กลับมาพูดกันอีกรอบ “กระเช้าไฟฟ้า” ขึ้นภูกระดึง เมื่อคุณอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช ออกมาเปิดประเด็นว่าผู้บริหารขององค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. ได้มาหารือเรื่องการวางโรดแม็ปโครงการก่อสร้างกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง จังหวัดเลย ขั้นตอนการขออนุญาตการบริหารจัดการ รวมทั้งตั้งคณะทำงานร่วมกัน
ก่อนหน้านั้น อพท.เพิ่งได้รับงบประมาณ 25.7 ล้านบาทจากสำนักงบประมาณนำไปใช้ออกแบบก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง เป็นเพียงขั้นตอนการศึกษา ยังไม่ได้อนุมัติก่อสร้าง และการออกแบบ
ในที่ประชุมนำเสนอเทคโนโลยีก่อสร้างกระเช้าหลายรูปแบบ ส่วนใหญ่มาจากยุโรป ทั้งสวิตเซอร์แลนด์ เนเธอร์แลนด์ นอร์เวย์ สวีเดน และเยอรมนี ส่วนจุดก่อสร้างนั้นมีแผนวางไว้แล้วด้านผาหมากดูด ไม่ใช่ฝั่งทางขึ้นภูกระดึงในปัจจุบัน
โรดแม็ปก่อสร้างมี 2 เฟส
เฟสแรก ก่อสร้างกระเช้าใช้งบประมาณไม่เกิน 1,000 ล้านบาท
เฟส 2 เป็นเรื่องการบริหารจัดการพื้นที่บนภูกระดึง และด้านล่างมีจุดบริการนักท่องเที่ยวเพิ่มเติม
“ผาหล่มสัก” จุดชมวิวพระอาทิตย์ตกที่นักท่องเที่ยวชื่นชอบนั้นอยู่ห่างจากผาหมากดูดราว 10 กิโลเมตร หากมีกระเช้าขึ้นไปถึงผาหมากดูด นักท่องเที่ยวนั่งกระเช้าส่วนใหญ่เป็นผู้สูงวัยจะเดินไปผาหล่มสักอาจไม่สะดวกเพราะไกล
คุณอรรถพลบอกว่า มีแนวคิดเพิ่มโดยจัดบริการรถยนต์ไฟฟ้า คล้ายๆ รถกอล์ฟบนภูกระดึง และจะต้องปรับเส้นทางด้วยคอนกรีตหรือดินให้รถวิ่งได้ แต่ไม่ใช่ถนนถาวร ต้องกลมกลืนกับธรรมชาติ
ในโซนเสี่ยงอันตรายจากช้างป่านั้น อาจต้องปิดถาวรเนื่องจากในอนาคตมีประชากรช้างเพิ่มขึ้น การท่องเที่ยวจะต้องเปลี่ยนใหม่ให้นักท่องเที่ยวนั่งรถซาฟารีในโซนที่ช้างออกมาเดิน
กรมอุทยานฯ ต่อใบอนุญาตให้ อพท.ศึกษาโครงการกระเช้าภูกระดึงอีกไม่เกิน 2 ปี และต้องประเมินผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ คาดว่า อพท.เป็นผู้ก่อสร้างและมอบพื้นที่ให้กรมอุทยานฯ บริหาร ส่วนนักท่องเที่ยวยังจำกัดขึ้นภูกระดึงวันละ 2,000 คน และระยะทางกระเช้าไม่น่าเกิน 3 กิโลเมตร
ทั้งหมดนี้จะเห็นความพยายามของ อพท.และกรมอุทยานฯ รอบใหม่ในการผลักดันโครงการก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึง
ถ้าย้อนกลับไปดูข่าวเก่าๆ เมื่อปี 2566 คุณอรรถพลพูดในทำนองคล้ายกันหลังจากอนุมัติให้ทีมงานของ อพท.เข้าไปสำรวจเก็บข้อมูลทรัพยากรป่าไม้ สัตว์ป่าและความเป็นไปได้ในโครงการตั้งแต่วันที่ 30 พฤศจิกายน 2566-กันยายน 2568 แต่ไม่ได้เข้าไปสำรวจเพราะงบฯ 28 ล้านบาทที่ขอจากรัฐบาลคุณเศรษฐา ทวีสิน ยังไม่ได้รับการอนุมัติ
