เมื่อเอไอเริ่มสนทนาภาษาสัตว์: ดอลฟินเจมมา
จอห์น ลิลลี่ (John C Lilly) คือคนที่คาบช้อนเงินช้อนทองมาเกิดอย่างแท้จริงบิดาของเขา คือ ริชาร์ด คอยล์ ลิลลี่ (Richard Coyle Lilly) ประธานของธนาคารเฟิร์สเนชั่นแนลแห่งเซนต์ปอล (First National Bank of St. Paul)
ส่วนมารดาของเขาก็คือ เรเชล เลนอร์ คันนิ่งแฮม (Rachel Lenor Cunningham) ลูกสาวเจ้าของบริษัทคันนิ่งแฮมและฮาส (Cunningham and Haas Company) ธุรกิจคอกปศุสัตว์ขนาดยักษ์
ครอบครัวของเขาร่ำรวยมหาศาล
แต่แทนที่จะเลือกอาชีพในสายบิสซิเนส จอห์นกลับเลือกเดินตามเส้นทางความฝันของเขาในสายวิทยาศาสตร์
เขาเลือกเรียน “ชีววิทยา” และเรียนต่อในสาขาแพทยศาสตร์เชี่ยวชาญด้านจิตเวช
แต่ความฝันของเขากลับเป็นอะไรที่ประหลาดเกินกว่าจินตนาการ
เขาอยากที่จะสอนโลมาให้สื่อสารภาษาคน
ในตอนแรก หลังจากที่จบแพทย์ จอห์นตัดสินใจทำวิจัยด้านประสาทวิทยาศาสตร์ และเริ่มสนใจในเรื่องทฤษฎีจิตวิเคราะห์
แต่ในปี 1949 ในระหว่างที่เดินเล่นอยู่ริมหาดเขาก็ได้พบกับซากวาฬนำร่องมาเกยตื้นตายอยู่แถวบ้านเขาในแมสซาชูเซตส์ (Massachusetts) ซึ่งทำให้เขาได้เห็นความใหญ่โตมโหฬารของสมองวาฬ
และด้วยในระยะนั้น นักวิทยาศาสตร์เชื่อมโยงระดับสติปัญญากับขนาดของสมอง ทำให้ทุกคนเชื่อว่าวาฬและโลมาจะต้องชาญฉลาดมากๆ อย่างแน่นอน ไม่แน่อาจจะฉลาดไม่แพ้พวกมนุษย์เลยก็ได้
และนั่นทำให้ไฟแห่งนักวิทยาศาสตร์ในตัวจอห์นลุกโชนกลับขึ้นมาอีกครั้ง
บางทีโลมาแต่ละตัวอาจจะสื่อสารกันได้จริงๆ ในภาษาที่เราไม่รู้จักก็เป็นได้ จอห์นเริ่มตั้งสมมุติฐาน
และเพื่อเดินตามฝันและตอบโจทย์สมมุติฐานที่เขาตั้งไว้ จอห์นตัดสินใจควักเงินตัวเองลงทุนสร้างห้องทดลองเพื่อศึกษาพฤติกรรมและชีววิทยาของโลมาขึ้นที่เกาะเซนต์โทมัส ในหมู่เกาะเวอร์จิ้น ประเทศสหรัฐอเมริกา
และฝันของเขาก็ดูจะมีเค้ารางของความเป็นจริง
แมรี่ เคราช์ (Mary Crouch) ภรรยาคนแรกของจอห์น เล่า “ฉันยังจำได้แม่น ฉันเดินไปที่ด้านบนของอัฒจันทร์และได้ยินเสียงจอห์นกำลังคุยกับโลมา และโลมาก็ส่งเสียงตอบเขา วู่ วู่ วู่ และเมื่ออลิส ผู้ช่วยของจอห์นเริ่มส่งเสียงตอบโลมาด้วยเสียงที่แหลมเล็ก ทันทีทันใด โลมาตัวนั้นก็เลียนเสียงเธอ ฉันรีบรุดลงไปหาพวกเขา และบอกกับพวกเขาถึงสิ่งที่ฉันเห็น และเมื่อพวกเขาตระหนักว่าเกิดอะไรขึ้น พวกเขาก็ถึงกับสะดุ้ง”
