การที่รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศเมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2025 คว่ำบาตร ซอ ชิต ตู่ (Saw Chit Thu) ผู้บัญชาการกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยงพิทักษ์ชายแดนพม่า (Border Guard Forces: BGF) หรือต่อมารู้จักกันในชื่อ กองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army: KNA) พร้อมกับลูกชาย 2 คน ฐานสนับสนุนการหลอกลวงทางไซเบอร์ ค้ามนุษย์ และอาชญากรรมข้ามแดน ไม่ใช่เพียงเพราะอาชญากรรมเหล่านี้สร้างผลกระทบต่อพลเมืองอเมริกันเท่านั้น หากแต่ยังเป็นการรักษาบทบาทของสหรัฐฯ ที่มีต่อสงครามกลางเมืองในพม่า เพื่อแข่งขันในเชิงยุทธศาสตร์และภูมิรัฐศาสตร์กับจีน และการคว่ำบาตรครั้งนี้ยังส่งผลกระทบต่อภูมิภาคนี้โดยรวมอีกด้วย
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ให้เหตุผลในการจัดการกับ ซอ ชิต ตู่ ว่าอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่มีเป้าหมายมุ่งโจมตีพลเมืองสหรัฐฯ และผู้คนในประเทศต่างๆ ทั่วโลก มีจุดกำเนิดจากภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สหรัฐฯ ได้ดำเนินการเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง ก่อนหน้านี้เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2025 สำนักงานเฝ้าระวังอาชญากรรมทางการเงิน กระทรวงการคลังสหรัฐฯ (FinCEN) ได้ประกาศให้กลุ่ม Huione ซึ่งเป็นกลุ่มธุรกิจการเงินในกัมพูชา อยู่ในบัญชีที่น่าห่วงกังวลว่าจะเกี่ยวข้องกับการฟอกเงิน ตามมาตรา 311 ของกฎหมาย USA PATRIOT Act
Huione Group เป็นเครือข่ายการฟอกเงินจากการโจรกรรมทางไซเบอร์ของเกาหลีเหนือและองค์กรอาชญากรรมข้ามชาติอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เกี่ยวข้องกับการหลอกลวงการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัล (Convertible Virtual Currency: CVC) หรือที่เรียกกันทั่วไปว่าการ ‘เชือดหมู’ หรือ ‘หลอกหมูขึ้นเขียง’ (Pig Butchering) และการหลอกลวงรูปแบบอื่นที่ใช้ CVC เป็นเครื่องมือ
ก่อนหน้านี้ กันยายน 2024 สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐฯ ได้ประกาศมาตรการคว่ำบาตร ลี ยง พัด (Ly Yong Phat) นักธุรกิจชาวกัมพูชา พร้อมกลุ่มธุรกิจ L.Y.P. Group และอสังหาริมทรัพย์ 4 แห่งในเครือ ฐานมีส่วนเกี่ยวข้องกับการละเมิดสิทธิมนุษยชนอย่างร้ายแรง โดยเฉพาะการแสวงหาประโยชน์จากแรงงานเหยื่อการค้ามนุษย์ในศูนย์หลอกลวงทางไซเบอร์ที่ตั้งอยู่ในกัมพูชา
