- เจ้าหน้าที่กลาโหมของ UK ทำข้อมูลลับจำนวนมากรั่วไหล เป็นรายชื่อชาวอัฟกันที่เคยร่วมมือกับสหราชอาณาจักรต่อสู้กับกลุ่มตาลีบัน และตอนนี้พวกเขากำลังเสี่ยงต่อการถูกล้างแค้น
- การรั่วไหลของข้อมูลนี้ทำให้สหราชอาณาจักรต้องดำเนินแผนการโยกย้ายถิ่นฐานของชาวอัฟกันที่ได้รับผลกระทบมายังสหราชอาณาจักร ซึ่งคาดกันว่าจะต้องใช้ภาษีของประชาชนหลายแสนล้านบาท
- UK ปกปิดข้อมูลเรื่องเหตุรั่วไหลครั้งนี้มานานกว่า 3 ปี จนกระทั่งมีการเปิดเผยเมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ในขณะที่ชาวอัฟกันกว่า 1,000 คน ร่วมกันยื่นฟ้องรัฐบาล เพื่อเรียกร้องค่าเสียหายแล้ว
ความปลอดภัยของชาวอัฟกานิสถานหลายหมื่นหรืออาจจะถึงหลักแสนคนกำลังตกอยู่ในความเสี่ยง หลังจากกองทัพ UK ทำข้อมูลขนาดใหญ่ที่รัฐบาลพยายามจะเก็บเป็นความลับรั่วไหลออกไปโดยไม่ตั้งใจ
รายละเอียดเกี่ยวกับความผิดพลาดนั้นเพิ่งได้รับการเปิดเผยต่อสาธารณะเมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (15 ก.ค.) ถึงแม้ว่าเหตุการณ์นี้จะเกิดขึ้นมานานกว่า 3 ปีแล้วก็ตาม
ประเมินกันว่า มูลค่าความเสียหายต่อผู้เสียภาษีจากเหตุการณ์นี้อาจสูงถึงหลายพันล้านปอนด์ เนื่องจากรัฐบาลต้องจ่ายเงินเพื่อย้ายที่อยู่ให้ชาวอัฟกานิสถานหลายพันที่มีชื่ออยู่ในข้อมูลที่รั่วไหล
การรั่วไหลที่ว่าเกิดขึ้นได้อย่างไร เหตุมันจึงถูกปกปิดมานานขนาดนี้ ใครได้รับผลกระทบบ้าง และความเสียหายมากมายเพียงใด?

เซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์
การรั่วไหลเกิดจากความผิดพลาด
เจ้าหน้าที่กองทัพผู้ไม่มีการเปิดเผยนามนายหนึ่ง แชร์อีเมลจำนวนหลายฉบับที่มีชื่อและข้อมูลอื่นๆ ของชาวอัฟกานิสถานจำนวน 18,714 คน ที่ยื่นขอเข้าร่วมโครงการย้ายถิ่นของสหราชอาณาจักรในปี 2565 ออกไปโดยไม่ได้ตั้งใจ
เมื่อรวมกับสมาชิกครอบครัวของผู้ที่ถูกระบุชื่อเข้าไปแล้ว จำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบอาจสูงถึง 100,000 คน
เจ้าหน้าที่รายนี้ส่งอีเมลออกไปเพื่อยืนยันความถูกต้องของข้อมูล โดยเชื่อว่าตัวเองส่งข้อมูลออกไปเพียง 150 รายการ แต่ในความเป็นจริงข้อมูลที่เขาหรือเธอผู้นี้ส่งออกไปมีมากถึง 33,000 รายการ
แผนการย้ายถิ่นของ UK คือการให้ผู้ที่ทำงานร่วมกับกองทัพสหราชอาณาจักรทำสงครามกับกลุ่มตาลีบันระหว่างปี 2544-2564 และเสี่ยงถูกตาลีบันล้างแค้นเอาคืนหากอยู่ในอัฟกานิสถานเนื่องจากกลุ่มตาลีบันกลับมาครองอำนาจอีกครั้งในปี 2564 ได้ลี้ภัยไปสหราชอาณาจักร
ตาลีบันถือว่าผู้ใดก็ตามที่ทำงานกับกองกำลังต่างชาติตลอด 2 ทศวรรษที่ผ่านมา คือผู้ทรยศ
ล่าสุดในวันพฤหัสบดี (17 ก.ค.) มีการเปิดเผยว่า ชื่อของเจ้าหน้าที่หน่วยปฏิบัติการพิเศษทางอากาศ (SAS) ของ UK กับสมาชิกหน่วยข่าวกรอง MI6 จำนวนมากกว่า 100 คน ก็รั่วไหลไปพร้อมกันด้วย
ทำไมเรื่องเพิ่งเปิดเผยในตอนนี้
การรั่วไหลของข้อมูลถูกพบครั้งแรกโดยกองทัพสหราชอาณาจักรในเดือนสิงหาคม 2566 ตอนที่ผู้ใช้งานเฟซบุ๊กนิรนามผู้หนึ่งโพสต์ข้อมูลจำนวนเล็กน้อยที่ตัดทอนมา
ต่อมาในเดือนกันยายน ปีเดียวกัน ศาลสูงอังกฤษมีคำสั่งคุ้มครองพิเศษไม่ให้เปิดเผยข้อมูลนี้ หลังจากรัฐบาลยื่นคำร้องขอ หมายความว่า สื่อจะไม่สามารถรายงานข่าวเรื่องการรั่วไหลนี้ได้
รัฐบาลอังกฤษระบุว่า พวกเขาขอให้ศาลมีคำสั่งคุ้มครองก็เพื่อไม่ให้ข่าวนี้แพร่ไปถึงหูของกลุ่มตาลีบัน แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่แน่ชัดว่า ตาลีบันได้ข้อมูลนี้ไปอยู่ในมือแล้วหรือไม่ มีเพียงกระทรวงกลาโหมของอังกฤษออกมาบอกว่า พวกเขาเสียการควบคุมข้อมูลไปแล้วเท่านั้น
รัฐบาลพรรคแรงงานของเซอร์ เคียร์ สตาร์เมอร์ เข้ามารับช่วงต่อการดูแลกรณีข้อมูลรั่วไหลนี้ และคงคำสั่งคุ้มครองเด็ดขาดเอาไว้ ก่อนที่คำสั่งจะถูกยกเลิกในวันอังคารที่ผ่านมา (15 ก.ค.) ทำให้สื่อสามารถรายงานเรื่องการรั่วไหลของข้อมูลนี้ได้เป็นครั้งแรก
นายจอห์น ฮีลลีย์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร บอกกับ แมตต์ บาร์เบต นักข่าวของ สกาย นิวส์ ว่าเขารู้สึกไม่สบายใจอย่างยิ่งกับการที่รัฐบาลใช้คำสั่งคุ้มครองพิเศษ แต่เชื่อว่าพรรคแรงงานมองว่ามีความจำเป็นที่จะต้องคงคำสั่งเอาไว้ในตอนที่พวกเขาขึ้นสู่อำนาจ เพื่อประเมินความเสี่ยงในการเผยแพร่เรื่องนี้เสียก่อน

ชาวอัฟกันโดยสารเครื่องบินของกองทัพสหรัฐฯ ออกจากอัฟกานิสถาน ในวันที่ 19 ส.ค. 2564 หลังตาลีบันกลับมาครองอำนาจ
ทำไมคำสั่งคุ้มครองพิเศษถูกยกเลิก?
ผู้พิพากษาศาลสูงมีคำตัดสินว่า คำสั่งคุ้มครองนี้สามารถถูกยกเลิกได้โดยขึ้นอยู่กับสิ่งที่การสืบสวนภายในของนาย พอล ริมเมอร์ ซึ่งเริ่มตั้งแต่ต้นปีนี้ค้นพบ ซึ่งสุดท้ายตรวจสอบลดความเสี่ยงที่ผู้ที่มีชื่อในข้อมูลรั่วไหลแม้รายชื่อจะตกไปสู่มือของกลุ่มตาลีบัน
การตรวจสอบระบุว่า ไม่น่าที่จะมีความเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญเกิดขึ้นต่อบุคคลที่ตัวตนถูกเปิดเผย เมื่อดูจากจำนวนของข้อมูลที่มี และผู้ที่อยู่ในข้อมูลไม่น่าจะตกเป็นเป้าหมายการโจมตี เช่นเดียวกับสมาชิกครอบครัวของพวกเขา
นายริมเมอร์กล่าวอีกว่า ตอนนี้ กรณีการรั่วไหลและแผนการที่ตามมาเพื่อนำผู้ที่ตกอยู่ในความเสี่ยงเข้าสู่สหราชอาณาจักร กำลังเผชิญกับการตรวจสอบอย่างละเอียดและการหาผู้ที่ต้องรับผิดชอบอย่างเหมาะสม
มูลค่าความเสียหายเท่าใด?
เมื่อปี 2566 รัฐบาล UK จัดตั้งแผนการย้ายถิ่นแผนที่ 2 สำหรับชาวอัฟกันที่ได้รับผลกระทบจากการรั่วไหลของข้อมูล แต่ไม่มีสิทธิ์เข้าร่วมแผนการย้ายถิ่นแผนแรก โดยกระทรวงกลาโหมระบุว่า งบประมาณที่ใช้ไปกับการโยกย้ายถิ่น ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับเหตุข้อมูลรั่วไหล ตอนนี้อยู่ที่ประมาณ 850 ล้านปอนด์ (ราว 3.7 หมื่นล้านบาท)
เอกสารภายในของรัฐบาลอังกฤษตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ปีนี้ระบุว่า ค่าใช้จ่ายอาจเพิ่มขึ้นเป็น 7 พันล้านปอนด์ (ราว 3.05 แสนล้านบาท) แต่โฆษกกระทรวงกลาโหมระบุว่า นั่นเป็นตัวเลขเก่าแล้ว เพราะหลังจากนั้นรัฐบาลได้ลดจำนวนชาวอัฟกันที่จะถูกย้ายถิ่นฐาน
อย่างไรก็ตาม เงินภาษีที่ต้องจ่ายไปกับแผนการย้ายถิ่นฐานที่มีอยู่ เพื่อช่วยเหลือชาวอัฟกานิสถานที่มีสิทธิ์รับการสนับสนุนจาก UK รวมถึงค่าใช้จ่ายเพิ่มเติมจากการรั่วไหลของข้อมูล จะอยู่ที่อย่างน้อย 6 พันล้านปอนด์ (ราว 2.62 แสนล้านบาท) และนี่ยังไม่รวมความเสียหายจากการฟ้องร้องของผู้ที่ตัวตนถูกเปิดเผยด้วย

ชาวอัฟกันอพยพแล้วกี่คน
ตอนนี้มีชาวอัฟกานิสถานประมาณ 5,400 คนที่ได้รับจดหมายเชิญให้บินมายังสหราชอาณาจักรภายในไม่กี่สัปดาห์ข้างหน้า ซึ่งหากทั้งหมดเดินทางมาจะทำให้จำนวนชาวอัฟกันที่ได้รับผลกระทบจากเหตุข้อมูลรั่วไหลที่ย้ายเข้าสู่ UK เพิ่มขึ้นเป็น 23,900 คนแล้ว
ส่วนชาวอัฟกันที่ได้รับผลกระทบส่วนที่เหลือ จะถูกทิ้งไว้ที่อัฟกานิสถาน โดยตอนนี้มีชาวอัฟกันราว 1,000 คนที่ข้อมูลถูกเปิดเผย กำลังเตรียมการเพื่อฟ้องร้องกระทรวงกลาโหมของสหราชอาณาจักร เพื่อเรียกร้องขอค่าชดเชยอย่างน้อย 50,000 ปอนด์ โดยให้สำนักงานกฎหมายชื่อดังของอังกฤษอย่าง “แบริงส์ ลอว์” (Barings Law) เป็นตัวแทน
นายอัดนาน มาลิค หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองข้อมูลของ แบริงส์ ลอว์ กล่าวว่า นี่เป็นเหตุข้อมูลรั่วไหลที่ร้ายแรงมาก และกระทรวงกลาโหมพยายามซ้ำแล้วซ้ำเล่าที่จะปกปิดจากสังคมชาวบริติช
นายมาลิคยังเตือนด้วยว่า แม้การตรวจสอบภายในของรัฐบาลจะลดความเสี่ยงจากกรณีนี้ แต่ชาวอัฟกานิสถานผู้เรียกร้องสิทธิ์จะต้องใช้ชีวิตด้วยความหวาดกลัวว่าตนเองกับครอบครัวจะถูกล้างแค้นต่อไป
ที่มา สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 18 กรกฎาคม 2568
Link :https://www.thairath.co.th/news/foreign/2871112