รัฐบาลมาเลเซียประกาศมาตรการใหม่บังคับให้การส่งออก (Export) การขนถ่าย (Transshipment) หรือการขนส่งผ่านประเทศ (Transit) ของชิป AI ระดับสูงจากสหรัฐฯ ต้องขอใบอนุญาตล่วงหน้า โดยมีผลบังคับใช้ทันที หลังถูกรัฐบาลสหรัฐฯ จัดให้อยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 2 ซึ่งอยู่ภายใต้ข้อจำกัดอย่างเข้มงวด ทั้งในด้านปริมาณชิปที่สามารถนำเข้าได้ตามกรอบนโยบาย AI Diffusion Rule
แถลงการณ์จากกระทรวงการลงทุน การค้า และอุตสาหกรรมของมาเลเซีย (MITI) ระบุว่า บุคคลหรือบริษัทใดก็ตามที่มีข้อมูลหรือมีเหตุอันควรสงสัยว่าสินค้าที่ส่งออกหรือขนถ่ายอาจถูกนำไปใช้ในทางที่ผิดหรือเกี่ยวข้องกับกิจกรรมที่ถูกควบคุมจะต้องแจ้งต่อทางการล่วงหน้าไม่น้อยกว่า 30 วัน
โดย MITI กล่าวเพิ่มเติมว่า มาตรการใหม่นี้มีเป้าหมายเพื่อ “อุดช่องโหว่ทางกฎระเบียบ” พร้อมเปิดเผยว่ารัฐบาลกำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาบรรจุชิป AI ระดับสูงจากสหรัฐฯ ลงในบัญชีสินค้ายุทธศาสตร์ภายใต้กฎหมาย Strategic Trade Act ของประเทศQ
ไทย – มาเลเซีย ร่วมเฝ้าระวังเข้ม
การเคลื่อนไหวของมาเลเซียเกิดขึ้นหลังจากที่รัฐบาลสหรัฐฯ เตรียมปรับระดับความเข้มงวดในการควบคุมการส่งออกเทคโนโลยี AI ขั้นสูง โดยเฉพาะชิปที่ผลิตโดยบริษัทอย่าง Nvidia และ AMD โดยจัดให้ไทยและมาเลเซียอยู่ในกลุ่มประเทศ Tier 2 ภายใต้กรอบนโยบาย AI Diffusion
การจัดอันดับนี้ไม่เพียงสะท้อนถึงความกังวลของสหรัฐฯ ต่อความเสี่ยงในการลักลอบส่งต่อชิปไปยังประเทศต้องห้ามอย่างจีน แต่ยังมีนัยสำคัญทางยุทธศาสตร์ เพราะทั้งไทยและมาเลเซียกำลังกลายเป็น “ฮับข้อมูล” ของเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยเฉพาะในมิติของการลงทุนด้าน Data Center และ Cloud AI Infrastructure
อย่างไรก็ตาม แม้จะมีรายงานจากสหรัฐฯ หลายแหล่งที่กล่าวถึงบทบาทของไทยในฐานะจุดผ่านของชิป AI ไปยังประเทศที่ถูกห้าม แต่จนถึงขณะนี้รัฐบาลไทยยังไม่มีถ้อยแถลงอย่างเป็นทางการต่อมาตรการใหม่นี้ โดยแหล่งข่าวในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีเผยว่า หลายบริษัทในไทยกำลังเร่งประเมินผลกระทบและแนวทางปฏิบัติเพื่อให้สอดคล้องกับข้อกำหนดใหม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีแผนจัดตั้งหรือขยายศูนย์ข้อมูล AI ที่อาจต้องนำเข้าเซิร์ฟเวอร์ที่ติดตั้งชิปขั้นสูงจากต่างประเทศ
ข้อจำกัดใหม่นี้อาจส่งผลกระทบต่อแผนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน AI ในประเทศ ทั้งในภาครัฐและเอกชน โดยเฉพาะบริษัทด้านเทคโนโลยีที่ต้องพึ่งพาชิป AI ขั้นสูง เช่น H100 ของ Nvidia หรือ MI300X ของ AMD และการจำกัดการนำเข้า GPU จากสหรัฐฯ โดยอยู่ภายใต้โควตาแบบผ่อนปรน เช่น ไม่เกิน 50,000 หน่วยระหว่างปี 2025–2027 และจำเป็นต้องขอใบอนุญาตรายกรณีจากรัฐบาลสหรัฐฯ ซึ่งสร้างความไม่แน่นอนในการเชื่อมต่อกับเทคโนโลยีระดับโลก ซึ่งอาจกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติ และอาจทำให้บางบริษัทเลือกไปลงทุนในประเทศ Tier 1 อย่างสิงคโปร์หรือญี่ปุ่นแทน

อ้างอิงข้อมูล Bloomberg
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.thairath.co.th/money/tech_innovation/tech_companies/2870290