ย้อนกลับไปเมื่อเดือน ส.ค. 2490 ข้อตกลงแบ่งมณฑลบริติชอินเดีย ที่กำหนดขึ้นโดยสหราชอาณาจักรมีผลบังคับใช้ ถือเป็นการสิ้นสุดอย่างเป็นทางการ ของยุคจักรวรรดินิยมอังกฤษในชมพูทวีป โดยข้อตกลงแบ่งแยกพื้นที่ดังกล่าวออกเป็นรัฐอธิปไตยสองแห่ง คือปากีสถานที่ได้รับเอกราชในคืนวันที่ 14 ส.ค. ตามด้วยอินเดีย เมื่อวันที่ 15 ส.ค. ปีเดียวกัน
ในช่วงแรกของการแบ่งแยกดินแดนแห่งนี้ออกเป็นสองประเทศ หลังตกอยู่ภายใต้การปกครองของสหราชอาณาจักรนานถึง 2 ศตวรรษ ส่งผลให้เกิดวิกฤติด้านมนุษยธรรมครั้งใหญ่ ที่เป็นการอพยพข้ามพรมแดนตามความเชื่อทางศาสนาของประชาชนมากกว่า 10 ล้านคน ท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่เกิดขึ้นในระหว่างนั้นมากมาย ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 1 ล้านราย ก่อให้เกิดบรรยากาศตึงเครียดและความหวาดระแวงในความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศ นับจากนั้นเป็นต้นมา
อย่างไรก็ตาม ในอีกเพียง 2 เดือนต่อมา อินเดียและปากีสถานทำสงครามครั้งใหญ่เป็นครั้งแรก เพื่อแย่งชิงกรรมสิทธิ์เหนือพื้นที่ทับซ้อนในภูมิภาคแคชเมียร์ ดินแดนที่อยู่ทางตอนเหนือของทั้งสองประเทศ การสู้รบกินเวลายาวนานกว่า 1 ปี จนถึงปี 2492 ทหารของทั้งสองประเทศเสียชีวิตรวมกันมากกว่า 7,500 นาย

เจ้าหน้าที่ควบคุมพรมแดนของอินเดียและปากีสถาน เผชิญหน้ากัน ในพิธีปิดประตูประจำวัน ที่ด่านวากาห์
สงครามดังกล่าวยุติ ด้วยการเข้ามาแสดงบทบาทของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ในการกำหนดแนวเส้นควบคุม ( แอลโอซี ) หลังการลงนามในข้อตกลงหยุดยิงระหว่างสองประเทศ แต่แอลโอซีไม่ใช่การแบ่งเขตแดนในพื้นที่พิพาทแคชเมียร์ให้กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอย่างเด็ดขาด ยิ่งเป็นการเพิ่มความขัดแย้งและความคลุมเครือให้กับความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ที่หลังจากนั้นยังทำสงครามในบริเวณนี้อีก 2 ครั้ง คือเมื่อปี 2508 และ 2542
นอกจากนี้ การปะทะตามแนวแอลโอซียังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน เนื่องจากต่างฝ่ายต่างมองว่าอีกฝั่งหนึ่งของแอลโอซีเป็นดินแดนที่สมควรอยู่ภายใต้อธิปไตยของตัวเอง ขณะที่การเจรจาแทบไม่มีความคืบหน้าอย่างสร้างสรรค์ท่ามกลางบรรยากาศของความสัมพันธ์ที่ตึงเครียดนับตั้งแต่นาทีแรกที่ได้รับเอกราช อินเดียและปากีสถานจำเป็นต้องขับเกี่ยวกับในแทบทุกด้าน เพื่อพัฒนาให้ตัวเองเป็นที่ 1 ในภูมิภาค โดยภายใต้แรงผลักดันที่ซ่อนอยู่คือความต้องการ “เหนือกว่า” อีกฝ่าย
แม้มีความพยายามร่วมกันในการฟื้นฟูความสัมพันธ์ แต่สถานการณ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานกลับมาดำดิ่งอีกครั้ง และความตึงเครียดยกระดับอย่างรวดเร็ว หลังเกิดเหตุกลุ่มติดอาวุธกราดยิงกลุ่มนักท่องเที่ยว ที่เมืองพาฮาลแกม ในรัฐชัมมูและกัศมีร์ หรือภูมิภาคแคชเมียร์ภายใต้อธิปไตยของอินเดีย เมื่อวันที่ 22 เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 26 ราย
หลังเกิดเหตุ รัฐบาลอินเดียกล่าวว่า เป็นฝีมือของกลุ่มลาชการ์-อี-ไทบา ซึ่งมีฐานที่มั่นอยู่ในปากีสถาน และเป็นองค์กรก่อการร้ายในบัญชีดำของสหประชาชาติ ( ยูเอ็น ) ขณะที่รัฐบาลปากีสถานยืนกรานปฏิเสธ และเรียกร้องการสอบสวนระดับนานาชาติ
ขณะเดียวกัน ทั้งสองประเทศใช้มาตรการทางการทูตตอบโต้กันอย่างหนัก รวมถึงการเนรเทศนักการทูต การระงับออกวีซ่า การไม่ค้าขายและการปิดจุดผ่านแดนระหว่างกัน นอกจากนี้ อินเดียประกาศระงับสนธิสัญญาแบ่งปันน้ำตามแนวลุ่มแม่น้ำสินธุ ซึ่งปากีสถานเตือนว่า เรื่องนี้ถือเป็น “การประกาศสงคราม” แล้วทหารของทั้งสองประเทศยังยิงตอบโต้กันเป็นระยะตามแนวชายแดน และกองทัพปากีสถานทดสอบขีปนาวุธแล้วสองครั้ง ภายในระยะเวลาห่างกันไม่กี่วัน

