“ตูวาลู” เป็นหนึ่งในประเทศหมู่เกาะแปซิฟิก ที่ได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุด เนื่องจากระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้นจนอาจทำให้ประชาชนไม่มีที่อยู่อาศัย เพื่อให้ความช่วยเหลือกับประชาชน ตูวาลูและออสเตรเลียจึงได้ลงนามใน “สหภาพฟาเลปิลี” (Falepili Union) สนธิสัญญาทวิภาคีที่ครอบคลุมถึงการย้ายถิ่นฐาน การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การจัดการด้านความปลอดภัย และความสัมพันธ์ทางการทูตทวิภาคี
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. 2025 สหภาพฟาเลปิลีได้เปิดตัววีซ่าสภาพอากาศ โดยในแต่ละปีออสเตรเลียจะรับชาวตูวาลูปีละ 280 คน สำหรับอยู่อาศัยในประเทศ
“นี่เป็นครั้งแรกในโลกที่เปิดโอกาสให้ผู้คนที่ได้รับผลกระทบจากสภาพอากาศเลวร้ายสามารถเดินทางได้อย่างมีศักดิ์ศรี ช่วยให้ชาวตูวาลูมีทางเลือกในการอยู่อาศัย เรียน และทำงานในออสเตรเลีย” โฆษกของกระทรวงการต่างประเทศของออสเตรเลียกล่าว
ข้อมูลจากกระทรวงมหาดไทยของออสเตรเลีย ระบุว่าจนถึงวันที่ 27 มิ.ย. มีผู้สมัครลงทะเบียนเบื้องต้นแล้ว 1,124 ราย หากรวมสมาชิกในครอบครัวของผู้สมัครเบื้องต้นด้วย จะทำให้มีผู้ลงทะเบียนทั้งสิ้น 4,052 ราย ซึ่งสูงกว่าขีดจำกัดที่ออสเตรเลียรับได้อย่างมาก และคิดเป็น 1 ใน 3 ของประชากรในประเทศตูวาลูที่มีประมาณ 11,000 คน
“ไม่แปลกใจเลยที่จะมีคนสมัครจำนวนมาก เพราะปัญหาเศรษฐกิจและการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ แต่ต้องสังเกตว่ามีวีซ่าจำนวนจำกัดในแต่ละปี เพื่อจำกัดเหตุการณ์การอพยพครั้งใหญ่” เจมส์ เอลมัวร์ ซีอีโอของ Island Innovation บริษัทที่ปรึกษาที่มุ่งเน้นการพัฒนาอย่างยั่งยืนสำหรับรัฐเกาะขนาดเล็ก
ตูวาลูเป็นกลุ่มเกาะเล็ก ๆ ระหว่างออสเตรเลียและฮาวายในแปซิฟิกใต้ สูงกว่าระดับน้ำทะเลเพียง 5 เมตร ประกอบด้วยเกาะปะการัง 9 เกาะ ซึ่งในตอนนี้แนวปะการังทั้งสองแห่งแทบจะหายไปใต้คลื่นแล้ว เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เกิดจากมนุษย์ทำให้ส่วนต่าง ๆ ของโลกที่แข็งตัวละลายและทำให้มหาสมุทรร้อนขึ้น ส่งผลให้มหาสมุทรขยายตัวและสูงขึ้น
นอกจากนี้ ประชาชนของตูวาลูยังเผชิญกับภัยคุกคามอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับสภาพอากาศอีกด้วย รวมถึงภาวะขาดแคลนน้ำ การสูญเสียระบบนิเวศที่สำคัญ และสภาพอากาศเลวร้ายที่ทวีความรุนแรงขึ้น ซึ่งนำไปสู่ภาวะไม่มั่นคงทางการเงินและการสูญเสียทางวัฒนธรรมครั้งใหญ่
