เหตุการณ์เกิดขึ้นในวันที่ร้อนระอุในเดือน ก.ค. ที่จุดข้ามแดนอิสลามกาลา-โดการูน (Islam Qala–Dogharoon) ซึ่งเป็นจุดบรรจบระหว่างชายแดนอิหร่านและอัฟกานิสถาน มีรถโดยสารจอดเทียบท่าทีละคัน ๆ ผู้โดยสารถูกปล่อยลงมา บุคคลเหล่านี้คือชาวอัฟกันที่ถูกบังคับให้ออกจากอิหร่านโดยไม่มีทางเลือก หลายคนยังคงมึนงง ท่ามกลางกระแสลมที่พัดแรง ฝุ่นฟุ้งปกคลุมไปทั่ว ทำให้ทัศนวิสัยแทบมองไม่เห็นอะไรเลย
กลางทะเลฝุ่นฟุ้ง เด็กสาววัยรุ่นคนหนึ่งเซถลาลงมาจากรถบัส เธอมองไปรอบ ๆ อย่างตกตะลึง ทันใดนั้นเธอก็กรีดร้องพลางทุบหัวและใบหน้าด้วยมือ “พระเจ้า” เธอร้องด้วยสำเนียงอิหร่าน “พระองค์ส่งฉันมาลงนรกอะไรกัน”
เธอเป็นชาวอัฟกัน แต่เธอไม่เคยเห็นอัฟกานิสถานมาก่อน เธอเกิดและเติบโตในอิหร่าน และเธอเป็นหนึ่งในหลายพันคนที่อยู่ในสถานการณ์เช่นนี้ แต่มาถึงตอนนี้ หลังเกิดสงครามระหว่างอิสราเอลและอิหร่านและความคลางแคลงใจที่เพิ่มสูงขึ้น กลุ่มผู้ลี้ภัยจึงถูกตราหน้าว่าเป็นสายลับและต้องถูกขับไล่ออกไป โดยพวกเขาถูกผลักดันข้ามพรมแดนไปยังดินแดนที่พวกเขาไม่เคยมีสิทธิเลือกหรือดินแดนที่พวกเขาไม่รู้จัก

Mohammad Balabuluki
ในบางวัน มีชาวอัฟกันราว 30,000-50,000 คนถูกขับไล่ออกจากอิหร่านและถูกทิ้งไว้ที่นี่ กลุ่มองค์กรช่วยเหลือบรรเทาทุกข์เตือนว่าจำนวนผู้ลี้ภัยอาจสูงถึง 4 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
นอกจากจะมีแดดจ้าที่มีอุณหภูมิสูงราว 43–45 องศาเซลเซียสแล้ว เต็นท์ของสำนักงานผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) และองค์กรพัฒนาเอกชนในท้องถิ่น สร้างขึ้นเพื่อรองรับผู้คน 7,000–10,000 คน เท่านั้น แต่ปัจจุบันกลับต้องรองรับผู้คนหลายหมื่นคน
โมฮัมหมัด บาลาบูลูกิ ช่างภาพชาวอัฟกัน อยู่ที่นั่นเพื่อบันทึกภาพและแบ่งปันสิ่งที่เขาพบเห็น ชายชราคนหนึ่งที่ถือไม้เท้ายืนอยู่ในมุมหนึ่งกล่าวว่า “ผมไปเดินเล่น พวกเขาจับผม พาผมไปที่ค่าย ตอนนี้ผมมาถึงแล้ว แม้แต่ภรรยาและลูกสาวของผมยังไม่รู้เลย”
เขาขอยืมโทรศัพท์ช่างภาพ แต่แล้วก็เงียบไป “ผมจำเบอร์ของเธอไม่ได้” เขาบ่นพึมพำ
ผู้ที่ถูกเนรเทศจำนวนมากยังคงมีซิมการ์ดอิหร่าน พวกเขาไม่รู้จักใครในอัฟกานิสถานเลย ส่วนใหญ่มาถึงโดยไม่มีเงิน ไม่มีข้าวของติดตัว บางคนบอกว่านายจ้างยังคงค้างค่าจ้างอยู่

