- อินเดียดำเนินมาตรการทางการทูตหลายประการต่อปากีสถาน หลังจากเกิดเหตุกราดยิงนักท่องเที่ยวในแคชเมียร์ฝั่งที่อินเดียปกครอง โดยกล่าวหาว่าอิสลามาบัดให้การสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง
- แม้ปากีสถานจะปฏิเสธความเกี่ยวข้อง แต่เหตุการณ์ดังกล่าวได้ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่าง 2 ประเทศที่มีอาวุธนิวเคลียร์ถึงจุดตกต่ำที่สุดในรอบหลายปี โดยมีความกังวลว่าอินเดียอาจกำลังเริ่มเปิดฉากเคลื่อนไหวเชิงรุก ซึ่งอาจลุกลามไปถึงการปะทะทางทหาร
- หนึ่งในมาตรการตอบโต้ของอินเดียคือ การระงับสนธิสัญญาการแบ่งปันน้ำจากแม่น้ำสินธุที่ลงนามตั้งแต่ปี 1960 และการปิดด่านพรมแดนหลักระหว่างประเทศ นอกจากนี้ยังมีการเรียกเจ้าหน้าที่ทูตกลับและลดจำนวนเจ้าหน้าที่จากสถานทูตในอิสลามาบัด พร้อมสั่งให้เจ้าหน้าที่ของปากีสถานเดินทางออกจากอินเดียด้วย
เหตุการณ์โจมตีเมื่อวันอังคาร ทำให้มีผู้เสียชีวิต 26 คน ซึ่งเป็นชาวอินเดียเกือบทั้งหมด ยกเว้น 1 คนที่เป็นชาวเนปาล นับเป็นการโจมตีพลเรือนครั้งรุนแรงที่สุดในพื้นที่แคชเมียร์ในรอบ 25 ปี
ประชาชนทั่วอินเดียร่วมจัดพิธีศพและจุดเทียนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิต บรรยากาศเต็มไปด้วยความโศกเศร้า
เหตุการณ์นี้สร้างความสะเทือนใจให้กับรัฐบาลอินเดีย เนื่องจากผู้ก่อเหตุพุ่งเป้าไปที่พลเรือนและอุตสาหกรรมการท่องเที่ยว ซึ่งต่างจากเหตุการณ์ในอดีตที่มักโจมตีเจ้าหน้าที่ความมั่นคงของอินเดีย
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ให้คำมั่นว่าจะนำตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ โดยประกาศว่าแผนการชั่วร้ายของพวกเขาจะไม่มีวันสำเร็จ ขณะที่ นายอิชาค ดาร์ รองนายกรัฐมนตรีของปากีสถาน กล่าวว่า อิสลามาบัดจะมีการตอบโต้แบบตาต่อตา ฟันต่อฟัน

ท่าทีของอินเดีย
เหตุโจมตีเกิดขึ้นที่เมือง Pahalgam สถานที่ท่องเที่ยวยอดนิยมกลางภูเขา โดยคนร้ายที่ซ่อนอยู่ในป่ากราดยิงนักท่องเที่ยวด้วยอาวุธปืนอัตโนมัติ แม้จะยังไม่มีฝ่ายใดออกมาอ้างความรับผิดชอบ
แต่พื้นดังกล่าวมีการเคลื่อนไหวของกลุ่มติดอาวุธตั้งแต่ปี 1989 ซึ่งต้องการให้แคชเมียร์แยกตัวเป็นอิสระหรือรวมเข้ากับปากีสถาน
ด้านนายวิกรม มิศรี รัฐมนตรีต่างประเทศของอินเดีย แถลงว่ามาตรการตอบโต้รวมถึงระงับสนธิสัญญาแบ่งปันแม่น้ำสินธุ ปิดด่านพรมแดนระหว่างประเทศ ลดจำนวนเจ้าหน้าที่ทางการทูตของทั้งสองประเทศ
นอกจากนี้อินเดียยังมีแผนจัดการประชุมระดับผู้นำพรรคการเมืองในวันพฤหัสบดี เพื่อหารือมาตรการเพิ่มเติม
ท่าทีของปากีสถาน
