
เครือข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกัน ซึ่งเป็นรากฐานสำคัญของระบบในยุโรป และได้รับการออกแบบมาเพื่อเพิ่มความมั่นคงของอุปทาน ทำให้ทางการสามารถควบคุมปัญหาไฟฟ้าดับครั้งใหญ่บนคาบสมุทรไอบีเรียได้
นายอนเยมา เอ็นดูกา อาจารย์อาวุโสด้านความยั่งยืนของพลังงาน จากมหาวิทยาลัยรอยัลฮอลโลเวย์ ในกรุงลอนดอน สหราชอาณาจักร กล่าวว่า โครงข่ายไฟฟ้าที่เชื่อมต่อกัน ช่วยจัดการการส่งออกและการนำเข้าไฟฟ้า ส่งผลให้อุปทานมีความน่าเชื่อถือมากขึ้น แต่ปัญหาไฟฟ้าดับก็อาจเกิดขึ้นได้ ดังเช่นกรณีของโปรตุเกสและสเปนเมื่อไม่นานมานี้ แม้ประเทศในยุโรปเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวไม่บ่อยนักก็ตาม
“ตามหลักการแล้ว มันจำเป็นต้องมีการสร้างระบบสำรองในเครือข่ายไฟฟ้า เช่น จุดจ่ายไฟหลายจุด เครื่องกำเนิดไฟฟ้าสำรองที่ตั้งอยู่ในตำแหน่งต่าง ๆ สายไฟที่เชื่อมต่อกัน สายเคเบิล และอื่น ๆ” เอ็นดูกา กล่าวเพิ่มเติม
ขณะที่ นางกราเซีย โทเดสชินี รองศาสตราจารย์ด้านวิศวกรรม จากคิงส์ คอลเลจ ลอนดอน ระบุว่า ยุโรปมีโครงข่ายไฟฟ้าแบบเชื่อมต่อระหว่างกันขนาดใหญ่ที่สุดในโลก ซึ่งจ่ายไฟให้กับลูกค้ามากกว่า 400 ล้านคน ใน 32 ประเทศ และพื้นที่ส่วนใหญ่ของสหภาพยุโรป (อียู)
“สิ่งนี้ช่วยให้เกิดการแลกเปลี่ยนไฟฟ้าระหว่างประเทศต่าง ๆ แต่ภายใต้สถานการณ์ที่พิเศษและรุนแรงมาก มันอาจทำให้ปัญหาไฟฟ้าดับขยายวงกว้างไปยังประเทศอื่นด้วย” โทเดสชินี กล่าวเสริม
อนึ่ง เหตุการณ์ข้างต้นเกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 เม.ย. ที่ผ่านมา เมื่อเหตุไฟฟ้าดับในสเปน ส่งผลกระทบถึงประเทศเพื่อนบ้านอย่างโปรตุเกส โดยทั้งสองประเทศตั้งอยู่บนคาบสมุทรไอบีเรีย และอยู่บริเวณขอบเครือข่ายไฟฟ้าของยุโรป
สเปนและฝรั่งเศส ซึ่งแยกจากกันด้วยเทือกเขาพีเรนีส มีกำลังการผลิตไฟฟ้าเชื่อมต่อกันอยู่ที่ 2.8 กิกะวัตต์ นับตั้งแต่ปี 2558 และมีแผนที่จะเพิ่มเป็น 5 กิกะวัตต์ ภายในปี 2571 อีกทั้งสเปนยังเชื่อมต่อกับโมร็อกโกด้วยสายไฟฟ้า 700 เมกะวัตต์
โทเดสชินีกล่าวว่า ความเสถียรของเครือข่ายไฟฟ้า เกี่ยวข้องกับการสมดุลที่ใกล้เคียงกันมาก ระหว่างการผลิตไฟฟ้ากับความต้องการไฟฟ้า ซึ่งแม้จะมีมาตรการจำกัดผลกระทบของไฟฟ้าดับในพื้นที่ขนาดเล็ก แต่เมื่อไฟฟ้าไม่สมดุลมากเกินไป ปัญหาไฟฟ้าดับอาจขยายวงกว้างอย่างรวดเร็ว และครอบคลุมหลายพื้นที่
ตามรายงานของบริษัท อาร์ทีอี ซึ่งเป็นผู้ให้บริการเครือข่ายไฟฟ้าแรงสูงของฝรั่งเศส สเปนสูญเสียการผลิตไฟฟ้า 15 กิกะวัตต์ ภายในเวลาไม่กี่วินาที ส่งผลให้ไฟฟ้าดับทั่วประเทศ ซึ่งอาร์ทีอีระดมกำลังเพื่อช่วยเหลือสเปนในทันที
ทั้งนี้ บริษัท ไรสแตด เอเนอร์จี ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการวิจัยพลังงาน ระบุว่า อาร์ทีอีดำเนินมาตรการรักษาความปลอดภัยอัตโนมัติ ซึ่งตัดการเชื่อมต่อระหว่างกัน แยกคาบสมุทรไอบีเรียออกไป และหยุดยั้งความไม่เสถียรไม่ให้กระจายไปยังยุโรปกลาง
“ฝรั่งเศสมีบทบาทสำคัญกับวิกฤติครั้งนี้ เนื่องจากความต้องการไฟฟ้าในคาบสมุทรไอบีเรียที่ลดลงอย่างกะทันหัน บังคับให้ประเทศต้องลดการผลิตไฟฟ้าชั่วคราว และเปลี่ยนเส้นทางการไหลของพลังงาน ซึ่งสเปนและโปรตุเกสต้องใช้เวลาหลายชั่วโมงในการฟื้นฟูเครือข่ายไฟฟ้า” อาร์ทีอี ระบุทิ้งท้าย.
เลนซ์ซูม
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 4 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4666360/