Summary
- ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 มีข่าวภูเขาไฟระเบิดในหลายพื้นที่ทั่วโลกและเริ่มมีสัญญาณที่ทำให้หลายคนเริ่มกังวลต่อภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและสึนามิ
- ไทยรัฐพลัสสรุปสถานการณ์ภูเขาไฟปะทุทั่วโลกในต้นปี 2025 เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติในยุคโลกรวนที่จะส่งผลต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกในอนาคต
ภูเขาไฟ คือช่องเปิดผิวเปลือกดาวเคราะห์โลกที่นำหินหนืด (Magma) จากภายในโลก พร้อมด้วย ก๊าซ, เถ้าถ่าน, และไอน้ำ ปะทุหรือไหลออกมาสู่พื้นผิวโลกได้
ในประวัติศาสตร์โลกมีบันทึกระบุไว้ในตำนานและเรื่องเล่าที่อธิบายถึงภูเขาไฟ ซึ่งอาจเป็นความทรงจำทางวัฒนธรรมของการปะทุของภูเขาไฟในอดีต
ปัจจุบันยังมีภูเขาไฟอีกหลายแห่งที่ยังคงมีพลังและสามารถเกิดการปะทุได้อีก โดยเฉพาะประเทศในโซนวงแหวนไฟ (Ring of Fire) เช่น ฟิลิปปินส์,อินโดนีเซีย และญี่ปุ่น
การปะทุของภูเขาไฟในแต่ละยุคสมัยนำพามาพร้อมผลกระทบต่อชีวิตผู้คนจำนวนมาก ทั้งชีวิต, ทรัพย์สิน, สุขภาพกายและจิต, เศรษฐกิจและการอพยพย้ายถิ่น
ตั้งแต่ช่วงต้นปี 2025 หลายคนคงได้เห็นข่าวภูเขาไฟระเบิดในหลายพื้นที่ทั่วโลกและเริ่มมีสัญญาณที่ทำให้หลายคนเริ่มกังวลต่อภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นตามมาด้วย โดยเฉพาะแผ่นดินไหวและสึนามิ ที่เคยเกิดขึ้นในไทยด้วย
ไทยรัฐพลัสจึงสรุปสถานการณ์ภูเขาไฟปะทุทั่วโลกในต้นปี 2025 เพื่อติดตามสถานการณ์ภัยธรรมชาติในยุคโลกรวนที่จะส่งผลต่อชีวิตผู้คนทั่วโลกในอนาคต
อินโดนีเซีย: การปะทุของภูเขาไฟ 7 ลูก
อินโดนีเซียยังคงเป็นประเทศที่เกิดภูเขาไฟปะทุมากที่สุดในปี 2025 โดยมีภูเขาไฟที่ยังคงปะทุหรือมีการปะทุใหม่เกิดขึ้นถึง 7 ลูก ได้แก่ เลโวโตโลก, เดมโป, เลโวโตบี, มาราปี, เมราปี, เซเมรู, และดุกูโน ส่งผลกระทบต่อประชากรจำนวนมาก เนื่องจากภูเขาไฟหลายลูกตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีผู้คนอาศัยอยู่อย่างหนาแน่น ทำให้ผู้คนต้องอพยพและยังประสบปัญหาเรื่องการเดินทางเนื่องจากระบบคมนาคมใช้การไม่ได้ แต่การปะทุในภูเขาไฟบางลูกก็มีความรุนแรงน้อย ทำให้ส่งผลกระทบแค่คุณภาพอากาศเท่านั้น โดยภูเขาเลโวโตโลกเริ่มปะทุเมื่อ 16 มกราคม 2025 ในขณะที่ภูเขาไฟอื่นๆ เป็นการปะทุต่อเนื่องมาจากปีก่อนๆ
รัฐบาลอินโดนีเซียมีหน่วยงานเฉพาะทางอย่าง Badan Nasional Penanggulangan Bencana (BNPB) หรือสำนักงานจัดการภัยพิบัติแห่งชาติ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการเฝ้าระวัง, ออกคำเตือน, จัดการการอพยพ, และให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัย
รัฐบาลอินโดนีเซียลงทุนในระบบตรวจวัดและเฝ้าระวังภูเขาไฟอย่างจริงจัง มีการติดตั้งสถานีตรวจวัดแผ่นดินไหว, การเปลี่ยนแปลงรูปร่างของภูเขาไฟ, และการปล่อยก๊าซ มีการกำหนดระดับเตือนภัยและแผนการอพยพสำหรับแต่ละภูเขาไฟที่มีความเสี่ยง เมื่อมีการปะทุ รัฐบาลจะดำเนินการอพยพประชาชนไปยังศูนย์พักพิงชั่วคราว จัดหาอาหาร, น้ำ, และสิ่งของจำเป็น รวมถึงให้ความช่วยเหลือทางการแพทย์และดูแลสภาพจิตใจ นอกจากนี้ ยังมีการให้ความรู้กับประชาชนในพื้นที่เสี่ยงเกี่ยวกับอันตรายจากภูเขาไฟและวิธีปฏิบัติเมื่อเกิดเหตุด้วย
