คนไทยคุ้นเคยกับ เขาไกรลาส ในฐานะเป็นภูเขาในวรรณคดี เป็นที่ประทับของพระอิศวร ที่มาของรามเกียรติ์ก็มาจาก “ยักษ์นนทก” ล้างเท้าเทวดาที่เชิงเขาไกรลาสจนได้พรให้มีนิ้วเพชร เขาไกรลาสเป็นศูนย์กลางจักรวาลไตรภูมิ คนอินเดีย เนปาล คนไทยรวมทั้งเพื่อนบ้านในละแวกนี้ที่ได้อิทธิพลจากพุทธ-พราหมณ์ ล้วนรู้จักเขาไกรลาสตามคติความเชื่อเป็นอย่างดี
ยอดเขาไกรลาสมีตัวตนอยู่จริงในภูมิศาสตร์โลก ตั้งอยู่ในเทือกเขาไกรลาส (ภูเขากังดิสเซ) ของทรานหิมาลัยทางฝั่งตะวันตกของที่ราบสูงทิเบต พิกัดจริงอยู่ในเขตชายขอบทิเบตของจีนตรงมุมตะวันตก บริเวณดังกล่าวเป็นรอยต่อเขตแดนสามเหลี่ยมทิเบต-เนปาล-อินเดีย ซึ่งมีความขัดแย้งทางประวัติศาสตร์และการเมืองที่ซับซ้อน อังกฤษ-อินเดียเคยเคลมโดย McMahon Line ต่อมาจีนผนวกทิเบตเมื่อ 1950 กว่าจะลงตัวจริงก็เมื่อสงคราม จีน-ทิเบต 1962
นั่นคือ การขีดเส้นเขตดินแดนตามรัฐชาติยุคใหม่หลังสงครามโลก
เขาไกรลาส ความศักดิ์สิทธิ์เหนือกาลเวลา
แต่ในทางปฏิบัติยอดเขาไกรลาสยังมีความเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์เหนืออาณาเขตพรมแดนรัฐชาติ ชาวฮินดูยังถือว่านี่เป็นที่ประทับของพระศิวะ คนทิเบตและชนเผ่าพื้นเมืองฝ่ายพุทธวัชรยานยังเรียกว่า กังรินโปเช หมายถึง ภูเขาแก้วอันล้ำค่า เป็นที่สถิตของพระพุทธเจ้าจักรปาละ (Chakrasamvara) หรือ พระเชนเรซิก (Chenrezig) (พระอวโลกิเตศวร)
ส่วนศาสนาบอนอันเป็นลัทธิเดิมในทิเบตถือเป็นยอดเขาสถิตเทพ Tonpa Shenrab เรียกว่า ཡུང་དྲུང་སྙིང་པོ Yungdrung Gutsek ขณะที่ศาสนาเชน ก็เชื่อว่า พระฤษภเทพ ซึ่งเป็นตีรถังกรองค์แรก ได้บรรลุโมกษะ (การหลุดพ้นจากสังสารวัฏ) ที่ ยอดเขาไกรลาส
เอาเป็นว่าจะโดยศาสนาใดก็ตาม ยอดเขาแห่งนี้ได้รับการยกย่องเคารพบูชาให้เป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดมายาวนานเป็นพันปี จากผู้คนหลายชาติทั้งเนปาล อินเดีย เอเชียอาคเนย์ ในทิเบต หรือกระทั่งชนเผ่าน่าคีในลี่เจียงสุดขอบชายหลังคาโลกก็ยังนับถือว่ายอดไกรลาสเป็นยอดหิมะที่ศักดิ์สิทธิ์ที่สุดเหนือยอดเขาศักดิ์สิทธิ์ใดๆ ในเขตยูนนาน
ด้วยเหตุนี้ ยอดเขาไกรลาสจึงเป็นยอดเขาไม่กี่ลูกในโลก ที่ไม่มีใครปีนขึ้นไปพิชิต ทั้งๆ ที่มีความสูง แค่ 6,638 ม. (เอเวอร์เรส 8,849 ม.) เพราะความเป็นภูเขาศักดิ์สิทธิ์ครอบคลุมหลายศาสนาความเชื่อ ในสมัยโบราณผู้คนถือว่าเป็นที่ประทับของเทพเจ้า เป็นเขตศักดิ์สิทธิ์จึงไม่ขึ้นไปรบกวน
ขณะที่ยุคใหม่หลังจากที่จีนผนวกทิเบต ได้มีคำสั่งห้ามปีนเขาลูกนี้ อำนาจรัฐตามกฎหมายยุคใหม่บวกกับความเชื่อทางศาสนา ช่วยคุ้มครองให้ยอดเขาไกรลาสยังเป็นดินแดนแห่งเทวะอยู่เช่นเดิม จะมีได้ก็เพียงการเปิดให้ประชาชนเข้าไปทำพิธีกรรมบวงสรวง สักการะ แสวงบุญด้วยการเดินจงกรมรอบภูเขา เรียกว่า Kailash Manasrovar Yatra
การแสวงบุญและความผันผวนทางการเมือง
ไกรลาสมานัสโรวาร์ยาตรา (Kailash Manasrovar Yatra) คือ พิธีกรรมจาริกแสวงบุญ อันศักดิ์สิทธิ์และยากลำบาก รอบๆ เขาไกรลาส และ ทะเลสาบมานัสโรวาร์ ผู้แสวงบุญเดินเท้ารอบภูเขาระยะทาง 52 กิโลเมตร ในเวลา 3 วัน ในทิศทางตามเข็มนาฬิกา (ยกเว้นศาสนาบอน เดินทวนเข็มตามรูปสวัสดิกะ)
