นักวิทยาศาสตร์พบพืช 4 ชนิดที่ดีที่สุด ซึ่งควรปลูกเพื่อช่วยป้องกันไม่ให้เกิดความอดอยาก หากโลกล่มสลายจากภัยพิบัติ เช่น สงครามนิวเคลียร์
หากเกิดภัยพิบัติระดับโลก เช่น โรคระบาดร้ายแรง พายุสุริยะ หรือสงครามนิวเคลียร์ที่ทำให้เกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์ (Nuclear Winter) ผู้คนนับล้านอาจต้องอดอาหารตาย แต่ปัจจุบัน นักวิทยาศาสตร์พบแล้วว่า พืชผลชนิดใดบ้างที่สามารถปลูกได้ เพื่อให้ดำรงชีวิตอยู่ได้หากเกิดเหตุการณ์เลวร้ายดังกล่าวขึ้น
นักวิทยาศาสตร์ได้ใช้ผลการศึกษาวิจัยก่อนหน้าเพื่อพิจารณาว่า พืชผลชนิดใดที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกหลังจากเกิดภัยพิบัติระดับโลก โดยมีเป้าหมายเพื่อค้นหาวิธีที่มีประสิทธิภาพสูงสุดในการเลี้ยงดูแลคนโดยใช้พื้นที่น้อยที่สุด
ตามการศึกษาวิจัยใหม่ที่ตีพิมพ์เมื่อวันที่ 7 พ.ค. พบว่า การปลูก “ผักโขม” “ชูการ์บีต” “ข้าวสาลี” และ “แคร์รอต” อาจช่วยเลี้ยงประชากรในเมืองขนาดกลางในโลกหลังหายนะได้
นักวิจัยได้ศึกษาว่า ประชากรในเมืองขนาดกลางจะสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างไรด้วยเกษตรกรรมในกรณีที่เกิดภัยพิบัติระดับโลก โดยตรวจสอบสถานการณ์ 2 สถานการณ์หากเกิดภัยพิบัติ ได้แก่ สิ่งที่ควรปลูกในและรอบเมืองภายใต้สภาพอากาศปกติ และสิ่งที่ควรปลูกในและรอบเมืองกรณีที่เกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์
ฤดูหนาวนิวเคลียร์คือสภาวะอากาศที่ทำให้เกิดความหนาวเย็นอย่างรุนแรงขึ้นหลังจากเกิดสงครามนิวเคลียร์ การระเบิดของภูเขาไฟขนาดใหญ่ หรือการพุ่งชนของดาวเคราะห์น้อยขนาดใหญ่
แมตต์ บอยด์ ผู้อำนวยการวิจัยขององค์กรวิจัยอิสระ Adapt Research หัวหน้าทีมวิจัย กล่าวว่า พืชที่เหมาะสมที่สุดสำหรับการปลูกในเมืองที่มีอากาศอบอุ่นภายใต้สภาพอากาศปกติคือพืชตระกูลถั่ว
“ถั่วเป็นอาหารที่มีโปรตีนสูง พวกมันเติบโตได้ดีในสภาพแวดล้อมทางการเกษตรในเมือง หากคุณต้องการเลี้ยงใครสักคน การปลูกถั่วจะช่วยลดปริมาณพื้นที่ที่คุณต้องใช้ในการเลี้ยงคนคนนั้น” บอยด์กล่าว
อย่างไรก็ตาม ต้นถั่วไม่ทนต่อน้ำค้างแข็ง ในกรณีที่เกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์ แสงแดดจะถูกบดบัง เนื่องจากเขม่าควันและสารต่าง ๆ ที่ถูกพัดขึ้นไปในชั้นบรรยากาศ ซึ่งจะทำให้อุณหภูมิลดลงและทำให้พืชสังเคราะห์แสงได้ยากขึ้น
ในกรณีดังกล่าว นักวิจัยพบว่าผักโขมและหัวชูการ์บีตที่แข็งแรงกว่าจะเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
บอยด์ และนิก วิลสัน ศาสตราจารย์สาธารณสุขจากมหาวิทยาลัยโอทาโก เวลลิงตัน หนึ่งในทีมวิจัย ได้ข้อสรุปดังกล่าวบางส่วนจากการใช้ข้อมูลจากการวิเคราะห์เชิงอภิมานของการวิจัยด้านเกษตรในเมืองที่วิเคราะห์ผลผลิตของพืชผลต่าง ๆ ในเมืองกว่าสิบเมืองทั่วโลก
