“ร่องลึกนักไก” (Nankai Trough) กลายเป็นที่พูดถึงในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา หลังจากที่เกิดแผ่นดินไหวขนาดเล็กทางตอนใต้ของญี่ปุ่นนับพันครั้งในช่วงเวลาเพียง 13 วัน ซึ่งทำให้ผู้คนต่างเป็นกังวลว่าจะเกิด “แผ่นดินไหว” ครั้งใหญ่ใน “ญี่ปุ่น” ซึ่งจะทำให้เกิด “สึนามิ” รุนแรงตามมา
“ญี่ปุ่น” เป็นประเทศที่เสี่ยงต่อแผ่นดินไหวมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก เพราะตั้งอยู่บนแนวภูเขาไฟและร่องลึกใต้ทะเลที่เรียกว่า “วงแหวนแห่งไฟ” (Ring of Fire) โดย “ร่องลึกนักไก” เป็นหนึ่งในพื้นที่ที่มีความเสี่ยงจะเกิดแผ่นดินไหวมากที่สุด
ร่องลึกนันไกอยู่บริเวณนอกชายฝั่งแปซิฟิกตะวันตกเฉียงใต้และทอดยาวประมาณ 900 กิโลเมตร โดยที่แผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์กำลังมุดตัวลงไปใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซีย แรงกดดันอย่างต่อเนื่อง ณ จุดนี้ ทำให้ร่องน้ำนันไกเป็นพื้นที่ที่มีกิจกรรมแผ่นดินไหวสูงมาก
การเคลื่อนที่และมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกนี้ทำให้เกิดการสะสมพลังงานมหาศาล เมื่อพลังงานที่สะสมไว้ถูกปลดปล่อยออกมาอย่างฉับพลัน จะเกิดเป็นแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ โดยแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เกิดขึ้นในบริเวณนี้เรียกว่า “แผ่นดินไหวเมกะทรัสต์” (Megathrust Earthquake) ซึ่งแรงเคลื่อนตัวที่สะสมกันอาจส่งผลให้เกิดแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในทุก 90-200 ปี และในตอนนี้ใกล้ครบรอบที่จะต้องเกิดแผ่นดินไหวแล้ว
ในรอบ 1,300 ปีที่ผ่านมา มีการบันทึกเหตุแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่เกิดบริเวณร่องลึกนันไกอย่างน้อย 13 ครั้ง โดยสองครั้งล่าสุด คือ แผ่นดินไหวโทนันไกในปี 1944 และแผ่นดินไหวนันไกโดในปี 1946 ซึ่งทั้งคู่มีขนาด 8.1 แมกนิจูด เกิดสึนามิสูง 5-10 เมตร ทำให้มีผู้เสียชีวิตรวมกันมากกว่า 2,500 ราย มีผู้บาดเจ็บมากกว่า 4,500 ราย
แผ่นดินไหวครั้งใหญ่ในอนาคตอันใกล้
รัฐบาลญี่ปุ่นคาดการณ์ไว้ว่ามีโอกาส 70-80% ที่จะเกิดแผ่นดินไหวขนาด 8-9 ริกเตอร์ตามแนวร่องลึกนี้ในอีก 30 ปีข้างหน้า โดยสถานการณ์เลวร้ายที่สุดที่คณะทำงานจัดการภัยพิบัติของสำนักงานคณะรัฐมนตรีคาดการณ์ไว้ คือแผ่นดินไหวขนาด 9 แมกนิจูด เกิดขึ้นในคืนปลายฤดูหนาว ที่มีลมแรง 8 เมตรต่อวินาที ซึ่งเป็นเหตุการณ์ที่ประชาชนจำนวนมากไม่พร้อมอพยพ
เหตุการณ์นี้อาจทำให้มีผู้เสียชีวิต 298,000 ราย อาคารบ้านเรือนกว่า 2.35 ล้านหลังเสียหาย เกิดสึนามิในเมืองสำคัญ ๆ เช่น โอซาก้า เกียวโต และฮิโรชิม่า สร้างความเสียหายมูลค่า 2 ล้านล้านดอลลาร์ ตัวเลขดังกล่าวสูงกว่าความเสียหายที่เกิดจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิโทโฮกุเมื่อปี 2011
นอกจากจะส่งผลกระทบต่อญี่ปุ่นแล้ว เหตุการณ์แผ่นดินไหวในครั้งนี้จะกระทบต่อกลุ่มประเทศและดินแดนในบริเวณลุ่มน้ำแปซิฟิก (Pacific Ocean basin) ได้แก่ รัสเซีย ไต้หวัน ฟิลิปปินส์ อาจรวมถึงฮาวายและชายฝั่งตะวันตกของสหรัฐอเมริกาด้วย ขณะเดียวกันก็จะทำให้ซัพพลายเชนหยุดชะงัก สินค้าที่นำเข้าจากญี่ปุ่นได้รับผลกระทบ เที่ยวบินจากญี่ปุ่นและบริเวณโดยรอบดีเลย์ ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจระดับโลก
ศ.ฟุกุวะ โนบุโอะ อดีตศาสตราจารย์จากมหาวิทยาลัยนาโกย่า เป็นหัวหน้าคณะผู้ตรวจสอบการสำรวจครั้งนี้ เรียกร้องให้รัฐบาลและภาคอุตสาหกรรมออกมาตรการใหม่เพื่อบรรเทาความเสี่ยงให้ได้มากที่สุด รวมถึงการสร้างอาคารทั้งหมดในประเทศให้ป้องกันแผ่นดินไหว และกระจายประชากรในเมืองที่มีประชากรหนาแน่น
เมื่อมองย้อนกลับไปในช่วงการสำรวจ ศาสตราจารย์กล่าวว่า “สิ่งที่เสียใจที่สุดคือเราไม่สามารถลดระดับความเสี่ยงที่คาดว่าจะเกิดขึ้นได้ การบรรเทาระดับความเสียหายถือเป็นสิ่งสำคัญที่สุด เนื่องจากผลที่ตามมาของแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่ลุ่มแม่น้ำนันไกอาจร้ายแรงพอที่จะส่งผลกระทบต่ออนาคตของประเทศได้”
ดำเนินแผนป้องกัน
แผ่นดินไหวยังเป็นภัยพิบัติที่ไม่สามารถคาดการณ์ได้อย่างแม่นยำว่าจะเกิดขึ้นเมื่อไหร่ และที่ใด ในตอนนี้จึงทำได้แค่เพียงวางแผนและป้องกันเพื่อลดความเสียหายและความสูญเสียจากเหตุแผ่นดินไหวให้น้อยลงเท่าที่จะเป็นไปได้
เมื่อวันที่ 1 ก.ค. รัฐบาลได้จัดประชุมคณะกรรมการจัดการภัยพิบัติกลาง ที่บ้านพักประจำตำแหน่งนายกรัฐมนตรี เพื่อรับรองแผนรับมือภัยพิบัติพื้นฐานฉบับใหม่ รวมถึงแผ่นดินไหวครั้งใหญ่ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นบริเวณร่องนันไก นอกชายฝั่งด้านมหาสมุทรแปซิฟิกของญี่ปุ่น
จากการประเมินความเสียหายใหม่ พบว่าจำเป็นต้องเพิ่มเขตเทศบาลและเมืองอีก 16 แห่งให้เป็นพื้นที่ที่ต้องดำเนินมาตรการเข้มข้น ทำให้ในตอนนี้มีเทศบาลทั้งหมด 723 แห่งใน 30 จังหวัดที่ถูกกำหนดให้ต้องได้รับการป้องกัน เนื่องจากคาดว่าจะประสบเหตุแผ่นดินไหวระดับ 6 ขึ้นไป หรือมีคลื่นสึนามิสูงอย่างน้อย 3 เมตร ซึ่งส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนชายฝั่งมหาสมุทรแปซิฟิกตั้งแต่จังหวัดอิบารากิไปจนถึงจังหวัดโอกินาว่า
แผนรับมือภัยพิบัติพื้นฐานฉบับใหม่นี้ เป็นการปรับปรุงจากฉบับปี 2014 มีเป้าหมายที่จะลดจำนวนผู้เสียชีวิตลง 80% และลดความเสียหายต่อโครงสร้างลง 50% ภายในทศวรรษหน้า โดยตัวเลขเหล่านี้ถูกกำหนดไว้ตั้งแต่ปี 2014 ซึ่งทำไม่สำเร็จ แต่รัฐบาลยังคงเป้าหมายเหล่านี้ไว้ เพราะจำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายไว้สูงในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของผู้คน
ภายใต้แผนปรับปรุงใหม่ บ้านทุกหลังในเขตเสี่ยงภัยสูงจะต้องทนทานต่อแผ่นดินไหวภายในปีงบประมาณ 2035 พร้อมช่วยเหลือหน่วยงานท้องถิ่นในการดำเนินการตามมาตรการด้านความปลอดภัย ส่งเสริมที่มีเขตเตือนภัยสึนามิในการจัดทำและเผยแพร่แผนที่พื้นที่อันตราย และดำเนินการซ้อมอพยพภายในปีงบประมาณ 2030
เพื่อป้องกันการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับภัยพิบัติ รัฐบาลจะส่งเสริมการสำรองเสบียงและอุปกรณ์สำหรับภัยพิบัติ เช่น ห้องน้ำและเตียง และปรับปรุงสภาพแวดล้อมของที่พักพิง โดยเฉพาะในพื้นที่ชายฝั่งที่เสี่ยงต่อการเกิดคลื่นสึนามิ นอกจากนี้ เทศบาลและสมาคมธุรกิจโลจิสติกส์จะได้รับการสนับสนุนให้สรุปข้อตกลง เพื่อให้แน่ใจว่ามีระบบขนส่งฉุกเฉินในกรณีเกิดภัยพิบัติ
ที่มา: CNA, Japan Times, NHK, Reuters, The Economic Times
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 8 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/environment/1188431