จากนั้นลงไปอาบน้ำในทะเลสาบศักดิ์สิทธิ์ ลำพังระยะทางเดินเท้าก็ยาวไกลอยู่แล้วผนวกกับที่สูง ระหว่าง 4600-5600 เมตรเหนือระดับน้ำทะเลที่อากาศเบาบางมาก เสี่ยงต่อการป่วยเป็นโรคแพ้ความสูง และการเหน็ดเหนื่อยกว่าปกติ พิสูจน์ความมุ่งมั่นและศรัทธาของผู้แสวงบุญ
พิธีกรรมนี้มักจัดขึ้นหลังจากฤดูหนาวผ่านพ้น ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงราวสิงหาคม ในอดีตมีประชาชนในอินเดียเนปาลมากมายที่สมัครเข้าร่วมพิธี ซึ่งจัดการโดยกระทรวงการต่างประเทศอินเดีย ประสานติดต่อกับรัฐบาลจีนโดยตรง การเดินทางมีทั้งผ่านจากอินเดียและเนปาลเข้าไป ส่วนทางจีนต้องเข้าทางลาซาเมืองหลวงทิเบต นั่งรถต่ออีก 2-3 วัน ทั้งหมดต้องผ่านบริษัททัวร์ที่ทางการจีนจัดให้
ความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่ระหว่าง อินเดีย กับ จีน ปี 2020 ส่งผลให้ทหารอินเดียเสียชีวิตอย่างน้อย 20 นายและทหารจีน 4 นาย และความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศก็เสื่อมถอยลง ต่อมา อินเดียได้บังคับใช้ข้อจำกัดการเซ็นเซอร์ต่อบริษัทจีนที่ลงทุนในประเทศ ห้ามการดำเนินการของแอปที่เป็นของจีนหลายร้อยรายการ และตัดเส้นทางผู้โดยสาร
แม้ว่าเที่ยวบินขนส่งสินค้าตรงระหว่างสองฝ่ายจะยังคงดำเนินต่อไป บวกกับ โรคระบาดโควิด-19 ทำให้เส้นทางแสวงบุญเขาไกรลาสถูกปิดเป็นเวลาหลายปี บางช่วงเวลาการเมืองก็มีอำนาจเหนือความเชื่อศรัทธา ในสองสามปีหลังแม้บริษัทในทิเบตจะมีการเปิดทัวร์เขาไกรลาสยาตรา แต่ก็จำกัดจำนวนและค่อนข้างยุ่งยาก
จีน-อินเดีย ผ่อนคลายทางทหาร เขาไกรลาสกลับมาเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมกันอีกครั้ง
จนล่าสุดเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างทั้งสองประเทศได้รับการปรับปรุงดีขึ้นนับตั้งแต่มีการบรรลุข้อตกลงเมื่อเดือนตุลาคมปีที่แล้วในการคลายความตึงเครียดทางทหารตามแนวชายแดน ในเดือนเดียวกันนั้นประธานาธิบดีจีน สีจิ้นผิง ได้พบกับนายกรัฐมนตรีอินเดีย โมดี ในระหว่างการประชุมผู้นำกลุ่ม BRICS ที่เมืองคาซาน ประเทศรัสเซีย
การเมืองที่ผ่อนคลายลง ทำให้เขาไกรลาสกลับมาเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ร่วมเหนือพรมแดนอีกคำรบ ปีนี้ รัฐบาลอินเดียโดยกระทรวงการต่างประเทศกำลังเปิดรับคำขอเดินทางแสวงบุญไกรลาส Kailash Manasrovar Yatra พร้อมๆ กับข่าวปักกิ่งแสดงความเต็มใจที่จะซื้อสินค้าจากอินเดียเพิ่มขึ้นเพื่อสร้างความสมดุลทางการค้า
ความยากง่ายในเข้าเฝ้าพระอิศวรที่เขาไกรลาสยุคนี้ ยังต้องอาศัยความสัมพันธ์กับทิศทางนโยบายและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศไปด้วย
……………………………………
เขียนโดย บัณรส บัวคลี่ คอลัมน์จุดประกายความคิด กรุงเทพธุรกิจ
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 4 มิถุนายน 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/blogs/lifestyle/judprakai/1183036