ทั้งนี้ เมื่อเดือนกันยายน 2023 สำนักงาน FinCEN ยังออกประกาศแจ้งเตือนกรณีการฉ้อโกงผ่านการลงทุนในสกุลเงินดิจิทัลดังกล่าว เพื่อให้สถาบันการเงินและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในระบบการเงินระหว่างประเทศ
กระทรวงการคลังสหรัฐฯ ประมาณการว่าในปี 2022 ชาวอเมริกันสูญเสียทรัพย์สินจากการฉ้อโกงลักษณะนี้มากกว่า 2,000 ล้านดอลลาร์ และในปี 2023 ความเสียหายเพิ่มขึ้นเป็นกว่า 3,500 ล้านดอลลาร์ โดยแหล่งที่มาหลักของปฏิบัติการเหล่านี้คือพม่า กัมพูชา และประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้
ตามข้อมูลของสหรัฐฯ ปรากฎว่าพื้นที่ในรัฐกะเหรี่ยงของพม่าส่วนที่ติดกับชายแดนไทย จัดว่าเป็นแหล่งซ่องสุมที่สำคัญของการหลอกลวงทางไซเบอร์และธุรกิจผิดกฎหมายหลายอย่าง และชื่อของ ซอ ชิต ตู่ ก็ปรากฏขึ้นมาเป็นศูนย์กลางของเศรษฐกิจแห่งความฉ้อฉล (scam economy) มาได้ระยะหนึ่งแล้ว
ซอ ชิต ตู่ หรือ ในประเทศไทยมักจะรู้จักเขาในชื่อ หม่อง ชิต ตู่ ถือว่าเป็นขุนศึก (warlord) คนสำคัญคนหนึ่งในพม่าดินแดนแห่งมิคสัญญีเขาเริ่มต้นชีวิตนักรบกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Union: KNU) เป็นคนสนิทของ นายพล ทิน หม่อง ผู้บัญชาการกองพลที่ 7 ก่อนที่จะแยกตัวไปอยู่กับกองทัพกะเหรี่ยงพุทธประชาธิปไตย (Democratic Karen Buddhist Army: DKBA) ซึ่งตอนหลังเปลี่ยนชื่อเป็น กองทัพกะเหรี่ยงใจบุญประชาธิปไตย (Democratic Karen Benevolent Army: DKBA) ในปี 1994 และได้เป็นผู้บังคับกองพัน 999 ที่มีบทบาทสำคัญในการนำการโจมตีค่ายคอมูล่าของ KNU ในปี 1998
ชิต ตู่ พากองกำลังของเขาเข้าร่วมกองกำลังพิทักษ์ชายแดน (Border Guard Force: BGF) ในสังกัดตัดมาดอว์เมื่อปี 2010 ก่อนที่เขาจะได้รับการตบรางวัลให้ดูแลพื้นที่ใกล้ๆ ชายแดนไทย และเริ่มต้นสร้างเศรษฐกิจหล่อเลี้ยงอาณาจักรของเขาด้วยการก่อตั้งบริษัท ชิต ลิน เมียง (Chit Lin Myaing) ทำธุรกิจค้ารถยนต์และไม้ในพื้นที่
จุดเปลี่ยนสำคัญที่ทำให้ ชิต ตู่ มีชื่อเสียงขจรขจายไปไกลถึงสหรัฐฯ เกิดขึ้นในปี 2017 เมื่อเขาร่วมกับนักธุรกิจทุนสีเทาของจีน เฉอ จี้เจียง (She Zhijing) เพื่อสร้างโครงการย่าไถ่เมืองใหม่ (Yatai New City) ในชเวโก๊กโก
ปี 2024 ชิต ตู่ ประกาศแยกตัวจากตัดมาดอว์ ไม่ยอมเป็นกองกำลังพิทักษ์ชายแดนอีกต่อไปแล้วตั้งกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง (Karen National Army: KNA) เป็นของตัวเอง (แต่แหล่งข่าวบางสายยังยืนยันว่า ชิต ตู่ ไม่ได้ตัดขาดจากตัดมาดอว์จริงๆ หากแต่ยังเป็นพันธมิตรทางทหารกันอยู่ เพื่อคอยยันและถ่วงดุลอำนาจกับสหภาพแห่งชาติกะเหรี่ยง)