ญี่ปุ่น: แผ่นดินไหวและภูเขาไฟในโซนเมือง
ญี่ปุ่นเผชิญกับความเสี่ยงจากทั้งแผ่นดินไหวและภูเขาไฟ ภูเขาไฟที่ยังคงปะทุต่อเนื่องในปีนี้ ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่มีประชากรอาศัยอยู่หนาแน่น เช่น ไอระในเมืองคาโกชิมะ บนเกาะคิวชู และ ซูวาโนเซะจิมะ ในหมู่เกาะริวกิว นอกจากนี้ยังมีการปะทุของภูเขาไฟซากุระจิมะในจังหวัดคาโกชิมะ บนเกาะคิวชู ที่มักปล่อยเถ้าถ่านและควันอยู่บ่อยครั้ง ทำให้มีรายงานข่าวหลายครั้งและต่อเนื่องมาถึงช่วงต้นปีนี้
เนื่องด้วยญี่ปุ่นต้องรับมือกับภัยพิบัติทางธรรมชาติอยู่หลายครั้ง จึงทำให้รัฐบาลมีระบบการจัดการภัยพิบัติที่แข็งแกร่ง รวมถึงมีการเฝ้าระวังภูเขาไฟอย่างจริงจัง โดยมีหน่วยงานที่รับผิดชอบเรื่องนี้คือ Japan Meteorological Agency (JMA) ทำหน้าที่ตรวจวัดการปะทุของภูเขาไฟ เช่น เรดาร์, กล้องวงจรปิด, และเซ็นเซอร์ต่างๆ มีการประเมินระดับความเสี่ยงและออกคำเตือนล่วงหน้า นอกจากนี้รัฐบาลญี่ปุ่นยังมีแผนการอพยพ ฝึกซ้อมการรับมือและให้ความช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
ฟิลิปปินส์: จุดเสี่ยงภูเขาไฟปะทุต่อเนื่อง
ฟิลิปปินส์มีความเสี่ยงต่อการปะทุของภูเขาไฟและส่งผลกระทบต่อชุมชนจำนวนมาก โดยมีภูเขาไฟที่ปะทุต่อเนื่องมาก่อนปี 2025 ทั้งหมด 2 ลูก ได้แก่ กันลาอน (Kanlaon) และ ตาอัล (Taal) ซึ่งเมื่อเช้าวันที่ 8 เมษายนที่ผ่านมา กันลาอนเกิดการปะทุครั้งใหญ่โดยพ่นเถ้าถ่านและควันหนาทึบพุ่งขึ้นสู่ชั้นบรรยากาศสูงถึง 4,000 เมตร
แม้จะยังไม่มีรายงานผู้บาดเจ็บหรือเสียชีวิตจากเหตุระเบิดในครั้งนี้ แต่เหตุการณ์ได้สร้างความกังวลด้านสุขภาพแก่ชาวบ้านในพื้นที่โดยรอบ เนื่องจากเถ้าถ่านจากภูเขาไฟได้ตกลงสู่หมู่บ้านใกล้เคียงอีกทั้งฟิลิปปินส์ยังมีกลุ่มภูเขาไฟที่ยังคุกรุ่นอยู่อีกจำนวน 24 ลูก
ฟิลิปปินส์มีหน่วยงานหลักในการจัดการภัยพิบัติคือ National Disaster Risk Reduction and Management Council (NDRRMC) ซึ่งมีบทบาทในการประสานงานและดำเนินการต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการลดความเสี่ยงและจัดการภัยพิบัติ รวมถึงภูเขาไฟ
โดยทั่วไป NDRRMC จะร่วมกับ Philippine Institute of Volcanology and Seismology (PHIVOLCS) เฝ้าระวังภูเขาไฟทั่วประเทศ PHIVOLCS จะออกประกาศเตือนภัยและให้คำแนะนำแก่ประชาชนเมื่อมีสัญญาณของการปะทุ มีการกำหนดเขตอันตรายรอบภูเขาไฟ และมีการดำเนินการอพยพประชาชนไปยังพื้นที่ปลอดภัย ซึ่งรัฐบาลท้องถิ่นมีบทบาทสำคัญในการจัดการศูนย์พักพิงและให้ความช่วยเหลือเบื้องต้น
ไอซ์แลนด์: ดินแดนแห่งน้ำแข็งและไฟ
