‘วิสาขบูชาในอินโดนีเซีย’ บทสะท้อนเสน่ห์แห่งพหุวัฒนธรรม
เมื่อเอ่ยถึงอินโดนีเซีย ภาพแรกที่หลายคนนึกถึงหนีไม่พ้นผู้คนสวมฮิญาบหรือหมวกกะปิเยาะห์เดินบนท้องถนน โดยมีมัสยิดที่งดงามตั้งตระหง่านอยู่เบื้องหลัง ซึ่งไม่ใช่เรื่องที่น่าแปลกใจนัก เนื่องจากอินโดนีเซียเป็นประเทศที่มีชาวมุสลิมมากที่สุดในโลก โดยมีจำนวนกว่า 245,168,323 คน คิดเป็นร้อยละ 87.06 ของประชากรทั้งหมด
อย่างไรก็ดี การเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาซึ่งเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนาในปีนี้ถูกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่โดย InJourney ซึ่งเป็นรัฐวิสาหกิจที่รับผิดชอบเรื่องการท่องเที่ยวของอินโดนีเซีย ร่วมกับสมาคมชาวพุทธของอินโดนีเซียหรือวาลูบี้ (WALUBI) โดยมีรัฐบาลกลางและท้องถิ่นให้การสนับสนุน ที่ “บุโรพุทโธ” พุทธสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลกและได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นมรดกโลกโดยองค์การยูเนสโกเมื่อปี พ.ศ. 2534 ตั้งอยู่ในเมืองยอกยาการ์ตา จังหวัดชวากลาง ทางหน่วยงานบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวของ InJourney (TWC) เปิดเผยว่า วันวิสาขบูชาเป็นวันที่ชาวอินโดนีเซียตั้งตารอคอยและมีนักท่องเที่ยวเดินทางมายังบุโรพุทโธมากกว่า 100,000 คน ระหว่างวันที่ 1-13 พฤษภาคมที่ผ่านมา
งานดังกล่าวได้สะท้อนให้เห็นว่าอินโดนีเซียสามารถก้าวข้ามความแตกต่างที่ไม่จำเป็นต้องนำมาสู่ความขัดแย้งเสมอไป และสะท้อนความเป็นสังคมแห่งพหุวัฒนธรรมของอินโดนีเซียให้เป็นที่ประจักษ์ อย่างแท้จริง เพราะไม่ได้มีแค่พุทธศาสนิกชนที่ศรัทธาเข้าร่วมเท่านั้น แต่รวมถึงชาวมุสลิมและศริสตชน ตลอดจนผู้ที่มีความเชื่ออื่นๆ ด้วย
เมื่อวันที่ 12 พฤษภาคม ศาสนิกชนต่างศาสนากว่า 45,914 คน ร่วมสวดมนต์และนั่งสมาธิในแบบพุทธโดยมีพระสงฆ์นำพิธี ร่วมรับน้ำพระพุทธมนต์และชมการแสดงโดรนแปรอักษรทางพุทธศาสนา ขณะที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์และเอกลักษณ์ของศาสนาที่ตนนับถือไว้ผ่านการแสดงออกถึงความแตกต่างอย่างภาคภูมิใจ บ่งบอกถึงความงดงามของความหลากหลายที่กลมกลืน โดยมีความเป็นชาวอินโดนีเซียตลอดจนความเป็นมนุษย์ที่มีความประสงค์ในการใฝ่หาความสงบและความสุขจากภายในเป็นกาวประสานผู้คนไว้ด้วยกัน
อีกทั้ง ตามคำบอกเล่าจาก เฟบรินา อินตัน ผู้อำนวยการ TWC และ พระมหาธรรมวุฒโธ หรือพระวิคเตอร์ จายา คุสุมา ผู้นำองค์กรสังหเถรวาทธรรมยุตอินโดนีเซียและเจ้าอาวาสวัดปัญญาศิกขาในกรุงจาการ์ต้า ตลอดระยะทางที่พระสงฆ์จำนวน 36 รูปจากไทย กัมพูชา มาเลเซียและสหรัฐ เดินธุดงษ์จากกรุงเทพฯ มาที่บุโรพุทโธ เป็นระยะทางกว่า 2,600 กิโลเมตรและใช้เวลานานกว่า 3 เดือนเพื่อเข้าร่วมงาน ชาวอินโดนีเซียได้เข้าให้กำลังใจ ช่วยเหลือและนิมนต์พระธุดงษ์เข้าพักทั้งในมัสยิดและโบสถ์ และเมื่อมาถึงบุโรพุทโธแล้วนั้น ชาวอินโดนีเซียจำนวนมากร่วมมอบดอกซ่อนกลิ่นหรือที่ในภาษาชวาเรียกว่า Sedap Malam ซึ่งแปลว่าค่ำคืนที่หอมหวาน และมักใช้เพื่อแสดงความยินดีและเฉลิมฉลองด้วย
อินตันกล่าวว่า วันวิสาขบูชาไม่ใช่แค่งานทางพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเป็นการเฉลิมฉลอง ‘เอกภาพในความหลากหลาย’ (Unity in Diversity) แม้ว่าบุโรพุทโธจะเป็นพุทธสถานแต่ร้อยละ 90 ของผู้ที่ดูแลสถานที่แห่งนี้เป็นชาวมุสลิม ถือเป็นตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่าชาวอินโดนีเซียสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างสันติไม่ว่าจะนับถือศาสนาใด และยินดีในการร่วมการรักษามรดกโลกของประเทศให้ยังคงสามารถดำรงอยู่ต่อไปได้
