อันวี เด็กหญิงวัยเพียง 4 เดือน ต้องเข้าห้องไอซียูด้วยอาการเจ็บหน้าอก และเธอไม่ใช่เด็กคนเดียวในหอผู้ป่วยที่แน่นขนัดด้วยเสียงไอและร้องไห้จากเด็กคนอื่นที่หายใจติดขัด สาเหตุหนึ่งเดียวคือ มลพิษทางอากาศที่ปกคลุมเมืองหลวงของอินเดียอย่างหนาแน่น
เดลีครองตำแหน่ง “เมืองหลวงที่มีมลพิษมากที่สุดในโลก” ต่อเนื่องกันถึง 6 ปี จากรายงานคุณภาพอากาศโลกประจำปีของบริษัทวัดคุณภาพอากาศสัญชาติสวิส IQAir
ในเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา ดัชนีคุณภาพอากาศ หรือ AQI ของเมืองพุ่งสูงถึง 795 เกือบ 8 เท่าของค่าที่ถือว่า “ไม่ปลอดภัย” และบางพื้นที่ AQI พุ่งทะลุ 1,185 สะท้อนภาพรวมทั้งประเทศ เมื่อ 6 ใน 10 เมืองที่มีมลพิษมากที่สุดในโลกอยู่ในอินเดีย และ 74 จาก 100 เมืองที่มีมลพิษรุนแรงก็อยู่ในประเทศนี้เช่นกัน
รายงานจากสถาบัน Health Effects Institute ร่วมกับยูนิเซฟ ยังระบุว่า มลพิษทางอากาศทำให้มีผู้เสียชีวิตในอินเดียถึง 2.1 ล้านคนในปี 2021 รวมถึงเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปีถึง 169,400 ราย มากที่สุดในโลก
ทำไมเดลีถึงหายใจไม่ออก โดยเฉพาะฤดูหนาว
เดลี เมืองที่มีประชากรมากเป็นอันดับ 2 ของโลก มีแหล่งกำเนิดมลพิษนับไม่ถ้วน ทั้งโรงงานอุตสาหกรรม ฝุ่นจากการก่อสร้าง การเผาขยะ และยานพาหนะเกือบ 8 ล้านคัน ซึ่งบางคันเก่าและยังใช้เครื่องยนต์ที่ปล่อยมลพิษสูง
ในปี 2023 เพียงปีเดียว เดลีมียอดขายรถใหม่เกือบ 657,000 คัน และยังมีรถจากนอกเมืองเข้า-ออกอีกวันละกว่า 1.1 ล้านคัน ส่วนหนึ่งเป็นผลจากชนชั้นกลางที่กำลังเติบโตและมีความต้องการรถยนต์ส่วนตัว
แม้จะมีนโยบายใช้พลังงานสะอาด ส่งเสริมรถไฟฟ้า และบังคับใช้มาตรฐานปล่อยมลพิษใหม่ แต่มาตรการเหล่านี้มักล้มเหลวในขั้นปฏิบัติ โดยเฉพาะเมื่อมลพิษจากนอกเขตเมือง เช่น การเผาเศษซากพืชในรัฐปัญจาบและหรยาณา ยังคงลอยเข้าสู่เดลี
ขณะเดียวกัน สภาพภูมิประเทศก็ไม่เอื้ออำนวย เดลีตั้งอยู่ในที่ราบลุ่มอินโด-คงคา ซึ่งล้อมรอบด้วยเทือกเขาหิมาลัยที่ทำหน้าที่เหมือนกำแพงกักเก็บอากาศเสีย ในฤดูหนาว อากาศเย็นที่อยู่ใกล้พื้นดินจะไม่ลอยตัว ทำให้มลพิษสะสมอยู่ได้นานนับสัปดาห์
มลพิษ PM2.5: ฆาตกรเงียบ
สิ่งที่นักวิทยาศาสตร์กังวลที่สุดคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5 ซึ่งเล็กกว่าเส้นผมมนุษย์ถึง 30 เท่า สามารถแทรกซึมเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ กระทบหัวใจ สมอง และแม้แต่ทารกในครรภ์
นีลัม เคลอร์ ที่ปรึกษาด้านทารกแรกเกิดในโรงพยาบาล Sir Ganga Ram กล่าวว่า PM2.5 สามารถผ่านจากแม่เข้าสู่ทารกในครรภ์ได้ เธอพบว่าเด็กแรกเกิดในพื้นที่ที่มี PM2.5 สูง มักมีน้ำหนักน้อยและปอดไม่พัฒนาเต็มที่
