เจ้าหน้าที่ อะโปจี
ปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์แห่งกองบัญชาการอวกาศสหรัฐอเมริกามีวัตถุประสงค์เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ กับพันธมิตรในการป้องปรามการรุกรานในอวกาศ และธำรงไว้ซึ่งการเข้าถึงขอบเขตทางอวกาศอย่างเท่าเทียมสำหรับทุกประเทศ ในเดือนตุลาคม พ.ศ. 2567 โครงการดังกล่าวได้บรรลุความก้าวหน้าครั้งสำคัญตามเป้าหมาย โดยมีฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าร่วมเป็นสมาชิกเพิ่มเติม
การเข้าร่วมของพันธมิตรองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ หรือ นาโต ซึ่งมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดมาอย่างยาวนาน ท่ามกลางแนวโน้มด้านการทหารในอวกาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากจีนและรัสเซีย มีบทบาทสำคัญในการยกระดับความร่วมมือพหุภาคีด้านการป้องกันอวกาศ ประเทศที่เข้าร่วมปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา นิวซีแลนด์ และสหราชอาณาจักร
“จากการประเมินของเรา ความร่วมมือพหุภาคีถือเป็นปัจจัยสำคัญในการรักษาไว้ซึ่งความมั่นคงและการป้องกันในอวกาศ เนื่องจากไม่มีประเทศใดสามารถรับประกันการเข้าถึงและใช้อวกาศได้อย่างมั่นคงเพียงลำพัง” พล.ท. กุนเตอร์ ชไนเดอร์ ผู้อำนวยการใหญ่ฝ่ายยุทธศาสตร์และปฏิบัติการทางทหารแห่งกระทรวงกลาโหมเยอรมนี กล่าวระหว่างพิธีเปิดปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์ เมื่อกลางเดือนตุลาคม ณ กรุงเบอร์ลิน “ความพยายามร่วมกันของเราในฐานะพันธมิตรเพื่อเสริมสร้างความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ในอวกาศ ไม่เพียงช่วยให้เราเข้าใจขอบเขตทางอวกาศได้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเท่านั้น หากยังมีบทบาทสำคัญในการป้องปรามพฤติกรรมที่เป็นอันตรายหรืออาจนำไปสู่ความตึงเครียดของฝ่ายตรงข้าม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อฝ่ายนั้นตระหนักว่าทุกการกระทำของตนอยู่ภายใต้การสังเกตและการประเมินอย่างรอบคอบจากเรา”
พล.ต. ฟิลิป อดัม ผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศฝรั่งเศส เห็นพ้องกับแนวคิดดังกล่าว พร้อมระบุว่า การที่ฝรั่งเศสเข้าร่วมในโครงการนี้ “นับเป็นหมุดหมายสำคัญของการดำเนินปฏิบัติการทางทหารในอวกาศร่วมกับแนวร่วม และเป็นการส่งสารที่ชัดเจนถึงความเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันในเชิงยุทธศาสตร์กับพันธมิตรของเรา”

แม้ว่าจีนและรัสเซียจะยังคงเป็นต้นตอหลักของภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงในอวกาศ ทว่าประเทศอื่น ๆ เช่น อิหร่านและเกาหลีเหนือ ต่างก็กำลังเสริมสร้างขีดความสามารถในปฏิบัติการต่อต้านอวกาศเช่นเดียวกัน ตามรายงานเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยในสหรัฐฯ ภัยคุกคามที่พบ ได้แก่ อาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรง เลเซอร์ (หรืออุปกรณ์รบกวน) การรบกวนและการสวมรอยสัญญาณดาวเทียม การโจมตีทางไซเบอร์ และเครื่องปล่อยคลื่นไมโครเวฟกำลังสูง
