เมื่อไม่นานมานี้ กระทรวงยุติธรรมสหรัฐฯ ได้เปิดเผยเอกสารเกี่ยวกับการลอบสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนผิวดำในอเมริกา ซึ่งแม้จะจับผู้กระทำผิดได้ แต่ก็ยังมีข้อสงสัยมากมายต่อการตายของเขา
แล้วเอกสารที่เผยแพร่มากกว่า 240,000 หน้า บอกอะไรเราบ้าง เกี่ยวกับคดีนี้
“มาร์ติน ลูเธอร์คิงส์ จูเนียร์” คือใคร ?
มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ เกิดเมื่อวันที่ 15 มกราคม 1929 รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา
เขาเป็นที่รู้จักในฐานะนักต่อสู้ เพื่อสิทธิพลเมืองคนผิวดำที่สำคัญที่สุดคนหนึ่งของอเมริกา เขาเป็นเจ้าของวลีดังอย่าง “I have a dream” ที่ต้องการเรียกร้องให้คนทุกเชื้อชาติในสหรัฐฯ ได้รับการปฏิบัติอย่างเท่าเทียม
ช่วงนั้น อเมริกายังอยู่ในยุคที่มีการแบ่งแยกเชื้อชาติของคนผิวขาว และคนผิวดำ มีการจับกุมดำเนินคดีกับคนผิวดำ หากพวกเขาเข้าไปใช้ในสถานที่ที่ให้บริการเฉพาะคนผิวขาวเท่านั้น และสมัยนั้น คนผิวดำจะได้รับการปฏิบัติที่ไม่เท่าเทียม ค่าแรงน้อย ที่อยู่อาศัยแย่ คุณภาพการศึกษาไม่ดีเมื่อเทียบกับคนผิวขาว รวมถึงถูกกีดกันไม่ให้มีสิทธิเลือกตั้งด้วย
สรุปข่าว
กระทรวงยุติธรรมสรัฐฯ ได้เปิดเผยเอกสารกว่า 240,000 หน้า เกี่ยวกับการลอบสังหาร มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์ นักต่อสู้เพื่อสิทธิพลเมืองคนผิวดำในสหรัฐฯ
“I have a dream” สุนทรพจน์อันโด่งดัง
คิง ถือได้ว่า เป็นผู้นำคนสำคัญในกระบวนการสิทธิพลเมืองของสหรัฐฯ และเป็นผู้เรียกร้องความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ ด้วยวิธีการสันติ
หนึ่งในเหตุการณ์ที่ทั่วโลกจดจำได้มากที่สุด คือ การเดินขบวนที่ชื่อ “March on Washington” ในวันที่ 28 สิงหาคม 1963 ประชาชนราว 250,000 คน เดินขบวนไปยังอนุสรณ์สถานลินคอล์นเพื่อเรียกร้องสิทธิพลเมืองและความเท่าเทียมทางเชื้อชาติ พร้อมฟังคำกล่าวปราศรัยจากชายเพียงคนเดียว นั่นคือ “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์”
คิง กล่าวสุนทรพจน์อันโด่งดัง “I have a dream” ออกมาในครั้งนั้น โดยเขาเฝ้าฝันว่า วันหนึ่งลูก ๆ จะได้ใช้ชีวิตในประเทศที่ไม่ถูกตัดสินจากสีผิว ฝันว่า วันหนึ่งการเหยียดเชื้อชาติจะหมดสิ้นไป
สิ่งนั้น กลายเป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ เกิดแรงกระเพื่อมทางสังคม กระตุ้นให้ออกกฎหมายสิทธิพลเมือง ปฏิบัติต่อผู้คนอย่างเท่าเทียมกันไม่ว่าจะเชื้อชาติไหน สีผิวอะไร และทำให้คิงได้รับรางวัลโนเบล สาขาสันติภาพ ในปี 1964 นับเป็นบุคคลที่อายุน้อยที่สุดในขณะนั้นที่ได้รับรางวัลนี้
ก่อนที่ต่อมา อีก 4 ปี เขาจะถูกลอบสังหารจากชายผิวขาวที่ชื่อว่า “เจมส์ เอิร์ล เรย์” ในวันที่ 4 เมษายน 1968 ถูกตัดสินจำคุกตลอดชีวิตและเสียชีวิตเมื่อปี 1998