ประเด็นที่คืบหน้าก็คือ สำนักงบฯ เพิ่งอนุมัติงบประมาณให้ไปศึกษา 25.7 ล้านบาท และกรมอุทยานฯ ต่อใบอนุญาต ทำให้บรรดาสื่อต่างๆ มองว่า กระเช้าขึ้นภูกระดึงเกิดแน่เพราะได้งบฯ มาแล้ว
เท่าที่ประเมินดู เสียงคัดค้านการสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงค่อนข้างลดลงไปมาก โดยเฉพาะผู้คนในพื้นที่อำเภอภูกระดึง ต่างเห็นด้วยกับโครงการ เพราะเชื่อว่าจะมีนักท่องเที่ยวเยอะขึ้น เศรษฐกิจในพื้นที่ขยายตัวมากขึ้น
มีบางคนถึงกับประเมินว่า ถ้ามีกระเช้าขึ้นไปภูกระดึงจะมีเงินสะพัดไม่น้อยกว่า 7 หมื่นล้านบาท
เวลาเปลี่ยน สถานการณ์เปลี่ยน ในเมื่อรัฐบาลชุดนี้ตัดสินใจเทงบฯ ให้แล้ว ทางผู้บริหาร อพท.และกรมอุทยานฯ ต้องศึกษาเรื่องอย่างละเอียดรอบคอบ ทั้งเรื่องของผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ผลกระทบทางสังคม
ต้องไม่ลืมว่า จุดก่อสร้างกระเช้าขึ้นภูกระดึงนั้น อยู่ในพื้นที่ลุ่มน้ำชั้น 1 เป็นพื้นที่ที่มีความอ่อนไหวทางสิ่งแวดล้อมสูงมาก หากไม่ศึกษาให้รอบคอบและการบริหารจัดการไม่มีประสิทธิภาพ แน่นอนว่าในอนาคตจะเกิดความเสียหายรุนแรง
ประเด็นเรื่องของเทคโนโลยี กระเช้าไฟฟ้าปัจจุบันนี้ไม่น่าเป็นห่วงเพราะก้าวหน้าไปไกล บางประเทศอย่างเช่นเยอรมนีกำลังวิจัยพัฒนากระเช้าไฟฟ้าสำหรับการเดินทางในเมือง เพราะคาดการณ์ว่าในอนาคตการจราจรในเมืองใหญ่ๆ จะแออัดคับคั่งมาก ไม่เว้นแม้กระทั่งระบบรถไฟฟ้าใต้ดิน
ผลการศึกษาของรัฐบาลเยอรมนีพบว่า เมื่อปี 2566 ผู้ใช้รถยนต์ทั่วประเทศเยอรมนีประสบปัญหาการจราจรติดขัดเฉลี่ย 40 ชั่วโมง ถ้าแปลงเป็นมูลค่าความสูญเสียราว 3,200 ล้านยูโร หรือประมาณ 120,000 ล้านบาท
ในภาพรวมทั่วยุโรป ในช่วงการจราจรแออัดคับคั่ง รถยนต์ส่วนบุคคลปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์มากถึง 60 เปอร์เซ็นต์
รัฐบาลเยอรมนีให้ทุนนักวิจัยของมหาวิทยาลัย RWTH Aachen เพื่อพัฒนาระบบการขนส่งยุคใหม่ เป็นระบบเดินทางร่วมระหว่างกระเช้าไฟฟ้ากับรถยนต์พลังงานไฟฟ้าอัตโนมัติ โดยใช้กระเช้าไฟฟ้าขนส่งผู้โดยสารภายในเมือง เมื่อกระเช้าวิ่งมาถึงสถานีจะมีรถยนต์ขับเคลื่อนอัตโนมัติประกบกับกระเช้าวิ่งออกจากสถานีส่งผู้โดยสารไปยังจุดหมายปลายทาง
กระบวนการทั้งหมดใช้ระบบอัจฉริยะควบคุมผ่านดาวเทียม ต้นแบบระบบขนส่งยุคใหม่ที่เรียกว่า upBUS สร้างเสร็จเรียบร้อยแล้วเมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา และอยู่ระหว่างทดลองวิ่ง
ที่กรุงลาปาซ เมืองหลวงของโบลิเวีย เพิ่งติดตั้งกระเช้าไฟฟ้าความสูงกว่า 3.6 กิโลเมตรจากระดับน้ำทะเลเพื่อใช้เป็นระบบขนส่งสาธารณะ มีทั้งหมด 10 สาย 26 สถานี ขนส่งชาวเมืองได้วันละ 200,000 คน
