อาเซียนที่มีการเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว กลายมาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กิจกรรมอาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศ และดึงดูดความสนใจจากผู้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์จากต่างประเทศที่มีความซับซ้อนสูง หากปล่อยให้เกิดขึ้นต่อไป อาจถูกประชาคมโลกมองว่า เป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาชญากรรมไซเบอร์
เทคโนโลยีไม่ได้เพียงทำให้ชีวิตประจำวันของเราสะดวกขึ้น แต่ยังเป็นเครื่องมือในการก่ออาชญากรรมสมัยใหม่อย่างอาชญากรรมทางไซเบอร์ (Cybercrime) ซึ่งพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็วทั้งวิธีการ เครื่องมือ และรูปแบบ เพราะเช่นเดียวกับที่เราเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ ๆ อาชญากรเองก็เรียนรู้ที่จะใช้ประสบการณ์สร้างความเชี่ยวชาญให้เกิดการโจมตีทางไซเบอร์ที่ซับซ้อนขึ้น
ผู้ต้องการหาเงินจากการหลอกลวงโดยไม่ต้องเขียนโค้ดหรือลงมือแฮ็กเองสามารถซื้อ สร้างระบบหรือเทมเพลตในการหลอกลวง (Scams-as-a-Service: SaaS) ยิ่งทำให้การก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์เป็นไปอย่างสะดวก และการใช้ AI เข้ามาเป็นเครื่องมือในการหลอกลวง ยิ่งทำให้อาชญากรทำงานง่ายขึ้นและคนหลงเชื่อง่ายขึ้น
ฟิชชิง (Phishing) ยังเป็นวิธีการโจมตีที่ได้รับความนิยมและได้ผลดีจากการปลอมอีเมล ข้อความ หรือเว็บไซต์เพื่อหลอกเอาข้อมูล โดยมีการปลอมเป็นผู้ให้บริการดิจิทัล คลาวด์ สื่อสังคมออนไลน์ รวมถึงคริปโท ซึ่งเป็นเทรนด์ในยุคดิจิทัลด้วย
รายงาน Hi-Tech Crime Trends 2023/2024 ระบุว่า มัลแวร์เรียกค่าไถ (Ransomware) และการเจาะระบบคอมพิวเตอร์เพื่อขายสิทธิการเข้าถึง (Initial Access Brokers: IABs) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของอาชญากรรมทางไซเบอร์เห็นได้จากข้อมูลของบริษัทต่าง ๆ ที่ถูกนำเข้าเว็บไซต์ขายข้อมูลเพิ่มมากขึ้น 74% ต่อปี แม้แต่ระบบ macOS ก็ถูกโจมตีและขายข้อมูลเพิ่มขึ้นถึง 5 เท่า
ขณะที่ Cyfirma รายงานว่า การโจมตีทางไซเบอร์แบบแคมเปญที่ดำเนินการต่อเนื่องและมีกลยุทธ์ระยะยาว (Advanced Persistent Threat: APT) ที่มีหน่วยงานรัฐเป็นเป้าหมายเพิ่มขึ้น 35% โดยเฉพาะประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่และพัฒนามากอย่างญี่ปุ่น สหรัฐ และสหราชอาณาจักร รวมถึงเอเชียแปซิฟิกที่ได้รับความสนใจเช่นกัน
เอเชียตะวันออกและตะวันออกเฉียงใต้โดยเฉพาะไต้หวัน ไทย อินโดนีเซีย มาเลเซีย สิงคโปร์ และเวียดนาม เป็นเป้าใหม่ที่น่าสนใจและถูก APT เพิ่มขึ้น ซึ่งน่าจะมาจากการเปลี่ยนเป้าหมายความสำคัญในการโจมตี ไปจนถึงการที่ประเทศเป้าหมายเดิมมีการพัฒนาระบบป้องกันได้ดีขึ้น
สำหรับอาเซียนจากข้อมูลของ Cyfirma สิงคโปร์เป็นแหล่งของ phishing เยอะที่สุดอยู่ในอันดับที่ 5 ของโลกเนื่องจากการที่มักถูกใช้เป็น proxy ของผู้โจมตี ตามมาด้วยเวียดนามอันดับที่ 10 อินโดนีเซียอันดับที่ 12 มาเลเซียอันดับที่ 19 และไทยอันดับที่ 50
อาเซียนที่มีการเติบโตและพัฒนาเศรษฐกิจอย่างรวดเร็วกลายมาเป็นแหล่งเพาะพันธุ์กิจกรรมอาชญากรรมทางไซเบอร์ในประเทศและดึงดูดความสนใจจากผู้ก่ออาชญากรรมทางไซเบอร์จากต่างประเทศที่มีความซับซ้อนสูง ภูมิทัศน์ของอาเซียนเปลี่ยนแปลงไปโดยอาชญากรรมทางไซเบอร์เข้ามาแทนที่กิจกรรมทางอาชญากรรมบนท้องถนนแบบเดิม
อาชญากรรมทางไซเบอร์สามารถสร้างความเสียหายเป็นเงินมหาศาล กระทบต่อข้อมูลส่วนบุคคล ไปจนถึงความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ระดับประเทศ อย่างไรก็ตาม การกวาดล้างแหล่งอาชญากรรมทางไซเบอร์ โดยเฉพาะในพื้นที่ชายแดนและพื้นที่ความขัดแย้งในประเทศสมาชิกอาเซียนยังเป็นไปอย่างยากลำบาก ไม่ว่าสาเหตุจะมาจากการเมือง ช่องว่างกฎหมาย ผู้บังคับใช้กฎหมายขาดความสามารถ หรือผลประโยชน์แอบแฝง
ลักษณะของอาชญากรรมทางไซเบอร์ที่สามารถก่ออาชญากรรมระหว่างประเทศได้ง่ายดายเป็นความท้าทายในการจัดการ มาตรการที่เด็ดขาดจริงจัง เช่น ไทยตัดไฟบริเวณชายแดนเมียนมา แทบไม่ส่งผลกระทบต่อบรรดาอาชญากรมืออาชีพ แต่กระทบประชาชนตามชายแดนมากกว่า
การแก้ปัญหาอาญชากรรมทางไซเบอร์จึงต้องอาศัยรัฐบาลของแต่ละประเทศที่ไม่เพียงนั่งคุยโดยมีเจตนารมณ์เพื่อแก้ปัญหานี้ร่วมกันอย่างแท้จริงแล้ว ยังต้องลงมืออย่างเด็ดขาด ซึ่งจากความร่วมมือในการกวาดล้างอาชญากรเหล่านี้เมื่อต้นปี 68 ที่ผ่านมา ก็พิสูจน์แล้วว่าเราทำได้…ถ้าตั้งใจจะทำ
แต่แน่นอนว่า หากอาเซียนยังคงปล่อยให้สถานการณ์เดินหน้าไปอย่างเดิม ก็คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะถูกประชาคมโลกมองว่า อาเซียนเป็นแหล่งเพาะพันธุ์อาชญากรรมทางไซเบอร์
ที่มา : กรุงเทพธุรกิจ / วันที่เผยแพร่ 7 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.bangkokbiznews.com/world/1179141