อย่างไรก็ตาม ความร่วมมือนี้ทำให้เกิดความกลัวว่าประเทศต่าง ๆ เช่น ตูวาลูอาจสูญเสียผู้เชี่ยวชาญและคนรุ่นใหม่ที่มีความสามารถอย่างรวดเร็ว แต่ชาวตูวาลูไม่ได้คิดเช่นนั้น
“ในตูวาลู ความผูกพันระหว่างผู้คน แผ่นดิน และวัฒนธรรมไม่อาจแยกออกจากกันได้ สำหรับชาวตูวาลู บ้านไม่ได้หมายถึงแค่สถานที่ที่พวกเขาอาศัยอยู่เท่านั้น แต่ยังหมายถึงตัวตนของพวกเขาด้วย ดังนั้นการย้ายถิ่นฐานจึงไม่ใช่สิ่งที่พวกเขาต้องการ แต่การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศกำลังเปลี่ยนแปลงอนาคต” คามาล อามากราน กรรมการผู้จัดการของ Global Centre for Climate Mobility (GCCM) กล่าว
รายงานของนาซา ในปี 2023 คาดการณ์ว่าพื้นที่ส่วนใหญ่ของตูวาลูอาจจมลง เพราะน้ำทะเลขึ้นสูงภายในปี 2050 อีกทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศยังทำให้พายุเกิดขึ้นบ่อยครั้งและรุนแรงขึ้น ทำให้แนวปะการังเกิดการฟอกขาว และน้ำเค็มไหลลงสู่แหล่งน้ำจืดทำให้แหล่งประมงเสียหาย
“จากมุมมองด้านสภาพภูมิอากาศ การย้ายประชากรไปอยู่ต่างประเทศตามสหภาพฟาเลปิลี ถือเป็นความล้มเหลวในความพยายามด้านสภาพภูมิอากาศระหว่างประเทศ เรากำลังล้มเหลวต่อตูวาลู เรากำลังล้มเหลวต่อชุมชนเกาะด้วย” เอลมัวร์กล่าว
“แม้ว่า วีซ่าสภาพอากาศจะเป็นทางแก้ปัญหาในระดับทวิภาคีและความสามัคคีระหว่างประเทศที่น่าประทับใจ แต่ก็เป็นความจริงที่น่าเศร้าใจอย่างยิ่ง ว่าประเทศที่มีอำนาจอธิปไตยทั้งประเทศและพลเมืองของประเทศที่เสี่ยงต่อการสูญเสียชุมชนทางกายภาพและมรดกทางวัฒนธรรม โดยไม่ใช่ความผิดของพวกเขา”
ข้อตกลงการเคลื่อนย้ายด้านสภาพอากาศ
“ฟาเลปิลี” ในภาษาตูวาลู แปลว่า เพื่อนบ้านที่ใกล้ชิด จึงถูกนำมาใช้เป็นชื่อเรียกข้อตกลงที่ตูวาลูทำกับออสเตรเลีย โดยการตอบสนองจะต้องยึดหลักในการมองการณ์ไกลและความเคารพ เพื่อให้แน่ใจว่าการเคลื่อนย้ายสภาพอากาศมีรากฐานมาจากความปลอดภัย ศักดิ์ศรี และสิทธิมนุษยชน
อามากรานกล่าวว่า สนธิสัญญาสหภาพฟาเลปิลีระหว่างตูวาลูและออสเตรเลียเป็นแบบจำลองที่มีความหวัง เป็นคำมั่นสัญญาของพาร์ตเนอร์ที่ยึดมั่นในความไว้วางใจและความรับผิดชอบร่วมกัน
ในสนธิสัญญาดังกล่าวยังระบุถึง ความปรารถนาของประชาชนชาวตูวาลูที่จะอาศัยอยู่ในดินแดนของตนต่อไป หากเป็นไปได้ และความสัมพันธ์ทางสายเลือดอันลึกซึ้งระหว่างบรรพบุรุษของชาวตูวาลูกับผืนดินและผืนน้ำ โดยข้อตกลงกำหนดให้ประเทศออสเตรเลียต้องช่วยปกป้องสิทธิในการพำนักอาศัยของชาวตูวาลู และสนับสนุนให้พวกเขาปรับตัวให้เข้ากับการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ
“มาตรการนี้ช่วยสร้างโอกาสที่ชาวตูวาลูไม่ได้รับ ออสเตรเลียเป็นสะพานเชื่อม และแม้ว่าผู้คนจะเลือกที่จะเข้าร่วมโครงการ แต่ฉันก็รู้สึกว่าพวกเขายังคงมีความต้องการที่จะกลับมาเสมอ” คาลิตา “ไทตี้” โฮมาซี ตัวแทนเยาวชนชาวตูวาลูในการประชุม COP27 กล่าว Euro News
อีกหนึ่งข้อตกลงที่มีผลใช้บังคับเมื่อเดือนสิงหาคม 2024 ระบุว่า ประเทศออสเตรเลียมุ่งมั่นที่จะปกป้องตูวาลูเมื่อเผชิญกับภัยธรรมชาติ โรคระบาดทางสุขภาพ และ “การรุกรานทางทหาร” ถือเป็นมาตรการในการปิดกั้นอิทธิพลของจีนในภูมิภาค
หลังจากปิดรับสมัครรอบแรกในวันที่ 18 ก.ค. ขั้นต่อไปจะเป็นการสุ่มเลือกโดยสำนักงานกิจการภายในของออสเตรเลีย โดยจะใช้ระยะเวลาระหว่างวันที่ 25 ก.ค. – 25 ม.ค. ซึ่งผู้ที่ได้รับการคัดเลือกจะได้รับวีซ่าประเภท “Pacific Engagement Visa (PEV) – Treaty stream (Tuvalu)”
นอกจากจะสามารถอาศัย เรียน และทำงานประจำในออสเตรเลียได้โดยไม่ต้องรอให้ข้อเสนองานมาก่อนแล้ว ยังสามารถเข้าถึงระบบสุขภาพ การศึกษา สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่มอบให้กับผู้อยู่อาศัยถาวรในประเทศ ตลอดจนการให้ครอบครัวเดินทางมายังออสเตรเลีย
“วีซ่านี้เปิดโอกาสให้ชาวตูวาลูได้ทำงานและนำเงินกลับเข้ามาลงทุนในประเทศ ผ่านการส่งเงินกลับประเทศ โดยทั่วไปประเทศแถบแปซิฟิก เงินโอนกลับประเทศสามารถคิดเป็น 15-40% ของ GDP สำหรับเศรษฐกิจของตูวาลู การเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อยก็ถือเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่แล้ว” โฮมาซีกล่าว
ออสเตรเลียยอมรับว่าการเปลี่ยนแปลงสภาพอากาศเป็นปัญหาความมั่นคงแห่งชาติที่ยิ่งใหญ่ที่สุดของตูวาลู และมุ่งมั่นที่จะให้ความช่วยเหลือประเทศเล็ก ๆ แห่งนี้ในกรณีเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ และสนับสนุนการปรับตัว
เมื่อประกาศสนธิสัญญาในปี 2023 นายกรัฐมนตรีแอนโธนี อัลบาเนซีของออสเตรเลียกล่าวว่า สนธิสัญญาดังกล่าวเป็นการตอบสนองต่อคำขอของตูวาลู ในการปกป้องอนาคตของประชาชน อัตลักษณ์ และวัฒนธรรมของตน
“นั่นคือเหตุผลที่เราให้ความช่วยเหลือด้านการปรับตัว และเรายังมอบหลักประกันที่การรับประกันเหล่านี้มอบให้กับประชาชนของตูวาลู ซึ่งต้องการอนุรักษ์วัฒนธรรมของตนเองและรักษาประเทศชาติของตนต่อไปด้วย” อัลบาเนซีกล่าว
ที่มา: Earth, Euro News, The Conversation, The Guardian
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 1 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1187392