สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสซึ่งสิ้นพระชนม์อย่างสงบ เมื่อวันที่ 21 เม.ย. ที่ผ่านมา สิริรวมพระชนมายุ 88 พรรษา ทรงเป็นผู้ที่เปลี่ยนแปลง “คตินิยมดั้งเดิม” ของชาวโลกที่มีต่อศาสนจักรได้อย่างสิ้นเชิง พระองค์ทรงเป็นประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกพระองค์แรก ซึ่งทรงมาจากทวีปอเมริกาใต้ คือ อาร์เจนตินา และทรงเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกตั้งแต่ศตวรรษที่ 8 ซึ่งไม่ใช่ชาวยุโรป
หลายฝ่ายตั้งความหวังว่า สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ซึ่งจะเป็นพระองค์ที่ 267 แห่งวาติกัน จะเป็นชาวเอเชียหรือแอฟริกา จาการที่ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงมีความใส่พระทัยอย่างมาก กับภูมิภาคซึ่งอยู่ห่างไกลจากยุโรป ที่เป็นศูนย์กลางของศาสนจักร สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศห่างไกลจากวาติกัน ไม่ว่าจะเป็น ปาปัวนิวกินี ติมอร์เลสเต และมองโกเลีย
ทั้งนี้ มีการวิเคราะห์ว่า หากสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ไม่ใช่ชาวยุโรป “น่าจะเป็นเรื่องที่สมเหตุสมผล” เนื่องจากความเฟื่องฟูของคริสต์ศาสนาในเอเชียและแอฟริกา ผิดกับชาวยุโรปที่มีแนวโน้มของการเข้าโบสถ์ลดลง
อย่างไรก็ตาม อย่าลืมว่า วาติกันไม่ใช่รัฐซึ่งเป็นเพียงศาสนจักร แต่ยังบริหารทางโลกด้วย ท่ามกลางความตึงเครียดและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วของภูมิรัฐศาสตร์ สมเด็จพระสันตะปาปาต้องทรงมองโลกอย่างครอบคลุม และต้องทรงมีทักษะพื้นฐานทางการทูต มากกว่าการไปเน้นให้ความสำคัญกับสถานที่ประสูติ หรือเชื้อชาติของพระองค์
สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์แรกของศาสนจักร คือสมเด็จพระสันตะปาปาเปโตร หรือ ปีเตอร์ ประสูติที่อาณาจักรยูเดีย ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของอิสราเอลในปัจจุบัน ส่วนสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ต่อมา ส่วนใหญ่เป็นชาวอิตาลี
สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเคยมีพระดำรัส หลังทรงรับตำแหน่งประมุขแห่งคริสตจักรนิกายโรมันคาทอลิกพระองค์ที่ 266 เมื่อวันที่ 13 มี.ค. 2556 ว่าพระคาร์ดินัลหลายองค์ “ต้องเดินทางไกลสุดขอบโลก” เพื่อค้นหาพระองค์ แม้สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงให้ความสำคัญกับประชาชนในพื้นที่ห่างไกล ตลอดรัชสมัย 12 ปี ที่พระองค์ทรงปกครองวาติกัน แต่นั่นไม่ได้หมายความว่า สมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ต่อไปต้องมาจากภูมิภาคเหล่านั้น การคาดการณ์สัญชาติหรือเชื้อชาติของสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ต่อไป ไม่ควรเป็นเรื่องที่ทุกฝ่ายต้องให้ความสำคัญเป็นลำดับแรก
ปัจจุบัน วาติกันมีพระคาร์ดินัล 252 องค์ ในจำนวนนี้ 135 องค์ มีอายุน้อยกว่า 80 ปี จะเป็นผู้ลงคะแนน แม้พระคาร์ดินัลอีก 117 องค์ที่เหลือ มีอายุเกินเกณฑ์แล้ว แต่ยังคงสามารถออกความเห็นในเรื่องนี้ได้
การเลือกตั้งสมเด็จพระสันตะปาปา จะเกิดขึ้นภายในโบสถ์น้อยซิสทีน พระคาร์ดินัลแต่ละองค์เลือกพระคาร์ดินัลซึ่งตนเชื่อว่า สมควรเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ต่อไป แล้วเขียนชื่อของพระคาร์ดินัลองค์นั้นลงบนบัตรออกเสียง ระยะเวลาในการเลือกตั้ง ไม่สามารถระบุได้อย่างชัดเจน ว่าจะใช้เวลานานเท่าใด