อีกหนึ่งประเด็นที่น่ากังวลคือการที่อิหร่าน เกาหลีเหนือ และรัสเซียเริ่มกระชับความร่วมมือกันมากขึ้น อีกทั้งยังมีรายงานว่ารัฐบาลรัสเซียกำลังพัฒนาอาวุธต่อต้านอวกาศที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม จีนซึ่งกำลังเร่งพัฒนาขีดความสามารถทางอวกาศอย่างรวดเร็ว ยังคงเป็นคู่แข่งหลักของสหรัฐฯ ที่จำเป็นต้องจับตามองอย่างใกล้ชิด
สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ระบุว่า “จีนได้แสดงให้เห็นถึงขีดความสามารถด้านการต่อต้านอวกาศเกือบทุกด้านที่ระบุไว้ในรายงานฉบับนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้งานระบบรบกวนสัญญาณและระบบพลังงานโดยตรง การทดสอบอาวุธสกัดกั้นดาวเทียมแบบยิงตรง รวมถึงการทดลองเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องกับระบบอาวุธต่อต้านอวกาศในวงโคจร”
ในการประชุมสัมมนาอวกาศเมื่อเดือนเมษายน พ.ศ. 2567 ที่โคโลราโดสปริงส์
รัฐโคโลราโด พล.อ. สตีเฟน ไวทิง ผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ได้เน้นย้ำถึงความกังวลเหล่านี้ โดยกล่าวว่าจีนได้เพิ่มจำนวนดาวเทียมด้านข่าวกรอง การลาดตระเวน และการสอดแนมถึงสามเท่านับตั้งแต่ พ.ศ. 2561 อีกทั้งยังอยู่ระหว่างการพัฒนา “คิลเว็บเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อค้นหา ระบุตำแหน่ง ติดตาม และโจมตีขีดความสามารถทางทหารของสหรัฐฯ และพันธมิตร”
“ภัยคุกคามที่เราเคยพูดถึงกันมานานหลายปี บัดนี้ไม่ใช่เพียงแนวโน้มในเชิงทฤษฎีอีกต่อไปแล้ว” พล.อ. ไวทิงกล่าวในคำปราศรัยหลัก “ระบบเหล่านี้ได้นำมาใช้งานแล้วทั้งในอวกาศและบนพื้นโลก โดยขณะนี้มีหลายระบบที่กำลังปฏิบัติการรบจริงในจีนและรัสเซีย ภัยคุกคามเหล่านี้บั่นทอนทั้งวิถีชีวิตของเราในยุคปัจจุบัน รวมถึงความสามารถในการปกป้องประเทศของเราเอง และเราจำเป็นต้องสามารถป้องปรามและรับมือกับภัยคุกคามเหล่านี้ได้เมื่อถึงคราวจำเป็น เพื่อบรรลุความเป็นผู้นำในอวกาศ”

การประสานค่านิยมและปฏิบัติการให้สอดคล้องกัน
การที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีเข้าร่วมปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์ถือเป็นการส่งสัญญาณถึงฝ่ายที่มีเจตนารุกราน ว่าประชาคมระหว่างประเทศพร้อมยืนหยัดเพื่อปกป้องอวกาศและรับรองการเข้าถึงสำหรับทุกประเทศ นางมาเคนา ยัง นักวิจัยของโครงการความมั่นคงด้านอวกาศที่สถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ กล่าวกับอะโปจี
“สหรัฐอเมริกามีข้อได้เปรียบสำคัญเหนือจีนและรัสเซีย คือการมีพันธมิตร” นางยัง หนึ่งในผู้เขียนร่วมของการประเมินภัยคุกคามทางอวกาศของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ กล่าว “พันธมิตรมีบทบาทสำคัญในการเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่สหรัฐฯ และจุดยืนของเรา ทั้งยังเป็นการส่งสัญญาณถึงจีนและรัสเซียว่า ความสามารถของเราในการรับมือกับภัยคุกคามกำลังเติบโต โดยมีประเทศจำนวนมากที่ยึดถือค่านิยมเดียวกันและดำเนินปฏิบัติการในแนวทางเดียวกับเรา”
