ตามรายงานของวาติกัน บรรดาพระคาร์ดินัลปัจจุบัน ซึ่งมีหน้าที่เลือกสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ ร่วมกันหารือเกี่ยวกับสถานะทางการเงินที่น่าเป็นห่วงของสันตะสำนักมาตลอด ก่อนถึงวันประชุมลับ “คองเคลฟ” เพื่อเลือกสมเด็จพระสันตะปาปาพระองค์ใหม่ เมื่อวันที่ 7 พ.ค. ที่ผ่านมา
ทั้งนี้ พระคาร์ดินัล โรเบิร์ต พรีโวสต์ ชาวอเมริกัน ซึ่งเป็นบุคคลที่ได้รับเลือก และตอนนี้คือสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงยืนยันแล้วว่า จะสานต่อนโยบายของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ซึ่งรวมถึงการ “จัดระเบียบใหม่” ให้กับธนาคารวาติกัน ซึ่งมีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สถาบันเพื่อผลงานทางศาสนา ( ไอโออาร์ )
ไอโออาร์ ก่อตั้งเมื่อปี 2485 ตรงกับสมณสมัยของ สมเด็จพระสันตะปาปาปิอุสที่ 12 อย่างไรก็ดี กว่าไอโอออาร์จะเปิดเผยรายงานการดำเนินงานขององค์กรอย่างเป็นทางการครั้งแรก เกิดขึ้นเมื่อปี 2555 ตามด้วยการเปิดตัวเว็บไซต์ เมื่อปี 2556 และการเผยแพร่รายงานประจำปีฉบับแรกในประวัติศาสตร์ของไอโออาร์ เมื่อปี 2556 ซึ่งเป็นไปตามความพยายามปฏิรูปและสร้างความโปร่งใส ตามพระดำริของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส
แม้รายได้หลักของวาติกันมาจากการบริหารโรงพยาบาล พิพิธภัณฑ์ และการถือครองอสังหาริมทรัพย์ ตลอดจนการบริจาคโดยผู้มีจิตศรัทธา อย่างไรก็ตาม งบประมาณของวาติกันยังคงขาดดุล ย้อนกลับไปเมื่อปี 2566 มีรายงานการขาดดุลเกือบ 70 ล้านยูโร ( ราว 2,596 ล้านบาท ) จากรายได้ราว 1,200 ล้านยูโร ( ราว 44,504 ล้านบาท ) ในปีนั้น
อนึ่ง การบริหารนโยบายการคลังและการเงินของศาสนจักรคาทอลิก ภายใต้ธนาคารวาติกัน ซึ่งมีพนักงานประมาณ 100 คนนั้น เต็มไปด้วยความคลุมเครือ และเกี่ยวพันกับกรณีอื้อฉาวมากมายมาตลอด
ตัวอย่างที่บ่งบอกได้อย่างชัดเจนเกิดขึ้นในปี 2525 เมื่อธนาคาร “บังโก อัมโบรเซียโน” ซึ่งไอโออาร์เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ เกิดการล้มละลาย ท่ามกลางข้อกล่าวหาว่า “ฟอกเงินให้มาเฟีย” ต่อมา นายโรแบร์โต คัลวี ถูกพบเป็นศพอยู่ในสภาพแขวนคอ บริเวณสะพานแบล็กไฟรเออร์ส ในกรุงลอนดอน เมืองหลวงของสหราชอาณาจักร
เมื่อครั้งยังทรงมีพระชนม์ชีพ สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสทรงเคยเปรียบเทียบความพยายามในการปรับปรุงและสร้างความโปร่งใส ให้กับการจัดการการเงินและการคลังของวาติกันว่า “เหมือนการทำความสะอาดสฟิงซ์แห่งอียิปต์ด้วยแปรงสีฟัน”
อย่างไรก็ตาม ความพยายามดังกล่าวเริ่มเห็นผลบางประการแล้ว เช่น การปิดบัญชีธนาคารต้องสงสัยเกือบ 5,000 บัญชี ทำให้ภาพลักษณ์และชื่อเสียงของสันตะสำนักดีขึ้น ได้รับคำชื่นชมจากสหภาพยุโรป (อียู) ในการพยายามปราบปรามการฟอกเงิน และได้เข้าร่วมการใช้สกุลเงินยูโร แม้ไม่ใช่สมาชิกอียู
ทว่าเรื่องอื้อฉาวยังคงเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง จากกรณีพระคาร์ดินัล แองเจโล เบซซู ชาวอิตาเลียน หนึ่งในอดีตที่ปรึกษาของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส และถือเป็นหนึ่งในบุคคลทรงอิทธิพลที่สุดของวาติกัน ถูกศาลพิพากษาให้รับโทษจำคุก 5 ปี 6 เดือน เมื่อปี 2566 จากความผิดฐานยักยอกเงิน ซึ่งเรื่องดังกล่าวเชื่อมโยงกับการลงทุนของวาติกัน ที่มีต่ออาคารหรูหราแห่งหนึ่งในย่านเชลซีของกรุงลอนดอน เมื่อปี 2564 แต่การลงทุนนั้น “เต็มไปด้วยความเสี่ยงสูง” จึงไม่ประสบความสำเร็จ
ทั้งนี้ พระคาร์ดินัล เบซซู เป็นหนึ่งในจำเลย 10 คนของคดีนี้ ซึ่งอัยการกล่าวว่า “เป็นอาชญากรรมทางการเงิน บนระบบที่เสื่อมทราม มุ่งฉวยโอกาส และแสวงหาผลประโยชน์”
กรณีอื้อฉาวดังกล่าวสร้างความไม่พอใจอย่างหนักให้กับหลายฝ่ายด้วย เนื่องจากมีการใช้เงินลงทุนซึ่งมีที่มาจากเงินบริจาคของผู้มีจิตศรัทธา ขณะเดียวกัน เรื่องนี้ทำให้พระคาร์ดินัล เบซซู หมดสิทธิร่วมการประชุมคองเคลฟเพื่อเลือกสมเด็จพระสันตะปาปา
นอกจากนี้ การลดลงของเงินบริจาคคือหนึ่งในความท้าทายสำคัญ ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ทรงต้องเผชิญและแก้ไข ท่ามกลางความตึงเครียดและความผันผวนของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม การที่ไอโออาร์หรือธนาคารวาติกัน เป็นหน่วยงานที่ “ดำเนินการอย่างเปีนอิสระ” จากวาติกัน และประชาชนทั่วไปไม่สามารถใช้บริการได้ โดยสถาบันการเงินแห่งนี้ให้บริการเฉพาะกับบุคคลหรือหน่วยงาน ที่มีความเกี่ยวข้องกับศาสนจักรเท่านั้น ปัจจุบัน ไอโอาร์มีลูกค้าประมาณ 15,000 ราย
ท่ามกลางการเมืองภายในวาติกัน และการจับตาจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้ ซึ่งยังคงเกิดขึ้นอยู่ตลอดความพยายามของสมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 14 ในการปฏิรูปเพื่อยกระดับความโปร่งใส และเพิ่มความน่าเชื่อถือให้กับไอโออาร์ จึงถือเป็นหนึ่งในพระภารกิจสำคัญของพระองค์ เพื่อฟื้นฟูภาพลักษณ์สีเทาในทางโลกของวาติกันด้วย.
ภัทราพร ไพบูลย์ศิลป
เครดิตภาพ : AFP, GETTY IMAGES
ที่มา : สำนักข่าวเดลินิวส์อนไลน์ / วันที่เผยแพร่ 17 พฤษภาคม 2568
Link : https://www.dailynews.co.th/articles/4718258/