จอห์นตื่นเต้นมาก เขาเขียนเล่าเรื่องราวนี้ลงไปในหนังสือ “ชายหนุ่มและโลมา (Man and Dolphin)” ในปี 1961 เขาเชื่อว่าพฤติกรรมที่แมรี่เห็น บ่งชี้ชัดว่าพวกโลมาก็อยากที่จะพูดคุยตอบโต้กับพวกมนุษย์ที่อยู่รอบๆ ตัวพวกมันเหมือนกัน
และถ้าโลมามีภาษาของพวกมันจริงๆ นี่อาจจะเป็นหนึ่งในโอกาสอันดีที่จะริเริ่มโครงการสอนโลมาให้รู้ภาษามนุษย์
“นี่อาจจะเป็นก้าวแรกของการสื่อสารกันด้วยภาษาข้ามสปีชีส์” ที่อาจจะพลิกโฉมหน้ามนุษยชาติไปเลยโดยสิ้นเชิงก็ได้
จอห์นตัดสินใจรับสมัครผู้ช่วยเพื่อสอนให้โลมาเข้าใจภาษามนุษย์เข้ามาในทีม
และเพื่อให้การสอนโลมาประสบผลไวที่สุด จอห์นได้ปรับปรุงโซนห้องพักในสถาบันวิจัยของเขาให้กันน้ำ ก่อนที่จะผันน้ำเข้ามาท่วมห้อง โดยระดับน้ำจะสูงราวๆ สองฟุต เพียงพอที่จะให้โลมาว่ายเข้ามาหา มาเล่น มาคลอเคลียและอยู่ร่วมกันกับครูฝึกในห้องได้อย่างสบาย
ในนั้น เตียง โต๊ะทำงาน พื้นที่อยู่อาศัยของครูฝึกจะสูงกว่าระดับน้ำเล็กน้อย และครูฝึกจะต้องอยู่กับโลมา 6 วันต่อสัปดาห์ เพื่อสอนให้พวกมันเข้าใจภาษามนุษย์ในห้องน้ำท่วม
งานนี้เรียกว่าต้องทุ่มเททั้งตัวและหัวใจ
ทว่า ผลที่ได้กลับไม่น่าตื่นเต้นเท่าที่ควร โลมาบางตัวก็ไม่สนใจจะเรียน และบางตัวก็กลับมีพฤติกรรมแปลกๆ เช่น คอยเกี้ยวพาราสีขอมีสัมพันธ์ข้ามสปีชีส์กับครูฝึกเลยก็มี บางทีจอห์นอาจจะโฟกัสผิดจุด เขาสนใจกับมนุษย์มากจนเกินไป
เขาอยากให้โลมาเรียนรู้ภาษามนุษย์ แต่ไม่ได้สนใจที่จะทำความเข้าใจภาษาของโลมาให้ดี
ตัดภาพกลับมาในปี 1985 ที่ชายฝั่งบาฮามาส เดนีส เฮอร์ซิ่ง (Denise Herzing) นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลสาวจากมหาวิทยาลัยฟลอริดาแอตแลนติก (Florida Atlantic University) เริ่มสนใจที่จะศึกษาโลมาอย่างจริงจัง และได้ก่อตั้งโครงการศึกษาโลมาในธรรมชาติ (Wild Dolphin Project) หรือ WDP ขึ้นมา
สิ่งที่อยู่ในใจเดนีส ก็คือ การพัฒนาวิธีสื่อสารกับโลมา เช่นเดียวกันกับของจอห์น
แต่ถ้าพิจารณาเป้าหมายในรายละเอียด โปรเจ็กต์นี้อาจจะมีความต่างนิดนึงกับโปรเจ็กต์ของจอห์น
เพราะสำหรับเดนีส สิ่งที่เธอมุ่งมั่นและสนใจก็คือการทำความเข้าใจภาษาที่ซับซ้อนของโลมา และเมื่อเราเข้าใจโลมาดีพอ การสร้างการสื่อสารแบบสองทางระหว่างมนุษย์กับโลมาก็คงเป็นไปได้ไม่ยากเย็น
เดนีสให้ความสำคัญกับการทำความเข้าใจโครงสร้างภาษาของโลมา มากกว่าจะฝึกโลมาให้เรียนรู้ภาษามนุษย์
