ยอดผู้ป่วยโรคโควิด-19 ในช่วงวันที่ 4-10 พ.ค. ที่ผ่านมา เพิ่มขึ้นสูงถึง 20,529 ราย และมีผู้เสียชีวิตอีก 6 ราย ขณะที่ยอดผู้ป่วยโรคดังกล่าวของสัปดาห์แรกในเดือน เม.ย. อยู่ที่เพียง 1,131 รายเท่านั้น และมีผู้เสียชีวิต 1 ราย โดยการเพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดดของตัวเลขผู้ป่วยโรคโควิด-19 ทำให้ประชาชนรู้สึกตื่นตัวถึงการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างของโรคดังกล่าวอีกครั้ง
ศ.นพ.ยง ภู่วรวรรณ ราชบัณฑิต สำนักวิทยาศาสตร์ หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า อาการของโรคโควิด-19 มีความรุนแรงลดลงหลังเกิดขึ้นมาเข้าสู่ปีที่ 6 โดยสังเกตได้จากการลดลงของอัตราตายของผู้ป่วยรายโรค หรือ case fatality risk (CFR)
“อัตราการเสียชีวิตใน 3 ปีแรกที่มีการระบาดของโรค ประเทศไทยมีผู้เสียชีวิตมากกว่า 30,000 ราย… แต่หลังจากนั้นอัตราการเสียชีวิตก็ลดลงจนมาปีที่ 2567 อัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ 220 คน” นายแพทย์จากจุฬาฯ อธิบาย
อย่างไรก็ตาม รศ.นพ.ธีระ วรธนารัตน์ อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ป้องกันและสังคม คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เน้นย้ำกับบีบีซีไทยว่า ความอันตรายของโรคดังกล่าวยังมีอยู่และการการระบาดของโรคโควิด-19 ยังเป็นเรื่องที่ “น่ากังวล เพราะว่าเราเห็นตัวเลขการป่วยที่เพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ”
เชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ “XEC” คืออะไร ทำไมแพร่กระจายได้เร็ว ?
เชื้อโควิดสายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC ถูกพบครั้งแรกในประเทศเยอรมนีเมื่อเดือน มิ.ย. ปีที่แล้ว และหลังจากนั้นก็พบรายงานผู้ติดเชื้อในสหราชอาณาจักร สหรัฐอเมริกา เดนมาร์ก และอีกหลายประเทศ
ศูนย์จีโนมทางการแพทย์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล (Center for Medical Genomics) ระบุว่าเชื้อโควิดสายพันธุ์ XEC เป็นสายพันธุ์ลูกผสม ซึ่งมาจากลูกหลานของสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเกิดการระบาดขึ้นเมื่อต้นปี 2566 โดยมีการเปลี่ยนแปลงกรดอะมิโนเพียงเล็กน้อย และมีการหลบเลี่ยงภูมิคุ้มกันได้ดียิ่งขึ้น โดยศาสตราจารย์ฟรองซัวส์ บาลู ผู้อำนวยการสถาบันพันธุศาสตร์แห่งมหาวิทยาลัยคอลเลจลอนดอน กล่าวกับบีบีซี นิวส์ว่า สายพันธุ์ย่อยโอมิครอน XEC จะมี “ความได้เปรียบเล็กน้อยในการแพร่กระจาย” เหนือกว่าสายพันธุ์โควิดล่าสุดอื่น ๆ