กระเช้าของกรุงลาปาซช่วยลดปัญหาการจราจรได้มาก เพราะถ้าขับรถยนต์จากตีนเขาวิ่งไปถึงกรุงลาปาซต้องใช้เวลากว่าชั่วโมงครึ่ง แต่ถ้านั่งกระเช้าใช้เวลาแค่ 11 นาที แถมยังช่วยลดช่องว่างคนจนคนรวย
กระเช้าไฟฟ้ากลายเป็นทางเลือกใหม่ในระบบขนส่งสาธารณะและการท่องเที่ยว ฉะนั้น ในเรื่องของเทคโนโลยีกระเช้าไฟฟ้าและระบบความปลอดภัยจึงไม่น่าเป็นปัญหาใหญ่ แต่ข้อน่ากังวลของนักสิ่งแวดล้อมคือจุดก่อสร้างที่จะมีผลกระทบทางสิ่งแวดล้อม ซึ่งต้องคิดอย่างรอบคอบว่าจะก่อสร้างและวางระบบอย่างไรเพื่อให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุดอย่างที่อธิบดีกรมอุทยานฯ ตั้งเป้าไว้
ที่น่ากังวลตามมาเป็นเรื่องของการรักษาความสะอาดตลอดเส้นทางกระเช้าและบริเวณที่พักโดยเฉพาะการทิ้งขยะ ในปัจจุบันการทิ้งขยะไม่เป็นที่เป็นทางยังเป็นปัญหาใหญ่ในทุกชุมชน
ถ้ากระเช้าที่ติดตั้งเป็นระบบเปิดเพื่อให้ผู้โดยสารชมวิวรอบข้าง กระเช้าแบบนี้น่าจะเป็นปัญหาเนื่องจากนักท่องเที่ยวมักจะขนอาหาร เครื่องดื่มขึ้นไปกินด้วย โอกาสที่กินเสร็จแล้วทิ้งขว้างขวดขยะพลาสติกหรือเศษอาหารลงกลางป่าภูกระดึงมีความเป็นไปได้สูง
เช่นเดียวกัน หากนักท่องเที่ยวใช้บริการกระเช้ากันมาก จำนวนนักท่องเที่ยวที่ขึ้นไปบนภูกระดึงจะมีมาก ปริมาณขยะก็มากตามไปด้วย ฉะนั้น การจัดระบบขนขยะลงมากำจัดบนพื้นราบเป็นเรื่องจำเป็นเช่นกัน กระเช้าไฟฟ้าน่าจะมีบทบาทสำคัญในการขนส่งลำเลียงขยะ
ส่วนปริมาณน้ำเสียที่มาจากแหล่งที่พัก ร้านอาหาร ก็เพิ่มขึ้นอย่างแน่นอน การวางระบบบำบัดของเสียเป็นเรื่องที่มองข้ามไม่ได้เด็ดขาด
ประเด็นที่สำคัญ เมื่อนักท่องเที่ยวขึ้นไปอยู่บนภูกระดึงเป็นจำนวนมากในแต่ละวัน ทำอย่างไรจึงป้องกันไม่ให้นักท่องเที่ยวไปรบกวนสัตว์ป่าและหักโค่นทำลายสิ่งแวดล้อมที่สวยงาม
ศูนย์บริการข้อมูลก่อนขึ้นไปบนภูกระดึงต้องมีเจ้าหน้าที่ประจำทุกวันเพื่อให้คำแนะนำนักท่องเที่ยวทั้งในเรื่องการรักษาสภาพแวดล้อม การรักษาความสะอาดและความปลอดภัยทั้งระหว่างขึ้นลงกระเช้าหรือเดินเท้า เป็นอีกเรื่องที่จะต้องทำ
กล่าวโดยสรุป โครงการกระเช้าไฟฟ้าขึ้นภูกระดึง น่าจะเดินเลยผ่านจุดคัดค้านต่อต้านแล้ว วันนี้ต้องดูกันต่อว่าการมีกระเช้าขึ้นภูกระดึงจะได้ผลคุ้มค่าทั้งด้านการท่องเที่ยว เศรษฐกิจแค่ไหน และแผนไม่ให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมทำได้จริงอย่างที่พูดไว้หรือไม่?
แต่ถ้าโครงการประสบความล้มเหลว การท่องเที่ยวไม่กระเตื้อง เศรษฐกิจในชุมชนไม่ดีขึ้น สิ่งแวดล้อมเสียหาย จะถามความรับผิดชอบกับใครดี?
ที่มา : สำนักข่าวมติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 18 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.matichonweekly.com/column/article_841485