โลกทรรศน์ | อุกฤษฏ์ ปัทมานันท์
ทรัมป์ 2.0
การจัดรูปภูมิรัฐศาสตร์อาเซียน ไทย
อเมริกามาก่อน
ทำให้สหรัฐอเมริกากลับมายิ่งใหญ่อีกครั้ง
คอลัมนิสต์ voranai เสนอว่า จะเข้าใจยุทธศาสตร์ของทรัมป์ อย่ามองจากมุมเศรษฐศาสตร์ ต้องมองจากมุมภูมิรัฐศาสตร์
American Empire อาณาจักรอเมริกา มัน overstretched ใหญ่เกินต้ว แบกไม่ไหว ตั้งแต่หลังสงครามโลก 2 สหรัฐอเมริกาใช้ economic powers ลงทุนทั่วโลก
แต่ผลกระทบคือ เมืองอุตสาหกรรมที่เคยรุ่งเรืองในสหรัฐอเมริกา กลายเป็นซบเซา อัตราว่างงานสูง ปัญหาสังคมตามมา
การใช้ military power สร้างพันธมิตรทางทหารทั่วโลก ใช้เงินมหาศาล แบกงบประมาณทั้งโลก
วิสัยทัศน์ MAGA คือ ดึงอุตสาหกรรมกลับมาฟื้นฟูประเทศ ลดภาระทางทหาร1
แต่ในขณะเดียวกันยังต้องสกัดคู่แข่ง ทรัมป์ยินดีที่จะทิ้งยุโรป เพราะมองว่า ยุโรปสามารถยันรัสเซียไว้ได้ด้วยตัวเอง เพียงยุโรปต้องควักเงินของตัวเอง
ทรัมป์ไม่ทิ้งตะวันออกกลาง เพราะมองว่าอิสราเอลโดยลำพังจะยันอิหร่านลำบาก
ยุทธศาสตร์ของทรัมป์ คือให้อิสราเอล ซาอุดีอาระเบีย จอร์แดน กับ UAE จับมือกันยันอิหร่านเอาไว้
ครั้นมาที่เอเซีย ทรัมป์จะเอาโรงงานอเมริกันกลับประเทศ แต่ในขณะเดียวกันต้องสกัดจีน เกาหลีใต้ ญี่ปุ่น ไต้หวัน ยันจีนไม่ให้ทะลักเข้าสู่มหาสมุทรแปซิฟิกได้
ด่านสองมีกลุ่ม Mariana islands
ด่านสามมีกลุ่ม เกาะฮาวาย ไต้หวันจะเป็นจุดอ่อนไหวสุด เป็นพันธมิตรสำคัญ แต่ไต้หวันลงทุนในจีนเยอะ และโดนภาษีทรัมป์เยอะ เป็นจุดที่ต้องจับตามอง โดยเฉพาะหากเชื่อว่า การเอาไต้หวันกลับคืนสู่จีนคือ legacy ของสี จิ้นผิง
มาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เต็มไปด้วยโรงงานจีน ทัพเรือจีนตั้งอยู่ในฐานทัพเรียม กัมพูชา ทัพเรืออเมริกาก็อยู่ที่สิงคโปร์
ทรัมป์ไม่ต้องการให้จีนทะลักออกมาในทะเลอันดามันและสู่ทะเลอินเดีย
นี่คือช่องการเจรจาของเรา “เรา” ไม่ได้หมายถึงไทย แต่อาเซียน
ข้อต่อรองไม่ใช่ “เราจะลดภาษีให้” ข้อต่อรองคือ “เราจะช่วยตอบโจทย์คุณได้ยังไง” หรือไม่ก็นิ่งไว้ เจรจาตามเนื้อผ้าไป
ทรัมป์อาจลดภาษีให้เล็กน้อย แล้วภาวนาให้ทรัมป์แพ้เลือกตั้งครั้งหน้า หรือไม่ก็ถวายตัวให้จีนเลย
สำคัญสุด ตีโจทย์ให้แตก จะเข้าใจยุทธศาสตร์ทรัมป์ ต้องเข้าใจ ปรัชญา MAGA
นี่เป็นแกนหลักของทรัมป์ 2.0 แล้วยังเป็นแกนหลักที่กำลังดำเนินอยู่ อันมีผลต่อการจัดรูปภูมิรัฐศาสตร์อาเซียนและไทยต่อไป
ในงานเขียนของ Klaus Dodds เขาสรุปว่า ภูมิรัฐศาสตร์เกี่ยวกับ 3 คุณลักษณะ2
1 เกี่ยวกับคำถามมากมายต่ออิทธิพล (influence) และอำนาจต่อพื้นที่ (space) และดินแดน (territory)
2 กรอบภูมิรัฐศาสตร์มีความหมายต่อกิจการโลก แม่แบบภูมิรัฐศาสตร์รวมทั้ง เขตอิทธิพล บล็อก หลังบ้าน เพื่อนบ้านและต่างประเทศใกล้ๆ