อย่างไรก็ตาม คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล ระบุเกี่ยวกับ อาการของโควิดสายพันธุ์ XEC ว่ามีอาการคล้ายกับไวรัสโควิด-19 สายพันธุ์อื่น ๆ เช่น มีไข้ ไอ และสูญเสียการรับกลิ่น โดยก่อนหน้านี้ ศ.นพ.ยง ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กว่า เชื้อโควิด-19 ที่พบในประเทศไทยขณะนี้ ส่วนใหญ่เป็นสายพันธุ์ XEC ซึ่ง “มีอาการน้อย แต่แพร่กระจายได้ จึงเป็นเหตุให้มีการแพร่กระจายได้อย่างกว้างขวางและรวดเร็ว”
ในการให้สัมภาษณ์กับบีบีซีไทย ศ.นพ.ยง ระบุว่าฝนที่ตกชุกและฤดูฝนที่มาค่อนข้างเร็วเป็นสาเหตุที่ทำให้จำนวนผู้ป่วยโรคโควิด-19 เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว
“ปีนี้เป็นปีที่มีฝนตกชุก ฤดูฝนมาค่อนข้างเร็ว โรคติดเชื้อทางเดินหายใจชอบฤดูฝนอยู่แล้ว ก็เลยทำให้ [ผู้ติดเชื้อโควิด-19] ปีนี้มาเร็ว และจำนวนผู้ป่วยก็เพิ่มมากขึ้น มากกว่าปีที่แล้วพอสมควรเลยทีเดียว” เขากล่าว
โควิด-19 ความรุนแรงลดลงจริงไหม แพทย์เตือนยังสามารถมีอันตรายถึงชีวิต
“การระบาดใหญ่ทั่วโลกของสายพันธุ์ JN.1 ซึ่งเริ่มระบาดต้นปี 2024 เป็นต้นมา หลังจากการระบาดมีการทดสอบศึกษาหลายงานวิจัยทั่วโลกที่ชี้ให้เห็นว่าความรุนแรงของมัน เช่น อัตราการลงปอด อัตราการทำให้ตาย มันดูลดลงกว่าตัวสายพันธุ์ก่อนหน้านี้” รศ.นพ.ธีระ กล่าวกับบีบีซีไทย ถึงความรุนแรงที่ลดลงของโรคโควิด-19 พร้อมเสริมด้วยว่า การที่ “สายพันธุ์ของไวรัสมักมีการเปลี่ยนแปลงกันไปเรื่อย ๆ เพราะพยายามจะหลบหลีกภูมิคุ้มกัน” เป็นหนึ่งในสาเหตุที่ทำให้ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดลง
ด้าน ศ.นพ.ยง ก็ระบุด้วยว่า การมีวิวัฒนาการของไวรัสเพื่อความอยู่รอดของตัวมันเอง เป็นอีกสาเหตุที่ทำให้ตัวเลขผู้เสียชีวิตจากโรคดังกล่าวลดลง “ไวรัสจะอยู่รอดได้ก็ต้องลดความรุนแรงของโรคลง เพื่อให้อยู่รอดและปรับตัวให้เหมาะสมอยู่กับมนุษย์” โดยเชื้อไวรัสของโควิด-19 ก็มีการปรับตัวดังกล่าวเช่นกัน
นอกจากนี้ การได้รับวัคซีนและการมีภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นหลังร่างกายเคยได้รับเชื้อโควิด-19 ก็เป็นอีกสาเหตุที่ความรุนแรงของโรคโควิด-19 ลดน้อยลง
“ประชากรส่วนใหญ่เกือบทั้งหมดเคยติดเชื้อไปแล้ว แล้วก็มีภูมิต้านทานเกิดขึ้นโดยธรรมชาติจากการติดเชื้อ ร่วมกับประชากรจำนวนหนึ่งได้รับวัคซีน เพราะฉะนั้นภูมิต้านทานที่เกิดขึ้นจากการติดเชื้อและภูมิต้านทานร่วมที่เกิดจากการได้รับวัคซีน จึงเป็นภูมิต้านทานลูกผสม เป็นหนึ่งปัจจัยที่ทำให้โรคต่าง ๆ มีความรุนแรงน้อยลง” ศ.นพ.ยง กล่าวกับบีบีซีไทย
นอกจากนี้ รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า การที่สังคมเปรียบเทียบความรุนแรงของโรคโควิด-19 ว่าใกล้เคียงกับความรุนแรงของไข้หวัดธรรมดาหรือไข้หวัดใหญ่นั้น “คำตอบทางการแพทย์คือไม่จริงเลย”