ไอซ์แลนด์ถูกเรียกว่าดินแดนแห่งน้ำแข็งและไฟเพราะลักษณะทางภูมิศาสตร์ ที่มีทั้งภูเขา ธารน้ำแข็ง ภูเขาไฟและลาวา แม้ว่าไอซ์แลนด์จะไม่มีการปะทุต่อเนื่องยาวนาน แต่ในปีนี้กลับเกิดการปะทุของปล่องภูเขาไฟ ซุนดนุกสกิการ์ (Sundhnúksgígar) ใกล้เมือง กรินดาวิก (Grindavík)เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2025
แม้ว่าการปะทุครั้งนี้จะไม่รุนแรงมากนัก แต่เมื่อการปะทุเกิดขึ้นใกล้กับเมืองและสร้างความเสียหายให้กับโครงสร้างพื้นฐานที่สำคัญ เช่น โรงไฟฟ้าพลังความร้อนใต้พิภพสวาร์ตเซนกิ (Svartsengi) ซึ่งเป็นแหล่งจ่ายพลังงานและความร้อนหลักของพื้นที่ โดยทางการได้สั่งการให้ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวอพยพไปจากพื้นที่แล้ว แม้จะยังคงมีชาวบ้านบางส่วนไม่ยอมอพยพไป
ไอซ์แลนด์มีระบบการเฝ้าระวังและเตือนภัยภูเขาไฟที่มีประสิทธิภาพ ดำเนินการโดย Icelandic Meteorological Office (IMO) ที่มีเครือข่ายเซ็นเซอร์ตรวจจับสัญญาณการปะทุของภูเขาไฟครอบคลุมทั่วประเทศ เช่น แผ่นดินไหว, การเปลี่ยนแปลงรูปร่างพื้นดิน, และการปล่อยก๊าซ เมื่อมีสัญญาณผิดปกติ IMO จะออกคำเตือนและแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนทราบ รัฐบาลไอซ์แลนด์จึงมีแผนการรับมือการปะทุของภูเขาไฟทันที ตั้งแต่การอพยพ, การปิดถนน, และการให้ความช่วยเหลือฉุกเฉิน แผนรับมือการปะทุในครั้งนี้จึงแสดงให้เห็นชัดว่ารัฐบาลมีระบบเตรียมความพร้อมต่อสถานการณ์เหล่านี้ได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ
นิการากัวและคอสตาริกา:การปะทุติดกัน 2 ครั้ง
นิการากัวเป็นประเทศหนึ่งในทวีปอเมริกาตอนกลางใกล้กับฮอนดูรัส คอสตาริกาและปานามา ซึ่งอยู่ในแนววงแหวนแห่งไฟเช่นเดียวกัน
ในปี 2025 เกิดการปะทุของภูเขาไฟเตลิกา (Telica) ในนิการากัวเมื่อวันที่ 11 มกราคม 2025 นอกจากนี้ยังเกิดการปะทุที่ภูเขาไฟโปอาส (Poas) ในคอสตาริกา (ประเทศใกล้เคียง)ในวันที่ 5 มกราคม 2025 การปะทุเหล่านี้ส่งผลต่อสุขภาพของผู้คนอย่างมากจากเถ้าถ่านและก๊าซที่ถูกปล่อยออกมา
นิการากัวมีหน่วยงานเฉพาะที่ดูแลเรื่องภูเขาไฟโดยตรงคือ INETER (Instituto Nicaragüense de Estudios Territoriales) หรือ สถาบันนิการากัวเพื่อการศึกษาดินแดน เป็นหน่วยงานทางวิทยาศาสตร์ของรัฐบาลนิการากัว มีหน้าที่หลักในการศึกษา เฝ้าระวัง และประเมินภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการปะทุของภูเขาไฟ โดยมีบทบาทสำคัญทั้งการเฝ้าระวัง ประเมินความเสี่ยง ออกประกาศเตือนภัย วิจัยและการให้ข้อมูลกับประชาชน
ขณะที่คอสตาริกามีหน่วยงานชื่อ OVSICORI-UNA (Observatorio Vulcanológico y Sismológico de Costa Rica – Universidad Nacional) มีหน้าที่หลักในการศึกษา เฝ้าระวัง และประเมินภัยพิบัติทางธรรมชาติ รวมถึงการปะทุของภูเขาไฟ
โดยในเหตุการณ์ครั้งนี้ OVSICORI-UNA ได้ดำเนินการเฝ้าระวังระดับการปล่อยก๊าซและกิจกรรมอื่นๆ ของภูเขาไฟโปอาสอย่างต่อเนื่อง มีการแจ้งเตือนประชาชนและนักท่องเที่ยวเกี่ยวกับระดับก๊าซที่เป็นอันตราย และจำกัดการเข้าถึงพื้นที่ใกล้ปล่องภูเขาไฟเพื่อความปลอดภัย นอกจากนี้ยังมีการตรวจวัดคุณภาพอากาศในบริเวณใกล้เคียงอย่างสม่ำเสมอ