กระทรวงการต่างประเทศของปากีสถานได้แสดงความเสียใจต่อครอบครัวผู้เสียชีวิต และเตรียมจัดการประชุมคณะกรรมการความมั่นคงแห่งชาติ ซึ่งจะจัดขึ้นเฉพาะในกรณีสำคัญเท่านั้น
โดยทางการปากีสถานปฏิเสธข้อกล่าวหาสนับสนุนการก่อการร้าย และระบุว่าปากีสถานเพียงสนับสนุนสิทธิ ในการกำหนดอนาคตตนเองของชาวแคชเมียร์เท่านั้น
ขณะที่รัฐมนตรีกลาโหมของปากีสถาน นายคาวาจา อาซิฟ กล่าวว่าอินเดียต้องการใช้เหตุการณ์นี้ เป็นข้ออ้างในการถอนตัวจากสนธิสัญญาน้ำ

ความเห็นของนักวิเคราะห์
นักวิเคราะห์จากสถาบัน Lowy Institute ระบุว่า การโจมตีครั้งนี้อาจเป็นความพยายามของกลุ่มติดอาวุธในการจุดชนวนความตึงเครียดในภูมิภาคอีกครั้ง โดยเฉพาะหลังจากที่อินเดียเพิกถอนสถานะพิเศษของแคชเมียร์ในปี 2019
ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางประชากรและการเมืองในพื้นที่
เช่นเดียวกับ ไมเคิล คูเกิลแมน นักวิเคราะห์ ซึ่งให้สัมภาษณ์กับแชนแนลนิวส์เอเชียระบุว่า เหตุการณ์นี้เป็นความเสี่ยงร้ายแรงอย่างยิ่งที่จะก่อให้เกิดวิกฤตใหม่ระหว่างอินเดียและปากีสถาน
อาจรุนแรงที่สุดนับตั้งแต่เหตุการณ์ปะทะทางทหารเมื่อปี 2019 โดยที่ผ่านมาทั้งอินเดียและปากีสถานต่างกล่าวหากันและกันว่าให้การสนับสนุนกลุ่มก่อความไม่สงบในดินแดนของอีกฝ่าย
การตอบสนองจากนานาชาติ
ผู้นำโลกหลายประเทศได้ออกมาประณามการโจมตีครั้งนี้ รวมถึงประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ของสหรัฐฯ ประธานาธิบดีเอ็มมานูเอล มาครงของฝรั่งเศส และนายกรัฐมนตรีเคียร์ สตาร์เมอร์ของสหราชอาณาจักร
ซึ่งต่างแสดงความเสียใจต่อผู้เสียชีวิตและยืนหยัดเคียงข้างอินเดียในการต่อต้านการก่อการร้าย
ขณะที่สหประชาชาติและสหภาพยุโรปก็ได้ออกแถลงการณ์ประณามการโจมตีและเรียกร้องให้มีการนำผู้กระทำผิดมาลงโทษตามกฎหมาย
ปัจจุบันอินเดียมีทหารประจำการในแคชเมียร์ราว 500,000 นาย และตั้งแต่รัฐบาลของนายโมดีเพิกถอนสิทธิพิเศษของแคชเมียร์ในปี 2019 ความขัดแย้งก็เริ่มซาลง
แต่กลับมีการปราบปรามและควบคุมผู้เห็นต่างเพิ่มขึ้น
การโจมตีพลเรือนครั้งรุนแรงที่สุดก่อนหน้านี้เกิดขึ้นเมื่อปี 2000 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 36 ราย ส่วนเหตุการณ์ที่รุนแรงที่สุดในช่วงหลังคือ เหตุระเบิดพลีชีพในปุลวามา เมื่อปี 2019 ซึ่งมีผู้เสียชีวิต 40 ราย และบาดเจ็บอีก 35 คน.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
————————————————————————————————–
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 24 เมษายน 2568
Link : https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/digital_transformation/2854655