“การเข้าร่วมของประเทศต่าง ๆ อย่างเยอรมนีและฝรั่งเศส ซึ่งต่างก็พัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศของตนอย่างต่อเนื่อง มีส่วนช่วยในการขยายเครือข่ายของสหรัฐอเมริกาด้านความตระหนักรู้เท่าทันสถานการณ์ในอวกาศ อันจะนำไปสู่ความเข้าใจที่ลึกซึ้งยิ่งขึ้นเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมในอวกาศและพฤติกรรมของประเทศอื่น ๆ”
รัฐบาลฝรั่งเศสได้นำองค์ความรู้ด้านการทหารและเทคโนโลยีขั้นสูงมาสู่กองกำลังพหุชาติ จากการประเมินของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์พบว่า ฝรั่งเศสซึ่งได้จัดตั้งกองบัญชาการอวกาศใน พ.ศ. 2562 เป็นประเทศในยุโรปที่ “แสดงจุดยืนอย่างชัดเจนที่สุด” เกี่ยวกับเป้าหมายในการพัฒนาและนำอาวุธต่อต้านอวกาศมาใช้จริง
“ในเดือนเมษายน พ.ศ. 2566 กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสได้ประกาศกฎหมายการวางแผนทางทหาร พ.ศ. 2567 – พ.ศ. 2573 ซึ่งครอบคลุมแผนการพัฒนาขีดความสามารถในปฏิบัติการต่อต้านอวกาศระดับวงโคจร” ตามรายงานของสถาบันวิจัยนโยบายการต่างประเทศและยุทธศาสตร์ “โครงการเหล่านี้รวมถึงโครงการ “เลเซอร์ในวงโคจร” ที่มีชื่อว่า แฟลมเฮ และระบบเลเซอร์ต่อต้านภัยคุกคามภาคพื้นดินที่มีชื่อว่า บลูมเลซ ซึ่งทั้งสองโครงการมีเป้าหมายที่จะพร้อมใช้งานภายในสิ้นทศวรรษนี้ บทความที่กระทรวงกลาโหมฝรั่งเศสเผยแพร่เมื่อเดือนตุลาคม พ.ศ. 2566 ได้กล่าวถึงแผนการพัฒนาเครือข่ายดาวเทียมเชิงรุกในวงโคจรค้างฟ้า ดาวเทียมต้นแบบซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการเครือข่ายดาวเทียมดังกล่าว มีกำหนดการปล่อยขึ้นสู่วงโคจรภายใน พ.ศ. 2568″

เยอรมนีเองก็ได้ยกระดับความสำคัญของการป้องกันอวกาศอย่างต่อเนื่องเช่นเดียวกัน รัฐบาลกลางได้ยอมรับเป็นครั้งแรกในยุทธศาสตร์ความมั่นคงแห่งชาติ พ.ศ. 2565 ว่า อวกาศเป็น “มิติเชิงยุทธศาสตร์” ที่มีความสำคัญต่อการทหาร รายงาน “ความมั่นคงเชิงบูรณาการสำหรับเยอรมนี” ระบุว่า “ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อวกาศนอกโลกได้เข้ามามีบทบาทสำคัญยิ่งขึ้นต่อระบบความมั่นคงของเรา”
“การใช้งานอวกาศอย่างปลอดภัย โดยเฉพาะในด้านการสื่อสารผ่านดาวเทียม ระบบนำทาง และดาวเทียมสังเกตการณ์โลก ได้กลายเป็นองค์ประกอบที่ขาดไม่ได้ของการดำเนินชีวิตในภาคส่วนพลเรือน ในขณะเดียวกัน การใช้อวกาศเพื่อวัตถุประสงค์ทางทหารก็ทวีความสำคัญมากยิ่งขึ้นสำหรับกองทัพสมัยใหม่ ดังนั้น รัฐบาลกลางจึงให้ความสำคัญกับอวกาศในฐานะมิติเชิงยุทธศาสตร์มากยิ่งขึ้น พร้อมทั้งเดินหน้าขยายขีดความสามารถในด้านนี้อย่างต่อเนื่อง”
กระทรวงกลาโหมและกระทรวงการต่างประเทศของเยอรมนีได้เริ่มจัดทำร่างยุทธศาสตร์ความมั่นคงในอวกาศ รายงานของกระทรวงเศรษฐกิจและการดำเนินการด้านสภาพภูมิอากาศเมื่อเดือนกันยายน พ.ศ. 2566 ได้เน้นย้ำถึงความสำคัญเชิงยุทธศาสตร์ของอวกาศ โดยเสนอแนวทางในการพัฒนาขีดความสามารถด้านอวกาศของประเทศ พร้อมทั้งส่งเสริมความร่วมมือกับประเทศพันธมิตร
