
ในโลกของการทูตที่ซับซ้อนและละเอียดอ่อน มีถ้อยคำหนึ่งที่ทรงพลังและเปี่ยมด้วยความหมายแฝง นั่นคือ “Persona Non Grata” (เพอร์โซนา น็อง กราตา) ซึ่งเป็นภาษาละตินที่แปลตรงตัวว่า “บุคคลไม่พึงปรารถนา”
ถ้อยคำนี้ไม่ได้เป็นเพียงคำกล่าวอ้างธรรมดา แต่เป็นมาตรการทางการทูตอย่างรุนแรงที่สุดมาตรการหนึ่งที่ประเทศผู้รับสามารถใช้ขับไล่นักการทูต หรือเจ้าหน้าที่ทางการทูตออกจากประเทศ มาตรการนี้สะท้อนถึงความสัมพันธ์ที่ร้าวฉานระหว่างประเทศ และมักเป็นสัญญาณบ่งชี้ถึงวิกฤติการณ์ทางการทูตที่อาจบานปลายได้
หลักการของ Persona Non Grata มีรากฐานมาจาก อนุสัญญากรุงเวียนนาว่าด้วยความสัมพันธ์ทางการทูตฉบับปี 2504 ซึ่งเป็นสนธิสัญญาระหว่างประเทศที่วางรากฐานทางกฎหมายสำหรับการดำเนินงานทางการทูตทั่วโลก แม้อนุสัญญากรุงเวียนนาจะให้เอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูตแก่นักการทูต เพื่อให้สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้อย่างอิสระโดยปราศจากการแทรกแซง แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักการทูตจะอยู่เหนือกฎหมายโดยสิ้นเชิง
มาตรา 9 ของอนุสัญญากรุงเวียนนาระบุไว้อย่างชัดเจนว่า “รัฐผู้รับอาจในเวลาใดก็ได้ โดยไม่จำต้องให้เหตุผลของการตัดสินใจของตน แจ้งให้รัฐผู้ส่งทราบว่าหัวหน้าคณะผู้แทนหรือสมาชิกใด ๆ ของคณะเจ้าหน้าที่ทางการทูตของคณะผู้แทน เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา ( persona non grata ) หรือว่าสมาชิกอื่นใดของคณะเจ้าหน้าที่ของคณะผู้แทน เป็นบุคคลที่ไม่อาจยอมรับได้ ในกรณีเช่นว่านั้น รัฐผู้ส่งจะต้องเรียกบุคคลที่เกี่ยวข้องกลับ หรือยุติหน้าที่ของบุคคลนั้นในคณะผู้แทนตามที่เหมาะสม
ข้อความดังกล่าวคือหัวใจสำคัญของหลักการ Persona Non Grata ว่ารัฐผู้รับไม่จำเป็นต้องให้เหตุผลในการตัดสินใจ ซึ่งเป็นข้อที่แสดงถึงอำนาจอธิปไตยของประเทศแห่งนั้น ในการควบคุมและจัดการกับนักการทูตต่างชาติที่พำนักอยู่ในอาณาเขตของตน
การประกาศ Persona Non Grata มักเกิดขึ้นจากเหตุผลที่หลากหลายและซับซ้อน ซึ่งโดยทั่วไปแล้วสามารถแบ่งออกได้เป็นหลายประเภท อาทิ การละเมิดกฎหมายของประเทศผู้รับ เนื่องจากแม้จะมีเอกสิทธิทางการทูต แต่ก็ไม่ได้หมายความว่านักการทูตจะสามารถกระทำความผิดทางอาญาได้อย่างอิสระ
การก่ออาชญากรรมร้ายแรง เช่น การค้ายาเสพติด การฟอกเงิน การจารกรรม หรือแม้แต่การขับขี่รถยนต์โดยประมาทจนเป็นเหตุให้ผู้อื่นถึงแก่ความตาย ล้วนเป็นเหตุผลที่นำไปสู่การประกาศ Persona Non Grata หรือบุคคลไม่พึงปรารถนาได้ แม้นักการทูตจะได้รับการคุ้มกันจากการถูกดำเนินคดีในศาลท้องถิ่น แต่รัฐผู้รับก็ยังคงมีอำนาจ ในการขับไล่หรือเนรเทศบุคคลเหล่านั้นออกนอกประเทศ
การแทรกแซงกิจการภายในของประเทศผู้รับ นักการทูตมีหน้าที่ส่งเสริมความสัมพันธ์อันดีระหว่างประเทศ แต่การกระทำที่ก้าวล่วงหรือแทรกแซงกิจการภายในของประเทศผู้รับ เช่น การสนับสนุนกลุ่มการเมืองฝ่ายตรงข้าม การเผยแพร่ข้อมูลอันเป็นเท็จหรือบิดเบือนเพื่อสร้างความแตกแยกภายใน หรือการเข้าไปยุ่งเกี่ยวกับการเลือกตั้ง ล้วนเป็นพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมและอาจนำไปสู่การเป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา

สถานเอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงพนมเปญ ประเทศกัมพูชา
พฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมหรือก้าวร้าว ในหลายกรณี การที่รัฐผู้รับประกาศให้นักการทูตคนหนึ่งมีสถานะ Persona Non Grata อาจไม่ได้เกิดจากการกระทำความผิดทางกฎหมายร้ายแรง แต่เป็นผลมาจากพฤติกรรมส่วนตัวของนักการทูตที่ไม่เหมาะสมหรือไม่เคารพขนบธรรมเนียม ประเพณี หรือกฎระเบียบทางสังคมของประเทศผู้รับ เช่น การแสดงออกที่ดูหมิ่นดูแคลนผู้นำประเทศ การไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอย่างต่อเนื่อง หรือการมีพฤติกรรมที่สร้างความเดือดร้อนต่อสาธารณะ
อย่างไรก็ตาม บ่อยครั้งที่การประกาศสถานะบุคคลไม่พึงปรารถนา เป็นส่วนหนึ่งของมาตรการตอบโต้ระหว่างประเทศ ตัวอย่างเช่น หากประเทศ ก. ประกาศว่านักการทูตจากประเทศ ข. เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา ประเทศ ข. มักตอบโต้ด้วยการประกาศให้นักการทูตจากประเทศ ก. ซึ่งมีตำแหน่งเดียวกันหรือใกล้เคียงกัน เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาเช่นกัน การตอบโต้แบบนี้มักเกิดขึ้นเมื่อความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศตึงเครียดขึ้นเรื่อย ๆ โดยอาจเริ่มต้นจากความขัดแย้งทางการเมือง การกล่าวหาเรื่องการจารกรรม หรือกรณีอื่น
นอกจากนั้น นักการทูตมีข้อจำกัดบางประการในการปฏิบัติหน้าที่ เช่น การจำกัดขอบเขตการเดินทางภายในประเทศ หรือการห้ามเข้าถึงพื้นที่ความมั่นคง หากมีการละเมิดข้อจำกัดเหล่านี้ อาจนำไปสู่การถูกประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนาได้

สถานเอกอัครราชทูตกัมพูชา กรุงเทพมหานคร ประเทศไทย
เมื่อรัฐผู้รับตัดสินใจประกาศให้นักการทูตของประเทศหนึ่งเป็น Persona Non Grata รัฐผู้รับจะแจ้งให้รัฐผู้ส่งทราบอย่างเป็นทางการ รัฐผู้ส่งมีหน้าที่ต้องเรียกบุคคลดังกล่าวกลับประเทศ หรือยุติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่การทูตคนนั้นในคณะผู้แทนภายในระยะเวลาที่กำหนด ซึ่งโดยทั่วไปแล้วจะอยู่ที่ 24 ถึง 48 ชั่วโมง หรืออาจนานกว่านั้นขึ้นอยู่กับสถานการณ์
หากรัฐผู้ส่งไม่ปฏิบัติตาม รัฐผู้รับสามารถปฏิเสธที่จะยอมรับบุคคลนั้นในฐานะสมาชิกของคณะผู้แทนทางการทูตอีกต่อไป ซึ่งหมายความว่าบุคคลนั้นจะสูญเสียเอกสิทธิและความคุ้มกันทางการทูต และจะถูกปฏิบัติเสมือนพลเมืองต่างชาติทั่วไปที่อาจถูกจับกุมเพื่อดำเนินคดีหรือเนรเทศได้
ผลที่ตามมาของการประกาศ Persona Non Grata นั้นมีน้ำหนักมากในทางการทูตระหว่างประเทศ เนื่องจากไม่เพียงแต่เป็นการยุติบทบาทของนักการทูตคนนั้นในประเทศผู้รับเท่านั้น แต่ยังส่งผลกระทบอย่างใหญ่หลวงต่อความสัมพันธ์ระหว่างประเทศผู้รับและประเทศผู้ส่ง
การประกาศ Persona Non Grata เป็นสัญญาณที่ชัดเจนว่าความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างทั้งสองประเทศกำลังอยู่ในภาวะวิกฤติ อาจนำไปสู่การลดระดับความสัมพันธ์ หรือแม้แต่การยุติความสัมพันธ์ทางการทูตในกรณีร้ายแรงที่สุด แล้วอาจลุกลามจนเกิดผลกระทบต่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนระหว่างประเทศ
