่าวถึง “ศักยภาพ” ในการปกป้องผลประโยชน์ของอเมริกา มากกว่าอาวุธยุทโธปกรณ์ในห้วงอวกาศ

ในอวกาศคาดว่ามีดาวเทียมอยู่ราว 12,000 ดวง ที่กำลังโคจรอยู่ และคาดว่าจะมีจำนวนเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว
การก่อตั้งกองทัพอวกาศสหรัฐฯ เมื่อห้าปีก่อนเป็นเครื่องพิสูจน์ว่าอวกาศได้กลายเป็นสมรภูมิแห่งการรบ ประธานาธิบดีทรัมป์ได้ก่อตั้งกองกำลังนี้ขึ้นในช่วงการดำรงตำแหน่งผู้นำสหรัฐฯ สมัยแรก โดยเขากล่าวถึงอวกาศว่าเป็น “สมรภูมิแห่งการรบใหม่ล่าสุดของโลก”
ทั้งจีนและรัสเซียได้ทดสอบขีปนาวุธต่อต้านดาวเทียม รวมถึงวิธีการรบกวนการสื่อสาร
พลเอกมิลเลอร์กล่าวว่า รัสเซียได้ “แสดงให้เห็นถึงศักยภาพในการส่งส่วนบรรจุอาวุธนิวเคลียร์” ขึ้นสู่อวกาศ เขากล่าวว่า อวกาศเป็นพื้นที่ “ที่มีการแข่งขันสูง” อยู่แล้ว ดังนั้น “เราต้องเตรียมพร้อมสำหรับความขัดแย้งในอวกาศด้วย”
พันเอกหญิงฟีนิกซ์ เฮาเซอร์ เป็นผู้กำกับดูแลหน่วยข่าวกรอง เฝ้าระวัง และลาดตระเวนของกองกำลังอวกาศ (Space Forces Intelligence, Surveillance and Reconnaissance unite) หรือที่รู้จักกันในชื่อเดลต้า 7 โดยหน้าที่ของพวกเขาคือ การค้นหาสิ่งต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในอวกาศ
ที่ฐานทัพใกล้โคโลราโดสปริงแห่งนี้ ทีมเจ้าหน้าที่เฝ้าติดตามหน้าจอที่แสดงจุดเล็ก ๆ หลายพันจุดทั่วโลก ปัจจุบันมีดาวเทียมในอวกาศแล้วประมาณ 12,000 ดวง และภายในสิ้นทศวรรษนี้ อาจมีดาวเทียมเพิ่มขึ้นเป็น 60,000 ดวง
พันเอกเฮาเซอร์กล่าวว่า เป้าหมายหลักของพวกเขาอยู่ที่จีน
“มันคือภัยคุกคามที่กำลังมีความเคลื่อนไหวอยู่ในตอนนี้” เธอกล่าว จีนมีดาวเทียมอยู่แล้วประมาณ1,000 ดวง ซึ่งครึ่งหนึ่งเป็นดาวเทียมทางการทหาร พันเอกเฮาเซอร์กล่าวว่าในอีกทศวรรษข้างหน้าจะมีดาวเทียมเพิ่มขึ้นอีกหลายหมื่นดวงในวงโคจรระดับต่ำเหนือผิวโลก ดังนั้นอวกาศจึงมีความหนาแน่นและมีการแข่งขันแก่งแย่งกันมากขึ้นเรื่อย ๆ
“เรากำลังประลองกำลังกันในอวกาศอยู่แล้ว” เธอกล่าวและว่า “เราเห็นการปะทะกันอย่างใกล้ชิดที่ไม่เป็นมืออาชีพและไม่ปลอดภัยจากศัตรูของเรา” ซึ่งรวมถึงดาวเทียมที่ติดตั้งระบบรบกวนสัญญาณอิเล็กทรอนิกส์ เลเซอร์ และแม้แต่โครงข่ายและแขนกล ซึ่งอาจใช้เพื่อเคลื่อนย้ายดาวเทียมดวงอื่นออกนอกเส้นทาง
