-
รัฐบาลไทยอนุมัติ “ร่างนโยบาย Landing Rights” เพื่อเปิดทางให้ดาวเทียมต่างชาติสามารถให้บริการในประเทศได้แล้ว
-
นโยบายนี้มีเป้าหมายเพื่อส่งเสริมการแข่งขันในอุตสาหกรรมอวกาศ ทำให้ประชาชนและภาคธุรกิจเข้าถึงบริการดาวเทียมคุณภาพสูงในราคาที่ถูกลง
-
บอร์ด กสทช. ได้เห็นชอบในหลักการของร่างประกาศใหม่ ซึ่งจะแยกใบอนุญาตออกเป็น 3 ประเภท คือ 1. ใบอนุญาต Landing Right 2. ใบอนุญาตขายความจุดาวเทียม 3. ใบอนุญาตตั้งสถานีภาคพื้นดิน
-
การแยกใบอนุญาตจะช่วยลดข้อจำกัดเดิมที่ใช้ระบบใบอนุญาตแบบ “เหมารวม” และรองรับดาวเทียมยุคใหม่ เช่น LEO (Low Earth Orbit) ได้ดีขึ้น
-
มีผู้ประกอบการดาวเทียมจากจีนอย่างน้อย 2 รายได้ยื่นความจำนงขอใบอนุญาตกับ กสทช. แล้ว
ประเทศไทยกำลังเดินหน้าสู่ยุคใหม่ของเทคโนโลยีอวกาศ ด้วยนโยบาย “เปิดเสรีดาวเทียม” ผ่านการอนุญาตให้ใช้บริการจากดาวเทียมต่างชาติ หรือที่เรียกว่า “Landing Right” ซึ่งถือเป็นก้าวสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอวกาศของประเทศ พร้อมสร้างทางเลือกใหม่ให้ประชาชน หน่วยงานรัฐ และภาคธุรกิจเข้าถึงเทคโนโลยีอวกาศได้อย่างทั่วถึง มีคุณภาพ และราคาที่แข่งขันได้
การประชุมคณะกรรมการนโยบายอวกาศแห่งชาติ (กนอช.) ครั้งล่าสุด นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เป็นประธาน ได้ให้ความเห็นชอบ “ร่างนโยบาย Landing Rights” และ “ร่างประกาศหลักเกณฑ์ระดับรัฐ” เพื่อประกอบการพิจารณาอนุญาตให้ดาวเทียมต่างชาติให้บริการในประเทศ
แนวทางใหม่นี้ไม่เพียงเปิดทางให้ผู้ให้บริการดาวเทียมสื่อสารจากต่างประเทศเข้ามาแข่งขันในตลาดไทย แต่ยังสะท้อนความตั้งใจของรัฐบาลที่ต้องการใช้เทคโนโลยีอวกาศเป็นเครื่องมือลดความเหลื่อมล้ำและยกระดับเศรษฐกิจ โดยเฉพาะในพื้นที่ห่างไกลที่ขาดแคลนโครงสร้างพื้นฐานด้านการสื่อสาร
นายประเสริฐ ระบุว่า การเข้าถึงเทคโนโลยีดาวเทียมจะเป็นอีกกลไกสำคัญในการจัดการภัยพิบัติ การพัฒนาเกษตรอัจฉริยะ รวมถึงการสร้างโครงสร้างพื้นฐานด้านข้อมูลขนาดใหญ่ (Big Data) และภูมิสารสนเทศที่จำเป็นต่อการวางแผนระดับประเทศ
อย่างไรก็ตาม นโยบายการเปิดเสรีดังกล่าวต้องดำเนินไปอย่างระมัดระวัง โดยเฉพาะในประเด็นด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และการแข่งขันที่เป็นธรรม ซึ่งเป็นภารกิจสำคัญของสำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)
ย้อนกลับไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2568 ที่ผ่านมา พล.อ.ท. ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการ กสทช. เปิดเผยถึงความคืบหน้าในการพิจารณาร่างประกาศใหม่ว่าด้วยการอนุญาตใช้ดาวเทียมต่างชาติ ว่า กสทช.ได้เห็นชอบในหลักการของร่างประกาศ แต่ขอให้สำนักงานจัดทำบทวิเคราะห์ผลกระทบด้านความมั่นคง เศรษฐกิจ และสังคมให้ชัดเจนภายใน 45 วัน ก่อนนำเข้าสู่การพิจารณารอบสุดท้าย