3 ภูมิรัฐศาสตร์คือ แนวโน้มอนาคต ให้เห็นภายในของพฤติกรรมของรัฐที่ต้องการ ให้ผลประโยชน์ของพวกเขาไม่เปลี่ยนแปลงโดยพื้นฐาน รัฐต้องการรักษาทรัพยากร ปกป้องดินแดนของพวกเขา รวมทั้งพรมแดนและจัดการประชากรของพวกเขา
เมื่อใช้กรอบภูมิรัฐศาสตร์วิเคราะห์ปฏิสัมพันธ์สหรัฐ-จีนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ พอสรุปได้คือ
มีคุณลักษณะสำคัญของภูมิรัฐศาสตร์คือ อิทธิพล อำนาจ พื้นที่ ดินแดน ทรัพยากรธรรมชาติและประชากร
ย้อนกลับไปทำความเข้าใจ ภูมิรัฐศาสตร์ซึ่งหมายถึงพื้นที่ ดินแดนและเขตอิทธิพล ทรัมป์ 2.0 ดำเนินการจัดรูปภูมิรัฐศาสตร์เพื่อลดทอนความสำคัญและบทบาทของจีนในภูมิภาคอาเซียนหลายอย่างได้แก่ ทางการทหาร
ทรัมป์ 2.0 ยังคงรักษาระบบพันธมิตรทางทหารกับประเทศในอาเซียนได้แก่ อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย สิงคโปร์และไทย
ในขณะที่ทรัมป์ 2.0 พยายามเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการเมืองกับเวียดนาม ซึ่งมีความสัมพันธ์ไม่ราบรื่นกับจีน
ทรัมป์ 2.0 ผลักดันความสัมพันธ์ทางการทหารกับกัมพูชาชาติที่ใกล้ชิดกับจีน ด้วยการเข้ามาเยือนของเรือรบสหรัฐในฐานทัพเรือ เรียม ฐานทัพเรือกัมพูชาที่จีนมีส่วนพัฒนาอย่างสำคัญ ทั้งนี้เพื่อแทรกกิจการทหารเข้าสู่กัมพูชาให้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม แม้กัมพูชาขณะนี้จะมีนายกรัฐมนตรี ฮุน มาเนต ที่เรียนจบโรงเรียนนายทหารเวสต์ปอยต์ สหรัฐ โดยคาดหวังว่า เขาจะเป็นผู้นำกัมพูชารุ่นใหม่ที่ผลักดันกัมพูชาก้าวสู่ยุคใหม่ ที่โน้มเอียงไปทางตะวันตกมากขึ้น
อย่างไรก็ตาม นี่เป็นทั้งความพยายามและความคาดหวังที่คาดเดาได้ยาก เนื่องจากความสัมพันธ์ลึกซึ้งของจีน จีนเป็นผู้ค้ารายใหญ่ จีนเป็นนักลงทุนรายใหญ่ จีนให้ความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจอย่างสำคัญ จีนยังเป็นแหล่งของอาวุธของกัมพูชา
การซ้อมรบทางทะเลชื่อว่า Gloden Dragon ระหว่างกองทัพจีนกับกองทัพกัมพูชาก็เกิดขึ้น เพื่อย้ำเตือนถึงความสัมพันธ์จีน-กัมพูชา
ที่สำคัญ แม้กัมพูชานับตั้งแต่ยุคสงครามเย็นจีนจะมีไพ่การทูตกับชาติมหาอำนาจหลายชาติ แต่สำคัญที่ระบอบฮุน เซน ที่ครองอำนาจปัจจุบันได้รับการสนับสนุนจากจีน
จีนเป็นแหล่งของความชอบธรรมทางการเมืองของระบอบนี้ ท่ามกลางแรงต่อต้านจากชาติมหาอำนาจ ที่มักเรียกระบอบนี้ว่า ป่าเถื่อน คอร์รัปชั่นและเผด็จการ
อาจกล่าวได้ว่า กัมพูชาเป็นฐานของภูมิรัฐศาสตร์ที่สหรัฐและจีนต่างฝ่ายต่างหยิบฉวยเพื่อผลประโยชน์ฝ่ายตน
กัมพูชาหาใช่แค่ประเทศหนึ่ง แต่กัมพูชาสัมพันธ์กับอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง เกี่ยวพันกับความสำคัญของบริเวณอ่าวไทยทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจ คือทรัพยากรทางทะเล ที่สำคัญคือ พลังงาน