กลุ่มควันจากการยิงปืนใหญ่ของปากีสถาน ที่เมืองพูนช์ ในรัฐชัมมูร์และกัศมีร์ หรือภูมิภาคแคชเมียร์ภายใต้อธิปไตยของอินเดีย
อย่างไรก็ตาม สถานการณ์ทวีความตึงเครียดมากยิ่งขึ้นไปอีก เมื่อกองทัพอินเดียเป็นฝ่ายเปิดฉากปฏิบัติการทางทหาร เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา เป็นการโจมตีข้ามพรมแดนเพื่อทำลาย “แหล่งซ่องสุมของกลุ่มติดอาวุธ” ในปากีสถาน ด้านกองทัพปากีสถานตอบโต้ด้วยการยิงปืนใหญ่ และการยิงเครื่องบินขับไล่ของอินเดียตก 5 ลำ
อนึ่ง การสะสมและพัฒนาอาวุธ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาโครงการด้านนิวเคลียร์ คือหนึ่งในการแข่งขันอันหนักหน่วงระหว่างอินเดียกับปากีสถาน ต่างฝ่ายต่างทดสอบระเบิดนิวเคลียร์มาแล้วคนละ 1 ครั้ง โดยอินเดียทดสอบระเบิดนิวเคลียร์เมื่อเดือน พ.ค. 2517 สร้างประวัติศาสตร์เป็นประเทศแรกที่ไม่ใช่สมาชิกถาวรของคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติ ( ยูเอ็นเอสซี ) ที่ทดสอบอาวุธนิวเคลียร์ ส่วนการทดสอบระเบิดนิวเคลียร์ของปากีสถาน เกิดขึ้นเมื่อเดือน พ.ค. 2541
ปัจจุบัน รัฐบาลนิวเดลีมีหัวรบนิวเคลียร์สะสมอยู่ประมาณ 170 หัวรบ มากกว่าปากีสถานเล็กน้อย แต่ผู้เชี่ยวชาญเชื่อว่า ทั้งสองประเทศมีหัวรบนิวเคลียร์มากกว่านั้น และต่างฝ่ายต่างกำลังเร่งพัฒนาศักยภาพในการผลิตแบบซุ่มเงียบ เพื่อเพิ่มจำนวนหัวรบชนิดนี้ให้มากขึ้นอีก
นายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ผู้นำอินเดีย ยืนยันแผนยุทธศาสตร์ด้านนิวเคลียร์ของประเทศ คือเพื่อความปลอดภัยของประชาชน และรักษาความมั่นคงของชาติ ขณะที่แม้นโยบายด้านความมั่นคงของปากีสถานในภาพรวม ไม่เคยมีกรอบชัดเจนเกี่ยวกับเรื่องนิวเคลียร์ แต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงของรัฐบาลหลายคนกล่าวเป็นเสียงเดียวกันว่า ต้องมีไว้เพื่อป้องกันประเทศ และเพื่อต่อกรกับ “ปรปักษ์ตลอดกาล” นั่นคืออินเดีย

ประชาชนรวมตัวบริเวณอาคารแห่งหนึ่ง ในเมืองการาจีของปากีสถาน ซึ่งเสียหายอย่างหนัก จากการโจมตีด้วยโดรนของอินเดีย
หตุกราดยิงที่เมืองพาฮาลแกมเป็นเรื่องสะเทือนขวัญและน่าสลดใจอย่างยิ่ง ไม่ว่าผู้ก่อเหตุมีจุดประสงค์ใด แต่ผลที่ตามมาคือ เป็นการยิ่งทำให้ประเด็นพิพาทระหว่างอินเดียกับปากีสถาน “ซึ่งยังคงมีรากเหง้าจากเรื่องเดิม” ร้าวฉานมากขึ้นไปอีก แม้เชื่อได้ว่า ในเบื้องลึก คู่กรณีทั้งสองประเทศไม่ต้องการให้ปัญหาเหล่านี้ยืดเยื้อเรื้อรัง เพื่อไม่ให้เป็นอุปสรรคของการพัฒนาทางเศรษฐกิจ ที่กำลังเป็น “สงคราม” ซึ่งโลกยุคปัจจุบันขับเคี่ยวกันอย่างหนักมากกว่า
ทว่าการที่ทั้งสองฝ่ายยังไม่อาจแสวงหาหนทางคลี่คลายความขัดแย้งให้เป็นที่พึงพอใจในระดับที่เท่าเทียมกันได้ ความสัมพันธ์ระหว่างอินเดียกับปากีสถานก็ยังคงห่างไกล จากการเปลี่ยนแปลงไปในทางบวก “อย่างจริงจัง” ต่อให้มีความพยายามฟื้นฟูมาตลอด แต่เมื่อเกิดเหตุเพียงครั้งหนึ่ง ก็ทำให้ทั้งสองฝ่ายลืมความพยายามซึ่งเคยมีร่วมกันไปจนหมดสิ้น.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์ออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 11 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4693010/