โดยร่างประกาศฉบับใหม่นี้จะเป็นการ “แยก” การอนุญาตออกเป็น 3 ใบอนุญาต ได้แก่
- ใบอนุญาต Landing Right สำหรับใช้ช่องสัญญาณดาวเทียมต่างชาติในประเทศ
- ใบอนุญาตสำหรับให้บริการขายความจุดาวเทียม
- ใบอนุญาตสำหรับการใช้คลื่นความถี่ ตั้งสถานีวิทยุคมนาคม และอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้อง
แนวทางดังกล่าวจะช่วยลดข้อจำกัดเดิมที่ใช้ระบบ “เหมารวม” ในใบอนุญาตเพียงใบเดียว ซึ่งไม่สอดคล้องกับสภาพการแข่งขันปัจจุบันที่ดาวเทียมกลุ่มใหม่ เช่น LEO (Low Earth Orbit) จากต่างประเทศเริ่มแสดงความสนใจเข้าสู่ตลาดไทย โดยเฉพาะจากจีนที่มีผู้ประกอบการแล้วถึง 2 รายยื่นความจำนงขออนุญาตกับ กสทช.
การผลักดันเรื่อง Landing Right ไม่ได้เกิดขึ้นโดยลำพัง แต่เป็นความพยายามประสานกันระหว่างฝ่ายนโยบายระดับรัฐผ่าน กนอช. และฝ่ายกำกับดูแลผ่าน กสทช. เพื่อให้เกิดความสอดคล้อง ทั้งด้านกฎหมาย กฎระเบียบ และการคุ้มครองผลประโยชน์ของประเทศในภาพรวม
แหล่งข่าวจากบอร์ด กสทช. ระบุว่า การเปิดเสรีดาวเทียมถือเป็น “ทางรอด” ของอุตสาหกรรมที่กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้าง โดยการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นจะนำไปสู่บริการที่ดีขึ้น ราคาถูกลง และครอบคลุมทุกพื้นที่ ซึ่งเป็นเป้าหมายสำคัญของรัฐในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการสื่อสาร
ควบคู่ไปกับเรื่อง Landing Right รัฐบาลยังเตรียมเสนอแผนแม่บทอวกาศแห่งชาติฉบับใหม่ต่อคณะรัฐมนตรี โดยปรับปรุงจากข้อเสนอแนะของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สดช.) เพื่อวางกรอบยุทธศาสตร์ด้านอวกาศของไทยให้ชัดเจนยิ่งขึ้นในอนาคต
ขณะเดียวกัน ความร่วมมือกับนานาชาติก็มีความเคลื่อนไหวต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นการเตรียมลงนามในความตกลงอาร์เทมิส (Artemis Accords) หรือความร่วมมือไทย-จีนในการจัดตั้งสถานีวิจัยนานาชาติบนดวงจันทร์
ทั้งหมดนี้สะท้อนว่า “อุตสาหกรรมอวกาศ” ไม่ใช่เรื่องของอนาคตอีกต่อไป แต่คือโอกาสของปัจจุบัน ที่ต้องอาศัยนโยบายเปิดกว้างและกลไกกำกับดูแลที่ยืดหยุ่น เพื่อให้เทคโนโลยีจากเบื้องบนส่งผลลัพธ์ที่จับต้องได้ในชีวิตของคนไทยเบื้องล่างทุกคน.
ที่มา กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 21 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/tech/gadget/1190354