ทั้งนี้ พระคาร์ดินัลซึ่งจะเป็นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ต้องได้รับเสียงสนับสนุนไม่น้อยกว่า 2 ใน 3 ของพระคาร์ดินัลทั้งหมดในที่ประชุม หากยังไม่ครบ ต้องมีการลงคะแนนรอบต่อไป ซึ่งจะเกิดขึ้นทุกเช้าและเย็นของวัน แต่ละวันจัดการลงคะแนนได้สูงสุด 4 รอบ คือเช้า 2 รอบ และเย็น 2 รอบ
ทุกรอบหลังการลงคะแนนเสร็จสิ้น ต้องมีการเผาทำลายบัตรลงคะแนนด้วยเตาเผาแบบพิเศษ โดยควันที่ลอยผ่านปล่องของโบสถ์น้อยซิสทัน จะเป็นสัญญาณให้ชาวโลกรับทราบ หากควันเป็นสีดำ ซึ่งจะมีการผสมสารเคมีเข้าไป แปลว่า “ยังเลือกไม่ได้” แต่หากควันเป็นสีขาว หมายความว่า “เลือกได้แล้ว”
สำหรับการลงคะแนนเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส คณะคาร์ดินัลจัดการลงคะแนนทั้งสิ้น 5 รอบ ระหว่างวันที่ 12-13 มี.ค. 2556 ส่วนการลงคะแนนเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาครั้งยาวนานที่สุด คือการเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาเกรกอรีที่ 10 ใช้เวลา 34 เดือน ระหว่างปี พ.ศ. 1811-1814 และการลงคะแนนเลือกสมเด็จพระสันตะปาปา ซึ่งใช้เวลาน้อยที่สุด คือการเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาจูลิอุสที่ 2 เมื่อปี พ.ศ. 2046 “ใช้เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมง”
นอกเหนือจากภาวะวิกฤติของโลก ซึ่งวาติกันต้องฝ่าฟันกับกระแสความเปลี่ยนแปลงที่โหมกระหน่ำอยู่ตลอดเวลา แม้เป็นรัฐขนาดเล็กที่สุดในโลก แต่ปัญหาภายในศาสนจักรเป็นเรื่องที่สมเด็จพระสันตะปาปาต้องทรงให้ความสำคัญมากที่สุด
แม้เกิดการปฏิรูปมากมายในรัชสมัยของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส แต่พระองค์ทรงเผชิญกับเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากฝ่ายอนุรักษนิยมในศาสนจักร ว่าพระองค์ทรง “มีความเป็นเสรีนิยมมากเกินไป” เช่น การที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเพิ่มบทบาทให้กับฆราวาสทั้งชายและหญิงในศาสนจักร และการประทานพรให้แก่คู่รักเพศเดียวกัน ดังนั้นสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ จึงน่าจะทรงหาทางสร้างความสมานฉันท์และความสมดุล ระหว่างแนวคิดทั้งสองฝ่าย
ขณะเดียวกัน ยังมีเรื่องของกรณีอื้อฉาว การล่วงละเมิดทางเพศที่ยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องในศาสนจักร ซึ่งฝ่ายที่ผลักดันให้มีการเร่งปราบปรามเรื่องนี้ วิจารณ์สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ว่าพระองค์ “ไม่ได้ทรงพยายามมากพอ”
นอกจากนี้ ความสัมพันธ์ทางการทูตและบทบาทของวาติกันบนเวทีระหว่างประเทศ ที่แม้วาติกันไม่ได้มีบทบาทในการเจรจาใดเป็นพิเศษ แต่ทุกครั้งที่สมเด็จพระสันตะปาปาทรงให้ความเห็น โลกรับฟังทรรศนะของพระองค์เสมอ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องสงครามในฉนวนกาซา และผลกระทบจากการก่อการร้าย ยิ่งไปกว่านั้น ยังมีประเด็นความสัมพันธ์ที่ละเอียดอ่อน ระหว่างวาติกันกับจีน
ในสายตาของผู้คนทั่วโลก สมเด็จพระสันตะปาปาทรงเป็นผู้ที่มีพระจริยวัตรงดงามและอบอุ่น และเป็นที่รักและศรัทธาของประชาชน อย่างไรก็ตาม สำหรับวาติกัน สมเด็จพระสันตะปาปาต้องทรงเป็นผู้นำของศาสนจักรให้ได้อย่างแท้จริง.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
ที่มา :สำนักข่าวเดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 4 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4670637/