ตัวอย่างเช่น ถั่วจะเติบโตได้ดีในสภาวะปกติ เนื่องจากถั่วต้องการพื้นที่ 292 ตารางเมตร เพื่อตอบสนองความต้องการแคลอรีและโปรตีนของคนคนหนึ่งตลอดทั้งปี ในขณะที่กะหล่ำปลีและแคร์คอตต้องใช้พื้นที่ 777 ตารางเมตร ซึ่งมากกว่าเกือบ 3 เท่า
นักวิจัยเลือกศึกษาเมืองพาล์เมอร์สตันนอร์ท (Palmerston North) ในนิวซีแลนด์ แต่ผลการวิจัยสามารถนำไปใช้กับเมืองอื่น ๆ ที่คล้ายกันทั่วโลกได้ บอยด์กล่าวว่า เมืองนี้มีประชากรประมาณ 90,000 คน และเป็นเมืองที่พอจะเป็นภาพแทนของเมืองขนาดกลางทั่วโลกได้
นอกจากนี้ “เมืองนี้ยังอยู่ในแผ่นดินเช่นเดียวกับเมืองอื่น ๆ ทั่วโลก และมีที่อยู่อาศัยแบบชานเมืองที่มีความหนาแน่นค่อนข้างต่ำ ไม่ใช่ตึกระฟ้าแบบแมนฮัตตันหรืออะไรทำนองนั้น”
จากนั้น นักวิทยาศาสตร์จึงใช้ภาพของพาล์เมอร์สตันนอร์ทจากกูเกิลเพื่อคำนวณพื้นที่สีเขียวทั้งหมดที่มีอยู่ซึ่งสามารถใช้ปลูกพืชได้ เช่น สนามหญ้าหน้าบ้าน สนามหลังบ้าน และสวนสาธารณะ
“น่าแปลกใจมาก เมืองนี้ไม่สามารถเลี้ยงคนได้ทั้งหมด” บอยด์กล่าว โดยหากปลูกอาหารได้เฉพาะในเขตเมืองเท่านั้น พื้นที่ที่มีอยู่สามารถเลี้ยงประชากรได้ประมาณ 20% ด้วยพืชที่ให้โปรตีนและพลังงานอาหารสูงสุดต่อตารางเมตรภายใต้สภาพอากาศปกติ แต่ตัวเลขดังกล่าวจะลดลงเหลือประมาณ 16% หากเกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์
เพื่อเลี้ยงประชากรส่วนที่เหลือ ผู้คนจะต้องมีพื้นที่นอกเมือง เพื่อปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพเพิ่มเติม ในกรณีของพาล์เมอร์สตันนอร์ท มีพื้นที่ประมาณ 11 ตารางกิโลเมตร บวกกับพื้นที่ปลูกคาโนลาอีก 1 ตารางกิโลเมตร เพื่อแปลงเป็นไบโอดีเซลเพื่อเติมเชื้อเพลิงให้รถแทรกเตอร์และเครื่องจักรการเกษตรอื่น ๆ
จากการศึกษาพบว่า มันฝรั่งเป็นพืชที่เหมาะสำหรับสภาพภูมิอากาศปกติในพื้นที่นอกเมือง แต่ในกรณีที่เกิดฤดูหนาวนิวเคลียร์ การปลูกข้าวสาลี 97% และแคร์รอต 3% ถือเป็นอัตราส่วนที่เหมาะสมที่สุด เนื่องจากสามารถทนต่ออุณหภูมิที่เย็นกว่าได้ดีกว่า
บอยด์ตั้งข้อสังเกตว่า มีสิ่งที่ไม่รู้หลายอย่างที่จะส่งผลกระทบต่อผลผลิตพืชผลในโลกแห่งความเป็นจริง คุณภาพของดินเป็นตัวแปรที่สำคัญ เนื่องจากดินที่มีคุณภาพต่ำกว่าจะให้ผลผลิตพืชผลได้น้อยกว่า “คุณน่าจะสามารถจินตนาการถึงสถานการณ์ภัยพิบัติระดับโลกที่มีแต่อุปสรรคและปัญหาเพิ่มเติมได้”
เขากล่าวว่า งานวิจัยของเขาไม่ได้จะบอกว่าผู้คนจะต้องกินถั่วตลอดไปหากเกิดภัยพิบัติ แต่แนะนำการปลูกพืชที่มีประสิทธิภาพสูงสุดที่จะลดปริมาณพื้นที่ที่จำเป็นสำหรับการเลี้ยงประชากร
อ่านงานวิจัยฉบับเต็ม ที่นี่
เรียบเรียงจาก Live Science
ที่มา : PPTV36HD / วันที่เผยแพร่ 9 พฤษภาคม 2568
Link : https://shorturl.at/jycB2