ขณะที่ฮัน เซทยาวัน นักโบราณคดีและผู้ประสานงานกลุ่มปฏิบัติการอนุรักษ์วัดบุโรพุทโธ ระบุว่า บุโรพุทโธไม่ใช่แค่วัดของศาสนาพุทธเท่านั้นแต่เป็นของชาวอินโดนีเซียทั้งหมด การบำรุงรักษาพุทธสถานดังกล่าวเป็นการปฏิบัติตามคุณค่าของการการให้ความเคารพต่อบรรพบุรุษของชาติ
ด้าน มายา วาโตโน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารของ Injourney กล่าวว่า ช่วงเวลาแห่งการเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาสะท้อนให้เห็นคุณค่าของการยอมรับความแตกต่างและความหลากหลาย ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของอัตลักษณ์ชาวอินโดนีเซีย พร้อมกล่าวว่าการที่มีผู้คนเข้าร่วมงานอย่างล้มหลามครั้งนี้ตอกย้ำบทบาทของบุโรพุทโธ ที่ไม่ใช่แค่ในฐานะแหล่งท่องเที่ยวอันทรงคุณค่า แต่เป็นสถานที่ศักดิ์สิทธิ์ที่เชื่อมโยงผู้คนที่มีวิถีชีวิตที่หลากหลายเข้าด้วยกัน
ในส่วนของ ไอรีน อูมาร์ รองรัฐมนตรีกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ของอินโดนีเซีย เล่าว่า กษัตริย์ของยอกยาการ์ตาซึ่งทรงนับถือศาสนาอิสลาม ได้ส่งตัวแทนพระองค์เพื่อเข้าร่วมฉลองเทศกาลวันวิสาขบูชาด้วย โดยพระองค์ทรงเคยตรัสว่าวัฒนธรรมมาก่อนและจึงตามมาด้วยศาสนา เพราะเป็นสิ่งที่รวมใจของผู้คนไว้ด้วยกันนอกจากนั้น ชาวพุทธในอินโดนีเซียก็ร่วมส่งเสริมความหลากหลายนี้เช่นกัน ปรัชญา มูร์ดายา จากสมาคมวาลูบี้ กล่าวว่า ได้จัดเตรียมความพร้อมแก่ชาวพุทธทั่วโลกที่ได้เดินทางมาเข้าร่วมงานเพื่อให้สามารถปฏิบัติตามหลักพุทธศาสนาตามแนวทางของตนได้
การเฉลิมฉลองวันวิสาขบูชาที่บุโรพุทโธยังฉายมุมมองที่แสดงให้เห็นว่าวันสำคัญทางศาสนาของศาสนาใดศาสนาหนึ่งไม่จำเป็นต้องมีนัยสำคัญทางศาสนาเท่านั้น แต่สามารถเป็นการเดินทางทางจิตวิญญาณ (Spiritual Journey) เพื่อปลอมประโลม แสวงหาคุณค่าและเติบโตทางจิตใจได้
หนึ่งในวาระสำคัญและเป็นสิ่งที่หลายคนตั้งตารอคอยนั่นคือการปล่อยโคมลอยหน้าบุโรพุโธ โดยมีโคมจำนวนมากถึง 2,569 ลูกลอยขึ้นสู่ท้องฟ้าในปีนี้ตามปีพุทธศักราช นับเป็นสัญลักษณ์แห่งการหลุดพ้นจากความทุกข์ การละทิ้งเรื่องเลวร้ายและความเศร้าในอดีตเพื่อเปิดรับการเริ่มต้นใหม่ของชีวิต อินตันกล่าวว่า พุทธศาสนาเป็นศาสนาที่ให้ความสำคัญกับวิธีทางในการดำเนินชีวิตและการเจริญสติซึ่งเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ชาวอินโดนีเซียกำลังมองหา บัตรเข้างานเทศกาลวันวิสาขบูชาขายหมดภายใน 9 นาทีส่งผลให้ทางผู้จัดงานต้องเปิดขายบัตรเพิ่มสำหรับผู้ที่ต้องการร่วมเข้าชมและเปิดประสบการณ์ แสดงให้เห็นว่ามีผู้ที่ให้ความสนใจเข้าร่วมงานวันวิสาขบูชาเป็นอย่างมาก
วาโตโนกล่าวว่า Injourney มุ่งมั่นในการส่งเสริมให้บุโรพุทโธเป็นจุดหมายปลายทางด้านการท่องเที่ยวทางจิตวิญญาณ (Spiritual Tourism) โดยเฉพาะการจัดงานวันวิสาขบูชาให้กับประชาชนทั่วโลกในพุทธศาสนสถานที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยในขณะนี้ทางหน่วยงานกำลังทำงานกับกระทรวงเศรษฐกิจสร้างสรรค์ กระทรวงศาสนาและกระทรวงคมนาคมของอินโดนีเซียเพื่อจัดทำแพ็กเกจเดินทางสำหรับผู้แสวงบุญชาวพุทธจากประเทศไทย โดยให้มีเที่ยวบินเดินทางจากไทยมาที่ยอกยาการ์ตาโดยตรงเพื่อให้พุโรพุทโธเป็นอนุสรณ์สถานร่วมสมัยสำหรับทุกคน
การเดินทางไปท่องเที่ยวที่บุโรพุทโธในวันวิสาขบูชาถือเป็นอีกมุดหมายที่น่าสนใจ ไม่เฉพาะสำหรับผู้ที่ศรัทธาในพุทธศาสนาเท่านั้น แต่ยังเหมาะสำหรับผู้ที่ต้องการแสวงหาความจรรโลงใจและความสงบจากภายในด้วย
ที่มา : สำนักข่าวมติชนออนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 26 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.matichon.co.th/foreign/indepth/news_5200664