รศ.นพ.ธีระ อธิบายว่า “หากเทียบโควิดกับไข้หวัดใหญ่ ทุกคนอาจเคยเป็นไข้หวัดใหญ่และรู้ว่ามันทรมาน และเชื้อสามารถลงปอดและทำให้เสียชีวิตได้ แต่ข้อมูลปัจจุบันเรายังยืนยันว่าถ้าเทียบกันตัวต่อตัวแล้ว โควิดมีอัตราการป่วยตายสูงกว่าไข้หวัดใหญ่หลายเท่า”
เขาเสริมด้วยว่า แม้ความรุนแรงของโรคโควิด-19 มีแนวโน้มลดลง แต่ประชาชนไม่ควรเพิกเฉยถึงความอันตรายของมัน “ความรุนแรงของตัวเชื้อดูจะลดลง แต่มันไม่ได้การันตีว่าคนที่ติดเชื้อแล้วจะรอดเสมอไป”
เช่นเดียวกับ ศ.นพ.ยง ที่เกรงว่าความรุนแรงที่ลดลงของโรคโควิด-19 จะทำให้ประชาชนผ่อนปรนในเรื่องการเฝ้าระวังการระบาดของโรค “ความรุนแรง [ที่ลดลง] ของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกคนไม่ค่อยกลัวเท่าไหร่ ตอนนี้ถ้าเราตรวจเจอ 2 ขีด ทุกคนก็ไม่ตื่นเต้น ถ้าเป็นตอนแรก ๆ ตรวจพบ 2 ขีด ทุกคนต้องไปกักตัว 14 วัน ก็ไม่มีใครอยาก”
วัคซีนที่เคยฉีดยังป้องกันโรคโควิด-19 สายพันธุ์ใหม่ได้ไหม ต้องฉีดกระตุ้นหรือไม่ ?
รศ.นพ.ธีระ กล่าวว่า “วัคซีนรุ่นก่อน ๆ โอกาสที่ภูมิคุ้มกันจะมีอยู่และเพียงพอในการป้องกันสายพันธุ์ใหม่ ๆ นั้นน้อย” พร้อมเสริมว่าสาเหตุมีสองประการ คือ
ภูมิที่ได้รับจากวัคซีนจะคงอยู่ในช่วง 7-9 เดือนแรก และจะเริ่มอ่อนลงไป ต่ำกว่าระดับที่จะสามารถป้องกันและจัดการกับตัวเชื้อโรคได้
วัคซีนรุ่นก่อน ๆ ออกแบบมาสำหรับโควิดสายพันธุ์ในอดีต และการเปลี่ยนแปลงของสายพันธุ์ใหม่ ๆ ทำให้เชื้อดื้อต่อภูมิคุ้มกันเดิม
อย่างไรก็ตาม เมื่อบีบีซีไทยถามถึงความจำเป็นในการฉีดกระตุ้นวัควีนโรคโควิด-19 ทาง ศ.นพ.ยง กล่าวว่า “วัคซีน หากจะใช้ เราอยากจะให้ใช้ในกลุ่มเสี่ยงสูงที่เราคิดว่าเขาไม่มีภูมิ หรือมีภูมิต่ำ ไม่เคยได้รับวัคซีนมาเลย” พร้อมเสริมด้วยว่า วัคซีนป้องกันโรคโควิด-19 มีผลข้างเคียงมาก และมีราคาที่สูง ดังนั้นความจำเป็นในการฉัดวัคซีนในทัศนะของ ศ.นพ. ยง นั้น “น้อยลงไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้วัคซีนในอุดมคติหมายถึงว่า ฉีดแล้วต้องไม่มีไข้ ต้องการันตีในเรื่องความปลอดภัย และมีก็มีราคาถูก”
ด้าน รศ.นพ.ธีระ ยืนยันกับบีบีซีไทยว่า แม้วัคซีนป้องกันโรคโควิดจะมีราคาที่สูงกว่าวัคซีนตัวอื่น ๆ แต่ก็มีความคุ้มค่าในแง่ของสุขภาพ
“มีงานวิจัยเกี่ยวกับวัคซีน [โรคโควิด-19] แล้วว่ามันคุ้มค่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่มเสี่ยง หากเราไม่ได้ไปเทียบราคากับตัววัคซีนอื่นเช่น วัคซีนไข้หวัดใหญ่ที่ใช้มานาน และผลิตมาเยอะ ราคาจึงถูก… แต่ความคุ้มค่า เราจะเทียบกับผลลัพธ์ทางสุขภาพ เพราะฉะนั้น ยืนยันว่าวัคซีนโควิดเองมีความคุ้มค่า” เขาระบุ
ต้องกังวลแค่ไหน ป้องกันได้อย่างไร ?