KNA สร้างผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจจากการดำเนินการหลอกลวงทางไซเบอร์อย่างเป็นล่ำเป็นสันโดยการให้เช่าที่ดินในพื้นที่ที่ตนควบคุมแก่กลุ่มอาชญากรรมอื่นๆ ตลอดจนสนับสนุนการค้ามนุษย์ การลักลอบขนสินค้า และให้บริการสิ่งสาธารณูปโภค เช่น พลังงาน เพื่อใช้ในศูนย์ปฏิบัติการหลอกลวงดังกล่าว นอกจากนี้ KNA ยังจัดกำลังพลเพื่อดูแลความปลอดภัยให้กับศูนย์ฉ้อโกงหรือเมืองคนบาปอื่นๆ ในรัฐกะเหรี่ยงอีกด้วย ข่าวกรองทางทหารของไทยบอกว่า ชิต ตู่ มีบทบาทสำคัญในการจัดสรรผลประโยชน์ให้กับกองกำลังกลุ่มต่างๆ ในพื้นที่รัฐกะเหรี่ยงใกล้กับเมียวดี-แม่สอด
ก่อนหน้านี้รัฐบาลอังกฤษคว่ำบาตร ซอ ชิต ตู่ เมื่อปี 2023 และสหภาพยุโรปได้ออกมาตรการคว่ำบาตรเพิ่มเติมในปี 2024 จากบทบาทของเขาในศูนย์อาชญากรรมทางไซเบอร์และความเชื่อมโยงกับระบอบทหารของสภาบริหารแห่งรัฐ (State Administration Council: SAC) ของ มิน อ่อง หล่าย
ชิต ตู่ แต่งตั้งลูกชายสองคน ได้แก่ ซอ ทู เอ มู (Saw Htoo Eh Moo) และ ซอ ชิต ชิต (Saw Chit Chit) ให้ดำรงตำแหน่งสำคัญใน KNA โดยทั้งสองมีบทบาทหลักในเครือข่ายอาชญากรรมของกองทัพแห่งชาติกะเหรี่ยง ซอ ทู เอ มู มีผลประโยชน์ในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับศูนย์ฉ้อโกงไซเบอร์ ส่วน ซอ จิต จิต มีบทบาทในปฏิบัติการทางทหารร่วมกับตัดมาดอว์ และได้ควบคุมกองพันของ KNA ในการสู้รบกับกลุ่มต่อต้านรัฐบาล นอกจากนี้ เขายังถือหุ้นและดำรงตำแหน่งกรรมการในบริษัทที่เชื่อมโยงกับ KNA หลายแห่ง
สำนักงานควบคุมทรัพย์สินต่างประเทศของสหรัฐฯ (OFAC) ได้ประกาศกำหนดสถานะ KNA ว่าเป็น ‘องค์กรอาชญากรรมข้ามชาติที่สำคัญ’ ตามคำสั่งฝ่ายบริหาร (Executive Order) หมายเลข 13581 (ฉบับแก้ไข) และกำหนดสถานะเพิ่มเติมภายใต้คำสั่งฝ่ายบริหารที่ 14014 จากการมีส่วนร่วมโดยตรงหรือโดยอ้อมในนโยบายหรือการกระทำที่คุกคามสันติภาพ ความมั่นคง หรือเสถียรภาพของพม่า
ผลจากคำสั่งคว่ำบาตรจะทำให้ทางการสหรัฐฯ สามารถยึดทรัพย์สินของ ชิต ตู่ และลูกชายทั้งสอง รวมถึงบริษัทธุรกิจของเขา ถ้าหากปรากฎว่ามีอยู่ในดินแดนในอำนาจอธิปไตยของสหรัฐฯ และถ้า ชิต ตู่ และลูกชาย รวมถึงบริษัทของเขาไปมีหุ้นในกิจการใดในสหรัฐฯ เกินกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ กิจการนั้นจะโดนคว่ำบาตรไปด้วยเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เป็นที่ทราบกันดีว่าการคว่ำบาตรของสหรัฐฯ และประเทศตะวันตกทั้งหลายต่อบุคคลหรือนิติบุคคลของพม่านั้นไม่ได้ส่งผลกระทบต่อบุคคลเหล่านี้จริงๆ เท่าใดนัก เพราะพวกเขาต่างรู้ดีตั้งแต่ต้นแล้วว่าธุรกิจของตนมีความเสี่ยงต่อการถูกคว่ำบาตร จึงไม่มีใครเก็บทรัพย์สมบัติไว้ในประเทศสหรัฐฯ แต่การคว่ำบาตรน่าจะมีนัยสำคัญต่อผลประโยชน์ทางยุทธศาสตร์ทั้งของสหรัฐฯ และประเทศคู่แข่ง คือจีน รวมตลอดทั้งประเทศเพื่อนบ้านอย่างไทย ดังต่อไปนี้