Mohammad Balabuluki,ชาวอัฟกันที่ติดค้างอยู่ที่จุดผ่านแดนอิสลามกาลา-โดการูน ติดกับชายแดนอิหร่าน
คู่รักคู่หนึ่งกางผ้าห่มเพื่อบังแสงแดดให้กับเด็ก 4 คน พวกเขายืนตากแดดอยู่อย่างนั้น เหงื่อท่วมตัวอยู่หลายชั่วโมง เด็ก ๆ เหล่านั้นกอดกันแน่น ดวงตาเบิกกว้างด้วยความกลัว นี่เป็นช่วงเวลาแรก ๆ ของพวกเขาในอัฟกานิสถาน ที่ควรจะเป็น “บ้านเกิด” ของพวกเขา (แต่แรก)
ในบรรดาเด็กเหล่านั้น มีเด็กหญิงอายุประมาณ 8 หรือ 9 ขวบ กอดตุ๊กตาไว้แน่น “ตราบใดที่ฉันยังมีชีวิตอยู่” เธอกล่าว “ตุ๊กตาของฉันจะอยู่กับฉัน ตุ๊กตาของฉันเป็นชาวอิหร่าน ตอนนี้ฉันเป็นผู้อพยพ ดังนั้นเธอจึงต้องเป็นผู้อพยพด้วย”
หลายคนบอกว่า พวกเขาถูกกล่าวหาว่าเป็นสายลับอิสราเอล ไม่ใช่แค่ถูกกล่าวหาโดยเจ้าหน้าที่ แต่รวมถึงคนบนท้องถนนด้วย ผู้ถูกเนรเทศรายหนึ่งกล่าวว่า “เราทำงานเลี้ยงชีพด้วยการเป็นผู้ใช้แรงงาน ขุดบ่อน้ำ สร้างบ้าน ทำความสะอาดบ้าน เป็นสายลับสอดแนมหรือ ? นั่นไม่ใช่สิ่งที่เราเคยทำเลย”
ผู้อพยพอีกคนกล่าวเสริมว่า “การถูกเนรเทศเป็นเรื่องหนึ่ง แต่การถูกดูหมิ่น ถูกทุบตี และถูกทำร้าย นั่นต่างหากคือสิ่งที่ทำร้ายจิตใจเรา”
ด้วยการสนับสนุนจากทางการที่น้อยมาก ชาวบ้านในท้องถิ่นแถวนั้นจึงพยายามช่วยเหลือ พวกเขานำน้ำและอาหารมาให้ และมีบริการรับส่งไปยังเมืองใกล้เคียง แต่ปัญหานี้ใหญ่เกินไป อัฟกานิสถานกำลังจมอยู่กับความยากจน ภัยแล้ง และความหิวโหย และตอนนี้ก็มาถึงจุดนี้แล้ว

Mohammad Balabuluki,คู่รักนำผ้าห่มมากางบังแดดให้ลูก ๆ
โมฮัมหมัด บาลาบูลูกิ ช่างภาพชาวอัฟกานิสถาน ได้บันทึกภาพสถานการณ์ที่จุดข้ามแดนอิสลาม กาลา เมื่อถามว่า เขาเคยเห็นอะไรแบบนี้หรือไม่ เขาถึงกับสะอื้นไห้
“สองปีก่อน” เขากล่าว “ผมบันทึกภาพแผ่นดินไหวที่เฮรัต มีผู้เสียชีวิตเกือบ 2,000 คน แต่ครั้งนี้… การเห็นคนหลายพันคนถูกทอดทิ้งและหลงทางในที่ที่พวกเขาไม่รู้จักและไม่อยากจะอยู่ มันยิ่งเจ็บปวดกว่าอีก”
ที่มา BBC / วันที่เผยแพร่ 20 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cdxl72x9n1do