ในช่วงปลายปี 2022 มีเรื่องให้ทั้งโลกต้องตื่นตาตื่นใจกัน เมื่อ ChatGPT เปิดตัวออกมาให้คนได้ใช้งาน และกลายเป็นกระแสหลัก จนนักวิเคราะห์หลายรายมองว่า เทคโนโลยี AI อาจจะนำโลกเข้าสู่ “ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมครั้งที่ 4” ซึ่งอาจเปลี่ยนโฉมเศรษฐกิจครั้งใหญ่เลยทีเดียว
และหลังจาก ChatGPT ไม่นาน ก็มีเครื่องมือ Generative AI สำหรับถาม-ตอบ ค้นหา รีเสิร์ช ตลอดจนใช้เป็นเพื่อนคุย (ของใครบางคน) ออกมาหลายตัวให้ผู้ใช้ได้เลือกสรรกันตามแต่ต้องการ จนเรียกได้ว่า นี่คือยุคของ AI ที่ใคร ๆ ก็ต้องรู้จักกับคำ ๆ นี้
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าในอนาคตเราจะยังไม่มีข้อสรุปแน่ชัดว่า AI จะเปลี่ยนระบบเศรษฐกิจอย่างถาวรหรือไม่ แต่สิ่งที่ชัดเจนคือ ปัจจุบันผู้คนทั่วโลกคุ้นเคยและเริ่มใช้งาน AI อย่างจริงจังมากขึ้นในชีวิตประจำวัน แล้วคนส่วนใหญ่ใช้ AI ทำอะไรกันบ้าง?
คำตอบอยู่ในรายงานการวิเคราะห์โดย Marc Zao-Sanders ที่เผยแพร่บน Harvard Business Review ที่ได้ทำการศึกษาข้อมูลจากโพสต์นับพันรายการในฟอรั่มต่าง ๆ ตลอดหนึ่งปีที่ผ่านมา พร้อมกับเปรียบเทียบบทวิเคราะห์พฤติกรรมการใช้งานของปี 2024 และปี 2025 ไว้ด้วยกัน
ซึ่งผลลัพธ์ถูกจัดอันดับออกมาทั้งหมด 30 รายการ โดยทาง Thairath Money ได้รวบรวม 15 อันดับแรกซึ่งมีความน่าสนใจอย่างมาก โดยแนวโน้มเด่นที่สุดคือการใช้ AI เพื่อ “ซัพพอร์ต” ทั้งในด้านชีวิตส่วนตัวและการทำงาน โดย 3 อันดับแรกของการใช้งาน AI ในปี 2025 ได้แก่
⋅การให้คำปรึกษาด้านจิตใจ
⋅การช่วยจัดระเบียบชีวิต
⋅การค้นหาความหมายของชีวิต
⋅สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า AI ไม่ได้แค่ช่วยหาคำตอบทางเทคนิค แต่เริ่มเข้ามาช่วย “ดูแลใจ” และ “จัดการชีวิต” ของมนุษย์มากขึ้น
มีจุดสังเกตที่น่าสนใจ คือ ในปี 2024 การใช้งาน AI ยังเน้นไปที่การคิดไอเดียใหม่ ๆ และค้นหาข้อมูลเฉพาะทาง แต่พอเข้าสู่ปี 2025 ความสนใจเหล่านั้นกลับถอยลง ขณะที่บทบาทด้านจิตวิทยาและการใช้ชีวิตกลับเพิ่มสูงขึ้น
ตัวอย่างชัดเจนคือ “AI สำหรับค้นหาข้อมูลเฉพาะทาง” ซึ่งร่วงลงไปถึง 10 อันดับจากปีก่อน สะท้อนว่าผู้ใช้อาจเริ่มหันมาใช้ AI เพื่อความเข้าใจเชิงลึก (Research) หรือให้ AI อธิบายคอนเซปต์แทนการค้นข้อมูลดิบ ๆ ด้วยตนเอง (อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกปัจจัยหนึ่ง คือ การที่ Google Search รวม Gemini เข้าไปในระบบการค้นหา ซึ่งทำให้ผู้ใช้ค้นหาน้อยลง)
ใช้ AI กับเรื่องจิตใจ ดีจริงไหม?
ในยุคที่การสนับสนุนด้านสุขภาพจิตทั่วโลกยังขาดแคลน และโรคเหงา (Loneliness Epidemic) กลายเป็นปัญหาระดับโลก ก็นับว่าไม่แปลกที่หลายคนเริ่มพึ่งพา AI เพื่อเยียวยาใจในปัจจุบัน
ผู้เชี่ยวชาญมองว่า AI มีประโยชน์อย่างมากในการสอนทักษะสติ (Mindfulness) และการบำบัดแบบ CBT (Cognitive Behavioral Therapy) ผ่านการโต้ตอบเชิงลึกที่ปรับตามผู้ใช้ได้ แต่ในอีกมุมหนึ่ง ปัญหาเกิดขึ้นเมื่อผู้ใช้เริ่ม “แทนที่” มนุษย์ด้วย AI ทำให้ขาดปฏิสัมพันธ์จริง และอาจยิ่งซ้ำเติมภาวะโดดเดี่ยวให้หนักขึ้นด้วยเช่นกัน
ที่มา: Harvard Business Review
ที่มา : สำนักข่าวแนวหน้าออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 5 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2856305