“ตัวเลขมันก็ชัดเจนอยู่แล้วนะครับ… จึงเป็นเหตุผลที่พยายามจะออกมากระตุ้นเตือนประชาชนให้รู้เท่าทันสถานการณ์” รศ.นพ.ธีระ กล่าวกับบีบีซีไทย เมื่อถูกถามถึงระดับความกังวลต่อการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ในประเทศไทย
เขาย้ำด้วยว่า เมื่อครั้นมีฤดูกาลที่มีความเสี่ยงของการระบาดของเชื้อโรค เช่น ช่วงโรงเรียนเปิดเทอม เทศกาลสงกรานต์ หรือช่วงหยุดยาว ตัวเลขผู้ติดเชื้อโควิดก็จะพุ่งสูงขึ้น ประชาชนควรเฝ้าสังเกตอาการของตน หากมีอาการป่วยควรรีบตรวจเช็ค และรักษาตามอาการ รวมถึงพยายามอยู่ห่างคนที่มีอาการไม่สบายเพื่อลดการแพร่ระบาด
ด้าน ศ.นพ.ยง หัวหน้าศูนย์เชี่ยวชาญเฉพาะทางด้านไวรัสวิทยาคลินิก คณะแพทยศาสตร์ จุฬาฯ ระบุว่า ตัวเลขของผู้ป่วยโรคโควิดที่สูงสะท้อนให้เห็นว่า “เราขาดแคลนความระมัดระวัง” และแม้การแพร่ระบาดครั้งนี้คงไม่นำไปสู่การ “ปิดโรงเรียน ปิดบ้าน ปิดเมือง” แต่ประชาชนควรให้ความสนใจในเรื่องการลดการระบาดของโรค โดยการล้างมือบ่อย ๆ รักษาสุขอนามัย ใส่หน้ากากอานามัย เมื่อเข้าไปในที่ที่มีคนอยู่มาก เช่น รถไฟฟ้า และหากทำได้ก็ควรหลีกเลี่ยงการเข้าไปในพื้นที่ชุมชนคนหมู่มาก
ศ.นพ.ยง กล่าวสรุปว่าการตระหนักรู้ของประชาชน และการรณรงค์ให้ความรู้เป็นเรื่องสำคัญ ที่ทำได้ง่ายที่สุดเพื่อป้องกันการระบาดของโรคโควิด-19
“คนเรารู้แต่ถ้าไม่ทำก็ไม่เกิดอะไรขึ้น ถ้าถามว่ารู้ไหมว่าล้างมือจะช่วย รู้ แต่จะรณรงค์อย่างไรให้ประชาชนมีความตระหนักเหมือน 5 ปีที่แล้ว” เขากล่าวสรุป
ที่มา : BBC / วันที่เผยแพร่ 13 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.bbc.com/thai/articles/cvgdm42gep8o