แล้วกัมพูชายังสัมพันธ์กับความอ่อนไหวของปัญหาทะเลจีนใต้ทั้งในแง่หนึ่งในสมาชิกอาเซียน และหนึ่งในประเทศที่อยู่ในทะเลจีนใต้
เราจะเห็นความสำคัญของกัมพูชาด้านภูมิรัฐศาสตร์กับทรัมป์ 2.0 หากเปรียบเทียบทรัมป์ 2.0 กับ สปป.ลาว ซึ่งเป็นทั้งประเทศเล็ก แล้วยังใกล้ชิดกับจีน ส่วนเมียนมา ความวุ่นวายในเมียนมาทั้งสงครามกลางเมืองและเสถียรภาพทางการเมือง นับเป็นกำแพงกั้นทรัมป์ 2.0 รวมทั้งน่าจะกับทุกประเทศด้วย
ไทยอยู่ในภูมิรัฐศาสตร์ ทรัมป์ 2.0 แบบไหน?
ไทยเคยเป็น แกนกลาง ยุทธศาสตร์สงครามเย็นของสหรัฐยาวนาน ไทยเป็นฐานทัพหลัก ไทยเป็น stoper ทฤษฎีโดมิโน ซึ่ง ฟอสเตอร์ ดัลเลส (John Foster Dulles) (1888-1958) นักการเมือง นักกฎหมาย ทูตและอดีตรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐเป็นต้นคิดเรื่อง การกลายเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนโดมิโน เริ่มจากจีน ประเทศอินโดจีนคือ เวียดนาม ลาว กัมพูชา และต่อด้วยไทย ซึ่งในที่สุดจะขยายตัวไปสิงคโปร์ มาเลเซีย
แต่ยุคหลังสงครามเย็น (1980-) ไทยไม่ได้เป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์สงครามเย็น ในเวลาเดียวกัน ด้วยภูมิศาสตร์เศรษฐกิจทั้งของโลกและภูมิภาค กรอบคิดเรื่อง ห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เป็นแกนกลางของยุทธศาสตร์โลกทั้งทางการทหาร เศรษฐกิจและความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ ซึ่งไทยไม่มีองค์ประกอบอะไรเพียงพอที่จะเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานไม่ว่าของภูมิภาคและของโลก
ดังนั้น ไทยจึงไม่อยู่ในการจัดรูปภูมิรัฐศาสตร์ของทรัมป์ 2.0 หรืออาจกล่าวได้ว่า ไทยเกือบจะสูญเสียสถานะในความสำคัญของภูมิภาคและโลก หากมุ่งเน้นไปที่ทรัมป์ 2.0 นี่คือสาระหลักของโลกในเวลานี้และในอนาคต
ความขัดแย้งไทย-กัมพูชาล่าสุดที่ฟื้นประวัติศาสตร์บาดแผลของทั้งสองฝ่าย แสดงการหยิบฉวยบาดแผลของชาติทั้งสองในภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ของทรัมป์ 2.0 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ประเด็นคือ กัมพูชาในฐานะศูนย์กลางศูนย์หลอกลวงของโลก ฮุน เซน จะออกจากโจทย์นี้อย่างไร ส่วนไทย การเมืองครอบครัวแยกไม่ออกจากผลประโยชน์ในกัมพูชา จนผู้นำไทยตีความภูมิรัฐศาสตร์ใหม่ผิดๆ ถูกๆ
1https://x.com/voranai/status/1908049935565770973?s=58&t=NMCFvexv6ZT2nsySlBxWnw 4 April 4, 2025
2Geopolitics : A Very Short Introduction, Third Editon, Oxford University Press, 2019
ที่มา : สำนักข่าวมติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 1 กรกฎาคม 2568
Link : https://www.matichon.co.th/weekly/column/article_848300