เธอเริ่มศึกษาและบันทึกเสียงร้อง (squawk) เสียงบัซ (buzz) และเสียงหวีด (whistle) ของโลมาเก็บไว้ พร้อมทั้งกิจกรรมที่โลมาทำในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นสอนลูก ขับไล่ผู้บุกรุกอย่างฉลาม หรือแม้แต่เกี้ยวพาราสี
ฐานข้อมูลเสียงบันทึกของโลมาของเดนีส คือฐานข้อมูลเสียงโลมาที่ใหญ่ที่สุดในโลกในปัจจุบันที่เดนีสและทีมคอยเติมข้อมูลเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ เป็นเวลากว่า 40 ปี
และในยุคที่เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์สุกสะพรั่ง แบบจำลองเอไอที่ช่วยจดจำและออกแบบแบบแผนซึ่งเรียกว่า Large Language Model หรือ LLM อย่างเช่น ChatGPT และ Gemini สามารถทำงานได้อย่างน่าตกตะลึง พวกมันเรียนรู้จากฐานข้อมูล mix and match เนื้อหา และสังเคราะห์ประโยคออกมาเป็นภาษามนุษย์ได้อย่างสมจริงภายในระยะเวลาอันสั้น
นี่เป็นช่วงเวลาทีดีที่จะพัฒนาเอไอที่เข้าใจภาษาของสัตว์ขึ้นมา
ทางทีมกูเกิลตัดสินใจเริ่มโครงการพัฒนาเอไอเรียนรู้ภาษาโลมา โดยให้ชื่อว่า DolphinGemma
แต่สิ่งที่วิศวกรเอไอต้องการคือฐานข้อมูล ฐานข้อมูลที่เก็บข้อมูลมาเป็นอย่างดีของเดนีส จึงเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้เอไอที่เก่งกาจพวกนี้สามารถเข้าใจภาษาแห่งโลมาได้
และเมื่อแทด สตาร์เนอร์ (Thad Starner) วิศวกรเอไอจากกูเกิลและจอร์เจียเทค (Georgia Institute of Technology) ผู้มีปณิธานเดียวกันกับจอห์นและเดนีส ตัดสินใจที่จะเริ่มพัฒนาเอไอคุยภาษาโลมาขึ้นมา ข้อมูลพวกนี้ก็ไปสะดุดตาเขาอย่างจัง
เดนีสและแทดตัดสินใจร่วมมือกัน ข้อมูลเสียงของโลมาของเดนีสถูกส่งมาให้แทดได้เทรนเอไอ และพัฒนาโมเดลขึ้นมา โดยข้อมูลดิบเสียงของโลมา จะถูกแยกเป็นคำๆ ที่เรียกว่าโทเคน และค้นหาแบบแผนที่อยู่ในแต่ละเสียง ในเวลานี้ เอไอของพวกเขาเริ่มเรียนรู้ภาษาโลมาได้ถึงขั้นที่ว่าสามารถเติมเต็มเสียงร้องของโลมาได้แล้ว
ถ้าเปรียบก็เหมือนเวลาคุณจะพิมพ์หาคีย์เวิร์ดอะไรบางอย่างในกูเกิล แล้วกูเกิลก็เสนอแนะคำทำนายประโยคว่าคุณอยากจะเขียนมาได้เป๊ะๆ ทั้งประโยคตั้งแต่ยังพิมพ์ไม่เสร็จ
ชัดเจนว่าโลมามีภาษาของโลมา และโลมาแต่ละตัวจะมีเสียงร้องเรียกเฉพาะตัว พวกมันสามารถจดจำตัวเองได้ในกระจก แต่พวกมันจะมีวัฒนธรรมมั้ย นี่เป็นอะไรที่น่าสนใจ
และด้วยข้อมูลที่เรามีนั้น ยังไม่พอที่จะฟันธง เราอยากรู้เพิ่มเติมเกี่ยวกับภาษาของโลมา
