
มาตรา 51 แห่งกฎบัตรสหประชาชาติ มอบสิทธิอันชอบธรรมแก่รัฐในการป้องกันตนเองจากการโจมตีด้วยกำลังอาวุธ แต่เมื่อมหาอำนาจตีความอย่างกว้างขวาง สิทธิที่ถูกรังสรรค์มาเพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพ กลับกลายเป็นประเด็นถกเถียงที่ท้าทายหลักการห้ามใช้กำลัง และส่งผลต่อเสถียรภาพของโลกอย่างไม่อาจคาดเดาได้
มาตรา 51 ของกฎบัตรสหประชาชาติ (ยูเอ็น) เป็นกฎหมายสำคัญที่กำหนด “สิทธิดั้งเดิมของรัฐในการป้องกันตนเอง” ในกรณีที่มีการโจมตีทางทหารต่อรัฐหนึ่ง อันเป็นบทบัญญัติที่รับประกันว่า หากสมาชิกสหประชาชาติถูกโจมตีด้วยกำลังอาวุธ จะไม่ถูกห้ามใช้กำลังตอบโต้เพื่อป้องกันตนเองอย่างชอบธรรม
เนื้อหาของมาตรา 51 ระบุว่า “ไม่มีข้อความใดในกฎบัตรฉบับนี้ที่จะเป็นการลดทอนสิทธิอันชอบธรรมโดยกำเนิดของรัฐสมาชิกแห่งสหประชาชาติในการป้องกันตนเอง ทั้งในลักษณะเฉพาะรายหรือโดยรวม หากมีการโจมตีด้วยอาวุธเกิดขึ้นต่อรัฐสมาชิก จนกว่าคณะมนตรีความมั่นคงจะดำเนินมาตรการที่จำเป็น เพื่อธำรงไว้ซึ่งสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ มาตรการใดที่รัฐสมาชิกดำเนินขึ้นโดยอาศัยสิทธินี้ในการป้องกันตนเอง จะต้องรายงานต่อคณะมนตรีความมั่นคงโดยทันที และจะต้องไม่กระทบกระเทือนต่ออำนาจและความรับผิดชอบของคณะมนตรีความมั่นคงตามกฎบัตรฉบับนี้แต่อย่างใด”

นายอันโตนิโอ กูเตร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ (ยูเอ็น ) แถลงหลังการประชุมคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2565 หรือ 1 วัน ก่อนรัสเซียเปิดฉากสงครามในยูเครน
คำอธิบายดังกล่าวหมายความว่า มาตรา 51 ยังคงรับรองสิทธิในการป้องกันตนเองของรัฐ ทั้งในลักษณะเดี่ยวและร่วม ตราบเท่าที่เกิด “การโจมตีด้วยกำลังอาวุธ” ก่อนที่คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (ยูเอ็นเอสซี) จะเข้ามาดำเนินมาตรการใด ๆ เพื่อรักษาสันติภาพ ในทางปฏิบัติ มาตรา 51 จึงเป็นข้อยกเว้นเพียงข้อเดียวสำหรับการใช้กำลังทหาร ที่ไม่ต้องได้รับอนุญาตจากยูเอ็นเอสซี ภายใต้ข้อห้ามตามมาตรา 2(4) ซึ่งกล่าวไว้ว่า “ประเทศสมาชิกต้องงดเว้นจากการคุกคามหรือใช้กำลังกับผู้อื่น”
บทบัญญัติมาตรา 51 มีผลต่อความมั่นคงโลกในเชิงนัยยะหลายประการ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อรัฐมหาอำนาจนำไปตีความอย่างกว้างขวาง อาจส่งผลให้ “หลักห้ามการใช้กำลัง” ตามมาตรา 2(4) ของกฎบัตรยูเอ็นค่อย ๆ ถูกบั่นทอนลง การตีความที่ “ยืดหยุ่น” ของสิทธิในการป้องกันตนเองโดยสหรัฐ ซึ่งเกิดขึ้นต่อเนื่องหลังเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อปี 2544 กลายเป็นการลดข้อจำกัดในการใช้มาตรการทางทหารของผู้นำสหรัฐไปในเวลาเดียวกัน และก่อให้เกิดผลกระทบเกินขอบเขตจากที่สภาคองเกรสให้ไว้

ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้นำสหรัฐ นั่งอยู่ที่โต๊ะภายในห้องทำงานรูปไข่ของทำเนียบขาว เมื่อวันที่ 13 ก.ย. 2550 หลังเสร็จสิ้นการแถลงเกี่ยวกับสงครามในอิรัก ที่ตอนนั้นบุชกล่าวถึงการถอนทหารสหรัฐราว 21,000 นาย ออกจากอิรัก ภายในปี 2551
เหตุการณ์หลังวันที่ 11 ก.ย. 2544 เป็นหนึ่งในตัวอย่างเด่นชัดของการที่รัฐหนึ่งอ้างมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น โดยในวันที่ 12 ก.ย. 2544 ยูเอ็นเอสซีมีมติว่า การโจมตีดังกล่าวเป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงของโลก พร้อมทั้ง “รับทราบสิทธิดั้งเดิมของรัฐในการป้องกันตนเองตามกฎบัตร”
ยูเอ็นเอสซีมีมติหมายเลข 1368 เปิดทางให้สหรัฐและพันธมิตรดำเนินปฏิบัติการ “เสรีภาพยั่งยืน” (Operation Enduring Freedom) เพื่อทำสงครามต่อต้านการก่อการร้าย โดยมุ่งปราบปรามเครือข่ายกลุ่มอัล-กออิดะห์และกลุ่มตาลีบัน ซึ่งรวมถึงการที่สหรัฐส่งทหารเข้าไปในอัฟกานิสถาน
แม้ในระยะแรก ปฏิบัติการทางทหารของสหรัฐได้รับการสนับสนุนจากประชาคมระหว่างประเทศ เนื่องจากทุกฝ่ายมองว่าเป็นการดำเนินการตามมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น อย่างไรก็ตาม การที่ปฏิบัติการทางทหารยืดเยื้อนานถึง 20 ปี ก่อให้เกิดคำถามเกี่ยวกับ “สิทธิป้องกันตนเอง” ตามมาตรา 51
ตามด้วยสงครามในอิรักเมื่อปี 2546 ซึ่งเป็นอีกหนึ่งกรณีที่สหรัฐอ้างมาตรา 51 “เพื่อกำจัดภัยคุกคามด้านความมั่นคงจากอิรัก” โดยสภาคองเกรสได้ออกรายงานสนับสนุนคำกล่าวของประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู. บุช ผู้นำสหรัฐในขณะนั้นว่า ปฏิบัติการทางทหารในอิรักมีวัตถุประสงค์เพื่อ “ป้องกันตนเองล่วงหน้าจากภัยคุกคามที่กำลังจะเกิดขึ้น” โดยไม่สนต่อการทัดทาน การโต้แย้ง และคำถามจากหลายฝ่ายว่าอิรักไม่ได้โจมตีสหรัฐก่อนทั้งทางตรงและทางอ้อม
ในทางกลับกัน สงครามที่สหรัฐเป็นฝ่ายเปิดฉากกับอิรักครั้งนั้น ถือเป็น “การรุกราน” และเป็นอีกหนึ่งกรณีศึกษาเกี่ยวกับ “ความชอบธรรม” ของการอ้างมาตรา 51 เอง
สงครามระหว่างรัสเซียกับยูเครน ซึ่งยืดเยื้อตั้งแต่เดือนก.พ. 2565 เป็นอีกตัวอย่างชัดเจนของการอ้างมาตรา 51 “เพื่อเป็นเหตุผล” ในการทำสงคราม โดยรัสเซียรายงานต่อนายอันโตนิโอ กูเตอร์เรส เลขาธิการสหประชาชาติ ว่าปฏิบัติการทางทหารของรัสเซียเป็นไปตามมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น ในการใช้สิทธิป้องกันตนเองจากภัยคุกคามต่อการดำรงอยู่ในรูปแบบต่าง ๆ เช่น การขยายอิทธิพลขององค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (นาโต) และการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์พลเมืองเชื้อสายรัสเซียในภูมิภาคดอนบาส ทางตะวันออกของยูเครน