บางคนเสนอว่ามี “การต่อสู้อย่างดุเดือดระหว่างเครื่องบินรบ” เกิดขึ้นในอวกาศแล้ว
“ฉันไม่แน่ใจว่าเราอยู่ในการต่อสู้ขับเคี่ยวของเครื่องบินรบอย่างดุเดือดอย่างในภาพยนตร์เรื่องท็อปกัน (Top Gun) หรือเปล่า” พันเอกหญิงเฮาเซอร์กล่าว “แต่แน่นอนว่า เราจำเป็นต้องเตรียมพร้อมรับมือ”

พันเอกฟีนิกซ์ เฮาเซอร์ (ซ้าย) บอกว่า สหรัฐฯ จำเป็นต้องเตรียมความพร้อมสำหรับความขัดแย้งที่เกิดขึ้นในอวกาศ
กองทัพอวกาศสหรัฐฯ กำลังเตรียมพร้อมรับมือกับความเป็นไปได้ที่จะเกิดความขัดแย้งในห้วงอวกาศ
ย้อนกลับไปเมื่อปีที่แล้ว พันเอกเฮาเซอร์กล่าวไว้ว่า “พวกเขายังไม่สามารถพูดคุยถึงศักยภาพด้านอวกาศเชิงรุกได้” บัดนี้ เธอกล่าวว่า เป้าหมายของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ คือ “การสร้างทางเลือกให้กับประธานาธิบดี เพื่อให้เราสามารถได้รับและรักษาความเหนือกว่าทางอวกาศผ่านการควบคุมอวกาศทั้งเชิงรุกและเชิงรับ”
ด้านพลเอกมิลเลอร์ ผู้บัญชาการกองบัญชาการปฏิบัติการอวกาศสหรัฐฯ กล่าวว่าวิธีเดียวที่จะป้องกันความขัดแย้งได้คือ “ต้องป้องกันด้วยความแข็งแกร่ง และเราต้องมีขีดความสามารถของเราเองเพื่อปกป้องทรัพย์สินของเรา” อย่างไรก็ตาม เขาจะไม่เปิดเผยรายละเอียดถึงสิ่งที่ว่านี้หมายความว่าอย่างไร
แต่การโจมตีโครงการนิวเคลียร์ของอิหร่านในปฏิบัติการมิดไนท์แฮมเมอร์ (Operation Midnight Hammer) ของสหรัฐฯ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทำให้เห็นภาพรวมว่า กองทัพอวกาศสหรัฐฯ มีความสามารถทำอะไรได้บ้าง การโจมตีโดยเครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 เหล่านี้ยังเน้นย้ำถึงเหตุผลที่การครองอำนาจในอวกาศอย่างต่อเนื่องยังคงมีความสำคัญอย่างยิ่งต่อกองทัพสหรัฐฯ
“คุณต้องเข้าใจว่ากองทัพสหรัฐฯ เชื่อมั่นในข้อได้เปรียบที่เรามีจากอวกาศมากเพียงใด” พลเอกมิลเลอร์กล่าว ซึ่งรวมถึงความสามารถในการนำทางและการสื่อสารเหนือขอบฟ้า และการโจมตีอย่างแม่นยำโดยใช้จีพีเอส (GPS)
บีบีซีได้รับรายละเอียดเบื้องต้นเกี่ยวกับการมีส่วนร่วมของกองกำลังพิทักษ์อวกาศสหรัฐฯ ในปฏิบัติการนี้เพียงเท่านั้น
