-
- เกิดการปะทะรอบใหม่ระหว่างกองกำลังฝ่ายรัฐบาลซีเรียกับกลุ่มติดอาวุธชาวดรูซ จนมีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก ทำให้กองทัพรัฐบาลต้องเข้าระงับเหตุ
-
-
แต่เหตุการณ์นี้ทำให้อิสราเอลตัดสินใจเปิดฉากโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรีย อ้างว่าทำเพื่อป้องกันชนกลุ่มน้อยชาวดรูซในซีเรีย ซึ่งเป็นมิตรกับชาวดรูซในอิสราเอล
-
-
-
ล่าสุดรัฐบาลซีเรียกับชาวดรูซบรรลุข้อตกลงหยุดยิงฉบับใหม่แล้ว แต่ผู้นำชาวดรูซบางคนประกาศจะยังไม่ยอมหยุดต่อสู้ ทำให้ต้องมาดูกันต่อว่า การหยุดยิงจะบังคับใช้ได้หรือไม่
-
เหตุความรุนแรงทางศาสนาระลอกใหม่ปะทุขึ้นในซีเรียอีกครั้ง ตอกย้ำเรื่องความมั่นคงอันเปราะบาง ในขณะที่รัฐบาลใหม่ของประเทศพยายามบังคับใช้อำนาจควบคุมดินแดนที่แตกออกเป็นหลายส่วน
ในวันอาทิตย์ที่ 13 ก.ค. มีรายงานว่าพ่อค้าจากชนกลุ่มน้อยชาวดรูซถูกลักพาตัวไป ทำให้เกิดการปะทะนองเลือดระหว่างกลุ่มติดอาวุธชาวดรูซ ซึ่งนับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์ กับกองกำลังชาวเบดูอิน ซึ่งนับถือนิกายสุหนี่ ในจังหวัดซูเวดา ทางตอนใต้ของซีเรีย
เหตุปะทะดังกล่าวทำให้รัฐบาลซีเรียตัดสินใจส่งทหารเข้าไปเพื่อระงับเหตุ และเกิดการปะทะกับชาวดรูซ และนั่นเป็นเหตุให้อิสราเอลดำเนินการโจมตีทางอากาศในซีเรียรอบใหม่ โดยอ้างว่าทำเพื่อปกป้องชาวดรูซ และกำจัดกองกำลังฝ่ายโปรรัฐบาลที่เป็นฝ่ายโจมตีชาวดรูซในซูเวดา
ชนกลุ่มน้อยชาวดรูซเป็นใคร ทำไมอิสราเอลจึงตัดสินใจโจมตีซีเรียเพื่อปกป้องคนกลุ่มนี้?
เกิดอะไรขึ้นในสัปดาห์ที่ผ่านมา?
กองทัพรัฐบาลซีเรียเข้าสู่จังหวัดซูเวดา ซึ่งเป็นที่มั่นของชุมชนชาวดรูซ ในวันอังคารที่ 15 ก.ค. 2568 หลังเกิดการปะทะกันระหว่างชาวดรูซกับชาวเบดูอินเมื่อช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา จุดประกายความกังวลว่าอาจจะเกิดการโจมตีชนกลุ่มน้อยอีกครั้ง
กระทรวงมหาดไทยของซีเรียระบุว่า มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 30 ศพและบาดเจ็บอีกเกือบ 100 คนในการปะทะกันดังกล่าว แต่องค์กรสังเกตการณ์เพื่อสิทธิมนุษยชนในซีเรีย (SOHR) อ้างว่า มีผู้เสียชีวิตในการปะทะอย่างน้อย 300 ศพนับตั้งแต่วันอาทิตย์ และบาดเจ็บอีกจำนวนมาก
การที่กองกำลังฝ่ายรัฐบาลเข้าร่วมการต่อสู้ด้วยในสัปดาห์นี้ ทำให้เกิดความกังวลในหมู่ชาวดรูซ จนบุคคลสำคัญของชุมชนออกมาเรียกร้องให้นานาชาติช่วยคุ้มครอง
อิสราเอล ซึ่งเคยประกาศว่าจะปกป้องชาวดรูซในซีเรีย เปิดฉากโจมตีทางอากาศเข้าใส่กองทัพรัฐบาลซีเรียที่กำลังมุ่งหน้าไปยังจังหวัดซูเวดา และประกาศกร้าวว่าจะโจมตีต่อไปเพื่อปกป้องชนกลุ่มน้อยกลุ่มนี้ ส่วนฝ่ายซีเรียประณามอิสราเอลว่าละเมิดอธิปไตยของประเทศของพวกเขา