ขณะที่นักการทูตของประเทศแห่งใดก็ตาม ซึ่งถูกประเทศผู้รับประกาศให้เป็นบุคคลไม่พึงปรารถนา อาจส่งผลเสียต่อภาพลักษณ์ของประเทศผู้ส่งในสายตาของประชาคมโลก โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากสาเหตุเกิดจากการกระทำผิดร้ายแรง
ตลอดประวัติศาสตร์ มีกรณีการประกาศ Persona Non Grata เกิดขึ้นมากมาย ซึ่งแต่ละกรณีก็สะท้อนถึงความผันผวนของภูมิรัฐศาสตร์โลก เช่น ในสมัยสงครามเย็น สหรัฐและสหภาพโซเวียตประกาศให้นักการทูตของอีกฝ่ายมีสถานะดังกล่าวหลายคนและหลายกรณีมาก โดยส่วนใหญ่เป็นข้อกล่าวหาเรื่องการจารกรรมและปฏิบัติการลับ
ในเดือนพ.ย. 2552 ความสัมพันธ์ระหว่างไทยกับกัมพูชาตึงเครียดขึ้นอย่างมาก เมื่อสมเด็จ ฮุน เซน นายกรัฐมนตรีกัมพูชาในเวลานั้น แต่งตั้งนายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรีของไทย เป็นที่ปรึกษาทางเศรษฐกิจ และปฏิเสธที่จะส่งตัวกลับมาดำเนินคดีในประเทศไทย
รัฐบาลไทยของนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ มองว่าเรื่องนี้เป็นการแทรกแซงกระบวนการยุติธรรมและเป็นการไม่เคารพต่ออำนาจอธิปไตยของไทย เพื่อเป็นการตอบโต้ ไทยจึงเรียกเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญกลับประเทศ ด้านกัมพูชาได้ตอบโต้ด้วยการเรียกเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยกลับเช่นกัน
ในเวลาต่อมา กัมพูชาได้ประกาศให้เลขานุการเอกของสถานเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญเป็น Persona Non Grata และสั่งให้เดินทางออกจากประเทศภายใน 48 ชั่วโมง โดยอ้างว่ามีพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมต่อสถานะทางการทูต ซึ่งไทยได้ตอบโต้ด้วยการประกาศให้เลขานุการเอกของสถานเอกอัครราชทูตกัมพูชาประจำประเทศไทยเป็น Persona Non Grata และสั่งให้เดินทางออกนอกประเทศเช่นกัน
ล่าสุด เมื่อวันที่ 23 ก.ค. 2568 นายภูมิธรรม เวชยชัย รักษาการนายกรัฐมนตรีไทย สั่งให้เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงพนมเปญเดินทางกลับ และขับเอกอัครราชทูตกัมพูชาออกจากราชอาณาจักร ท่ามกลางบรรยากาศตึงเครียดรอบใหม่ตามแนวชายแดน จากการที่ทหารไทยได้รับบาดเจ็บสาหัสจากการเหยียบกับระเบิดแล้วสองกรณี
การประกาศ Persona Non Grata หรือ บุคคลไม่พึงปรารถนา เป็นเครื่องมือที่ทรงอิทธิพลในการดำเนินความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ เป็นการแสดงออกถึงอำนาจอธิปไตยของรัฐผู้รับ แม้เป็นการกระทำที่รุนแรงและมักนำไปสู่ความตึงเครียดทางการทูต แต่ในหลายกรณีที่การใช้มาตรการลักษณะนี้เป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าการขับเคลื่อนความสัมพันธ์ระหว่างประเทศจะดำเนินไป ภายใต้กรอบของกฎหมายและความเคารพซึ่งกันและกัน และคงไว้ซึ่งหลักการพื้นฐานของการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ บนเวทีระหว่างประเทศ
ในฐานะที่เป็นส่วนหนึ่งของภาษาทางการทูต Persona Non Grata จะยังคงเป็นคำที่เปี่ยมด้วยความหมายและสะท้อนถึงสถานะของความสัมพันธ์ระหว่างประเทศต่อไป เป็นการย้ำเตือนว่าแม้แต่ในโลกแห่งการทูตที่เน้นการเจรจาและการประนีประนอม ก็ยังมีขีดจำกัดที่หากถูกก้าวล่วงแล้ว อาจนำมาซึ่งผลกระทบที่ร้ายแรงและไม่อาจย้อนกลับได้.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES