
Getty Images
การประชุมฉุกเฉินของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ (United Nations Security Council-UNSC) เมื่อเวลาประมาณ 02.00 น. ของวันนี้ (26 ก.ค.) เพื่อหารือกรณีการปะทะระหว่างไทยและกัมพูชา ตามที่นายฮุน มาเนต นายกรัฐมนตรีกัมพูชา ได้ส่งหนังสือร้องขอไปเมื่อวันที่ 24 ก.ค.
การประชุมนี้เป็นการประชุมแบบปิด (private meeting) โดยที่ประชุม UNSC ไม่ได้มีมติหรือการออกเอกสารใด ๆ
นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รมว.ต่างประเทศ เปิดแถลงข่าวที่กระทรวงการต่างประเทศ ระบุว่า ถ้อยแถลงของประเทศสมาชิก UNSC ที่เข้าร่วมประชุมเป็นไปในทิศทางเดียวกันคือ เรียกร้องให้กัมพูชาและไทยใช้การยับยั้งชั่งใจ ลดความตึงเครียด หยุดยิง และแก้ไขปัญหาโดยสันติวิธี, สนับสนุนบทบาทของอาเซียนในการไกล่เกลี่ยความขัดแย้ง และย้ำว่าสถานการณ์ชายแดนไทย-กัมพูชา ไม่ได้เป็นภัยคุกคามต่อสันติภาพและความมั่นคงระหว่างประเทศ
ประเทศไทยมีนายเชิดชาย ใช้ไววิทย์ เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรไทยประจำสหประชาชาติชี้แจงต่อที่ประชุม ด้านกัมพูชาส่งนายเจีย แก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ เป็นผู้แทนกล่าวถ้อยแถลง โดยฝ่ายกัมพูชาเป็นผู้ได้พูดก่อน ตามการเปิดเผยของ นายชุม ซูนรี โฆษกกระทรวงการต่างประเทศกัมพูชา
เนื้อหาถ้อยแถลงของทั้งสองประเทศมีความแตกต่างกันในบางประเด็น บีบีซีไทยจึงขอสรุปเนื้อหาและความแตกต่าง ดังนี้
1. เหตุปะทะชายแดนวันที่ 28 พ.ค. ที่ส่งผลทหารกัมพูชาเสียชีวิต
นายเชิดชาย ชี้แจงต่อที่ประชุม UNSC ถึงเหตุปะทะระหว่างทหารไทยและกัมพูชาเมื่อ 28 พ.ค. บริเวณชายแดนระหว่างการเดินลาดตระเวน ซึ่งส่งผลให้ทหารกัมพูชาเสียชีวิต 1 ราย ในถ้อยแถลงเขาเรียกเหตุการณ์ครั้งนั้นว่า “การปะทะกันเล็กน้อย” และกล่าวด้วยว่า กองทัพไทยจำเป็นต้อง “ดำเนินการตอบโต้โดยได้สัดส่วน” จากการยิงเข้ามาของทหารกัมพูชา
เขากล่าวต่อไปว่า หลังจากเหตุปะทะครั้งนั้น ไทยได้พยายามจัดการประชุมคณะกรรมาธิการเขตแดนร่วม (JBC) เมื่อวันที่ 14 มิ.ย. ที่กรุงพนมเปญ เนื่องจากประเทศไทย “เชื่อมาโดยตลอดว่าช่องทางทวิภาคี เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพที่สุดในการแก้ไขปัญหา”
ขณะที่นายเจีย แก้ว เอกอัครราชทูต ผู้แทนถาวรกัมพูชาประจำสหประชาชาติ กล่าวว่า เหตุการณ์ความรุนแรงปัจจุบันมีสาเหตุมาจากการปะทะกันของทหารไทยและกัมพูชาบริเวณชายแดนเมื่อวันที่ 28 พ.ค. และยืนยันว่าทหารฝ่ายกัมพูชาไม่ได้มีการรุกล้ำอธิปไตยมาฝั่งไทย แทนที่ประเทศไทยจะสืบสวนเรื่องเหตุปะทะดังกล่าวตามคำขอของทางกัมพูชา แต่กลับกล่าวอ้างว่าทหารกัมพูชาเป็นฝ่ายเปิดฉากยิงก่อน และละเมิดอำนาจอธิปไตยไทย เพื่อบังคับให้กัมพูชา “ยอมรับแผนที่ที่ถูกยอมรับ[โดยไทย] ฝ่ายเดียว”

กองทัพบกไทยและกัมพูชาพบกันเมื่อวันที่ 29 พ.ค. เพื่อเจรจาคลี่คลายความตรึงเครียดเหตุปะทะระหว่างทหารของทั้งสองประเทศ
2. ทุ่นระเบิดที่ไทยอ้างว่า ‘ถูกฝังใหม่’
ในถ้อยแถลงของนายเชิดชาย ระบุว่า เมื่อวันที่ 16 และ 23 ก.ค. ที่ผ่านมา ทหารไทยได้เหยียบกับระเบิดขณะลาดตระเวนตามปกติในดินแดนของประเทศไทย ทำให้ทหารสองนายบาดเจ็บสาหัสถึงขั้นพิการถาวร ขณะที่ทหารคนอื่น ๆ ได้รับบาดเจ็บอย่างรุนแรง โดยมีหลักฐานยืนยันว่า “ระเบิดดังกล่าวถูกวางใหม่ในพื้นที่ที่เคยได้รับการเก็บกู้ระเบียบเรียบร้อยแล้ว”
นอกจากนี้ ไทยเองยังได้ทำลายทุ่นระเบิดทุกประเภทโดยสมบูรณ์แล้วตั้งแต่ปี 2019 แต่ตามรายงานความโปร่งใสประจำปีของกัมพูชา ณ เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ชี้ว่ากัมพูชายังคงเก็บรักษากับระเบิดประเภทนี้ไว้ โดยถือเป็นการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศอย่างชัดแจ้ง และละเมิดอนุสัญญาห้ามการใช้กับระเบิดสังหารบุคคล หรืออนุสัญญาออตตาวา ที่ทั้งไทยและกัมพูชาต่างก็เป็นภาคี
ทว่าถ้อยแถลงของฝ่ายกัมพูชานั้นต่างออกไป โดยระบุว่า ไทย “กล่าวหาโดยไร้หลักฐานและไม่มีมูลต่อกัมพูชาเกี่ยวกับเหตุระเบิดกับระเบิดเมื่อเร็ว ๆ นี้” และเสริมด้วยว่า เจ้าหน้าที่ไทยได้เดินลาดตะเวนเบี่ยงเบนออกจากเส้นทางที่เคยได้ประสานงานกันไว้ โดยไทยได้สร้างทางเดินใหม่ผ่านดินแดนของประเทศกัมพูชา ซึ่งเป็นบริเวณที่ “มีเอกสารยืนยันอย่างเป็นทางการว่าเป็นทุ่งกับระเบิดที่หลงเหลือมาจากสงครามกลางเมืองในช่วงทศวรรษ 1970 และ 1980 “
3. ทั้งสองอ้างอีกฝ่าย ‘เปิดฉากยิงก่อน’ เมื่อวันที่ 24 ก.ค.
นายเชิดชาย กล่าวถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 24 ก.ค. ว่า กองทัพกัมพูชาพร้อมอาวุธหนักได้เปิดฉากยิงเข้าใส่ฐานทัพของไทยที่บริเวณปราสาทตาเมือนธม จ.สุรินทร์ ในช่วงเช้า และในเวลาต่อมา กัมพูชาก็ได้เปิดฉากโจมตีอย่าง “ไม่เลือกเป้าหมาย” ในดินแดนของไทยครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ และอุบลราชธานี
การโจมตีของกัมพูชาสร้างความเสียหายต่อโครงสร้างพื้นฐานของพลเรือน โรงพยาบาลและโรงเรียน โดย ณ วันที่ 25 ก.ค. การโจมตีดังกล่าวส่งผลให้มีผู้เสียชีวิต 14 ราย รวมถึงเด็กชายวัย 8 ขวบ 1 ราย บาดเจ็บอีก 46 ราย และในนั้นมี 13 ราย อยู่ในอาการวิกฤต และประชาชนกว่า 130,000 คนที่ต้องอพยพออกจากพื้นที่

ความเสียหายของปั๊ม ปตท.กันทรลักษณ์ จ.ศรีสะเกษ หลังการปะทะแนวชายแดนไทย-กัมพูชา หลังการโจมตีของฝ่ายกัมพูชาเมื่อวันที่ 24 ก.ค.
ในทางกลับกัน ถ้อยแถลงของฝ่ายกัมพูชาระบุว่า กองทัพไทยเปิดฉากโจมตี “โดยมีเจตนาและวางแผนล่วงหน้า” ต่อหลายตำแหน่งของกัมพูชาตามแนวชายแดนซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับนานาชาติระหว่างกัมพูชาและไทย โดยการโจมตีดังกล่าวได้มุ่งเป้าไปยังพื้นที่ที่มีความสำคัญทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรม และในวันเดียวกันระเบิดจากเครื่องบิน F-16 ของไทยก็คร่าชีวิตพระสงฆ์ 1 รูป
จนถึงปัจจุบัน กัมพูชาอ้างว่ามีผู้เสียชีวิตจากการโจมตีของฝ่ายไทยทั้งหมด 13 ราย (พลเรือน 8 ราย และทหาร 5 ราย) บาดเจ็บอีก 71 ราย (พลเรือน 50 ราย และ ทหาร 21 ราย) และประชาชนกว่า 37,000 คนได้รับการอพยพ
นอกจากนี้ ถ้อยแถลงยังระบุด้วยว่า เมื่อวันที่ 23 ก.ค. หรือหนึ่งวันก่อนการโจมตีด้วยอาวุธของไทยต่อกัมพูชา พล.อ.พนา แคล้วปลอดทุกข์ ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) ของไทยได้สั่งการให้กองทัพภาคไทยที่ 2 และ 1 ดำเนินการตามแผน “จักรพงษ์ภูวนารถ” ซึ่งเป็นยุทธศาสตร์เตรียมพร้อมรบเต็มรูปแบบ ที่เคยถูกนำมาใช้ในกรณีการรุกรานของไทยต่อกัมพูชาในช่วงปี 2008–2011 แสดงถึง “เจตนาอันชัดเจนและจงใจของประเทศไทยในการเตรียมการสำหรับสงคราม”
4. กัมพูชาอ้างไทยจงใจทำลายมรดกโลก แต่ไทยปฏิเสธ
ถ้อยแถลงของนายเจีย เขียนไว้ว่า เมื่อวันที่ 25 ก.ค. เครื่องบิน F-16 ของไทยได้ปฏิบัติการทิ้งระเบิด 4 ครั้ง โดยมีหนึ่งครั้งที่บริเวณปราสาทตาแกบ และอีกสามครั้งที่วัดแก้วสิกขาคีรีสวาระ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารเพียงประมาณ 300 เมตร สร้างความเสียหายอย่างรุนแรงต่อปราสาทพระวิหาร และพื้นที่คุ้มครองโดยรอบ โดยถือเป็น “การทำลายมรดกโลกโดยเจตนา” ละเมิดอนุสัญญาเฮกปี 1954
อย่างไรก็ตาม ฝ่ายไทยปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องความเสียหายที่เกิดขึ้นบริเวณโดยรอบและโครงสร้างของปราสาทพระวิหาร โดยยืนยันในถ้อยแถลงว่า การปะทะกันระหว่างกองกำลังไทยและกัมพูชาไม่มีครั้งใดเกิดขึ้นใกล้บริเวณปราสาทพระวิหาร โดยเป้าหมายที่ใกล้ที่สุดคือบริเวณภูมะเขือ ซึ่งตั้งอยู่ห่างจากปราสาทพระวิหารประมาณ 2 กิโลเมตร
ดังนั้น ปราสาทพระวิหาร “อยู่นอกแนววิถีของปฏิบัติการทางทหารของไทยโดยสิ้นเชิง” จึงเป็นไปไม่ได้ที่กระสุนหรือสะเก็ดระเบิดจากการปะทะกันที่ภูมะเขือจะพุ่งถึงหรือก่อให้เกิดความเสียหายอย่างมีนัยสำคัญต่อปราสาทพระวิหาร ถ้อยแถลงของไทย ระบุ
5. การเจรจาหยุดยิง

นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียนในปัจจุบัน แสดงความกังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงโดยทันที แถลงการณ์ของกัมพูชา ระบุ
หนึ่งในประเด็นที่มีการกล่าวถึงโดยฝ่ายกัมพูชา แต่ไม่พบในถ้อยแถลงของไทยคือ ข้อตกลงหยุดยิงโดยทันที ในการพูดคุยทางโทรศัพท์กับนายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียนในปัจจุบัน
ถ้อยแถลงการณ์ของฝ่ายกัมพูชาระบุว่า ในช่วงเย็นของวันที่ 24 ก.ค. นายอันวาร์ อิบราฮิม นายกรัฐมนตรีมาเลเซีย และประธานอาเซียนในปัจจุบัน ได้โทรศัพท์พูดคุยกับสมเด็จ ฮุน มาแนต นายกรัฐมนตรีของกัมพูชา เพื่อแสดงความกังวลอย่างยิ่ง และเรียกร้องให้ทั้งสองฝ่ายตกลงหยุดยิงโดยทันที และนายกฯ กัมพูชาได้ยืนยันการสนับสนุนข้อเสนอดังกล่าวอย่างเต็มที่
ทั้งนี้ภายหลังการพูดคุยกับผู้นำของทั้งกัมพูชาและไทย นายอันวาร์ กล่าวว่า ฝ่ายไทยได้ตกลงที่จะหยุดยิงเช่นกัน โดยจะมีผลตั้งแต่เวลา 00.00 น. ของวันที่ 24 ก.ค.
อย่างไรก็ตาม ไม่กี่ชั่วโมงให้หลัง “ประเทศไทยได้กลับจุดยืน” โดยให้เหตุผลว่าจำเป็นต้องเลื่อนการหยุดยิงออกไป
ในถ้อยแถลงการณ์ของไทยไม่ระบุเรื่องการพูดคุยกับประธานอาเซียนแต่อย่างใด เพียงแต่ระบุว่า ประเทศไทยขอเรียกร้องให้กัมพูชายุติการเป็นปรปักษ์และการรุกรานทั้งหมดโดยทันที และกลับเข้าสู่กระบวนการเจรจาโดยสุจริตใจ เท่านั้น