ดูเหมือนคดีจะจบลงอย่างง่ายดาย เพราะคนร้ายถูกจับได้ แต่ก็ไม่เป็นเช่นนั้น เพราะ “เจมส์ เอิร์ล เรย์” กลับคำให้การ บอกว่า เขาคือ ผู้บริสุทธิ์ และครอบครัวของคิงก็เชื่อเช่นนั้น
จนทำให้เกิดข้อสงสัยว่า คิงอาจถูกลอบสังหารจากกลุ่มบุคคลชั้นสูงในสมัยนั้น ซึ่งเป็นปริศนามานานกว่า 60 ปี
สหรัฐฯ เผยแพร่เอกสารสืบสวนคดี MLK
หอจดหมายเหตุแห่งชาติสหรัฐอเมริกา เปิดเผยบันทึกเกี่ยวกับการสอบสวนคดีลอบสังหาร “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์” ส่วนใหญ่มาจาก FBI และ CIA รวมถึงเอกสารการส่งตัวผู้ร้ายข้ามแดน “เจมส์ เอิร์ล เรย์” ด้วย
FBI เก็บบันทึกเกี่ยวกับคิงในช่วงทศวรรษหลังปี 1950 และ 1960 รวมทั้งดักฟังโทรศัพท์ เนื่องจากสงสัยในเวลานั้นว่า คิงติดต่อกับลัทธิคอมมิวนิสต์ในช่วงสงครามเย็น
เดวิด การ์โรว์ นักประวัติศาสตร์และผู้เขียนชีวประวัติของคิง เผยว่า บันทึกดังกล่าว แสดงให้เห็นข้อมูลเชิงลึกเกี่ยวกับวิธีการเก็บข้อมูลของ FBI เพื่อติดตามชีวิตของคิง แต่ดูเหมือนว่าจะไม่มีข้อมูลอะไรสำคัญ ที่สามารถเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เรารู้เกี่ยวกับคิง ไม่มีการเปิดเผยความลับใหญ่ใด ๆ ออกมา
ก่อนหน้านี้ FBI ก็เคยปล่อยบันทึกที่พยายามเชื่อมโยงว่า คิงมีความเกี่ยวข้องกับกลุ่มคอมมิวนิสต์ และกล่าวหาการทุจริตทางการเงิน ขององค์กร Southern Christian Leadership Conference (SCLC) ซึ่งคิงเป็นผู้ดูแล รวมถึงระบุรายละเอียดเกี่ยวกับนอกใจภรรยาของคิงด้วย
อย่างไรก็ตาม นักประวัติศาสตร์ กล่าวว่า เอกสารบางฉบับ ถูกทำขึ้นมาเพื่อบิดเบือนความจริง ซึ่งสอดคล้องกับแนวปฏิบัติภายในของ FBI ในการปกปิดข้อมูล เพื่อป้องกันการรั่วไหลภายใน โดยเราต้องระวังอย่างมากในการอ่านเอกสารเหล่านี้
ด้านครอบครัวของ “มาร์ติน ลูเธอร์ คิง จูเนียร์”ออกแถลงการณ์เรียกร้องให้ผู้เกี่ยวข้องกับเอกสารมีความเห็นอกเห็นใจ ใช้ความยับยั้งชั่งใจ และคำนึงถึงความเศร้าเสียใจของครอบครัวที่ยังดำเนินอยู่จนถึงขณะนี้ พร้อมกับประณามความพยายามนำเอกสารเหล่านี้มาใช้ในทางมิชอบ
ทั้งนี้ การเปิดเผยเอกสารลอบสังหารคิง ถูกเปิดเผยหลังปล่อยเอกสารกว่า 75,000 หน้า เกี่ยวกับคดีลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ เคเนดี ซึ่งนักประวัติศาสตร์ก็กำลังอยู่ในช่วงศึกษาเอกสารอย่างละเอียด
ขณะที่ ผู้เชี่ยวชาญบางส่วน เชื่อว่า การเปิดเผยเอกสารลับนี้ เป็นการพยายามเบี่ยงเบนความสนใจของ โดนัลด์ ทรัมป์ ที่กำลังเผชิญข่าวเรื่องความสัมพันธ์ กับเจฟฟรีย์ เอปสตีน นักธุรกิจชาวอเมริกัน ที่มีประเด็นล่วงละเมิดทางเพศผู้เยาว์
ที่มาข้อมูล : CNN, Nikkei Asia, BBC Thai, BBC, USAS Today, U.S. National Archives
———————————————————————————————————————————————————–