โคลอมเบีย:การกลับมาปะทุของภูเขาไฟที่สงบมานาน
โคลอมเบีย ประเทศในทวีปอเมริกาใต้ ใกล้กับปานามา เกิดการปะทุของภูเขาไฟปูราเซ (Puracé) เมื่อวันที่ 19 มกราคม 2025 ในบริเวณทิวเขาคอร์ดิเยราเซ็นทรัล (Cordillera Central) ทางตะวันตกเฉียงใต้ของโคลอมเบีย
การปะทุของปูราเซในครั้งนี้ปล่อยเถ้าถ่านและก๊าซจำนวนมาก ส่งผลกระทบต่อคุณภาพอากาศและการคมนาคมในพื้นที่ใกล้เคียง นอกจากนี้ยังต้องเฝ้าระวังการเกิดดินถล่มด้วย ซึ่งปูราเซเคยมีบันทึกการปะทุหลายครั้งในช่วงศตวรรษที่ 19 แต่การกลับมาปะทุในปี 2025 นี้อีกครั้งหลังจากสงบมานานถือเป็นเหตุการณ์ที่ต้องได้รับการติดตามอย่างใกล้ชิด
รัฐบาลโคลอมเบียมีหน่วยงานชื่อ Servicio Geológico Colombiano (SGC) ทำหน้าที่เฝ้าระวังการปะทุของภูเขาไฟอย่างต่อเนื่อง และเตรียมพร้อมสำหรับมาตรการจัดการภัยพิบัติ เช่น การแจ้งเตือนและการอพยพประชาชนหากสถานการณ์ทวีความรุนแรงขึ้น
ส่วนรัฐบาลท้องถิ่นและหน่วยงานจัดการภัยพิบัติที่ชื่อUnidad Nacional para la Gestión del Riesgo de Desastres – UNGRD ได้เตรียมพร้อมสำหรับการแจกจ่ายหน้ากากอนามัยและให้คำแนะนำแก่ประชาชนในพื้นที่เสี่ยง
ภูเขาไฟระเบิดจะส่งผลต่อทุกคนบนโลกอย่างไร
นอกจากผลกระทบต่อผู้คนในพื้นที่เสี่ยง การปะทุของภูเขาไฟยังส่งผลกระทบต่อสภาพอากาศของโลกเช่นกัน โดยเฉพาะก๊าซที่ปล่อยออกมาด้วย เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์หรือคาร์บอนไดออกไซด์ที่ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน
แต่จากการสำรวจของสำนักงานสำรวจทางธรณีวิทยาของสหรัฐอเมริกาพบว่า ภูเขาไฟปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่ากิจกรรมที่เกิดจากมนุษย์ถึง 100 เท่า ส่วนหนึ่งเพราะเมื่อวัดเป็นปริมาณก๊าซต่อปี ภูเขาไฟเกิดการปะทุน้อยครั้งกว่ามนุษย์ที่ปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในทุกๆ วัน
การปะทุของภูเขาไฟยังช่วยให้โลกเย็นตัวลงด้วย เนื่องจากอนุภาค เถ้าถ่านและก๊าซต่างๆ ช่วยบดบังแสงอาทิตย์ได้ชั่วคราวจึงทำให้โลกเย็นลง นอกจากนี้ยังทำให้เกิดแหล่งทรัพยากร แร่ธาตุ หินและช่วยรักษาสมดุลเปลือกโลก
การปะทุของภูเขาไฟอาจมีทั้งข้อดีและข้อเสีย แต่ในโลกปัจจุบันที่ผู้คนอาศัยอยู่กันเป็นเมือง ภูเขาไฟอาจทำให้ส่งผลกระทบร้ายแรงได้เช่นเดียวกัน แม้เราจะยังไม่สามารถระบุอย่างชัดเจนได้ว่าภูเขาไฟแต่ละแห่งจะเกิดการปะทุขึ้นมาเมื่อไหร่ แต่สิ่งสำคัญในการอยู่ร่วมกับธรรมชาติเหล่านี้ เราต้องเรียนรู้และเตรียมความพร้อม เพื่อลดการสูญเสียที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตด้วย
อ้างอิง: thairath.co.th (1,2,3), iceland.org, Global Volcanism Program(1,2,3,4), USGS (1,2), WHO, Munich Re, BGS, Aithor (1,2), CDC, Icelandia, icelandtours.is, World Population Review, The Watchers News (1,2,3,4)
ที่มา : ไทยรัฐ / วันที่เผยแพร่ 29 เมษายน 2568
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/naturematter/105370