อย่างแรกเลยคือ ทั้งจีนและสหรัฐฯ ต่างก็แสดงท่าทีให้โลกเห็นว่า ให้ความสำคัญในการปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายข้ามพรมแดนและการหลอกลวงทางไซเบอร์ด้วยกันทั้งคู่ แต่ด้วยวิธีการที่แตกต่างกันมาก ขณะที่จีนใช้อิทธิพลและอำนาจในการโน้มน้าว (soft power) จนได้รับความร่วมมือจาก ชิต ตู่ ดังเช่นที่ปรากฎให้เห็นเป็นข่าวมาแล้ว ส่วนสหรัฐฯ ใช้วิธีการคว่ำบาตรลงโทษ กล่าวหาว่า ชิต ตู่ เป็นเจ้าแห่งอาชญากรรมทั้งปวงในภูมิภาค ก็จัดได้ว่าเป็นการแข่งขันกันสร้างเรื่องเล่า (narrative) ทั้งในระดับภูมิภาคและระดับโลก
ประการที่สอง เป็นที่ทราบกันดีว่า ทางการจีนได้อาศัยอำนาจและอิทธิพลในพื้นที่ของชิต ตู่ ในการปลดปล่อยชาวจีนจำนวนมากที่เป็นเหยื่อและจับกุมคนจีนที่เป็นผู้ต้องหาในคดีอาญาข้ามพรมแดนหลายคดีเมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา นัยที่ ชิต ตู่ประกาศต่อสาธารณะคือเป็นการทำงานร่วมกันระหว่างกองกำลังของเขาและทางการจีน การที่สหรัฐฯ คว่ำบาตรเช่นนี้ก็จะเป็นแรงกดดันทางการทูตต่อทางการปักกิ่งอยู่ไม่น้อย ข้อนี้ก็อาจจะส่งผลต่อทางการไทยด้วยเช่นกัน เพราะความลังเลที่จะออกหมายจับ ชิต ตู่ หลังจากที่ประกาศออกไปแล้ว อาจทำให้รัฐบาลสหรัฐฯ ใช้เป็นแต้มต่อในการเจรจาทางการค้าด้วยก็เป็นได้
ประการที่สาม จีนและประเทศเพื่อนบ้านในอาเซียน เฉพาะอย่างยิ่งไทย ซึ่งทำหรือเคยทำธุรกิจกับชเวโก๊กโกและเมืองอื่นๆ ย่านนั้นที่อยู่ภายใต้อิทธิพลของ ชิต ตู่ อาจได้รับผลกระทบจากการคว่ำบาตรอยู่ไม่น้อย เพราะแม้ว่าการคว่ำบาตรจะไม่เกิดขึ้นต่อธุรกิจใดโดยตรง แต่ก็ก่อให้เกิดความเสี่ยงและความไร้เสถียรภาพต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก เพราะอย่างน้อยที่สุด ทำให้ต้นทุนจากการประกันภัยสูงขึ้น ยิ่งในรายที่มีธุรกิจกับบริษัทหรือคนอเมริกันอยู่ด้วยอาจจะถูกเพ่งเล็ง
กล่าวโดยสรุป การประกาศคว่ำบาตร ซอ ชิต ตู่ ในคราวนี้ อาจกระทบกระเทือนผลประโยชน์และยุทธศาสตร์ในระดับภูมิภาคที่ไกลกว่าตัว ชิต ตู่ และลูกชาย รวมถึงอาณาจักรของเขา เพราะมันหมายถึงความท้าทายต่อสถานการณ์ที่ปัญหาความขัดแย้ง สงครามกลางเมือง และอาชญากรรมมาบรรจบกันพอดี ประเทศเพื่อนบ้านใกล้ชิดอย่างไทยคงจะตกอยู่ในฐานะลำบาก เพราะต้องสร้างสมดุลระหว่างแนวทางปฏิบัตินิยมแบบจีนกับหลักการแนวทางที่แข็งกร้าวที่สหรัฐฯ และประเทศตะวันตกนำเสนอขึ้นมา
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 14 พฤษภาคม 2568
Link : https://plus.thairath.co.th/topic/politics&society/105409