“หนึ่งในสิ่งที่เราทำคือ การใช้ประโยชน์จากขีดความสามารถในการทำสงครามแม่เหล็กไฟฟ้าของเราเพื่อให้มั่นใจว่าจะมีอำนาจเหนือตลอดปฏิบัติการ” พลเอกมิลเลอร์กล่าว ซึ่งสเปกตรัมแม่เหล็กไฟฟ้าดังกล่าวประกอบด้วย คลื่นวิทยุ คลื่นไมโครเวฟ รังสีอินฟราเรด และแสงที่มองเห็นได้
“เรารู้ว่าสภาพแวดล้อมเช่นนี้จะเผชิญกับความแออัด” เขากล่าว กองทัพอวกาศสหรัฐฯ รับรองว่าจะไม่มีการรบกวนสัญญาณเพื่อให้เครื่องบินทิ้งระเบิด B-2 ของสหรัฐฯ สามารถไปถึงเป้าหมายและทิ้งระเบิดขนาดใหญ่ที่นำวิถีด้วยจีพีเอสได้อย่างแม่นยำ

หน่วยต่าง ๆ ในกองทัพอวกาศสหรัฐฯ จะเฝ้าติดตามและแจ้งเตือนภัยตลอด 24 ชั่วโมง เจ็ดวันต่อสัปดาห์
ผู้เชี่ยวชาญด้านสงครามอิเล็กทรอนิกส์จากกองกำลังอวกาศเดลต้า 3 ของสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการภาคพื้นดินในภูมิภาคนี้อยู่แล้ว
พันเอกแองเจโล เฟอร์นันเดซ ผู้บังคับบัญชาของพวกเขา ชี้ให้ดูจานดาวเทียมและตู้ควบคุมที่ช่วยให้พวกเขาสามารถบินไปยังสถานที่ต่าง ๆ ทั่วโลกได้
เขากล่าวว่าจานดาวเทียมเหล่านี้สามารถใช้เพื่อสกัดกั้นแล้วกลบการสื่อสารของกองกำลังฝ่ายศัตรูได้ โดย “การส่งการกระจายเสียงที่ดังกว่า”
“พวกมันสามารถปกป้องทรัพย์สินของสหรัฐฯ และเปิดเส้นทางการบินได้ในเวลาเดียวกัน” เขากล่าว
ในช่วงก่อน ระหว่าง และหลังภารกิจ หน่วยพิทักษ์เดลต้า 7 ภายใต้สังกัดของกองทัพอวกาศสหรัฐฯ ได้ทำหน้าที่เฝ้าระวังอยู่แล้ว
พันเอกฟีนิกซ์ เฮาเซอร์กล่าวว่า พวกเขาสามารถตรวจสอบคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าได้ “เพื่อทำความเข้าใจว่าอิหร่านรู้หรือไม่ว่ากำลังเกิดอะไรขึ้น พวกเขามีคำเตือนทางยุทธวิธีใด ๆ หรือไม่ว่าการโจมตีอาจจะเกิดขึ้น” การทำงานของทหารหน่วยนี้ช่วยรักษาบรรยากาศของความน่าประหลาดใจ และทำให้ลูกเรือทางอากาศของสหรัฐฯ สามารถปฏิบัติภารกิจสำเร็จโดยไม่ถูกตรวจพบ
กองทัพอวกาศสหรัฐฯ อาจเป็นกองทัพที่มีอายุน้อยที่สุด แต่มีความสำคัญอย่างยิ่งยวดต่อแสนยานุภาพทางการทหารของอเมริกา พลเอกมิลเลอร์กล่าวว่า กองทัพสหรัฐฯ ทั้งหมด “ขึ้นอยู่กับความเหนือกว่าทางอวกาศนี้”
เขาต้องการให้แน่ใจว่า สิ่งนี้จะยังคงเป็นเช่นนั้น และเขามีคำเตือนสำหรับศัตรูทุกคน
“เมื่อกองทัพสหรัฐฯ มุ่งความสนใจไปที่สิ่งใดสิ่งหนึ่งแล้ว ก็ขอให้พระเจ้าช่วยพวกคุณแล้วกัน!”
ที่มา bbc / วันที่เผยแพร่ 17 กรกฎาคม 2568
Link :https://www.bbc.com/thai/articles/cg4rw1qqe69o