รายงานดังกล่าวระบุว่า “เรามีแผนที่จะยกระดับความร่วมมือเชิงยุทธศาสตร์กับพันธมิตรให้มากยิ่งขึ้น โดยมีเป้าหมายเพื่อปกป้องห่วงโซ่อุปทานระดับโลกของอุตสาหกรรมอวกาศจากการแทรกแซงที่ไม่ชอบด้วยกฎหมาย การจารกรรม … และการก่อวินาศกรรม” “ในความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนาของเราเกี่ยวกับเทคโนโลยีอวกาศที่มีความสำคัญและกำลังเกิดขึ้นใหม่ เราให้ความสำคัญเป็นพิเศษกับการปกป้องเทคโนโลยีเหล่านี้ ทั้งเพื่อประโยชน์ของความมั่นคงระหว่างประเทศ และเพื่อป้องกันไม่ให้เทคโนโลยีดังกล่าวถูกนำไปใช้ในทางที่ผิด”
ภารกิจที่สอดประสานกัน
กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลปฏิบัติการ
โอลิมปิกดีเฟนเดอร์ ได้แสดงจุดยืนสนับสนุนพัฒนาการเหล่านี้ พล.อ. ไวทิงกล่าวในพิธีที่กรุงเบอร์ลินว่า ความร่วมมือระหว่างประเทศคือกุญแจสำคัญในการรักษาความปลอดภัยและความมั่นคงในอวกาศ “การที่เยอรมนีเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนที่มีอุดมการณ์เดียวกัน ซึ่งกำลังเพิ่มจำนวนขึ้นอย่างต่อเนื่อง ยิ่งเป็นการเสริมสร้างขีดความสามารถร่วมของเราในการรับมือกับภัยคุกคามที่ทวีความรุนแรงขึ้นในขอบเขตอวกาศ และช่วยให้อวกาศยังคงเป็นพื้นที่ที่ปลอดภัยและมั่นคงสำหรับคนรุ่นต่อไป” พล.อ. ไวทิงกล่าว
ในทำนองเดียวกัน การเข้าร่วมของฝรั่งเศส “ได้สะท้อนถึงความมุ่งมั่นร่วมกันของเราที่จะปกป้องความปลอดภัยและความมั่นคงของขอบเขตอวกาศจากภัยคุกคามอันหลากหลายซึ่งทวีความรุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง” พล.อ. ไวทิงกล่าว

กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ
กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ให้นิยามปฏิบัติการโอลิมปิก
ดีเฟนเดอร์ว่าเป็น “ความร่วมมือพหุภาคีซึ่งมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของปฏิบัติการในอวกาศ เสริมสร้างความมั่นใจในการปฏิบัติภารกิจ ยกระดับความทนทานของระบบอวกาศ ประสานความพยายามในการป้องปรามภัยคุกคามจากผู้ไม่หวังดี และลดปริมาณเศษซากที่โคจรรอบโลก”
ในการประชุมสัมมนาที่รัฐโคโลราโด พล.อ. ไวทิงกล่าวว่า ปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์เปิดโอกาสให้ประเทศสมาชิกได้แลกเปลี่ยนข่าวกรอง ฝึกอบรม และวางแผนปฏิบัติการร่วมกัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อส่งสัญญาณให้ฝ่ายตรงข้ามตระหนักว่า “เรากำลังเฝ้าระวังร่วมกันตลอดเวลา”
“เราจะจัดการฝึกอบรมและการฝึกซ้อมร่วมกัน โดยจะมุ่งเน้นการพัฒนาระบบบัญชาการและควบคุม รวมถึงแผนปฏิบัติการต่าง ๆ พร้อมทั้งแสดงให้เห็นถึงความสามารถในการทำงานร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ” พล.อ. ไวทิง ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมพหุชาติภายใต้ปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์ กล่าว “เราจะยกระดับความสมบูรณ์ของระบบสังหารของฝ่ายมิตร เพื่อให้ผู้บัญชาการกองกำลังร่วมสามารถตัดสินใจได้รวดเร็วยิ่งขึ้น โดยอาศัยการเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างระบบเซ็นเซอร์เพื่อการยิงของฝ่ายเรา เราจะเปิดเผยเพื่อป้องปราม และปกปิดเพื่อคว้าชัย เรามีหน้าที่สร้างความลังเลในใจของฝ่ายตรงข้ามที่อาจเป็นภัย โดยการสร้างสถานการณ์ที่ซับซ้อนและสอดประสานกันหลายด้าน จนกลายเป็นภาวะกลืนไม่เข้าคายไม่ออก เพื่อให้ทุกเช้าเมื่ออีกฝ่ายลืมตาตื่นขึ้นมา พวกเขาจะต้องคิดว่า “วันนี้ยังไม่ใช่วันที่เหมาะแก่การทำสงคราม””
โครงการปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์ได้รับการจัดตั้งขึ้นภายใต้กองบัญชาการยุทธศาสตร์สหรัฐฯ เมื่อ พ.ศ. 2556 ก่อนจะเปลี่ยนผ่านไปสังกัดกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ซึ่งได้รับการจัดตั้งขึ้นใหม่ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2562 ในฐานะองค์กรอิสระ กองบัญชาการกองกำลังอวกาศผสมของกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ ทำหน้าที่กำกับดูแลปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์
เมื่อเดือนพฤษภาคม พ.ศ. 2563 พล.อ. จอห์น ดับเบิลยู. “เจย์” เรย์มอนด์ อดีตผู้บัญชาการกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ กล่าวว่า การผนวกปฏิบัติการโอลิมปิกดีเฟนเดอร์เข้ามาเป็นส่วนหนึ่ง ถือเป็น “หมุดหมายสำคัญของกองบัญชาการที่เพิ่งจัดตั้งขึ้นใหม่นี้”
“ท่ามกลางการพัฒนาอย่างต่อเนื่องของภัยคุกคามในอวกาศ การใช้ประโยชน์และการประสานขีดความสามารถกับพันธมิตรของเรา ทั้งเพื่อทำความเข้าใจมุมมองของแต่ละประเทศ และเพื่อให้สามารถปฏิบัติการร่วมกันได้อย่างไร้รอยต่อ จึงเป็นกุญแจสำคัญในการเสริมประสิทธิภาพของความร่วมมือด้านอวกาศในระดับพหุภาคี” พล.อ. เรย์มอนด์กล่าวในแถลงการณ์
เมื่อเดือนกรกฎาคม พ.ศ. 2562 สหราชอาณาจักรได้กลายเป็นหุ้นส่วนระหว่างประเทศรายแรกที่ประกาศเข้าร่วมในโครงการนี้ โดยบุคลากรของสหราชอาณาจักรได้รับมอบหมายให้ปฏิบัติงาน ณ ศูนย์ปฏิบัติการร่วมด้านอวกาศ และฝูงบินควบคุมอวกาศที่ 18 ณ ฐานทัพอากาศแวนเดนเบิร์ก รัฐแคลิฟอร์เนีย ออสเตรเลียและแคนาดาได้เข้าร่วมโครงการใน พ.ศ. 2563 ขณะที่นิวซีแลนด์เข้าร่วมในเดือนกันยายน พ.ศ. 2567
ในระหว่างการให้การต่อคณะกรรมาธิการทหารของวุฒิสภาสหรัฐฯ เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ. 2567 พล.อ. ไวทิงได้เน้นย้ำถึงความสำคัญของความร่วมมือพหุภาคี
“กองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันเหนือจีนและรัสเซีย ด้วยการระดมสินทรัพย์ที่มีอยู่จากหน่วยงานภายในประเทศ กองกำลังร่วม พันธมิตร ตลอดจนหุ้นส่วนจากภาคเอกชนและแวดวงวิชาการของสหรัฐฯ” พล.อ. ไวทิงกล่าว “ไม่มีหน่วยงาน กองทัพ กองบัญชาการ หรือแม้แต่ประเทศใดที่สามารถแบกรับทุกอย่างไว้ได้เพียงลำพัง เราจึงสร้างความร่วมมืออย่างกว้างขวางกับประเทศและองค์กรที่มีอุดมการณ์เดียวกัน เพื่อเสริมสร้างขีดความสามารถในการปฏิบัติภารกิจของเราให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด”
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในเดือนมีนาคม พ.ศ. 2568 ในนิตยสารอะโปจี ซึ่งจัดพิมพ์ โดยกองบัญชาการอวกาศสหรัฐฯ สำหรับพันธมิตรและหุ้นส่วน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านความมั่นคงในอวกาศของสหรัฐฯ และเป็นพื้นที่แสดงความคิดเห็นในระดับนานาชาติเพื่อรับมือกับความท้าทายด้านการป้องกันอวกาศระดับโลก
ที่มา : ipdefenseforum / วันที่เผยแพร่ 14 กรกฎาคม 2568
Link : https://ipdefenseforum.com/th/2025/07/ผนึกกำลัง-เพื่อ-การป้องก/