แต่นอกจากที่จะเข้าใจรูปประโยคของโลมาได้ ทางทีมยังพัฒนาระบบ CHAT หรือ Cetacean Hearing Augmentation Telemetry ขึ้นมาเพื่อให้สามารถรับและส่งสัญญาณคุยกับโลมาเป็นแบบโต้ตอบกันได้ (Two-way communication) ซึ่งจะทำให้เอไอฉลาดขึ้นอีกด้วย
ระบบ CHAT จะทดลองเลียนแบบเสียงเรียกของโลมาในน้ำทะเล และสอนให้มันเข้าใจคำศัพท์บางคำเช่น ได้ยินเสียงร้องเช่นนี้ อาจจะหมายถึงผ้าคลุม และอีกเสียงร้องหนึ่งอาจจะหมายถึงสาหร่าย เทคโนโลยีนี้ทำให้พวกเขาสามารถสื่อสารกับโลมาได้จริงๆ
และที่พีกที่สุดก็คือระบบ CHAT ของพวกเขาสามารถรันได้บนมือถือกูเกิลพิกเซล 9 (Google Pixel 9) ที่มีขายตามท้องตลาดได้เลย ไม่ต้องใช้ฮาร์ดแวร์อะไรที่แฟนซีเพื่อรับและประมวลผลสัญญาณต่างๆ
“ฉันรอคอยสิ่งนี้มาตั้ง 40 ปี” เดนีสกล่าว “และในที่สุดฝันของฉันก็เป็นจริง”
แต่นี่เป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้น ด้วยสมองที่ใหญ่โตและกลไกการส่งการรับสัญญาณที่ซับซ้อนของโลมา การเข้าใจภาษาโลมาของ Dolphin Gemma อาจจะเป็นเพียงแค่จุดเริ่มต้นที่จะช่วยเปิดศักราชใหม่แห่งวงการเอไอ ประสาทวิทยา ชีววิทยา และพฤติกรรม
อย่าลืมว่าโลมาสามารถใช้การสะท้อนเสียงโซนาร์เพื่อให้เห็นภาพสิ่งแวดล้อมข้างหน้าได้ ซึ่งกลไกนี้ไม่มีในคน บางทีสิ่งที่ดูเหมือนเราจะเข้าใจอาจจะเป็นแค่กระผีกเดียวเล็กๆ ของสัญญาณทั้งหมดที่พวกมันได้รับ อาจจะไม่ใช่แค่ประโยค หรือคำอย่างที่เราคิด
ในตอนนี้ สิ่งที่ Dolphin Gemma เข้าใจอาจจะเป็นแค่ขั้นอนุบาล
แต่ในอีกไม่กี่เดือน (น่าจะราวๆ สิงหาคม 2025) ทางทีมกูเกิลได้ประกาศว่าพวกเขามีแผนที่จะเปิดให้เอไอ Dolphin Gemma ของพวกเขา เป็น Opensource ที่ให้นักวิทยาศาสตร์ นักวิจัย หรือใครก็ได้ที่สนใจเข้ามาใช้ได้ ซึ่งถ้าเกิดขึ้นจริง นี่อาจจะเป็นจุดเริ่มต้นของซิงกูลาริตี้ครั้งใหม่ที่เกิดจากเอไอ
เราอาจจะได้เห็นเอไอคุยกับตัวอะไรอย่างอื่นได้อีกเยอะ ไม่ใช่แค่โลมา อย่างน้อยก็มี Project CETI ที่ศึกษาวาฬหัวทุย และทีม ESP (Earth Species Project) ที่สนใจตัวอะไรต่อมิอะไรไม่รู้อีกสารพัด
แต่ที่แน่ๆ ก่อนที่จะพลิกโลกได้ สะเทือนโลกา ยังไงต้องมีก้าวแรก…
และเมื่อก้าวแรกก้าวออกไปแล้ว ก้าวต่อไปจะเป็นอะไรที่น่าจับตามอง!!
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ / วันที่เผยแพร่ 1 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/news/4664008/