รายงาน “State of Global Air 2020” ระบุว่า มีทารกมากกว่า 116,000 รายในอินเดียที่เสียชีวิตภายใน 27 วันแรกของชีวิตในปี 2019 เนื่องจากมลพิษทางอากาศ
ราคาที่ต้องจ่าย: ไม่ใช่แค่ชีวิต แต่เศรษฐกิจก็พัง
บริษัทที่ปรึกษาด้านกลยุทธ์ Dalberg ประเมินว่า มลพิษทางอากาศทำให้อินเดียสูญเสียทางเศรษฐกิจราว 95,000 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือราว 3% ของ GDP ในปี 2019 เพราะการเสียชีวิตก่อนวัยอันควรและการสูญเสียผลิตภาพแรงงาน
แม้จะมีความพยายามต่อเนื่อง ตั้งแต่ พ.ร.บ.ควบคุมมลพิษปี 1981 จนถึงโครงการระดับชาติ NCAP ในปี 2019 ที่ตั้งเป้าลดมลพิษใน 131 เมือง แต่ผลลัพธ์ยังไม่ชัดเจน
ตัวอย่างเช่น หอกรองอากาศขนาดยักษ์ที่สร้างขึ้นในเดลีในปี 2021 ใช้งบถึง 2.4 ล้านดอลลาร์ต่อแห่ง และค่าบำรุงเดือนละ 1.5 ล้านรูปี แต่ลดมลพิษได้เพียง 17% ในรัศมี 100 เมตรเท่านั้น
ผู้เชี่ยวชาญยังชี้ว่าการควบคุมฝุ่น PM10 ซึ่งเป็นอนุภาคขนาดใหญ่ อาจช่วยลดฝุ่นได้บางส่วน แต่ PM2.5 กลับไม่ได้รับการจัดการเท่าที่ควร
อีกหนึ่งแนวทางคือ การเปลี่ยนจากแผนปฏิบัติการรายเมือง เป็นแนวทางตามพื้นที่อากาศ ซึ่งครอบคลุมหลายรัฐ แต่แม้จะมีคณะกรรมาธิการอากาศแห่งชาติแล้ว ความร่วมมือระหว่างหน่วยงานก็ยังเป็นความท้าทายใหญ่
เมื่อความหวังในการแก้ปัญหาจากภาครัฐดูเลือนราง ชาวเมืองที่มีกำลังทรัพย์บางคนจึงเลือกย้ายออกจากเมืองที่มลพิษหนักไปยังเมืองอื่นๆ เพื่อสุขภาพ แม้จะแทบไม่มีเมืองใดที่มีอากาศบริสุทธิ์ให้หายใจก็ตาม ขณะที่ประชาชนส่วนใหญ่ยังคงต้องทนสูดฝุ่นต่อไป เพราะไม่มีทางเลือก โดยตามรายงานดัชนีคุณภาพอากาศต่อชีวิต ฉบับล่าสุดจากสถาบันนโยบายพลังงานแห่งมหาวิทยาลัยชิคาโก พบว่า ในปี 2022 ประชากรอินเดียราว 42.6% อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่มีคุณภาพอากาศไม่เป็นไปตามมาตรฐานแห่งชาติในส่วนของค่าฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM2.5
อินเดียกำลังเผชิญกับวิกฤตมลพิษทางอากาศที่ลึกเกินเยียวยา เพราะเบื้องหลังปัญหานี้คือโครงสร้างเศรษฐกิจ ความไม่เท่าเทียม และระบบราชการที่เปราะบาง การแก้ปัญหามลพิษเอาตัวรอดเฉพาะบุคคลจึงไม่ใช่ทางแก้ที่ยั่งยืน หากไม่มีแรงผลักดันจากประชาชนและการตระหนักรู้ในระดับชาติ วิกฤตครั้งนี้อาจกลายเป็นต้นทุนที่อินเดียต้องจ่ายแพง ทั้งในแง่ชีวิตผู้คน และการเติบโตทางเศรษฐกิจในระยะยาว.
ผู้เขียน : อาจุมมาโอปอล
ที่มา : channelnewsasia , Indiaexpress
ที่มา : สำนักข่าวไทยรัฐออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 12 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.thairath.co.th/news/foreign/2857796