จับตาภูเขาไฟ “สเปอร์” ภูเขาไฟยักษ์ในอลาสกา เสี่ยงปะทุครั้งใหญ่ในไม่กี่สัปดาห์ อาจกระทบการเดินทางทั่วโลก
นักวิทยาศาสตร์เตือนภัยด่วน หลังพบความเป็นไปได้ ที่ภูเขาไฟ “สเปอร์” ขนาดมหึมาในรัฐอลาสกาของสหรัฐฯ ซึ่งกำลังอยู่ในภาวะไม่สงบ มีแนวโน้มสูงที่จะเกิดการปะทุครั้งใหญ่ภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อการเดินทางและระบบโลจิสติกส์ทางอากาศทั่วโลก
ภูเขาไฟสเปอร์ความสูงกว่า 11,000 ฟุต หรือประมาณ 3,350 เมตร ตั้งอยู่ห่างจากเมืองแองเคอเรจ ไปทางตะวันตกเพียงประมาณ 130 กิโลเมตร โดยขณะนี้ตรวจพบแผ่นดินไหวขนาดเล็กเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องบริเวณใต้ภูเขาไฟ ซึ่งนักวิทยาศาสตร์ระบุว่าเป็นสัญญาณของการสะสมตัวของแมกมาใต้พื้นดิน
นักวิทยาศาสตร์จับตาใกล้ชิดอาจปะทุได้ทุกเมื่อ
แมตต์ เฮนีย์ (Matt Haney) นักวิทยาศาสตร์ผู้ดูแลจาก AVO (Alaska Volcano Observatory) ให้สัมภาษณ์กับสื่ออังกฤษ Daily Mail ว่าหากเกิดการปะทุขึ้นจริง “เหตุการณ์จะรุนแรงเหมือนในปี 1992” โดยอธิบายว่าแมกมาที่สะสมใต้พื้นผิวดินกำลังใกล้ถึงจุดวิกฤต
โดย AVO เริ่มเฝ้าติดตามความผิดปกติของภูเขาไฟสเปอร์ตั้งแต่เดือนเมษายน 2024 โดยพบแผ่นดินไหวในระดับตื้นจำนวนมาก มีการเปลี่ยนแปลงของพื้นผิว และการปล่อยก๊าซไอน้ำจากปากปล่อง ขณะที่ระดับเตือนภัยถูกยกระดับจากเขียวเป็นเหลือง ตั้งแต่เดือนตุลาคม 2024 หลังพบการก่อตัวของทะเลสาบขนาดเล็กในปล่องภูเขาไฟ
ผู้เชี่ยวชาญเตือนว่า เถ้าภูเขาไฟไม่ใช่เพียงแค่สร้างความรำคาญ แต่ยังเป็นอันตรายอย่างยิ่งต่อเครื่องบิน เนื่องจากอนุภาคขนาดเล็กของเถ้าถ่านสามารถทำลายเครื่องยนต์ กัดกร่อนกระจกหน้าห้องนักบิน ทำลายผิวเครื่องบิน และทำให้ระบบสำคัญของเครื่องบินล้มเหลวกลางอากาศได้ ดังนั้นการบินในระหว่างที่เกิดการปะทุของภูเขาไฟ ถือเป็นความเสี่ยงสูงอย่างยิ่ง
และแม้พื้นที่รอบภูเขาไฟสเปอร์จะไม่มีประชาชนอยู่อาศัยในเขตอันตรายโดยตรง แต่เถ้าถ่านที่ปล่อยออกมาหากเกิดการปะทุ อาจปกคลุมเมืองแองเคอเรจและแพร่กระจายไปถึงพื้นที่ตอนกลางของสหรัฐฯ ภายในไม่กี่วัน คล้ายกับเหตุการณ์ในปี 1992
อาจเกิดผลกระทบเป็นลูกโซ่ทั่วโลก
สำนักงานเฝ้าระวังภูเขาไฟอลาสกา (Alaska Volcano Observatory – AVO) ระบุว่า หากเกิดการปะทุขึ้นจริง กลุ่มเถ้าภูเขาไฟอาจพุ่งสูงถึง 50,000 ฟุต หรือ ราว 15 กิโลเมตร ขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศ ทำให้ทัศนวิสัยการบินเป็นศูนย์ และอาจส่งผลให้สนามบินนานาชาติแองเคอเรจ (ANC) และแฟร์แบงก์ส (FAI) ต้องปิดให้บริการทันที กลายเป็นจุดเริ่มต้นของผลกระทบลูกโซ่ในระบบขนส่งทางอากาศทั่วโลก
สนามบิน ANC ถือเป็นหนึ่งในศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ใหญ่ที่สุดในโลก รองรับเที่ยวบินขนส่งสินค้ามากกว่า 8,000 เที่ยวต่อเดือน หากเกิดการหยุดชะงัก แม้เพียงเล็กน้อย อาจกระทบการขนส่งสินค้า อีคอมเมิร์ซ และห่วงโซ่อุปทานของภาคอุตสาหกรรมทั่วโลกในทันที
บทเรียนจาก “ไอซ์แลนด์” และการปะทุในอดีต
ประเทศไอซ์แลนด์เคยเกิดการปะทุครั้งรุนแรงของภูเขาไฟเอยาฟยัตลาเยอคุตล์เมื่อปี 2010 สร้างกลุ่มเถ้าไฟขนาดมหึมาครอบคลุมพื้นที่ยุโรปและมหาสมุทรแอตแลนติก ส่งผลให้สนามบินกว่า 300 แห่งต้องปิดให้บริการนานถึง 8 วัน เที่ยวบินกว่า 100,000 เที่ยวถูกยกเลิก และผู้โดยสารกว่า 10 ล้านคนได้รับผลกระทบ โดยสายการบินต่าง ๆ รายงานความเสียหายรวมกันมากกว่า 1 พันล้านปอนด์
โดยภูเขาไฟสเปอร์เองก็เคยเกิดการปะทุครั้งใหญ่เมื่อปี 1992 โดยเกิดการปะทุถึง 3 ครั้งในช่วงฤดูร้อน 1 ในการปะทุเมื่อเดือนสิงหาคมส่งผลให้สนามบินแองเคอเรจต้องปิดนาน 20 ชั่วโมง เมืองถูกปกคลุมด้วยเถ้าถ่านหนากว่า 1 ใน 8 นิ้ว และมีความเสียหายมูลค่ากว่า 2 ล้านดอลลาร์สหรัฐ.
ที่มา : The sun
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2855871