เหตุผลของรัสเซียยังคงเป็นที่ถกเถียงในเวทีระหว่างประเทศ และการสู้รบครั้งนี้นำไปสู่การขับเคลื่อนนโยบายทั้งทางการเมืองและการทูตของสองขั้วอำนาจ เพื่อทั้งต่อสู้และถ่วงดุลกัน ขณะที่ยูเครนอ้างความชอบธรรมในการอาศัยอำนาจตามมาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น เพื่อปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนจากการรุกรานของรัสเซีย ส่วนบรรดาพันธมิตรชาติตะวันตกของยูเครนอ้างสิทธิตามมาตรา 51 ในการส่งมอบความสนับสนุนด้านอาวุธให้แก่รัฐบาลเคียฟ

คณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ประชุมฉุกเฉินเกี่ยวกับการโจมตีของอิสราเอลต่ออิหร่าน เมื่อวันที่ 13 มิ.ย. 2568 โดยผู้แทนการทูตระดับสูงของอิรักและอิหร่านเข้าร่วมการหารือด้วย
ขณะที่ความตึงเครียดและความขัดแย้งระหว่างอิสราเอลกับอิหร่านในช่วงหลัง พบว่า ทั้งสองฝ่ายต่างพยายามอ้างมาตรา 51 เพื่อตอบโต้กัน อย่างไรก็ดี มาตรา 51 มีข้อจำกัดสำคัญประการหนึ่งว่า “การตอบโต้อย่างท่วมท้น” หรือ “การล้างแค้น” จะไม่เข้าข่ายการใช้สิทธิป้องกันตนเองตามมาตรา 51 เพราะต้องคงไว้ซึ่งหลักการของการใช้มาตรการทางทหาร “บนพื้นฐานของความจำเป็นและความเหมาะสม”
มาตรา 51 ของกฎบัตรยูเอ็น ไม่ได้บัญญัติขึ้นเพื่อ “รับรองความชอบธรรมของทุกสงครามและการสู้รบ” ความชอบธรรมของการใช้มาตรา 51 ขึ้นอยู่กับบริบทของแต่ละสถานการณ์และกฎหมายระหว่างประเทศ
แม้มาตรา 51 จะมอบเสรีภาพให้แก่รัฐสมาชิกทุกแห่งบนโลกในการปกป้องอธิปไตยและบูรณภาพแห่งดินแดนจากการรุกราน แต่อย่างไรก็ตาม ยังมีการกำหนด “ขอบเขตการใช้กำลังที่ชอบธรรม” ไว้อย่างเข้มงวด
ในโลกที่ขั้วอำนาจมีผลประโยชน์ทับซ้อนกันอย่างสูง การตีความตามมาตรา 51 จึงกลายเป็นประเด็นถกเถียงในทางกฎหมายระหว่างประเทศมาโดยตลอด โดยมีสันติภาพและความมั่นคงของโลกเป็นเดิมพัน การรักษาสมดุลระหว่างรัฐคู่กรณี และการคุ้มครองระบบกฎหมายระหว่างประเทศจึงเป็นบททดสอบสำคัญของประชาคมโลก ว่าจะสามารถอยู่ร่วมกันอย่างสงบได้อย่างยั่งยืนเพียงใด.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : GETTY IMAGES
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 6 กรกฎาคม 2568
Link :https://www.dailynews.co.th/articles/4887529/