นายทอม บาร์แรกค์ ทูตสหรัฐฯ ประจำซีเรีย กล่าวว่า การปะทะที่เกิดขึ้นสร้างความกังวลให้แก่ทุกฝ่าย และสหรัฐฯ กำลังพยายามฟื้นฟูความสงบสุข ทั้งสำหรับชาวดรูซ, ชาวเบดูอิน, รัฐบาลซีเรีย และกองทัพอิสราเอล
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวของซีเอ็นเอ็นกับเว็บไซต์ข่าวแอกซิออส (Axios) โพสต์ข้อความบน X อ้างการเปิดเผยของเจ้าหน้าที่สหรัฐฯ ผู้ไม่ประสงค์ออกนามนายหนึ่งว่า รัฐบาลทรัมป์ขอให้อิสราเอลหยุดการโจมตีกองทัพซีเรียในภาคใต้ ซึ่งเจ้าหน้าที่นายนี้บอกว่า อิสราเอลรับปากว่าจะหยุดโจมตีในช่วงเย็นวันอังคาร
แต่ในวันพุธ นายอิสราเอล คัตซ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของอิสราเอลออกมาขู่ว่า กองทัพอิสราเอลเพิ่มความเข้มข้นของการโจมตีกองทัพรัฐบาลซีเรียในจังหวัดซูเวดามากขึ้น หากพวกเขาไม่ถอนกำลังออกจากพื้นที่ ต่อมาในช่วงเย็นวันเดียวกัน อิสราเอลก็โจมตีทางอากาศเข้าใส่ตึกกระทรวงกลาโหมของซีเรีย กับพื้นที่ใกล้ทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงดามัสกัส จนมีผู้เสียชีวิตแล้วอย่างน้อย 3 ศพ
ชาวดรูซเป็นใคร?
ชาวดรูซคือชนกลุ่มน้อยชาวอาหรับ มีประชากรประมาณ 1 ล้านคน โดยกว่าครึ่งอาศัยอยู่ในซีเรีย ส่วนที่เหลือกระจายอยู่ในเลบานอนกับซีเรีย นับถือศาสนาอิสลามนิกายชีอะห์สาขาย่อยซึ่งกำเนิดขึ้นในอียิปต์ช่วงศตวรรษที่ 11 โดยอนุญาตให้นับถือได้โดยไม่ต้องเปลี่ยนความเชื่อ และห้ามการแต่งงานระหว่างคนต่างเชื้อชาติ, ศาสนา และสังคม
ในซีเรีย ชุมชนชาวดรูซรวมตัวกันอยู่ใน 3 จังหวัดติดกับที่ราบสูงโกลัน ซึ่งถูกอิสราเอลยึดไปหลังสงคราม 6 วันในปี 2510 โดยเฉพาะในจังหวัดซูเวดา ซึ่งชาวดรูซเป็นประชากรส่วนใหญ่ นอกจากนั้นยังมีชาวดรูซอีกราว 20,000 คน อาศัยอยู่ในที่ราบสูงโกลัน ร่วมกับชาวยิวราว 25,000 คน
อย่างไรก็ตาม ชาวดรูซที่โกลันส่วนใหญ่ระบุว่าตัวเองเป็นชาวซีเรีย และปฏิเสธสัญชาติอิสราเอลในตอนที่กองทัพอิสราเอลเข้ายึดพื้นที่ดังกล่าว โดยพวกเขารับเป็นบัตรผู้อยู่อาศัยในอิสราเอลแทน
ทำไมกองทัพซีเรียปะทะกับชาวดรูซ?
หลังจากโค่นล้มรัฐบาลของจอมเผด็จการ บาชาร์ อัล-อัสซาด ซึ่งปกครองซีเรียมาหลายสิบปี นายอาเหม็ด อัล-ชารา ซึ่งกลายเป็นประธานาธิบดีคนใหม่ของซีเรียได้ให้คำมั่นว่าจะปกป้องกลุ่มชาติพันธุ์ทุกกลุ่มในประเทศ แต่กองกำลังมุสลิมสุหนี่ซึ่งให้การสนับสนุนเขา ยังคงเผชิญหน้ากับชนกลุ่มน้อยต่างศาสนาอย่างต่อเนื่อง
ในเดือนมีนาคม มีผู้เสียชีวิตหลายร้อยศพระหว่างการปราบปรามชนเผ่าอาลาไวต์ เชื้อชาติเดียวกับนายอัสซาด ในจังหวัดลาตาเกีย ทางตะวันตกของประเทศ และในเดือนเมษายน ก็เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังฝ่ายโปรรัฐบาลใหม่ กับกลุ่มติดอาวุธชาวดรูซ ทำให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 100 ศพ
ปัญหาหลักที่ทำให้รัฐบาลใหม่ของซีเรียกับชาวดรูซไม่ลงรอยกันคือ การขอให้กลุ่มติดอาวุธชาวดรูซวางอาวุธ และผสานเข้ากับกองทัพ เนื่องจากนายอัล-ชารา ต้องการรวมกลุ่มติดอาวุธทั้งหมดภายใต้กองทัพเดียว แต่จนถึงตอนนี้พวกเขาก็ยังทำข้อตกลงกับชาวดรูซ ผู้ยืนยันว่าจะรักษากองกำลังอิสระเอาไว้ไม่ได้
ชาวดรูซยังคงไม่เชื่อใจรัฐบาลของอัล-ชารา แม้พวกเขาบางส่วนจะเคยต่อต้านรัฐบาลเผด็จการของอัสซาด แต่ตัวนายอัล-ชาราเองก็เคยเป็นผู้นำกลุ่มติดอาวุธอิสลามญิฮาดมาก่อน ชาวดรูซยังแสดงความกังวลด้วยว่า ผู้นำของพวกเขาถูกกีดกันออกจากการเจรจากับอัล-ชารา และถูกจำกัดการมีส่วนร่วมในรัฐบาลใหม่ โดยตอนนี้มีรัฐมนตรีชาวดรูซเพียง 1 คนเท่านั้น
ในวันพุธ รัฐบาลซีเรียอ้างว่า พวกเขาบรรลุข้อตกลงหยุดยิงใหม่กับชาวดรูซแล้ว หลังข้อตกลงฉบับก่อนพังทลายภายในไม่กี่ชั่วโมง โดยตามข้อตกลง พวกเขาจะหยุดปฏิบัติการทางทหาร ก่อตั้งคณะกรรมการสังเกตการณ์กับผู้นำชาวดรูซ และให้สมาชิกชุมชนเป็นผู้นำในการดูแลความมั่นคงของจังหวัดซูเวดา
นายยูสเซฟ จาร์บู หนึ่งในผู้นำทางจิตวิญญาณของชาวดรูซ ยืนยันว่ามีการบรรลุข้อตกลงจริง แต่นายฮิกมัต อัล-ฮิจรี ผู้นำคนสำคัญของชาวดรูซปฏิเสธการหยุดยิง และเรียกร้องให้ผู้สนับสนุนเขาต่อสู้ต่อไป
ทำไมอิสราเอลเข้าแทรกแซง?
ในวันอังคาร สำนักงานของนายกรัฐมนตรีเบนจามิน เนทันยาฮู แห่งอิสราเอล กล่าวว่า อิสราเอลมีพันธสัญญาที่จะป้องกันอันตรายต่อชาวดรูซในซีเรีย เนื่องจากความเป็นพี่น้องอย่างลึกซึ้งกับประชาชนชาวดรูซในอิสราเอล กับความคุ้นเคยและสายสัมพันธ์ทางประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับชาวดรูซในซีเรีย
ชาวดรูซในอิสราเอลกว่า 130,000 คน อาศัยอยู่ในภูมิภาคกาลิลี บริเวณภูเขาคาร์เมล ทางเหนือของประเทศ แต่สิ่งที่ตรงข้ามกับชนกลุ่มน้อยอื่นๆ ในอิสราเอลคือ ชายชาวดรูซที่มีอายุ 18 ปีขึ้น จะต้องเข้ารับใช้กองทัพ และมักไต่เต้าขึ้นสู่ตำแหน่งสูงได้ หรือไปสร้างอาชีพในหน่วยตำรวจและกองกำลังความมั่นคงอื่นๆ พวกเขาจึงถูกมองว่าเป็นผู้ภักดีต่อรัฐบาล
อิสราเอลยังประกาศแต่เพียงฝ่ายเดียว ตั้งเขตปลอดอาวุธในพื้นที่ทางใต้ของซีเรียซึ่งครอบคลุมที่อยู่ของชาวดรูซบางส่วน พร้อมทั้งห้ามนำทหารกับอาวุธเข้ามาในเขตดังกล่าว ซึ่งแน่นอนว่าซีเรียประกาศไม่ยอมรับ และร่วมกับประชาชนนานาชาติ เรียกร้องให้อิสราเอลยุติปฏิบัติการทางทหารที่ละเมิดอธิปไตยของซีเรีย
ก่อนหน้านี้ในวันอังคาร นายอัล-ฮิจรี เรียกร้องขอความคุ้มครองจากนานาชาติ จากการเผชิญหน้ากับปฏิบัติการป่าเถื่อนของรัฐบาลซีเรียกับกองกำลังพันธมิตรด้วยทุกวิธีการที่เป็นไปได้
แต่แถลงการณ์ที่ออกโดยผู้นำชาวดรูซคนอื่นๆ ต้อนรับการเข้าแทรกแซงของรัฐบาลซีเรียในจังหวัดซูเวดา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลใช้อำนาจของพวกเขา และขอให้กลุ่มติดอาวุธต่างๆ ในจังหวัดแห่งนี้ ส่งมอบอาวุธให้กองทัพ และเริ่มการเจรจากับรัฐบาล
ผู้เขียน : ทิตชนม์ สว่างศรี
ที่มา สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2870899